การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2567 มีมติอนุมัติตามที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ เสนอ ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2567 ดังนี้
อนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ที่ประกอบด้วย
- แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงินรวม 1,204,304.44 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62,723.73 ล้านบาท จากแผนฯปี 67 (ปรับปรุงครั้งที่ 3)
- แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงินรวม 1,783,889.64 ล้านบาท ลดลง 24,820.55 ล้านบาท จากแผนฯปี 67 (ปรับปรุงครั้งที่ 3)
- แผนการชำระหนี้ วงเงินรวม 489,110.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34,941.83 ล้านบาท จากแผนฯปี 67 (ปรับปรุงครั้งที่ 3)
อนุมัติให้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การเคหะแห่งชาติ (กคช.) และบริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) ที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ (Debt Service Coverage Ratio : DSCR) ต่ำกว่า 1 เท่า สามารถกู้เงินและบริหารหนี้ภายใต้แผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2568 โดยให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 4 แห่ง ดังกล่าวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการด้วย รวมทั้งเห็นควรให้หน่วยงานที่บรรจุกรอบวงเงินกู้ภายใต้แผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2568 เร่งรัดการดำเนินการตามแผนฯ ดังกล่าวด้วย
รับทราบแผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง 5 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 – 2572) และมอบหมายให้กระทรวงเจ้าสังกัดประสานงานกับรัฐวิสาหกิจที่เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการในกลุ่มโครงการที่ยังขาดความพร้อมในการดำเนินการ เพื่อเร่งรัดการดำเนินการและการลงทุนเพื่อเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐในระยะต่อไป
นอกจากนี้ อนุมัติการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อการก่อหนี้ใหม่ การกู้มาและการนำไปให้กู้ต่อการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ และการค้ำประกันเงินกู้ให้กับรัฐวิสาหกิจ ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 (พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะฯ) มาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 และมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่สอง พ.ศ. 2545
รวมทั้งขออนุมัติการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจเพื่อลงทุนในโครงการพัฒนา และการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ตามกฎหมายจัดตั้งของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 16 แห่ง ภายใต้กรอบวงเงินของแผนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และให้กระทรวงการคลัง เป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่าง ๆ ของการกู้เงิน การค้ำประกันและการบริหารความเสี่ยงในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น
ทั้งนี้ หากรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการกู้เงินได้เองก็ให้สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสมและจำเป็นของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ
สาระสำคัญของแผนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 มี 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
1.แผนการก่อหนี้ใหม่ เช่น การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 865,700 ล้านบาท การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติมปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่มีการขยายเวลากู้เงินออกไปภายหลังจากวันสิ้นปีงบประมาณสำหรับการเบิกจ่ายกันเหลื่อมปี จำนวน 145,000 ล้านบาท
2.แผนการบริหารหนี้เดิม เช่น การปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้รัฐบาลที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 1,384,280.91 ล้านบาท และการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้รัฐบาลที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2569-2572 จำนวน 279,876.76 ล้านบาท
3. แผนการชำระหนี้ เช่น แผนการชำระหนี้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วงเงิน 410,253.68 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในแผนฯประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 มีรัฐวิสาหกิจ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ การรถไฟแห่งประเทศไทย การเคหะแห่งชาติ และบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ที่มี DSCR ต่ำกว่า 1 เท่า ที่ต้องเสนอขออนุมัติการกู้เงินต่อคณะรัฐมนตรี รวมทั้งคณะกรรมการฯ ได้จัดทำแผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2572) โดยมีโครงการลงทุนรวม 108 โครงการ และวงเงินลงทุนรวม 776,046.73 ล้านบาท
ทั้งนี้ แผนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในครั้งนี้ยังอยู่ภายในกรอบกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง