รัฐบาลมองสั้นอุปสรรคพัฒนาประเทศ
การ “มองสั้น” ในการกำหนดนโยบายสาธารณะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนา ประเทศไทยเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนของปัญหาการมองสั้นนี้ ซึ่งก็คือ นโยบายด้านภาษีของประเทศในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา
ย้อนกลับไปในปี 1990 ธนาคารโลก (World Bank) ได้จัดประเภทให้ 85 ประเทศ เป็นประเทศรายได้ปานกลาง หลังจากนั้นราวสามทศวรรษ มีเพียง 22 ประเทศที่สามารถยกระดับตนเองสู่การเป็นประเทศรายได้สูงได้สำเร็จ ในกลุ่มประเทศที่ประสบความสำเร็จนี้ ราวร้อยละ 55 เป็นเกาะขนาดเล็ก ร้อยละ 18 เป็นประเทศในทวีปยุโรปซึ่งได้รับประโยชน์จากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และร้อยละ 14 เป็นประเทศที่มีรายได้หลักจากทรัพยากรน้ำมัน เหลือเพียง 3 ประเทศที่มีโมเดลการพัฒนาใกล้เคียงกับประเทศไทย ได้แก่ เกาหลีใต้ ชิลี และอุรุกวัย
การพัฒนาการด้านภาษีของ 3 ประเทศนี้ มีลักษณะที่คล้ายกัน คือ การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของรายได้จากภาษี โดยสาธารณรัฐเกาหลีมีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 17 เป็นร้อยละ 22 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในขณะที่ทั้งชิลีและอุรุกวัยมีการเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13 เป็นร้อยละ 20 ของ GDP
ส่วนประเทศไทย พบว่ามีความแตกต่าง คือ รายได้จากภาษีของไทยลดลงจากร้อยละ 17 เหลือเพียงร้อยละ 16 ของ GDP ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ขัดแย้งกับสมมติฐานทั่วไปที่ว่า ประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและมีการลดลงของเศรษฐกิจนอกระบบ ควรมีรายได้จากภาษีที่เพิ่มขึ้น
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อปรากฏการณ์นี้คือ ช่องว่างเชิงนโยบาย (policy gap) ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการปรับโครงสร้างภาษีสำคัญหลายครั้ง แต่แทบทั้งหมดมุ่งเน้นไปที่การลดภาระภาษีให้แก่ภาคธุรกิจและครัวเรือน ซึ่งเป็นนโยบายที่ได้รับความนิยมและง่ายต่อการดำเนินการในทางการเมือง มีการปรับโครงสร้างภาษีสำคัญเพียงครั้งเดียวที่เป็นการเพิ่มรายได้ให้รัฐ นั่นคือการเปลี่ยนจากภาษีการค้าเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มในปี 1992
รายได้ภาษีลดลงสะท้อนปัญหานโยบายระยะสั้น
จากผลลัพธ์ของนโยบายดังกล่าวส่งผลให้ในปัจจุบัน รายได้ของรัฐบาลไทยเพียงพอแค่สำหรับรายจ่ายประจำและการชำระหนี้เท่านั้น โดยการลดลงของรายได้ภาษีนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหา “การมองสั้น” ในการกำหนดนโยบายของรัฐบาลไทย ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังในการวางแผนพัฒนาประเทศในอนาคต
โดยการแก้ไขปัญหาการ “มองสั้น” นี้ จำเป็นต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและกลไกในการกำหนดนโยบายสาธารณะของประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ระยะสั้นและความยั่งยืนในระยะยาว
การมองสั้น ในบริบทนโยบาย หมายถึงการดำเนินนโยบายที่มุ่งเน้นผลระยะสั้น โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบระยะยาวอย่างเพียงพอ ซึ่งมักจะมาจากนักการเมืองเป็นหลัก โดยมีตัวอย่างนโยบายที่เน้นผลประโยชน์ระยะสั้นที่สำคัญ ดังนี้
- มาตรการคืนภาษีสรรพสามิตรถคันแรก แม้จะช่วยกระตุ้นยอดขายรถยนต์ในระยะสั้น แต่งานวิจัยของ Muthitacharoen et al. (2019) ชี้ว่าในระยะยาว โครงการนี้เพิ่มแนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ร่วมโครงการอย่างมีนัยสำคัญ
- การพักชำระหนี้เกษตรกร Ratanavararak & Chantarat (2023) ชี้ว่าในช่วงปี พ.ศ. 2557–2566 มีการพักหนี้เกษตรกรถึง 13 มาตรการใหญ่ อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้ไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้ได้อย่างยั่งยืน เกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรการมียอดหนี้สูงขึ้น มีแนวโน้มเป็นหนี้เสียสูงขึ้น และมีโอกาสกลับเข้าไปพักหนี้ซ้ำ สะท้อนถึงปัญหา moral hazard หรือกล่าวคือ นโยบายสร้างแรงจูงใจที่เป็นผลเสีย หรือเพิ่มความเสี่ยงต่อผู้เข้าร่วมเอง
- การอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล แม้จะช่วยลดต้นทุนขนส่งในระยะสั้น แต่ในระยะยาว Del Granado et al. (2012) ชี้ว่านโยบายนี้ไม่ส่งเสริมการปรับตัวสู่การขนส่งที่สะอาดและมีประสิทธิภาพ
สิ่งที่น่ากังวล คือ เรากำลังเห็นสัญญาณอันตรายของการมองสั้นเชิงระบบ ที่ปรากฏในรูปแบบของการขาดดุลการคลังเรื้อรัง ในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลไทยประสบภาวะขาดดุลแทบทุกปี โดยขนาดของการขาดดุลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและในปัจจุบันสูงกว่าในอดีตอย่างมีนัยสำคัญนี้อาจสะท้อนถึงขนาดที่รุนแรงขึ้นของปัญหาการกำหนดนโยบายที่ขาดวิสัยทัศน์ระยะยาว
ผลกระทบการคลังไทยในอนาคต
หากปล่อยให้การมองสั้นทางนโยบายดำเนินต่อไป ไทยจะต้องแบกรับต้นทุนสำคัญในระยะยาว โดยแบ่งเป็น 3 ด้านสำคัญ
1.การสูญเสียจุดแข็งด้านเสถียรภาพทางการคลัง
ปัจจุบันประเทศไทยได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ BBB+ อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบกับประเทศที่มีอันดับต่ำกว่าไทยหนึ่งระดับ คือ BBB พบว่าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา หนี้สาธารณะของไทยได้เพิ่มสูงขึ้นจนเกินระดับของประเทศเหล่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นสัดส่วนภาระดอกเบี้ยต่อรายได้สุทธิ ซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดสำคัญที่องค์กรจัดอันดับความน่าเชื่อถือใช้ในการประเมิน มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเกิน 10% ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า สถานการณ์นี้เป็นสัญญาณเตือนว่าภาคการคลังไม่ได้เป็นจุดแข็งของไทยเหมือนในอดีต ซึ่งชี้ถึงความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องดำเนินนโยบายการคลังอย่างระมัดระวัง และให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้นต่อวินัยการคลัง เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนการระดมทุนทั้งในภาครัฐและเอกชน
2.ภาระหนี้รัฐบาลเพิ่มขึ้น
การขาดดุลการคลังเรื้อรังส่งผลให้รัฐบาลมีภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันอยู่ที่ราว 10% ของงบประมาณทั้งหมด และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 15% ในอีก 5 ปีข้างหน้า การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้จะซ้ำเติมความยืดหยุ่นทางการคลังซึ่งเป็นปัญหาสำคัญอยู่แล้ว เนื่องจากรายจ่ายที่ยากต่อการลดทอน เช่น ค่าตอบแทนบุคลากร ค่าสวัสดิการ และการชำระหนี้ คิดเป็น 70% ของงบประมาณทั้งหมด ส่งผลอย่างมากต่อขีดความสามารถของรัฐบาลในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการรับมือต่อวิกฤตในอนาคต
3.วังวนมองสั้นทวีความเหลื่อมล้ำ
หลักฐานเชิงประจักษ์ชี้ว่าประเทศที่มีการใช้นโยบายประชานิยมอย่างแพร่หลาย ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการมองสั้นทางนโยบาย มักเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ความสัมพันธ์นี้ชี้ว่าการมองสั้นเชิงนโยบายไม่เพียงส่งผลเสียต่อเสถียรภาพทางการคลังและการเติบโตทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังอาจทวีความรุนแรงของปัญหาความเหลื่อมล้ำ ในทางกลับกัน ความเหลื่อมล้ำที่สูงก็อาจยิ่งกระตุ้นความต้องการนโยบายประชานิยมระยะสั้นมากขึ้น สร้างวงจรอุบาทว์ ที่ยากจะหลุดพ้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตัดวงจรนี้ โดยการแก้ไขปัญหาการมองสั้นเชิงนโยบายอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่รุนแรงมากขึ้นในอนาคต
ทำไมนักการเมืองชอบมองสั้น
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้นักการเมืองมักจะมองสั้น? โดยต้องพิจารณาทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานของการดำเนินนโยบายสาธารณะที่มุ่งผลระยะสั้น ในด้านอุปสงค์หรือความต้องการของประชาชน จากบทความของ Guiso et al. (2017) ชี้ว่าความไม่เพียงพอของสวัสดิการและการขาดความเชื่อมั่นต่อรัฐเป็นปัจจัยสำคัญ
นั่นคือเมื่อประชาชนไม่มั่นใจในสภาพความเป็นอยู่และความเพียงพอของระบบสวัสดิการของรัฐ สาธารณชนก็มีแนวโน้มที่จะต้องการได้รับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นทันที จากนโยบายหาเสียงต่าง ๆ แนวโน้มนี้นำไปสู่การให้ความสำคัญต่อพันธะสัญญาของนักการเมือง ประชาชนมักจะให้น้ำหนักกับมาตรการที่ให้ผลประโยชน์ชัดเจนในระยะสั้น มากกว่านโยบายที่นักเศรษฐศาสตร์บอกว่าให้ผลดีในระยะยาวแต่ไม่เห็นผลทันที
ส่วนในด้านอุปทานหรือการตอบสนองของนักการเมืองและรัฐบาลนั้นมักถูกขับเคลื่อนโดยสองปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.วงจรการเลือกตั้ง ซึ่งสร้างแรงจูงใจให้นักการเมืองต้องการนโยบายประเภท quick win (ทำได้ทันที) โดยไม่สนใจผลกระทบระยะยาวเพียงพอ 2.ความอ่อนแอของกลไกสถาบัน เมื่อสถาบันที่ควรทำหน้าที่ถ่วงดุลและตรวจสอบไม่เข้มแข็งพอ การดำเนินนโยบายระยะสั้นก็สามารถเกิดขึ้นได้ง่าย
อย่างไรก็ตาม ทั้งอุปสงค์และอุปทานนี้ได้ทำให้การมองสั้นในนโยบายสาธารณะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ซึ่งหลายประเทศได้ประสบปัญหานี้เช่นกัน แม้แต่ในระบอบประชาธิปไตยที่ได้รับการออกแบบมาอย่างดี ก็ยังจำเป็นต้องมีกลไกเชิงสถาบันเพื่อป้องกันผลลัพธ์ทางนโยบายที่ไม่พึงประสงค์
สร้างกฎการคลัง-กลไกติดตามวินัยการคลัง
ในประเทศพัฒนาแล้วมักมีการออกแบบกลไกเพื่อสร้างธรรมาภิบาลทางการคลัง โดยประกอบด้วย 2 องค์ประกอบหลัก ได้แก่
องค์ประกอบแรก คือ กฎการคลัง ซึ่งเป็นเกณฑ์ทางการคลังที่รัฐต้องยึดถือปฏิบัติ เปรียบเสมือนเครื่องมือที่สร้างพันธสัญญา (commitment device) ให้แก่รัฐบาล เช่น การกำหนดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เช่น เกาหลีใต้และไทย หรือการกำหนดให้มีการจัดทำงบการคลังสมดุล (balanced budget) ในช่วงวาระของรัฐบาล เช่น สหราชอาณาจักรและสิงคโปร์ โดยกฎการคลังเกี่ยวกับงบการคลังสมดุลและหนี้สาธารณะได้ถูกนำมาใช้มากที่สุดในประเทศต่าง
องค์ประกอบที่สอง คือ กลไกติดตามวินัยการคลัง ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของสถาบันการคลังอิสระ (fiscal councils/independent fiscal institutions) เช่น Congressional Budget Office (CBO) ในสหรัฐอเมริกา และ Office of Budget Responsibility (OBR) ในสหราชอาณาจักร ปัจจุบันราว 50 ประเทศทั่วโลกมีการจัดตั้งสถาบันการคลังอิสระแล้ว และที่น่าสนใจคือสัดส่วนของประเทศกำลังพัฒนาที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
ภายใต้กลไกเพื่อสร้างธรรมมาภิบาลทางการคลังของประเทศพัฒนาแล้ว กฎการคลังจะทำหน้าที่กำหนดขอบเขตทางการคลัง และกลไกติดตามวินัยการคลังจะทำหน้าที่ประเมินวินัยการคลัง รวมถึงตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎการคลังของรัฐบาล โดยในประเทศได้ให้สถาบันการคลังอิสระเป็นกลไกติดตามวินัยการคลัง ซึ่งการทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพจะต้องไม่เพียงพิจารณาว่ารัฐบาลปฏิบัติตามตัวบทกฎหมายเท่านั้น แต่ต้องวิเคราะห์ว่าการกระทำของรัฐบาลนั้นสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎการคลังและหลักการความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาวหรือไม่
นอกจากนี้สถาบันการคลังอิสระยังมีบทบาทสำคัญในการสื่อสารผลการศึกษาด้านนโยบายสู่ภาคประชาสังคม เพื่อสร้างความตระหนักรู้และกระตุ้นให้เกิดการกดดันต่อนักการเมืองให้คำนึงถึงความยั่งยืนทางการคลัง หน้าที่ของรัฐบาลในกลไกนี้คือการเปิดเผยข้อมูลและจัดสรรทรัพยากรที่เพียงพอแก่การทำงานของกลไกติดตามวินัยการคลัง
รัฐบาลมักมองโลกแง่ดีเกินจริง
ความท้าทายสำคัญประการหนึ่งของการกำกับวินัยการคลัง คือ แนวโน้มของรัฐบาลที่มักจะประมาณการทางการคลังในแง่ดีเกินจริง ไม่ว่าจะเป็นการคาดการณ์การเพิ่มขึ้นของรายได้ภาษีอย่างมีนัยสำคัญ ความสามารถในการลดรายจ่ายของตนเอง ซึ่งส่งผลให้ในท้ายที่สุด รัฐไม่สามารถปฏิบัติตามกฎการคลังที่วางไว้ได้จริง
สถาบันการคลังอิสระจะมีบทบาทสำคัญในการลดทอนการมองโลกในแง่ดีเกินจริงของรัฐบาล โดยในประเทศที่มีสถาบันการคลังอิสระ ความคลาดเคลื่อนในการประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและดุลการคลังเบื้องต้น จะต่ำกว่าประเทศที่ไม่มีสถาบันดังกล่าวอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งการที่ตัวเลขประมาณการมีความใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้นนี้ ส่งผลให้รัฐบาลมีแนวโน้มที่จะปฏิบัติตามกฎการคลังมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยพบว่าตัวเลขการขาดดุลการคลังจะลดลงประมาณร้อยละ 1–1.5 ของ GDP ทั้งในกลุ่มตัวอย่างประเทศยุโรปและทั่วโลก หลักฐานเชิงประจักษ์นี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของสถาบันการคลังอิสระในการส่งเสริมวินัยทางการคลังของประเทศ
สำหรับประเทศไทย มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่ได้สร้างกรอบวินัยการคลัง เพื่อเป็นกลไกจัดการปัญหาการมองสั้นของนักการเมือง กรอบวินัยการคลังนี้ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ กฎการคลัง และการบริหารความเสี่ยงระยะยาว ซาง พ.ร.บ. ฉบับนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการสร้างกรอบธรรมาภิบาลทางการคลัง โดยเน้นการสร้างความสมดุลระหว่างการกำกับวินัยการคลังและความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการคลัง
กรอบวินัยการคลังนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการสร้างกรอบธรรมาภิบาลทางการคลังของไทย จะสร้างสมดุลระหว่างการกำกับวินัยการคลังและความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบาย โดยให้อำนาจคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐในการกำหนดกฎการคลังต่าง ๆ และยังพยายามปิดช่องโหว่จากพฤติกรรมนักการเมืองในอดีต เช่น การกำหนดเพดานการชดเชยค่าใช้จ่ายจากกิจกรรมกึ่งการคลัง การควบคุมงบกลาง และการก่อหนี้ผูกพัน ถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่งในการป้องกันนโยบายระยะสั้นที่ไม่คำนึงถึงความยั่งยืน
ความท้าทายวินัยการคลังไทย
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงเผชิญความท้าทายด้านวินัยการคลังที่สำคัญหลายประการ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในช่วงที่ผ่านมา คือ
- การหาเสียงด้วยนโยบายที่อาจคุกคามเสถียรภาพการคลัง โดยในการเลือกตั้งปี 2566 ที่ผ่านมา วงเงินนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองใหญ่อยู่ที่ราว 7–10% ของ GDP
- การใช้ creative accounting (การตกแต่งบัญชี) เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดกฎการคลัง ซึ่งสร้างคำถามสำคัญต่อความยั่งยืนทางการคลัง เช่น การโยกย้ายงบประมาณที่รัฐจะใช้ชำระหนี้ที่ติดค้างกับสถาบันการเงินของรัฐจากกิจกรรมกึ่งการคลังต่าง ๆ เพื่อนำมาสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น
- การขาดเครื่องชี้นำทิศทางการคลังที่น่าเชื่อถือ โดยกรอบการคลังระยะปานกลาง (Medium-Term Fiscal Framework: MTFF) มีการปรับเปลี่ยนถึง 4 ครั้งในรอบ 12 เดือน (กันยายน 2566 ถึง สิงหาคม 2567) เพื่อรองรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ซึ่งสะท้อนถึงการขาดแผนการสร้างเสถียรภาพการคลังระยะยาวของประเทศ
ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความท้าทายเหล่านี้ คือ การที่ประเทศไทยขาด “กลไกติดตามวินัยการคลัง” ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งส่งผลให้ภาคประชาสังคมไม่สามารถกดดันรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิผล
กลไกวินัยการคลังที่ดีในบริบทของไทยควรประกอบด้วย 3 คุณสมบัติ คือ
- สามารถควบคุมวินัยของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ไม่จำกัดอิสระของรัฐบาลมากเกินไป คงอธิปไตยการดำเนินนโยบายการคลังแก่รัฐบาล
- มีกลไกที่ไม่ซับซ้อนเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าใจและมีส่วนร่วมได้
การวิเคราะห์ประสบการณ์ของต่างประเทศพบว่า แรงผลักดันสำคัญที่นำมาสู่การจัดตั้งสถาบันการคลังอิสระ มักเกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจหรือสงคราม (55% ของทั้งหมด) อย่างไรก็ตามอีกเกือบครึ่งหนึ่ง (45%) เกิดจากการที่สังคมเรียกร้องให้รัฐบาลมีความรับผิดชอบทางการคลังมากขึ้น ตัวอย่างที่ดี คือ ประเทศชิลี ซึ่งเสียงเรียกร้องจากประชาชนให้รัฐมีความโปร่งใสและความรับผิดชอบมากขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันนักการเมืองและนำไปสู่การจัดตั้ง Autonomous Fiscal Chile ในปี 2019
เมื่อพิจารณาระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับการเสริมพลัง (empower) ภาคประชาสังคมของไทยในการผลักดันนโยบายที่มองไกล สิ่งที่ทำให้สร้างความหวังคือ ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ได้เห็นภาคประชาสังคมที่ตื่นตัวมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในเรื่องการยกระดับความรับผิดชอบของรัฐบาล ได้เห็นความพยายามของหลายองค์กร เช่น WeVis ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง (101Pub) ThaiPBS, Rocket Media Lab และศูนย์ความรู้เพื่อการต่อต้านคอร์รัปชันและเสริมสร้างธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค (KRAC) ซึ่งอยู่ในช่วงกลางน้ำ ทำหน้าที่อย่างทุ่มเทในการวิเคราะห์และสื่อสารให้สังคมได้เข้าใจผลกระทบที่รอบด้านของนโยบายต่าง ๆ แม้ว่าประเทศไทยยังไม่มีสถาบันการคลังอิสระ แต่การพัฒนาระบบนิเวศทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำให้แข็งแกร่งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างกลไกติดตามวินัยการคลังที่มีประสิทธิภาพ และผลักดันนโยบายที่มองไกลในอนาคต
ประเทศไทยกำลังยืนอยู่บนทางแยกการคลังที่สำคัญ ภาระดอกเบี้ยหนี้สาธารณะของประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากระดับ 1.1% ต่อ GDP ในปัจจุบัน สู่ระดับสูงสุดในรอบ 3 ทศวรรษภายในเวลาเพียง 3 ปีข้างหน้า และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าภายใน 5 ปี สถานการณ์นี้เกิดขึ้นท่ามกลางความท้าทายทั้งในด้านการติดกับดักรายได้ปานกลางและการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ หากไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบตั้งแต่วันนี้ วิกฤตครั้งหน้าอาจเกิดขึ้นในจังหวะที่เราอ่อนแอที่สุด และต้นทุนในการแก้ปัญหาจะยิ่งทวีความรุนแรง
เพื่อก้าวข้ามวังวนของการมองสั้นเชิงนโยบาย ประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการกำหนดนโยบายที่มีวิสัยทัศน์ระยะยาว การพัฒนากลไกติดตามวินัยการคลังที่มีประสิทธิภาพ เช่น การจัดตั้งสถาบันการคลังอิสระ ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม จะเป็นก้าวสำคัญในการสร้างดุลยภาพระหว่างผลประโยชน์ระยะสั้นและความยั่งยืนในระยะยาว
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- สัญญาณเตือนวิกฤตคลัง ย้อน 10 ปี รายได้ลด-หนี้มีแต่เพิ่ม
- หนี้ประเทศเสี่ยงชนเพดาน จากรัฐกู้แจก”ดิจิทัลวอลเล็ต
- หนี้สาธารณะแตะ 65.74% จากกู้แจกเงิน 10,000 บาท