ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ที่เกษียณอายุ จะมีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ ซึ่งสำนักงานประกันสังคม จะจ่ายให้กับผู้ประกันตนเป็นรายเดือนตลอดชีวิตหลังเกษียณ โดยผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือนหรือ 15 ปีขึ้นไป มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และต้องสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน
โดยเงินบำนาญชราภาพ ที่จะได้รับรายเดือนตลอดชีวิต มี 2 เงื่อนไข คือ หากจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน จะได้รับเงินสัดส่วน 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย แต่หากจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน จะได้รับเพิ่มอีกปีละ 1.5% ของระยะเวลาการนำส่งเงินสมทบทุก ๆ 12 เดือน
ทั้งนี้เงินบำนาญชราภาพ เริ่มมีการหักเงินจ่ายสมทบมาตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2541 เมื่อนับมาถึงเดือน ธ.ค. 2567 จะได้รวมกันเท่ากับ 26 ปี หรือ 312 เดือน ดังนั้นผู้ที่จ่ายเงินสมทบไม่ถึงปี 2556 หรือไม่ครบ 180 เดือน จะไม่เข้าเงื่อนไข
สูตรคำนวณเงินบำนาญชราภาพ
1. กรณีนำส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน จะได้รับ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (ฐานเงินเดือนเฉลี่ยสูงสุด 15,000 บาท)
ยกตัวอย่าง ผู้ประกันตนอายุ 55 ปี จ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน มีรายได้เฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย 15,000 บาทผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญ เดือนละ 3,000 บาท
สูตรคือ 20 คูณ 15,000 นำผลที่ได้ไปหารด้วย 100 ผลเท่ากับ 3,000 บาท ซึ่งเป็นเงินบำนาญที่ผู้ประกันตนจะได้รับในแต่ละเดือน
2. กรณีนำส่งเงินสมทบเกิน 180 เดือน จะได้รับ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (ฐานเงินเดือนเฉลี่ยสูงสุด 15,000 บาท) และได้เพิ่ม อีก 1.5% ของทุกปี = 20% + (1.5 x จำนวนปีที่จ่ายเกิน 180 เดือนหรือ 15 ปี )
ยกตัวอย่าง ผู้ประกันตนอายุ 60 ปี จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 35 ปี (420 เดือน) มีรายได้เฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย 15,000 บาท ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญ เดือนละ 7,500 บาท
สูตรคือ 1.5 คูณ 20 ปี (จำนวน 35 ปี ลบ 15 ปี) นำผลที่ได้ไปรวมกับ 20 และคูณด้วย 15,000 แล้วหารด้วย 100 ซึ่งเงินบำนาญที่ผู้ประกันตนจะได้รับในแต่ละเดือนเท่ากับ 50% ของรายได้ 15,000 บาท คือ 7,500 บาท
วิธีขอรับเงินบำนาญชราภาพ
เอกสารสำคัญที่ต้องเตรียมยื่นที่สำนักงานประกันสังคม ประกอบด้วย สำเนาบัตรประชาชน, แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ สปส. 2-01 และ สำเนาสมุดบัญชีเงินฝาก ประเภทออมทรัพย์ หากมีพร้อมเพย์ที่ลงทะเบียนเลขบัตรประชาชนก็สามารถใช้ได้เหมือนกัน
สำหรับขั้นตอนการขอรับประโยชน์ทดแทน คือ
ผู้ประกันตนหรือทายาทผู้มีสิทธิ ต้องกรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ สปส. 2-01 พร้อมลงลายมือชื่อและนำมายื่นที่ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา (ยกเว้น สำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข) หรือยื่นขอรับทางไปรษณีย์โดยมีหลักฐานครบถ้วน โดยเจ้าหน้าที่จะตรวจหลักฐานและพิจารณา หลังจากนั้นสำนักงานประกันสังคมมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณา
การสั่งจ่ายเงินจะอยู่ในรูปแบบ 1.เงินสด หรือ เช็ค โดยผู้ประกัน หรือทายาทมารับด้วยตนเอง หรือจะมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมารับแทน 2.ส่งธนาณัติให้ผู้ประกันตน 3.โอนเข้าบัญชีธนาคารตามบัญชี หรือพร้อมเพย์ ของผู้ขอรับประโยชน์ทดแทน
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
ประกันสังคมจ่อปรับ “เงินนำส่ง-สิทธิประโยชน์” รอบ 31 ปี