สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวนเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ…. ผ่านระบบกลางกฎหมาย (www.law.go.th) และเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม ตั้งแต่วันที่ 1 – 15 ธ.ค. 67 และควบคู่ไปกับมุมรับฟังความเห็น ณ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ และสำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา รวมถึงการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. – 31 ธ.ค. 67
เหตุผลของการออกกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2538) ออกตามความในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้กำหนดค่าจ้างขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของผู้ประกันตนมาตรา 33 ไว้ไม่เกิน 15,000 บาท ที่ใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค. 38 ซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำรายวันสูงสุดในขณะนั้นคือ 135 บาท
หากมีการปรับในปี 69 จะทำให้มีการปรับฐานเงินนำส่งและสิทธิประโยชน์ครั้งแรกในรอบ 31 ปี
ดังนั้นจึงสมควรปรับปรุงให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเป็นไปตามมาตรฐานเพดานค่าจ้างขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ตามอนุสัญญาฉบับที่ 102 เรื่องสิทธิประโยชน์ประกันสังคมขั้นพื้นฐาน เพื่อความเพียงพอของสิทธิประโยชน์ที่เป็นเงินทดแทนการขาดรายได้ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับกองทุนรองรับรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น เพื่อการกระจายรายได้จากผู้มีรายได้มากไปสู่ผู้มีรายได้น้อยภายในระบบประกันสังคม และเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบประกันสังคม เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ประกันตนร้อยละ 62.5 มีค่าจ้างต่ำกว่า 15,000 บาท และมีผู้ประกันตนร้อยละ 37.5 มีค่าจ้างเท่ากับหรือสูงกว่าเพดานค่าจ้างปัจจุบัน
ทยอยขึ้นเงินสมทบ ม.33
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และมาตรา 46 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่3) พ.ศ.2542 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
1. กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.69 เป็นต้นไป
2. ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2538) ออกตามความในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533
3. ค่าจ้างที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 33 แต่ละคนให้กำหนดขั้นต่ำและขั้นสูง แต่ไม่เกิน 5% ของค่าจ้าง ดังนี้
- ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.69 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.71 ค่าจ้างไม่เกิน 17,500 บาท ส่งเงินสมทบสูงสุด 875 บาทต่อเดือน
- ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.72 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.74 ค่าจ้างไม่เกิน 20,000 บาท ส่งเงินสมทบสูงสุด 1,000 บาทต่อเดือน
- ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.75 เป็นต้นไป ค่าจ้างไม่เกิน 23,000 บาท ส่งเงินสมทบสูงสุด 1,150 บาทต่อเดือน
อย่างไรก็ตาม นายจ้างและรัฐบาลก็จะต้องส่งเงินสมทบในอัตราเดียวกันกับลูกจ้างด้วยเช่นกัน
สิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนเพิ่มขึ้น
ขณะที่ประโยชน์ของผู้ประกันตน คือ จะได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้น เนื่องจากฐานที่ใช้ในการคำนวณเพื่อรับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวจะคำนวณจากค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุนประกันสังคม ประกอบด้วย
- เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย สูงสุด 6 เดือน เพิ่มเป็น 8,750 บาทต่อเดือน 10,000 บาทต่อเดือน และ 11,500 บาทต่อเดือน
- เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ เพิ่มเป็น 8,750 บาทต่อเดือน 10,000 บาทต่อเดือน และ 11,500 บาทต่อเดือน
- เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร เพิ่มเป็น 26,250 บาทต่อครั้ง 30,000 บาทต่อครั้ง และ 34,500 บาทต่อครั้ง
- เงินสงเคราะห์กรณีตาย เพิ่มเป็น 105,000 บาท 120,000 บาท และ 138,000 บาท
- เงินทดแทนการขาดรายได้ในกรณีว่างงาน (ถูกเลิกจ้าง) สูงสุด 6 เดือน เพิ่มเป็น 8,750 บาทต่อเดือน 10,000 บาทต่อเดือน และ 11,500 บาทต่อเดือน
เงินบำนาญชราภาพ
- ส่งเงินมา 15 ปี เพิ่มเป็น 3,500 บาทต่อเดือน 4,000 บาทต่อเดือน และ 4,600 บาทต่อเดือน
- ส่งเงินมา 25 ปี เพิ่มเป็น 6,125 บาทต่อเดือน 7,000 บาทต่อเดือน และ 8,050 บาทต่อเดือน
ทั้งนี้เงินบำเหน็จชราภาพจะได้รับเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ เนื่องจากมีการนำส่งเงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพเพิ่มขึ้นจากการปรับฐานที่ใช้ในการคำนวณเงินสมทบ
ก่อนหน้านี้สำนักงานประกัน ได้เคยเปิดรับฟังความเห็นร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณ เงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. …. มาแล้ว 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 66 – 28 ก.พ. 66 ปรากฏว่ามีผู้ร่วมเสนอความเห็น 55,584 คน ซึ่งไม่เห็นด้วยกับร่างกฎกระทรวงฯดังกล่าวถึง 73%
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- กองทุนประกันสังคม: ถึงเวลาปรับใหญ่ก่อนเผชิญวิกฤต
- เช็กขั้นตอนขอสินเชื่อบ้านธอส. สำหรับผู้ประกันตน ม.33-39-40
- ผู้ประกันตน ม.33, ม.39, ม.40 ได้สิทธิประโยชน์อะไร? เมื่อเสียชีวิต