การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค.67 ได้มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี จากระดับ 2.50% เป็น 2.25%ต่อปี โดยให้มีผลทันที
การลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี โดย กนง.ปรับได้ลดอัตราดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 62 ที่ระดับต่ำสุด 0.50% ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบแจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19
กนง.เสี่ยงข้างมากที่ลงมติลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ ให้เหตุผลว่า จะทำให้ช่วยบรรเทาภาระหนี้ได้บ้าง และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงก็ยังอยู่ในระดับที่ยังเป็นกลาง และสอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจ
ขณะที่เศรษฐกิจไทย กนง.มองว่า มีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ที่ 2.7% และ 2.9% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ โดยมีปัจจัยจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชนที่ได้รับแรงส่งเพิ่มเติมจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการส่งออกที่ปรับดีขึ้นตามความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ เศรษฐกิจฟื้นตัวแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วน โดยการส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมบางกลุ่ม รวมถึง SMEs ยังถูกกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง
ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 และ 2568 คาดว่าจะอยู่ที่ 0.5% และ 1.2% ตามลำดับ และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะอยู่ที่ 0.5% และ 0.9% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ โดยอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น การแข่งขันด้านราคาที่อยู่ในระดับสูงจากสินค้านำเข้า ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับกรอบเป้าหมาย และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567
อัตราดอกเบี้ยนโยบายคืออะไร
อัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นเครื่องมือที่ธนาคารกลางทั่วโลก และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ใช้ควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย (เงินเฟ้อเป็นภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปในประเทศปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง) กล่าวคือ ถ้าเงินเฟ้อสูงหรือต่ำเกินไปจนไม่อยู่ในกรอบ ธนาคารกลางก็จะใช้เครื่องมือทางการเงินที่เรียกว่า “อัตราดอกเบี้ยนโยบาย” ในการกระตุ้นหรือชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ และไม่ให้ประชาชนต้องเดือดร้อนจากราคาสินค้าและบริการที่เปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป
เมื่อธนาคารกลางปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งย่อมจะต้องปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและทำกำไร
“ดอกเบี้ยขี้น-ลง” จะเกิดอะไรขึ้น
การปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิยชย์จะส่งผลให้ประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย การออม และการลงทุน จากนั้นส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อต่อไป กล่าวคือ
หากดอกเบี้ยปรับขึ้น ประชาชนก็อาจจะเลือกฝากเงินไว้ที่สถาบันการเงินเพื่อรับผลตอบแทนที่สูงจากดอกเบี้ยเงินฝาก ทำให้การใช้จ่ายในระบบน้อยลง ส่วนคนที่คิดจะกู้เงินก็จะเลี่ยงการกู้ที่มีดอกเบี้ยสูงในช่วงดังกล่าว และคนที่มีหนี้ก็จะมีภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่มากขึ้น ทำให้กำลังซื้อในระบบลดลงอีกเช่นกัน เมื่อความต้องการซื้อสินค้าและบริการในระบบลดลง (อุปสงค์) ก็จะช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อและความร้อนแรงของเศรษฐกิจได้
กลับกันหากดอกเบี้ยปรับลดลง ประชาชนก็จะเริ่มถอนเงินออกจากสถาบันการเงิน เพื่อไปหาผลตอบแทนที่ดีกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก อาจไปลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง หรือนำเงินไปใช้จ่ายต่าง ๆ ทำให้เกิดกำลังซื้อ ส่งผลอุตสาหกรรมผลิตสินค้าได้มากขึ้น และมีเงินหมุนเวียนในระบบจำนวนมาก ขณะเดียวกันภาคธุรกิจก็มีแหล่งเงินทุนสามารถไปลงทุน และขยายกิจการเพิ่มได้ เพราะต้นทุนการกู้ยืมลดลงจากดอกเบี้ยที่ปรับลง ทั้งหมดนี้จะทำให้เกิดความต้องการซื้อสินค้าและบริการในระบบที่เพิ่มขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจะหนุนให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นต่อไป และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการขยายตัว
อย่างไรก็ตาม ขนาดของการปรับดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์อาจไม่เท่ากับการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางเสมอไป เพราะจะขึ้นกับปัจจัยอื่นประกอบด้วย เช่น สภาพคล่อง อัตราเงินเฟ้อ ปริมาณเงินฝาก ต้นทุนในการดำเนินการของธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม: อัตราดอกเบี้ยเงินกู้-เฝินฝาก ธนาคารพาณิชย์ล่าสุด
ผู้กู้ได้ประโยชน์จากลดดอกเบี้ย
ปกติแล้วการลดดอกเบี้ย ผู้ที่ได้ประโยชน์ คือ ผู้ที่จะกู้เงินจากสถาบันการเงินทั้งตัวบุคคลและภาคธุรกิจ เพราะทำให้จ่ายดอกเบี้ยที่ถูกลงกว่าเดิม ซึ่งอาจช่วยดึงดูดให้คนไปขอสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์เพื่อกู้เงินกันมากขึ้น โดยอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ที่ใช้เรียกจากผู้กู้ จะมีลักษณะเป็นดอกเบี้ยลอยตัวที่เปลี่ยนแปลงไปตามต้นทุนของสถาบันการเงิน ประกอบด้วย 3 ประเภท ได้แก่
MLR (Minimum Loan Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี เช่น มีประวัติการเงินที่ดี มีหลักทรัพย์ค้ำประกันอย่างเพียงพอ โดยส่วนใหญ่ใช้กับเงินกู้ระยะยาวที่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน เช่น สินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ
MOR (Minimum Overdraft Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทวงเงินเบิกเกินบัญชี (O/D)
MRR (Minimum Retail Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อที่อยู่อาศัย เป็นต้น
ผู้กู้สามารถหาข้อมูลอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งได้จากเว็บไซต์ของธนาคารนั้น ๆ หรือเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ธนาคารพาณิชย์อาจกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บในสินเชื่อประเภทต่าง ๆ ด้วยการบวกเพิ่มหรือลดจากอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง เช่น MRR ของธนาคารอยู่ที่ 7.00% ต่อปี และเงื่อนไขของสินเชื่อกำหนด MRR -0.50% ดังนั้นดอกเบี้ยที่ใช้คำนวณก็จะเท่ากับ 6.50% ต่อปี
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะช่วยลดภาระให้กับลูกหนี้ที่ต้องชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยให้กับธนาคาร ยกตัวอย่าง สินเชื่อบ้าน ซึ่งมีลักษณะการเก็บดอกเบี้ย 2 ประเภท คือ 1. ดอกเบี้ยคงที่แบบขั้นบันได โดยใน 1-3 ปีแรก ดอกเบี้ยจะอยู่ในอัตราต่ำแบบคงที่ จากนั้นจะทยอยปรับขึ้นไปเรื่อย ๆ และ 2.ดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก โดยดอกเบี้ยในแต่ละงวดจะปรับลดลงตามจำนวนเงินต้นที่ลดลง ทำให้ผ่อนหนี้ได้ไวขึ้นและจ่ายดอกเบี้ยน้อยลง แต่ข้อเสียคือจะต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงในช่วงแรก
ในที่นี้จะยกตัวอย่าง สินเชื่อดอกเบี้ยบ้านคงที่แบบขั้นบันได ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้กู้เงินซื้อบ้านในปัจจุบัน สินเชื่อในลักษณะนี้ส่วนใหญ่ธนาคารจะกำหนดดอกเบี้ยคงที่ในช่วงประมาณ 1-3 ปีแรก จากนั้นจะปล่อยดอกเบี้ยแบบลอยตัวที่อ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ย MRR ของแต่ละธนาคารนั้น ๆ
สมมติ หากขอสินเชื่อบ้านในวงเงินกู้ 3,000,000 บาท MRR 7.00% ต่อปี กำหนดผ่อน 30 ปี ธนาคารกำหนดให้ปีที่ 1 อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2.50% ปีที่ 2-3 อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4.30% และปีที่ 4 เป็นต้นไป MRR –1.00% จะคำนวณดอกเบี้ยได้ดังนี้
ดอกเบี้ยเงินกู้ปีที่ 1 อัตราคงที่ 2.50%
- 3,000,000 X 2.50% คิดเป็นดอกเบี้ย 75,000 บาท
ดอกเบี้ยเงินกู้ปีที่ 2-3 อัตราคงที่ 4.25%
- 3,000,000 X 2.29% คิดเป็นดอกเบี้ย 129,000 บาท
ดอกเบี้ยเงินกู้ปีที่ 4 เป็นต้นไป ไป MRR –1.00%
- 3,000,000 X 6.00% (MRR 00% – 1.00%) คิดเป็นดอกเบี้ย 180,000 บาทต่อปี
เมื่อรวมเงินต้นและดอกเบี้ยทั้งหมดทุกปี เท่ากับว่าจะต้องผ่อนบ้านที่ 22,400 บาทต่อเดือน
แต่ในกรณีอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลง 0.25% และธนาคารปรับลด MRR ลง จาก 7.00% เหลือ 6.75% ต่อปี
- 3,000,000 X 5.75 % (MRR 6.75% – 1.00%) จะได้ดอกเบี้ย 172,500 บาทต่อปี เมื่อรวมเงินต้นและดอกเบี้ยทั้งหมดทุกปี เท่ากับว่าจะต้องงวดผ่อนบ้านเหลือที่ 21,837.5 บาทต่อเดือน
จะเห็นได้ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผ่านไปถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ด้วย เป็นผลให้ดอกเบี้ยบ้านลดลง และทำให้ภาระหนี้ผ่อนบ้านลดลงราว 562.5 บาทต่อเดือน
อย่างไรก็ตาม บางธนาคารมักมีการโฆษณาใช้ประโยคที่ว่า ผ่อนบ้านล้านละ 3,000 บาทต่อเดือน, 4,000 บาทต่อเดือน และ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นต้น ซึ่งมักเป็นการคำนวณแบบหยาบ ๆ ให้กับผู้ที่คิดจะกู้ซื้อบ้าน และอาจทำให้เข้าใจผิดได้ว่าต้องผ่อนราคาเท่านี้ เช่น กู้ซื้อบ้าน2,000,000 บาท ดอกเบี้ย 5.75 % ระยะเวลานาน 30 ปี ผ่อนล้านละ 7,000 บาทต่อเดือน เมื่อคำนวณแล้วจะต้องผ่อนตามจริง 15,138.3 บาทต่อเดือน (1 ล้านบาท = 7,569 บาท)
ดังนั้นผู้ที่คิดจะกู้เงินซื้อบ้านจำเป็นต้องติดตามข่าวอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. และศึกษาข้อมูลอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ รวมถึงสินเชื่อบ้านให้ละเอียดก่อนตัดสินใจกู้ เพราะแต่ละธนาคารมีเงื่อนไขการให้สินเชื่อกับผู้กู้ที่แตกต่างกัน รวมถึงต้องวางแผนการผ่อนชำระหนี้บ้านในระยะยาวให้สอดคล้องกับกำลังทรัพย์และรายได้ของตนเองที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นภาระหนี้ที่เกินตัวจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ในอนาคต
ทั้งนี้ ผู้กู้ที่ได้ประโยชน์จากการปรับลดดอกเบี้ย คือ ผู้ที่กู้แบบอัตราดอกเบี้ย “ลอยตัว” กล่าวคือ อัตราดอกเบี้ยขึ้นลงตามตลาด แต่ในกรณีผู้ที่กู้เงินแบบอัตราดอกเบี้ยคงที่ หรือ Fixed Rate จะไม่ได้รับประโยชน์จากการปรับลดดอกเบี้ย รวมทั้งบรรดาเงินกู้แบบลิสซิ่ง เช่น รถยนต์ การผ่อนสินค้าไอที เพราะสถาบันการเงินได้คิดดอกเบี้ยทั้งหมดแล้ว ก่อนมาหารเป็นงวด ๆ กัน
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- กนง.ลดดอกเบี้ย 0.25% ครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี
- ดอกเบี้ยกำลังขาลง จากเศรษฐกิจชะลอ-การเงินโลก
- เมื่อการเมือง “เจ็ตแล็ก” เรื่องนโยบายดอกเบี้ย
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), ธนาคารกรุงไทย