ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผชิญกับแรงกดดันอีกรอบ หลังจาก นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน “Trust Thailand เชื่อมั่นประเทศไทย” ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน และเพิ่มสภาพคล่องในระบบกระตุ้นเศรษฐกิจ
สำหรับในปีนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกรายงานการเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2567 เติบโตเพียง 2.5% ถือเป็นอัตราที่ต่ำติดอันดับ 8 ของอาเซียน และยังห่างจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2.7% และคาดว่าในปี 2568 จะขยายตัว 2.3-3.3%
แม้ช่วงปลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลจะเร่งเข็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ แจกเงิน 10,000 บาท ให้กับกลุ่มเปราะบางและผู้พิการ จำนวน 14.55 ล้านคน ใช้งบประมาณก้อนใหญ่ 145,552 ล้านบาท แต่ก็ไม่อาจสร้างพายุหมุนเศรษฐกิจได้ตามที่หวัง สะท้อนจาก จีดีพี ไตรมาส 4 เติบโตเล็กน้อย 0.2% จากไตรมาสก่อนหน้า และการบริโภคเอกชนเติบโตเพียง 0.1% จากไตรมาสก่อนหน้า

รายงานเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ของปี 2567 ทั้งปี และแนวโน้มปี 2568 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ณ วันที่ 17 ก.พ. 2568
ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีกำหนดประชุมครั้งแรกของปี 2568 ในวันที่ 26 ก.พ. โดย ลลิตา เธียรประสิทธิ์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.25% ต่อเนื่องจากครั้งก่อน เพราะมีแนวโน้มรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจไทยภายใต้ความไม่แน่นอนที่มีอยู่สูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงจากนโยบายปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ
ทั้งนี้โมเมนตัมเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2568 คาดว่าจะยังขยายตัวใกล้เคียงกับในไตรมาส 4 ปี 2567 ที่เติยโต 3.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) มีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การเร่งส่งออก และการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ
ในปี 2568 มีความเป็นไปได้ที่ กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 1-2 ครั้ง คาดคงให้น้ำหนักกับความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินภายในประเทศเป็นสำคัญ ทิศทางการผ่อนคลายนโยบายการเงินทั่วโลกที่ล่าช้าออกไปตามธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด (Fed) คงไม่ใช่ปัจจัยหลักที่กนง. นำมาพิจารณาจังหวะในการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของไทย
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงที่สูงขึ้นโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2568 จากทั้งปัจจัยภายในและภายนอก โดยการส่งออกของไทยในปีนี้ คาดว่าจะชะลอตัวลงจากผลกระทบของสงครามการค้ารอบใหม่ ขณะที่เศรษฐกิจภายในประเทศมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันจากภาคการผลิตที่ยังไม่ฟื้นตัว และการใช้จ่ายของครัวเรือนที่มีโมเมนตัมชะลอลงท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของครัวเรือนได้จำกัดและในระยะสั้นเท่านั้น
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง