หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสถาบันการเงิน ปรับสูงขึ้นมาตั้งปลายปี 2566 จนถึงปี 2567 สาเหตุมาจากสภาพเศรษฐกิจที่เติบโตน้อยลง ทำให้ลูกหนี้ขาดสภาพคล่อง และค่าครองชีพปรับสูงขึ้น จนมีรายได้ไม่เพียงพอไปชำระหนี้กับสถาบันการเงิน
ในช่วงต้นปี 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible lending หรือ RL) โดยมุ่งไปที่ การปรับโครงสร้างหนี้ โดยเจ้าหนี้ต้องช่วยลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง, การแก้ปัญหาหนี้เรื้อรังให้กลุ่มเปราะบาง โดยเจ้าหนี้ต้องช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางให้สามารถปิดจบหนี้ได้ และการคุ้มครองสิทธิลูกหนี้ให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น
ล่าสุด ธปท. รายงานสรุปภาพรวมธนาคารพาณิชย์ปี 2567 และไตรมาสที่ 4 ปี 2567 โดยยอดคงค้างสินเชื่อ NPL หรือหนี้เสียที่ค้างชำระเกิน 90 วัน (Stage 3) ณ ไตรมาส 4 ปี 2567 ปรับลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าประมาณ 20,000 ล้านบาท เหลืออยู่ที่ 552,100 แสนล้านบาท ส่งผลให้ให้สัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมปรับลดลงอยู่ที่ร้อยละ 2.78 ครั้งแรกในรอบ 1 ปี (นับตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 66)
สาเหตุที่ NPL ในไตรมาสนี้ขยับลง โดยหลักมาจากหนี้เสียธุรกิจทั้งรายใหญ่และรายเล็กปรับลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบริหารจัดการคุณภาพหนี้และการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่องของธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งลูกหนี้บางส่วนสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้
รวมถึง NPL ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคก็ปรับลดลงทุกประเภท ยกเว้นสินเชื่อบ้านที่ NPL ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 3.82 ในไตรมาสก่อนหน้า มาอยู่ที่ร้อยละ 3.88 ในไตรมาส 4 ปี 67
แต่จากตัวเลข NPL ที่ปรับลดลง ไม่ได้สะท้อนว่าสถานการณ์หนี้จะดีขึ้น เนื่องจากลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวได้รับการปรับโครงสร้างหนี้จากธนาคารพาณิชย์ ทำให้ถูกปรับชั้นคุณภาพหนี้ลงมาอยู่ที่ Stage 2 หรือเป็นลูกหนี้ที่ค้างชำระเกิน 30 วัน ส่งผลให้หนี้เสีย stage 2 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 6.98 จากร้อยละ 6.86 ในไตรมาสก่อนหน้า สูงที่สุดในรอบหลายปี
ธนาคารพาณิชย์มีการตั้งเงินสำรองในไตรมาส 4 ปี 67 อยู่ที่ 42,000 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 12.2% และช่วงเดียวกันของปีก่อน 28.8% เมื่อคิดเป็นเงินสำรองต่อหนี้เสียอยู่ที่ 177.1% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 170.3% ส่งผลให้รวมทั้งปี 67 เงินสำรองอยู่ที่ 188,000 ล้านบาท ลดลง 5.4% จากปี 66 แต่ยังคงสูงกว่าปี 65 ที่ 183,000 ล้านบาท
สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. ระบุว่า ทาง ธปท.ยังคงมีความกังวลสถานการณ์หนี้ แม้หนี้เสียจะเริ่มดีขึ้นเล็กน้อยในไตรมาส 4 ปี 67 แต่ยังคงต้องติดตามกันในระยะยาว อีกทั้งในช่วงไตรมาสนี้ธนาคารพาณิชย์จะมีการบริหารจัดการหนี้เสียเพื่อปิดงบการเงินประจำปี จึงยังคงต้องติดตามลูกหนี้กลุ่มหนี้อย่างใกล้ชิด
สำหรับหนี้เสียบ้านที่ยังคงเพิ่มขึ้นก็มีความกังวล คาดว่ามาตรการคุณสู้เราจะช่วยทำให้ผ่อนคลายลงได้ หลังจากที่ลูกหนี้ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้และตกลงเงื่อนไขกันได้เรียบร้อยแล้ว ส่วนหนี้เสียอื่น ๆ แม้ดีขึ้นแต่ก็ยังใจเย็นไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่ถูกปรับชั้นลงไปอยู่ stage 2 ทางธปท.จะติดตามใกล้ชิดเช่นกัน
ถ้าแก้หนี้ แต่รายได้ไม่กลับมาเนี่ย หนี้ก็จะแก้ไม่ได้ในระยะยาว มันก็จะเป็นการลดภาระชั่วคราว เพราะฉะนั้น แบงค์ชาติก็คงยังต้องตามมอนิเตอร์ต่อไป
ความคืบหน้า มาตรการคุณสู้เราช่วย ตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค. 67 – 16 ก.พ. 68 มีลูกหนี้ลงทะเบียน 820,000 ราย (ลูกหนี้ 1 คน กู้ 1 ธนาคาร = นับเป็น 1 ราย / ลูกหนี้ 1 คน กู้ 2 ธนาคาร = นับเป็น 2 ราย) จำนวนบัญชีทั้งหมด 990,000 บัญชี โดยอับดับ 1 ลูกหนี้บัตรเครดิต อันดับ 2 ลูกหนี้บ้าน และอันดับ 3 ลูกหนี้รถยนต์
ปัญหาอุปสรรคที่พบ คือ ไม่สามารถติดต่อลูกหนี้บางส่วนที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการได้ โดยเฉพาะลูกหนี้รถยนต์ที่เข้าเงื่อนไขค้างชำระเกิน 90 วัน ซึ่งติดต่อได้ยาก และลูกหนี้บางส่วนติดเงื่อนไขของมาตรการ เช่น ห้ามก่อหนี้ในช่วง 12 เดือนแรก และการรายงานในข้อมูลเครดิตบูโร
ธปท.จึงขยายเวลามาตรการออกไปจนถึง 30 เม.ย. 68 เพิ่มการช่วยเหลือลูกหนี้ให้ครอบคลุม Non-bank ที่เข้าเงื่อนไข (ไม่ใช่บริษัทในกลุ่มธนาคารพาณิชย์) ให้สถาบันการเงินทุกแห่งแจ้งลูกหนี้ที่เข้าเงื่อนไขผ่าน SMS ให้มาเข้าร่วมมาตรการ รวมถึงเพิ่มการสื่อสารแก้ความเข้าใจผิดของลูกหนี้ เช่น ลูกหนี้ยังมีสภาพคล่องส่วนเพิ่มจากค่างวดที่ลดลง โดยไม่มีภาระดอกเบี้ยเพิ่มเติม และยังสามารถกู้เพื่อประกอบธุรกิจได้, การรายงานข้อมูลในเครดิตบูโร เป็นการให้ข้อมูลว่าเข้าร่วมโครงการ หากชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไข จะสะท้อนให้เห็นความตั้งใจ และมีวินัยในการแก้หนี้
อย่างไรก็ตาม ธปท.ยอมรับว่า ณ สินเดือน ม.ค. มีลูกหนี้ที่ผ่านเงื่อนไขเพียง 240,000 ราย คิดเป็น 38% ของลูกหนี้ที่ลงทะเบียนทั้งหมด 630,000 ราย เพราะลูกหนี้ที่ไม่ผ่านมีสาเหตุมาจากลงทะเบียนผลิตภัณฑ์สินเชื่อไม่ตรงกับชื่อบริษัทเจ้าหนี้ ซึ่งธปท.ได้มีการแก้ไขระบบในส่วนนี้ให้มีชื่อเจ้าหนี้พร้อมกับชื่อผลิตภัณฑ์สินเชื่อไปด้วย ส่วนลูกหนี้อีกกลุ่มพบว่ายังมีประวัติชำระที่ดี และลูกหนี้อีกกลุ่มวงเงินสินเชื่อเกินเงื่อนไข ซึ่งไม่ตรงตามคุณสมบัติที่ต้องการช่วยกลุ่มเปราะบาง ก็จะใช้มาตรการอื่นช่วยเหลือแทน เช่น มาตารการ RL
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง