เมื่อ 13 พ.ค. 68 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกโทเคนดิจิทัล พ.ศ. …. เพื่อให้กระทรวงการคลังสามารถออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล (Government Token: G-Token) ภายใต้ชื่อ “Thailand Digital Token”
การจำหน่ายผ่านโทเคน เป็นหนึ่งในเครื่องมือการระดมทุนรูปแบบใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระดมทุนและขยายฐานนักลงทุนให้มีความหลากหลายและครอบคลุมอย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของโลกปัจจุบันมากยิ่งขึ้น
G-Token คืออะไร
G-Token ถือเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างหนึ่ง โดยเป็นการนำเทคโนโลยีประยุกต์ใช้กับเครื่องมือทางการเงินเพื่อเพิ่มศักยภาพการระดมทุน เพิ่มความคล่องตัว และความโปร่งใสส่งผลให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ตลอดจนเพิ่มช่องทางของโอกาสและทางเลือกในการกระจายการลงทุนได้หลากหลายมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังเป็นการสนับสนุนการพัฒนาตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศให้เป็นแหล่งระดมทุนที่ยั่งยืน ส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางการเงินในระดับภูมิภาคของประเทศ
สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง ได้กำหนดคุณลักษณะของ G-Token ให้เป็นแหล่งลงทุนศักยภาพสูงให้กับประชาชน คือ มีความเสี่ยงต่ำ รวมทั้งการกำหนดอัตราผลตอบแทนล่วงหน้าไว้อย่างชัดเจน ภายใต้การกำกับดูแลตามกฎหมายและประกาศของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
G-Token เป็นการกู้เงินของรัฐบาลภายใต้กรอบการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2568 ปรับปรุงครั้งที่ 1 ผลตอบแทนของ G-Token จะเบิกจ่ายจากงบชำระหนี้ในกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งถือเป็นหนี้สาธารณะเช่นเดียวกับเครื่องมือระดมทุนอื่น ๆ ของ สบน.
ทั้งนี้ สบน. มีแผนที่จะเสนอขาย G-Token อย่างสม่ำเสมอ เพื่อส่งเสริมและเพิ่มโอกาสให้ประชาชนมีทางเลือกในการลงทุน โดยจะพิจารณากำหนดรูปแบบและวิธีการดำเนินการจัดจำหน่ายที่เหมาะสมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงต้นทุน ความเสี่ยง สภาวะตลาด และวิธีการลงทุนของผู้ลงทุน รวมถึงแผนการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล
ใครซื้อได้บ้าง G-Token
พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า เป็นช่องทางใหม่เพิ่มทางเลือกให้กับนักลงทุน โดยผู้ถือ G-Token จะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากเงินทั่วไป มีความมั่นคง สม่ำเสมอ และถือเป็นส่วนหนึ่งของหนี้สาธารณะ ไม่ได้เป็นการพิมพ์เงินใหม่หรือคริปโทเคอเรนซี
ข้อดีของ G-Token นักลงทุนที่มีเงินจำนวนน้อยก็สามารถซื้อได้ และเข้าข่ายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลชนิดหนึ่ง โดยกระทรวงการคลังจะออกขายครั้งแรกมูลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาท เพื่อทดลองระบบและความปลอดภัย คาดว่าภายในไม่เกิน 2 เดือนนับจากนี้
ประชาชนทั่วไปสามารถซื้อ G-Token ได้เหมือนกับพันธบัตรรัฐบาล ผ่านธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทหลักทรัพย์ หรือศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจัลทัล ที่เป็นผู้ให้บริการตามกฎหมาย พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
ทั้งนี้ มติ ครม.กำหนดให้กระทรวงการคลังอาจมอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นตัวแทนของกระทรวงการคลังในการดำเนินการด้านต่าง ๆ ได้แก่ ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล มีหน้าที่ดำเนินการด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำและการออกโทเคนดิจิทัล นายทะเบียน หรือผู้รับฝากโทเคนดิจิทัล เป็นต้น
กระทรวงการคลังจะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลให้แก่ผู้มีสิทธิซื้อโดยตรงผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือนิติบุคคลอื่นที่สามารถรับคำสั่งซื้อขาย สินทรัพย์ดิจิทัลได้ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนความเหมาะสมของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลนั้น เช่น กำหนดให้กระทรวงการคลังจัดทำหนังสือชี้ชวนเผยแพร่ เป็นการทั่วไปอย่างน้อยต้องกำหนดเกี่ยวกับวงเงิน อายุ อัตราดอกเบี้ย และเงื่อนไขการโอนและกำหนดประเภทผู้มีสิทธิซื้อ ได้แก่ บุคคลธรรมดา นิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไร หรือนิติบุคคลอื่นตามที่กระทรวงการคลังประกาศกำหนด เป็นต้น
สำหรับการโอน G-Token จะดำเนินการตามวิธีการที่ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือนิติบุคคลอื่นใดที่สามารถรับคำสั่งซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้โอนได้เปิดบัญชีเก็บรักษาโทเคนดิจิทัลของตนไว้โดยให้มีผลสมบูรณ์เมื่อผู้โอนนั้นได้บันทึกการรับโอนโทเคนดิจิทัลเข้าไปในบัญชีของผู้รับโอนแล้ว เพื่อนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการพัฒนากลไกการบริหารหนี้สาธารณะให้มีประสิทธิภาพ และภาครัฐสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลายมากขึ้น ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการออมของภาคประชาชน อันสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่มีคุณภาพ มั่นคง ปลอดภัย ครอบคลุมเพียงพอ และเข้าถึงได้ทั้งในด้านพื้นที่และราคา เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงบประมาณ และธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นชอบ/ไม่ขัดข้อง โดยสำนักงาน ก.ล.ต. เห็นว่า หากกระทรวงการคลังพิจารณาได้ว่าการกู้เงินโดยวิธีการออก G-Token ไม่ใช่การออกตราสารหนี้ ซึ่งไม่เป็น “หลักทรัพย์” ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 แล้ว ก็สามารถดำเนินการภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561
โดย G-Token มีการกำหนดสิทธิให้ผู้ถือมีสิทธิได้รับชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยตามเงื่อนไขที่กระทรวงการคลัง กำหนด จึงมีลักษณะเป็นหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อกำหนดสิทธิของผู้ถือในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ หรือกำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง และเข้าข่ายเป็นโทเคนดิจิทัล ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ซึ่งต้องเป็นไปตามพระราชกำหนดดังกล่าวและกฎเกณฑ์ที่ออกโดยคณะกรรมการ ก.ล.ต. และสำนักงาน ก.ล.ต. ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. จะเสนอแนวทางในการกำกับดูแลที่เหมาะสมและสอดคล้องกับลักษณะของ G-Token ให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. พิจารณาต่อไป
พชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการ สบน. อธิบายเพิ่มเติมว่า ตามปกติการกู้เงินของรัฐบาล กระทรวงการคลังจะใช้วิธีขายเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน ตั๋วเงินคลัง และพันธบัตรออกทรัพย์ รวมทั้งหมดเรียกว่าตราสารหนี้ แต่ G-Token จะเป็นการระดมทุนรูปแบบใหม่ที่ต่างไปจากเดิม โดยเป็นการกู้เงินโดยตรงจากประชาชน เพื่อลบจุดอ่อนของพันธบัตรออกทรัพย์ ให้มีความครอบคลุมเข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น
นอกจากนี้ เดิมการเปลี่ยนผู้ถือครองพันธบัตรจะต้องซื้อขายในตลาดรอง ซึ่งใช้เวลานานอย่างน้อย 7 วัน แต่ G-Token จะสามารถเปลี่ยนผู้ถือครองได้อย่างรวดเร็วกว่าผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
การระดมทุนผ่าน G-Token นั้น จะช่วยทำให้กระทรวงการคลัง สามารถลดต้นทุนในการระดมทุนที่ถูกลงกว่ารูปแบบเดิม ขณะเดียวกันก็จะทำให้ผู้ที่ถือครองหรือต้องการขาย เสียค่าใช้จ่ายที่ต่ำที่สุดทั้งระบบ นอกจากนี้ G-Token ยังสามารถติดตามได้และสั่งเริ่มต้นใหม่ได้ทันทีกรณีมีปัญหาหรือถูกแฮกระบบ จึงมีความปลอดภัยและโปร่งใส
หลังจากที่มีมติ ครม. ออกมาแล้ว จะเป็นหน้าที่ของ ก.ล.ต. ในการกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องอีกเล็กน้อย ก่อนจะมีการประกาศรายละเอียดให้ประชาชนทราบอีกครั้ง
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- เศรษฐกิจไทยกำลังแย่ลง เมื่อมูดีส์มองไม่เหมือนเดิม
- คนไทย 24 ล้านคนเสี่ยงจน?: โจทย์ใหญ่รัฐบาลลดความยากจนหลายมิติ
- ไทยกระทบจำกัดหลังใช้ GMT ตาม OECD เก็บภาษีบริษัทต่างชาติ 15%