เมื่อ 29 เม.ย. 68 บริษัทมูดีส์ อินเวสเตอส์ เซอร์วิส (Moody’s) ออกรายงานผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย โดยได้คงอันดับความน่าเชื่อถือ (Sovereign Credit Rating) ที่ระดับ Baa1 และปรับมุมมองความน่าเชื่อถือ (Outlook) ที่ Negative Outlook
การปรับมุมมองครั้งนี้ มีสาเหตุหลักมาจากปัจจัยความเสี่ยงภายนอก (External Risks) โดยเฉพาะความไม่แน่นอน (Uncertainty) ที่เกิดขึ้นจากนโยบายการจัดเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการค้าและการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งในระดับโลก (Global) และภูมิภาค (Regional) รวมถึงส่งผลกระทบทางอ้อมมายังเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ารวมถึงประเทศไทย
มาตรการทางภาษีดังกล่าว นับว่าเป็นปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุมของรัฐบาลไทย แม้จะยังไม่สามารถประเมินระยะเวลาและความรุนแรงได้อย่างชัดเจน แต่ความไม่แน่นอนดังกล่าวส่งผลกระทบต่อศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกที่มีการปรับลดอัตราการเจริญเติบโตในปี 2568 จาก 3.3% เป็น 2.8%
ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่ได้รับ Negative Outlook จากปัจจัยดังกล่าว แต่ยังมีประเทศอื่นที่ถูกปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศ (Outlook) เช่นกัน
สำหรับประเทศอื่นที่ถูกปรับลดมุมมองไปก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2566 – 2567 เป็นผลจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและความขัดแย้งด้านการค้า สะท้อนถึงแนวโน้มความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก
อันดับเครดิตประเทศคืออะไร?
อันดับเครดิตของประเทศ (Sovereign credit rating) หรืออันดับความน่าเชื่อถือ เป็นเครื่องมือที่มีมาตรฐานชี้วัดความเสี่ยงในการเข้าไปลงทุนในประเทศหนึ่ง ๆ สะท้อนความสามารถในการชำระคืนหนี้ตามกำหนด (ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย) ซึ่งใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงความเสี่ยงและผลตอบแทนในการลงทุนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศนั้น ๆ
ขณะเดียวกันยังใช้เป็นมาตรฐานในการพิจารณาอันดับเครดิตของตราสารภาคเอกชนในประเทศอีกด้วย
หากไม่ได้รับการจัดอันดับเครดิต ก็จะทำให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น หากรัฐบาลหรือเอกชนต้องการกู้เงินจากตลาดการเงินต่างประเทศ โดยสถาบันการเงินต่างประเทศมักจะคิดอัตราดอกเบี้ยตามอันดับเครดิตของประเทศ
มูดีส์มองไทยมีความเสี่ยงอะไรบ้าง?
สำหรับประเทศไทย ทางมูดีส์มีความเห็นเกี่ยวกับฐานะการเงินต่างประเทศ ภาวะเศรษฐกิจไทย ภาคการคลัง และความท้าทายเชิงโครงสร้างของประเทศไทย ดังนี้
ภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance): ประเทศไทยยังคงมีฐานะการเงินต่างประเทศที่แข็งแกร่งและมีทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง (ณ เดือนมีนาคม 2568 มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศกว่า 215,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
เสถียรภาพทางการเงิน (Financial Stability): โครงสร้างสถาบันและธรรมาภิบาลของประเทศไทยยังคงมีความแข็งแกร่ง ซึ่งสนับสนุนให้การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคมีประสิทธิภาพและเสถียรภาพ ประเทศไทยมีประวัติความสำเร็จในการควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำและมีเสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังสามารถบริหารหนี้ให้อยู่ในระดับที่รับได้ แม้ว่าภาระหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ในประเทศที่มีความพร้อม สามารถรองรับการระดมทุนของภาครัฐและเอกชน ตลอดจนมีหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นสกุลเงินบาท และมีอายุเฉลี่ยของหนี้ที่ค่อนข้างยาว ซึ่งถือเป็นโครงสร้างหนี้ที่เอื้อต่อการบริหารจัดการภาระหนี้
ภาวะเศรษฐกิจไทย (Economic Condition): การเติบโตของเศรษฐกิจประเทศไทยยังช้ากว่าประเทศในกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือเดียวกัน (Peers) นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) และเศรษฐกิจไทยยังคงมีความอ่อนไหวต่อการรองรับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ (Economic Shock) อาทิ การจัดเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ภายใต้ความไม่แน่นอนในระดับสูง
ภาคการคลัง (Fiscal Position): แม้รัฐบาลไทยจะดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่การประกาศใช้ภาษีศุลกากรและการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อการค้าโลก บั่นทอนความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ และกระทบโดยตรงต่อประเทศเศรษฐกิจเปิดอย่างไทย
สถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้กระบวนการเข้าสู่ความสมดุลทางการคลัง (Fiscal Consolidation) ของไทยล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ในกรอบวินัยการคลังระยะปานกลาง (Medium Term Fiscal Framework: MTFF) ที่ได้จัดทำไว้ก่อนหน้า
ความท้าทายเชิงโครงสร้าง (Structural Challenges): ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเติบโตของผลิตภาพการผลิต (Productivity Growth) ที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ปรับมุมมองรอบนี้ต่างจากรอบก่อนอย่างไร?
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่ามูดีส์กล่าวถึงสาเหตุสำคัญของการปรับมุมมองต่อแนวโน้มอันดับเครดิตลงเป็น Negative รอบนี้ มาจากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจไทยซึ่งมีผลทำให้สถานะทางการคลังอ่อนแอลง โดยเฉพาะหลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อการค้าและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลก และมีผลกระทบตามมายังเศรษฐกิจไทยอันเป็นเศรษฐกิจเปิด และมีการฟื้นตัวที่เปราะบางตั้งแต่หลังช่วงโควิด-19
การปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตในรอบนี้ ต่างจากการปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น Negative ในรอบก่อน ซึ่งเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2551 ในช่วงของวิกฤต Subprime อยู่ 2 จุด คือ
เศรษฐกิจไทยในปี 2551-2552 ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจการเงินทั่วโลก ซึ่งหลังจากวิกฤต Subprime คลี่คลายลง (หรือประมาณ 22 เดือนหลังจากนั้น) Moody’s ก็ปรับแนวโน้มกลับมาที่ Stable ในต.ค. 53
ระดับหนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ โดยแม้ในช่วงนั้นรัฐบาลไทยกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการการคลังซึ่งทำให้ยอดขาดดุลการคลังเพิ่มสูงขึ้น แต่ระดับหนี้สาธารณะของไทยก็ยังคงอยู่ภายใต้เพดานหนี้สาธารณะ โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะขยับขึ้นประมาณ 4.3% จาก 35.0% ของจีดีพี ณ ก.ย. 51 มาที่ 39.3% ของจีดีพี ณ ต.ค. 53
แต่ในรอบนี้ คงต้องมองย้อนกลับไปในเม.ย. 63 ที่แนวโน้มอันดับเครดิตของไทยเริ่มปรับลดลงจาก Positive มาที่ Stable ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นหลังช่วงโควิด-19 ก่อนที่จะตามมาด้วยรอบล่าสุด (28 เม.ย.68) ที่มีการปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตลงต่อมาที่ Negative โดยเพิ่มเติมปัจจัยลบทางเศรษฐกิจจากการเปิดเกมปรับขึ้นภาษีนำเข้าของ ปธน.ทรัมป์ และความเสี่ยงทางการคลังของรัฐบาลไทย
ทั้งนี้ ภาพจังหวะที่ไทยถูกจับตาเป็นพิเศษจนมีการทบทวนแนวโน้มของอันดับเครดิตลงต่อเนื่อง จาก Positive (ก.ค. 2562) เป็น Stable (เม.ย. 2563) จนมาเป็น Negative (เม.ย. 2568) ใช้ระยะเวลาเกือบ 6 ปี อันย้ำถึงปัญหาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ลากยาวขึ้นกว่าเดิม
นอกจากนี้ มีเงื่อนไขเพิ่มเติม คือ ตัวช่วยทางการคลังมีสัญญาณที่จำกัดมากขึ้นกว่ารอบก่อน จากสัดส่วนหนี้สาธารณะที่ขยับขึ้นแตะระดับ 64.2% ต่อจีดีพี ณ ก.พ. 68
คาดบริษัทจัดอันดับอื่นทบทวนในทิศทางเดียวกัน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถืออื่น ๆ อาจทบทวนแนวโน้มอันดับเครดิตของไทยตามมาด้วยเหตุผลที่คล้ายคลึงกัน เพียงแต่ในระหว่างนี้ไทยอาจยังมีเวลาราว 6 เดือน ถึง 1 ปี (ตามรอบของการปรับอันดับความน่าเชื่อถือในอดีต) เพื่อวางแนวทางรับมือผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ทั้งปัจจัยเฉพาะหน้าจากประเด็นการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และปัจจัยเสี่ยงเชิงโครงสร้างที่มีอยู่เดิมของเศรษฐกิจไทย ทั้งหนี้ครัวเรือนสูง ขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจไทย และสถานะทางการคลัง
ตลาดการเงินไทยตอบรับข่าวการปรับมุมมองต่อแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือมาเป็น Negative ในรอบนี้ ค่อนข้างจำกัด เพราะปัจจัยอื่นมีผลมากกว่า อาทิ ทิศทางเงินดอลลาร์ฯ ที่โดนกระทบจากเรื่องสงครามการค้า และสัญญาณฟันด์โฟลว์ของต่างชาติ ซึ่งสลับมาอยู่ในฝั่งไหลเข้าสุทธิรับมติการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยลง 0.25% มาที่ 1.75% ในการประชุม กนง. 30 เมษายน 2568
อย่างไรก็ตาม หากมีสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถืออื่นๆ ปรับทบทวนมุมมองที่มีต่อแนวโน้ม (หรือปรับอันดับเครดิต) ตามมาในอนาคตอันใกล้ ผลกระทบอาจทยอยชัดเจนขึ้น เพราะประเด็นนี้อาจนับเป็นหนึ่งในสัญญาณที่ย้ำกว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางลงมาก โดยทิศทางผลกระทบที่เป็นไปได้คือ
- ปัจจัยนี้ตามลำพังอาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงตามความเสี่ยงของเงินทุนไหลออก แต่ประสบการณ์จากการปรับมุมมองหรือทบทวนอันดับเครดิตรอบก่อนๆ สะท้อนว่า ยังคงมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อทิศทางเงินบาทมากกว่า โดยเฉพาะทิศทางเศรษฐกิจ ดอกเบี้ยนโยบาย และสถานการณ์ของค่าเงินดอลลาร์ฯ
- Credit Spread สำหรับหุ้นกู้เอกชน มีโอกาสแพงขึ้น ท่ามกลางภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวยและนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อย อยู่ในภาวะหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Risk Averse) ซึ่งส่งผลกระทบตามมาต่อความสำเร็จในการระดมทุนด้วยหุ้นกู้ ให้มีโอกาสได้เม็ดเงินระดมทุนตามที่คาดหวังไว้นั้น ลดลงเช่นกัน
ปรับมุมมอง 7 แบงก์ไทยในทิศทางเดียวกัน
ต่อมา 30 เม.ย. มูดีส์ ได้ปรับลดมุมมอง (outlook) อันดับความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงินไทย 7 แห่งเป็นลบ (negative) จากเดิมมุมมองคงที่ (stable) เช่นเดียวกับมุมมองต่อเครดิตของประเทศที่ปรับลงไปก่อนหน้านี้ โดยสถาบันการเงิน 7 แห่งมีดังนี้
- ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL)
- ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIMT)
- ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK)
- ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB)
- ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB)
- บริษัท เอสซีบี เอ็กซ์ จำกัด (SCBX)
- ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) (TTB)
คลังมองต่างมุม ไม่ได้เกิดจากพื้นฐานประเทศ
สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง มองต่างออกไป โดยเห็นว่ามาจากปัจจัยภายนอกมากกว่าพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศ ดังนี้
• แนวทางการรองรับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์: ประเทศไทยกำลังดำเนินการเจรจาเพื่อรองรับต่อมาตรการดังกล่าวที่อาจส่งผลกระทบทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว อาทิ การลดภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐอเมริกา และการรองรับผลกระทบจากประเทศคู่ค้าของสหรัฐอเมริกาในการหาตลาดทดแทนซึ่งรวมถึงประเทศไทย โดยจะดำเนินการกำหนดมาตรฐานของสินค้าและควบคุมการสวมสิทธิ์แหล่งกำเนิดสินค้า ตลอดจนเจรจาข้อตกลงทางการค้ากับประเทศอื่นเพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น
• ภาคการคลัง: เศรษฐกิจไทยมีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จากนโยบายการจัดเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง ซึ่งคาดว่ารัฐบาลจะจัดเก็บรายได้ภาษีไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ส่งผลให้แผนการเข้าสู่สมดุลทางการคลัง (Fiscal Consolidation) มีความล่าช้า
อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้วางแผนการปฏิรูปโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ของภาครัฐ ลดภาระทางการคลังในระยะปานกลางและระยะยาว รวมถึงเพิ่มพื้นที่ทางการคลังในการรองรับเหตุการณ์ผันผวนในอนาคตได้อย่างเพียงพอ
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังคงมีสถาบันเศรษฐกิจและธรรมาภิบาลที่มีความแข็งแกร่งในระดับปานกลางถึงสูง มีความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังอย่างรอบคอบ มีการบริหารจัดการหนี้สาธารณะอย่างมีวินัย ซึ่งสะท้อนจากหนี้สาธารณะเกือบทั้งหมดเป็นสกุลเงินบาท ทำให้ไม่มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน และการที่มีตลาดทุนภายในประเทศที่สามารถรองรับความต้องการกู้เงินได้อย่างเพียงพอ
• ภาคการลงทุน: ประเทศไทยยังคงสนับสนุนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) โดยตัวเลขคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2567 มีมูลค่ากว่า 1.13 ล้านล้านบาท สูงสุดในรอบ 10 ปี และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางด้านคมนาคม สาธารณูปโภค และพลังงานที่ครอบคลุมทั่วประเทศ อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ การลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC)
• ภาคการท่องเที่ยว: จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2568 เหตุการณ์แผ่นดินไหวส่งผลกระทบระยะสั้นต่อจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาในช่วงครึ่งหลังของปี 2568
ทั้งนี้ การปรับมุมมอง Outlook ในครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจมหภาคหรือเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ เนื่องจากประเทศไทยยังคงมีศักยภาพในการรองรับความผันผวนจากปัจจัยภายนอก ด้วยนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่มีความยืดหยุ่น และความสามารถในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะปานกลางถึงระยะยาว
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
ไทยเสี่ยงถูกหั่นเครดิต จากภาระหนี้-ระบบเศรษฐกิจ