อันดับเครดิตประเทศคืออะไร?
อันดับเครดิตของประเทศ (Sovereign credit rating) หรืออันดับความน่าเชื่อถือ เป็นเครื่องมือที่มีมาตรฐานชี้วัดความเสี่ยงในการเข้าไปลงทุนในประเทศหนึ่ง ๆ สะท้อนความสามารถในการชำระคืนหนี้ตามกำหนด (ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย) ซึ่งใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงความเสี่ยงและผลตอบแทนในการลงทุนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศนั้น ๆ
ขณะเดียวกันยังใช้เป็นมาตรฐานในการพิจารณาอันดับเครดิตของตราสารภาคเอกชนในประเทศอีกด้วย
อันดับความน่าเชื่อถือของ S&P Global และ Fitch Ratings แบ่งเกณฑ์ตั้งแต่ C แย่ที่สุด ถึง AAA ดีที่สุด โดย BBB- จัดว่าเป็นเกณฑ์ขั้นสุดท้ายของกลุ่มความน่าเชื่อถือในระดับน่าลงทุน (Investment grade) สำหรับอันดับความน่าเชื่อถือของ Moody’s rating เป็นระบบคล้ายกัน เรียงตั้งแต่ C แย่ที่สุดจนถึง Aaa ดีที่สุด โดยมี Baa3 เป็นเกณฑ์ขั้นสุดท้ายของกลุ่มความน่าเชื่อถือในระดับน่าลงทุน
Fitch ให้อันดับเครดิตไทยBBB+
ในอดีตอันดับความน่าเชื่อถือของไทยเคยสูงสุดที่เกรด A จนกระทั่งวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ณ ไตรมาส 4 ไทยถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ และทยอยปรับลดลงเรื่อย ๆ เหลือ BBB มุมมองลบ (Negative outlook) ภายในเวลาไม่ถึงปี สาเหตุจากปัญหาหนี้ระยะสั้นสูง ทุนสำรองระหว่างประเทศเหลือน้อย
แม้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวกลับมาได้ภายในเวลาไม่กี่ปีหลังพ้นวิกฤตเศรษฐกิจ แต่อันดับความน่าเชื่อถือกลับมาได้เพียง BBB+ ในปี 2547
ต่อมาเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในปี 2552 เป็นเหตุให้ Fitch ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยลงจาก BBB+ เป็น BBB เพราะมองว่าเรื่องนี้สะท้อนโครงสร้างการปกครองที่อ่อนแอ และจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจอย่างมากผ่านการท่องเที่ยว การบริโภค และการลงทุน
หลังจากนั้นไทยใช้เวลาหลายปีกว่าจน Fitch ให้กลับมาเป็น BBB+ อีกครั้งในเดือน พ.ย.56 จนถึงปัจจุบัน (เทียบเท่า Baa1 ของ Moody’s rating) จัดว่าอยู่ในกลุ่ม Investment grade (กลุ่มระดับลงทุน)
ปัจจัยเสี่ยงลดอันดับเครดิตไทย
ผลประเมินอันดับไทยโดย Fitch ล่าสุด ณ 13 พ.ย.66 ระบุปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การปรับลดอันดับ (Rating sensitive) ใน 2 ประเด็น คือ
- การคลังภาครัฐ โดยเฉพาะความสามารถในการดูแลสัดส่วนหนี้ภาครัฐต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ให้มีเสถียรภาพ
- ลักษณะเชิงโครงสร้างประเทศ โดยเฉพาะความไม่สงบทางการเมืองรุนแรงในระดับที่อาจกระทบประสิทธิผลการวางนโยบายภาครัฐและการเติบโตของเศรษฐกิจได้
ต่อมา Fitch ได้ออกรายงานเพิ่มเติมวันที่ 20 ส.ค.67 โดยยังคงมุมมองเดิมไว้ ว่าการที่ไทยได้นายกรัฐมนตรีใหม่ที่ได้รับผลโหวตเป็นเอกฉันท์ในสภาฯ จะช่วยให้เกิดความต่อเนื่องของนโยบาย และ Fitch ได้ระบุถึงพัฒนาการที่แย่ลงของปัจจัยเสี่ยง 2 เรื่องข้างต้นที่อาจนำไปสู่การปรับลดอันดับอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม Fitch จะมีการประเมินอันดับความน่าเชื่อถือของไทยประจำปีนี้อย่างเป็นทางการช่วงปลายปี 2567
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เชื่อว่า ไทยมีความเสี่ยงจะถูกปรับมุมมองเป็นลบหรือปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ เพราะปัจจัยเสี่ยงมีความน่ากังวลเพิ่มขึ้นและจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจตามมา
จุดอ่อนและความเสี่ยงของอันดับเครดิตเรตติงไทยที่น่ากังวล
1. ความยั่งยืนของหนี้สาธารณะ โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทย มีทิศทางเพิ่มขึ้นรวดเร็วหลังวิกฤตโควิด-19 เพราะไทยจำเป็นต้องออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ 2 ฉบับในปี 2563 รวมวงเงินกว่า 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชนส่งผลให้หนี้สาธารณะไทยต่อ GDP จึงปรับสูงขึ้นมากจาก 41% ณ สิ้นปี 2562 เป็น 60.5% ณ ปีสิ้นงบประมาณ 2563และมีการขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% ต่อ GDP เพื่อเพิ่มพื้นที่การคลังในปี 2564
หลังผ่านวิกฤตโควิด-19 ได้มีความพยายามจะลดขนาดการขาดดุลการคลังในระยะปานกลางให้กลับมาอยู่ในระดับไม่เกิน 3% ต่อ GDP หลังจากที่ขาดดุลงบประมาณสูงขึ้นมากถึง 5% และ 5.2% ของ GDP ในช่วงวิกฤติโควิดในปี 2563 และ 2564 เพื่อรักษาวินัยการคลังและควบคุมให้แนวโน้มหนี้สาธารณะลดต่ำลงใกล้เพดานหนี้เดิม
SCB EIC มองว่า ในปี 2567 ความยั่งยืนของหนี้สาธารณะไทยจะกลับมาเป็นประเด็นกังวลอีกครั้ง เพราะวินัยการคลังไทยไม่เข้มแข็งเช่นเดิม นอกจากหนี้สาธารณะจะไม่ปรับลดลงเหมือนช่วงหลังวิกฤติที่ผ่านมาทุกครั้ง แต่ยังกลับมีทิศทางเพิ่มต่อเนื่องที่ 64% ของ GDP ณ ส.ค.2567 และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกในระยะปานกลาง จากแนวโน้มการใช้จ่ายที่สูงขึ้น สวนทางกับรายได้ที่จัดเก็บไม่มากพอ
โดยแผนการคลังระยะปานกลาง ณ วันที่ 28 พ.ค.67 คาดการณ์การขาดดุลงบประมาณสูงต่อเนื่องในช่วง 3.1–4.5% ต่อ GDP (เฉลี่ย 3.7%) รายจ่ายเพิ่มขึ้นมาก เพื่อรองรับการขาดดุลงบประมาณปกติและโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เช่น โครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล ส่งผลสัดส่วนหนี้สาธารณะในระยะปานกลางจึงปรับสูงขึ้นและทำจุดสูงสุดใหม่ที่ 68.9% ของ GDP ณ สิ้นปีงบประมาณ 2570
แผนการคลังในระยะปานกลางดังกล่าว ยังสะท้อนภาพความยั่งยืนทางการคลังที่แย่ลงกว่าช่วงปลายปีก่อนค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นช่วงที่ Fitch ประเมินอันดับความน่าเชื่อถือของไทยครั้งล่าสุดไว้ เนื่องจากตอนนั้นรัฐบาลคาดการณ์การขาดดุลงบประมาณน้อยกว่านี้อยู่ในช่วงราว 3.3–3.7% ต่อ GDP (เฉลี่ย 3.5%) และจุดสูงสุดของสัดส่วนหนี้สาธารณะอยู่ที่ 64.9% ของ GDP ในสิ้นปีงบประมาณ 2569
SCB EIC ประเมินว่า รายจ่ายรัฐบาลอาจมีทิศทางเพิ่มขึ้นจากโครงการช่วยเหลือประชาชนวงเงินสูงใหม่ ๆ รวมถึงแนวโน้มรายจ่ายที่ไม่อาจเลี่ยงได้ในระยะยาว จึงมีโอกาสสูงที่สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยจะแตะเพดาน 70% ของ GDP ภายในช่วงปีงบประมาณ 2569-2570 โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาแนวโน้มอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะปานกลางที่อาจต่ำกว่าแผนการคลังระยะปานกลาง นอกจากนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อเนื่องให้ภาระดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภาครัฐจำเป็นต้องขาดดุลการคลังในอนาคตมากขึ้น หรือลดเม็ดเงินลงทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลง
ความกังวลข้างต้นสอดคล้องกับรายงานเพิ่มเติมของ Fitch ในเดือน ส.ค. 67 ที่ระบุว่า หากไทยลดขนาดโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลจะช่วยเพิ่มพื้นที่การคลังได้ แต่ถ้ามีแรงกดดันทางการเมืองให้ใช้จ่ายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพิ่มเติมอีกในช่วงหลังปีงบประมาณ 2568 จะทำให้ควบคุมการขาดดุลการคลังในระยะปานกลางได้ยาก ซึ่งจะทำให้แนวโน้มการขาดดุลการคลังและหนี้ภาครัฐมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะหากการใช้จ่ายมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจแค่ระยะสั้น แทนที่จะนำไปใช้จ่ายแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศเพื่อยกระดับการเติบโตเศรษฐกิจในระยะยาว
นอกจากแนวโน้มการขาดดุลการคลังและหนี้ภาครัฐของไทยจะมากกว่าในอดีตแล้ว ยังมีแนวโน้มสูงกว่ากลุ่มประเทศในระดับเดียวกันอีกด้วย SCB EIC ประเมินว่า การขาดดุลการคลังของกลุ่มประเทศในอันดับ BBB+ และ BBB มีแนวโน้มลดลงเข้าใกล้ระดับก่อนเกิดวิกฤติโควิดมากขึ้นแล้ว แต่การขาดดุลการคลังของไทยยังสูงกว่าอดีต นอกจากนี้ สัดส่วนหนี้ภาครัฐของกลุ่มประเทศอันดับ BBB+ และ BBB มีแนวโน้มลดลงหรือทรงตัว ในขณะที่สัดส่วนหนี้ภาครัฐของไทยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
2.ความกังวลต่อเสถียรภาพทางการเมืองและธรรมาภิบาล
แม้ความเสี่ยงที่จะเกิดความเสี่ยงด้านการเมืองอย่างรุนแรงของไทยลดลงมากในระยะหลัง และการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปอย่างราบรื่น ประกอบกับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ประกาศใช้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายปี 2568 แล้ว ทำให้สามารถเริ่มเบิกจ่ายต้นปีงบประมาณได้ตามกำหนด
อย่างไรก็ตาม ประเด็นการเมืองไทยที่เกิดขึ้นในช่วงปีนี้อาจมีผลกระทบต่ออันดับดัชนีธรรมาภิบาลของไทยจากการประเมินโดยธนาคารโลก ว่าจะปรับแย่ลงหรือไม่ เพราะเป็นตัวแปรสำคัญที่ Fitch เคยคาดการณ์ไว้ปลายปีที่แล้ว ว่าน่าจะมีอันดับที่ดีขึ้นเนื่องจากคะแนนปัจจุบันของไทยยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากลุ่มประเทศในระดับเดียวกันมาก จึงทำให้อันดับเครดิตเรตติงไทยในภาพรวมยังอยู่ที่ BBB+ ได้
ความกังวลข้างต้นสอดคล้องกับรายงานเพิ่มเติมของ Fitch ที่ระบุว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทยเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดรั้งความเชื่อมั่นนักลงทุนมาโดยตลอด อีกทั้งสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงปีนี้อาจทำให้อันดับดัชนีธรรมาภิบาลของไทยไม่ปรับดีขึ้นเช่นที่ Fitch เคยมองไว้ช่วงปลายปีก่อน
นอกจากนี้ Fitch ยังมองว่า แม้การเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่และการยุบพรรคก้าวไกลในช่วงที่ผ่านมาจะไม่ก่อให้เกิดความไม่สงบทางการเมืองในประเทศ แต่ยังมีความไม่แน่นอนทางการเมืองสูง ซึ่งอาจกระทบต่อประสิทธิภาพการวางนโยบายเศรษฐกิจและอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจได้ และเป็นปัจจัยที่อาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิตประเทศได้
3. ความกังวลต่ออัตราการเติบโตและศักยภาพของเศรษฐกิจไทย
อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยต่ำลงมาโดยตลอด และมีแนวโน้มเติบโตช้าต่อเนื่องในระยะปานกลาง เศรษฐกิจไทยเคยเติบโตก้าวกระโดดเฉลี่ย 9.5% ในช่วง 10 ปีก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง (2530-2539) ก่อนจะลดลงเหลือเพียงเฉลี่ย 3.6% ในช่วง 10 ปีก่อนเกิดวิกฤติโควิด (2553-2562)
นอกจากนี้ ไทยยังฟื้นตัวจากวิกฤติโควิดมาได้อย่างยากลำบาก ขยายตัวเฉลี่ยเพียง 2% ในปี 2564-2566 หลังจากหดตัวมากถึง -6% ในปี 2563 ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยฟื้นช้าจากวิกฤตโควิด เป็นลำดับที่ 162 จาก 189 ประเทศทั่วโลก
SCB EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 และ 2568 มีแนวโน้มโตช้าต่อเนื่องที่ 2.5% และ 2.6% ตามลำดับ (ไม่รวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล) ซึ่งต่ำกว่าที่ Fitch คาดการณ์ไว้ที่ 3.8% และ 3.4% อยู่มาก
ขณะเดียวกันศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยก็มีแนวโน้มต่ำลงในระยะยาวเหลือ 2.7% จากมุมมองเดิม 3% ซึ่งต่ำกว่าที่ Fitch คาดการณ์ไว้ที่ 3.2% อยู่มาก สาเหตุหลักมาจาก
- ผลิตภาพการผลิตของไทยต่ำลงเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งจากปัญหาผลิตภาพแรงงานไทยลดลงและกฎเกณฑ์ภาครัฐจำนวนมากที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ
- ปัจจัยทุนของไทยที่มีแนวโน้มลดลงจากสัดส่วนการลงทุนในประเทศที่ลดลงกว่าครึ่ง เหลือประมาณ 24% ของ GDP ในช่วง 2 ทศวรรษหลัง อีกทั้ง ความสามารถในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติของไทยยังต่ำลงหากเทียบประเทศในภูมิภาคอาเซียน และ
- ปัจจัยกำลังแรงงาน มีแนวโน้มลดลงจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยเร็ว โดยในปี 2566 ไทยมีสัดส่วนประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีราว 14% ของประชากร และสัดส่วนนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็น 30% ของประชากรภายในปี 2593
นอกจากเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ช้ากว่าอดีตแล้ว ยังมีแนวโน้มเติบโตตัวช้ากว่ากลุ่มประเทศในระดับเดียวกันโดยในปี 2566 เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้เพียง 1.9% นับว่าต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศระดับเครดิตเรตติง BBB+ ที่ขยายตัวเฉลี่ย 2.8% และยังถือว่าขยายตัวได้ต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศระดับเครดิตเรตติง BBB ที่ขยายตัวเฉลี่ย 2.2% อีกทั้ง ยังต่ำกว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ 2.7% และหากพิจารณาแนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะ 5 ปีข้างหน้า โดยใช้ตัวเลขคาดการณ์ของ IMF เป็นมาตรฐานจะพบว่าไทยจะยังคงขยายตัวได้ช้ากว่าประเทศกลุ่มดังกล่าวนี้
ทั้งนี้หากมุมมองอันดับเครดิตเรตติงของประเทศเปลี่ยน จะส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ผ่านมาพบว่า สถาบันจัดอันดับจะปรับลดมุมมองต่อประเทศนั้น ๆ เป็นลบก่อน ค่อยปรับลดอันดับเครดิตเรตติงในภายหลัง ซึ่งอาจใช้ระยะเวลา 1 เดือน จนถึง 1 ปี ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความรุนแรงและผลกระทบ
จะเกิดอะไรขึ้นหากถูกลดอันดับเครดิตเรต
หากประเทศถูกลดอันดับเครดิตเรตติงลง หรือ หากเกิดการคาดการณ์ว่าจะถูกปรับลดเครดิตเรตติงลงในระยะข้างหน้า เศรษฐกิจประเทศนั้น ๆ จะได้รับผลกระทบผ่านหลายช่องทาง ได้แก่
ภาครัฐจะมีต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนจากการให้กู้ที่เพิ่มขึ้น ชดเชยความเสี่ยงของผู้ลงทุนที่สูงขึ้นเช่นเดียวกัน ภาครัฐจึงอาจต้องขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นเพื่อจ่ายดอกเบี้ยที่แพงขึ้นหรือลดเม็ดเงินใช้จ่ายอื่นลง เช่น งบลงทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลง ซ้ำเติมปัญหาด้านการคลังและศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีอยู่เดิม
เม็ดเงินไหลออกจากประเทศมากขึ้นและดึงดูดเม็ดเงินลงทุนใหม่ ๆ ได้น้อยลง ทั้งเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และเงินลงทุนหลักทรัพย์ในตลาดทุน เนื่องจากนักลงทุนสถาบันส่วนใหญ่กำหนดระดับความเสี่ยงของประเทศที่จะไปลงทุนไว้โดยอ้างอิงกับอันดับเครดิตเรตติง
ค่าเงินสกุลเงินท้องถิ่นอ่อนค่าลง เงินเฟ้อสูงขึ้น ส่งผลให้ธนาคารกลางอาจต้องใช้นโยบายการเงินเข้มงวดมากขึ้น เทียบกับกรณีที่ประเทศไม่ถูกปรับลดเครดิตเรตติง แต่ละช่องทางล้วนส่งผลกดดันเศรษฐกิจในทางตรงและทางอ้อม
นอกจากนี้ ภาคเอกชนในประเทศจะมีความเสี่ยงที่จะถูกปรับลดอันดับเครดิตเรตติงลงเช่นเดียวกัน เนื่องจากผู้จัดอันดับความน่าเชื่อถือจะใช้อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดเพดานอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทเอกชนในประเทศด้วย ส่งผลให้ภาคเอกชนมีต้นทุนในการกู้ยืมเพิ่มสูงขึ้น กดดันการลงทุนและการบริโภค ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจ
หากย้อนดูอดีตที่ Fitch ปรับมุมมองจากมีเสถียรภาพเป็นลบในวันที่ 1 ธ.ค. 51 ก่อนจะประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยเป็น BBB จาก BBB+ พร้อมทั้งปรับลด Country ceiling ลงจาก A- เป็น BBB+ ในวันที่ 16 เม.ย.52 นอกจากนี้ในวันเดียวกัน Fitch ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงินไทยที่รัฐถือหุ้น 2 แห่ง จากความสามารถของภาครัฐที่ลดลงในการช่วยเหลือหากจำเป็น และสถาบันการเงินที่มีบริษัทแม่ในต่างประเทศอีก 2 แห่ง จากการปรับลดเพดานอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ ซึ่งใช้อ้างอิงอันดับความน่าเชื่อถือสำหรับภาคเอกชน โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ภาคเอกชนไทยปรับสูงขึ้นเฉลี่ยทุกระยะราว 4 และ 19 BPS ตามลำดับภายในระยะเวลา 94 วันหลังมีการปรับมุมมองเป็นลบ และเพิ่มขึ้น 18 และ 41 BPS ภายใน 47 วัน หลังมีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงอยู่ในระดับต่ำ
แนวทางลดความเสี่ยงถูกหั่นอันดับเครดิต
SCB EIC ประเมินว่า ความเสี่ยงของอันดับเครดิตเรตติงไทยน่ากังวลขึ้นในหลายเรื่อง โดยเฉพาะประเด็นความยั่งยืนทางการคลัง แนวโน้มและศักยภาพเศรษฐกิจไทยที่ปรับแย่ลงชัดเจน รวมถึงแย่ลงกว่าประเทศในกลุ่มเครดิตเรตติงใกล้เคียงกันอีกด้วย ซึ่งหากความเสี่ยงนี้เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการกู้ยืมประเทศและภาคเอกชน รวมถึงจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านหลายช่องทาง แนวทางลดความเสี่ยงนี้ 4 ด้านที่ควรดำเนินการอย่างจริงจังและเร่งด่วน ดังนี้
1.จัดทำแผนปฏิรูปการคลัง ผ่าน การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้คุ้มค่า ส่วนหนึ่งใช้จ่ายดูแลกลุ่มที่ยังเปราะบางในช่วงที่เศรษฐกิจยังฟื้นจากโควิดไม่เต็มที่ พร้อมจัดสรรรายจ่ายอีกส่วนเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว เพื่อให้ศักยภาพเศรษฐกิจไทยสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยลดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ได้อย่างยั่งยืน
ขณะเดียวกัน ลดรายจ่ายไม่จำเป็น เช่น รายจ่ายนโยบายประชานิยมที่เห็นผลแค่ระยะสั้น ลดขนาดหน่วยงานภาครัฐที่ดำเนินงานซ้ำซ้อน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานภาครัฐด้วยเทคโนโลยี และการเพิ่มรายได้ภาครัฐในระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรม โดยขยายฐานภาษีและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีให้ครอบคลุมเท่าเทียม
2.มีกลไกติดตามวินัยทางการคลัง โดยเฉพาะบทบาทภาคประชาสังคม เช่น ความเข้มงวดต่อกฎเกณฑ์การคลัง การจัดตั้งสถาบันวิจัยการคลังที่เป็นอิสระ ซึ่งมีงานศึกษาพบว่า ภาครัฐในประเทศที่มีสถาบันการคลังอิสระจะประเมินอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและดุลการคลังเบื้องต้นต่ำกว่าภาครัฐในประเทศที่ไม่มีสถาบันการคลังอิสระอย่างเห็นได้ชัด จึงมีแนวโน้มปฏิบัติตามกฎเกณฑ์การคลังมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ และจะช่วยลดการขาดดุลการคลังถึง 1–1.5% ของ GDP
นอกจากนี้ ภาคประชาสังคมยังสามารถเพิ่มบทบาทการมีส่วนร่วมติดตามและชี้ประเด็นความเสี่ยงทางการคลัง ให้เกิดกลไกการเฝ้าระวังจากทุกภาคส่วนมากขึ้น อาทิ ภาคธุรกิจ สถาบันวิจัยต่าง ๆ สื่อ และประชาชน ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐให้ความสำคัญกับวินัยการคลังและวางแผนใช้จ่ายระยะปานกลางเพื่อประโยชน์ระยะยาวให้มากขึ้นได้
3.ปรับโครงสร้างการผลิตและการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมให้แข่งขันในตลาดโลกได้ ผ่านการลดอุปสรรคทางกฎหมายและระเบียบซ้ำซ้อน เพื่อเพิ่มความสะดวกในการประกอบธุรกิจในไทย การผลักดันสนธิสัญญาทางการค้าใหม่ ๆ เช่น กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง การผลักดันการเข้าร่วมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง เช่น องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เพื่อขยายมูลค่าตลาดส่งออกและได้รับองค์ความรู้ในการยกระดับมูลค่าและคุณภาพการผลิตสินค้าและบริการของไทยให้แข่งขันในโลกได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ ไทยอาจพิจารณาเข้าร่วมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) อย่างเต็มที่มากขึ้น เพื่อให้ได้รับผลประโยชน์จากความร่วมมือดังกล่าว โดยเฉพาะการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานและกระแสความยั่งยืน
4.เน้นการเติบโตเชิงคุณภาพของเศรษฐกิจระยะยาวมากขึ้น ได้แก่ ความทั่วถึงเท่าเทียม ความยั่งยืนสิ่งแวดล้อม นวัตกรรม และความล้มยากลุกเร็ว ซึ่งนอกจากจะช่วยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้พร้อมรับบริบทโลกที่กำลังเปลี่ยนไป ภายใต้ความไม่แน่นอนรอบด้านที่สูงขึ้น เช่น ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และสภาพอากาศผันผวน แล้ว ยังจะส่งผลช่วยให้ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในเชิงปริมาณหรือ GDP ของไทยปรับสูงขึ้นได้อีกทาง
ที่สำคัญในการยกระดับการเติบโตเชิงคุณภาพระยะยาว จะมีส่วนช่วยยกระดับคะแนน Environmental, Social, and Governance (ESG) ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับดัชนีธรรมาภิบาลประเทศ และการพิจารณาอันดับเครดิตเรตติงของประเทศในมิติโครงสร้างทางเศรษฐกิจอีกด้วย
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- เคาะแผนก่อหนี้ใหม่กว่า 1.2 ล้านล้าน โปะงบประมาณ
- รัฐบาล “มองสั้น” เน้นประชานิยม สร้างหนี้ระยะยาว
- 12 ปีส่งเงินเข้า FIDF “หนี้ลดไม่ถึงครึ่ง”
ที่มา: ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) โดย วิชาญ กุลาตี นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส, ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค, มัฑณวลัย วัฒนศิริสุข Economist trainee