ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เสนอความคิดแก้ปัญหาหนี้ โดยให้สถาบันการเงินลดการนำส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) แล้วนำมาใช้ช่วยเหลือลูกหนี้ แม้ไม่มีรายละเอียดชัดเจนนัก แต่วิธีการนี้ “ไม่ใช่ของใหม่” เพราะเคยทำมาแล้วใน “สมัยลุง” ในช่วงการระบาดของโควิด-19
หนี้กองทุนฟื้นฟูฯล่าสุด เหลือเกือบ 6 แสนล้าน
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2567 อนุมัติให้โอนเงินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฯ) เข้าบัญชีสะสมเพื่อการชําระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (บัญชีสะสมฯ) ในปีงบประมาณ 2567 เพิ่มเติมจํานวน 7,242 ล้านบาท ซึ่งจะมีผลให้มีเงินนําส่งจากกองทุนฯเข้าบัญชีสะสมฯ เพื่อชําระต้นเงินกู้และดอกเบี้ย FIDF1 และ FIDF3 ในปีงบประมาณ 2567 รวมจํานวนทั้งสิ้น 9,242 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการจัดการกองทุนฯ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2566 คณะกรรมการจัดการกองทุนฯ เห็นควรให้นําเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา อนุมัติให้โอนเงินที่กองทุนฯ จะได้รับเงินปันผลจากธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) และบริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จํากัด (มหาชน) เพื่อชําระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ย FIDF1 และ FIDF3 สําหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพิ่มเติมทั้งจํานวน
ต่อมาในเดือนพ.ค. 2567 กองทุนฯ ได้รับเงินปันผล รวมจํานวน 7,242 ล้านบาท จึงได้เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณานําเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้กองทุนฯ โอนเงินดังกล่าวเข้าบัญชีสะสมฯ เพิ่มเติม
ยอดหนี้ต้นเงินกู้ ณ วันที่ 30 เม.ย. 2567
ย้อนรอยความเป็นมาหนี้กองทุนฯ
จากนโยบายรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทเมื่อปีพ.ศ. 2540 เป็นผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประสบปัญหาขาดทุนเป็นจำนวนมาก ส่วนของทุนติดลบเป็นจำนวนสูง ไม่มีกำไรสุทธินำส่งเพื่อชำระต้นเงินกู้ได้ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2545 ได้มีการตราพระราชกำหนดโอนสินทรัพย์บางส่วนในบัญชีสำรองพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา พ.ศ. 2545 โอนสินทรัพย์เงินบาทจากบัญชีสำรองพิเศษมาล้างขาดทุนสะสม 165,000 ล้านบาท ทำให้ทุนเป็นบวก
ธปท.ประมาณการว่าสามารถนำส่งเงินเพื่อชำระเงินต้นของพันธบัตรรัฐบาลวงเงิน 500,000 ล้านบาทแรก ครบภายใน29 ปี (พ.ศ. 2546 – พ.ศ. 2574) โดยธปท.สามารถนำส่งได้ในปี พ.ศ. 2546 – พ.ศ. 2548 เป็นเงินรวม 28,290 ล้านบาท เร็วกว่าแผนที่วางไว้ (ส่งเงินได้ 28,925 ล้านบาท ภายในปี พ.ศ. 2553) แต่หลังจากปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา มีผลการดำเนินงานขาดทุนและส่วนของทุนติดลบเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ สิ้นเดือนธ.ค. 2554 มีทุนติดลบ ถึง 323,038 ล้านบาท
ในส่วนของการชำระต้นเงินกู้พันธบัตรกองทุนฟื้นฟูที่กระทรวงการคลังค้ำประกันและพันธบัตรรัฐบาลที่ออกตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่สอง พ.ศ. 2545 วงเงินรวมกัน 892,000 ล้านบาท ซึ่งกำหนดให้ชำระจากดอกผลในบัญชีผลประโยชน์ประจำปี
ธปท.ประมาณการว่าสามารถชำระต้นเงินกู้ได้ครบถ้วนภายใน 19 ปี (พ.ศ. 2545- พ.ศ. 2563) แต่ปรากฏว่าธปท.สามารถนำส่งได้จนถึงปี พ.ศ. 2554 จำนวน 130,296 ล้านบาท น้อยกว่าแผนที่วางไว้ว่าจะส่งเงินได้รวม 457,858 ล้านบาท ภายในปี พ.ศ. 2554
ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2554 สถานการณ์หนี้เงินกู้พันธบัตรรัฐบาลมียอดคงค้างรวม 1,142,101 ล้านบาท ลดลง 163,226 ล้านบาท จากยอดเงินต้นทั้งสิ้น 1,305,327ล้านบาท ในขณะที่การเบิกจ่ายค่าดอกเบี้ยจากงบประมาณแผ่นดินมียอดสะสมกว่า 600,000 ล้านบาท
ออกพระราชกำหนดฯลดภาระรัฐบาล
ได้เกิดอุทกภัยอย่างร้ายแรงในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทย ทำให้เกิดความเสียหายแก่โครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภค ตลอดจนประชาชนและผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมเริ่มถดถอย และอยู่ในภาวะความเสี่ยงต่อความเชื่อมั่น รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเยียวยาความเสียหาย ป้องกันภัยพิบัติในอนาคตและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนและผู้ลงทุน
รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการบูรณะและฟื้นฟูประเทศ รวมทั้งลงทุนเพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ ครม.ในช่วงนั้นจึงเห็นควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนฟื้นฟูที่ได้รับความเสียหายจากวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินปี พ.ศ. 2540 เพื่อลดรายจ่ายค่าดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ดังกล่าวมิให้ต้องเป็นภาระต่องบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลอีกต่อไปรัฐบาลมีวงเงินงบประมาณเพิ่มขึ้น สามารถนำไปใช้ในการบูรณะและฟื้นฟูประเทศได้
รัฐบาลได้ออกร่างกฎหมายปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. ….พร้อมกับกฎหมายอื่นอีก 3 ฉบับ คือ
1) ร่างกฎหมายให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนวางระบบบริหารจัดการน้ำ และสร้างอนาคตประเทศพ.ศ. ……
2) ร่างกฎหมายกองทุนประกันภัย พ.ศ. …..
3) ร่างกฎหมายการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย พ.ศ. …..
ที่มาอัตราส่งเงินของสถาบันการเงิน
พระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2555 และศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2555 ว่าพระราชกำหนดฉบับดังกล่าวเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ จึงส่งผลให้พระราชกำหนดฯ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค. 2555 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
หลังจากพระราชกำหนดฯมีผลบังคับใช้แล้ว กระทรวงการคลัง ธปท.และสมาคมธนาคารไทย ตกลงร่วมกัน คือ
- อัตราเงินนำส่งที่สถาบันการเงินต้องนำส่งแก่กองทุนคุ้มครองเงินฝาก ลดลงจากร้อยละ 0.4 เหลือร้อยละ 0.01 ของยอดเงินฝากถัวเฉลี่ยของบัญชีที่ได้รับการคุ้มครองเงินฝากซึ่งได้ออกเป็นพระราชกฤษฎีกากำ หนดอัตราเงินนำ ส่งเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2555 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. พ.ศ. 2555
- อัตราเงินนำส่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเรียกเก็บจากสถาบันการเงิน อยู่ที่อัตราร้อยละ 0.46 ของฐานเงินที่ได้รับจากประชาชนตามที่ธปท.กำหนดนำส่งปีละ 2 งวด งวดแรกเดือนมกราคมถึงเดือนมิ.ย. นำส่งภายในวันทำการสุดท้ายของเดือนก.ค.ในปีนั้น และงวดที่ 2 เดือนก.ค.-ธ.ค. นำส่งภายในวันทำการสุดท้ายของเดือนม.ค.ในปีถัดไป
- ตามประมาณการของธปท. คาดว่ากองทุนฟื้นฟูสามารถชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ย ได้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 24 ปี ภายใต้สมมุติฐานว่าแนวโน้มการขยายตัวของฐานเงินฝาก สินทรัพย์คงเหลือในบัญชีผลประโยชน์ประจำปี รวมทั้งเงินที่ได้รับจากการบริหารจัดการทรัพย์สินของกองทุนฟื้นฟูเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้และที่สำคัญไม่มีวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินใดๆ เลย
เคยลดการนำส่งหรือไม่?
ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เสนอให้ลดนำส่งเงินเข้ากองทุน เพื่อนำไปใช้ในการแก้ปัญหาหนี้ผ่านสถาบันการเงิน โดยเฉพาะหนี้ภาคครัวเรือน แต่จะสามารถทำได้แค่ไหนและยังไม่มีรายละเอียดว่าหากจะดำเนินการโครงการนี้จะทำอย่างไร
แต่การให้สถาบันลดการนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ ธปท.ให้ลดการนำส่งเป็น “การชั่วคราว” ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19
จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยในวงกว้าง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายประเภทหยุดชะงัก ซึ่งกระทบทั้งภาคภาคธุรกิจและครัวเรือน และกระทบกำลังซื้อของประเทศอย่างรุนแรง รวมถึงกระทบความสามารถในการชำระหนี้
ธปท. ออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อลดต้นทุนทางการเงินของธุรกิจและครัวเรือนลงด้วยการปรับลดอัตราเงินนำส่งจากธนาคารพาณิชย์เข้าบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นการชั่วคราว จากร้อยละ 0.46 ต่อปี เป็นร้อยละ 0.23 ต่อปี ในช่วงปี 2563-2564 และได้มีการต่ออายุมาตรการดังกล่าวไปจนถึงสิ้นปี 2565
อย่างไรก็ตาม เมื่อลดการนำส่งแล้ว ทางสถาบันการเงินได้ไปปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับลูกหนี้ โดยในครั้งนั้น สถาบันการเงินปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.4%
ผลจากการลดส่งเงินเข้า FIDF
หากรัฐบาลต้องการให้สถาบันการเงินลดการนำส่งเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อใช้หนี้ จะทำให้ตัวรัฐบาลนั่นเองต้องรับภาระ เพราะหากมีการลดนำส่งเพื่อใช้หนี้ ก็จะทำให้ยอดหนี้ไม่ลดลงตามสัดส่วนที่ลดการนำส่ง หมายความว่าหากลดอย่าง “ถาวร” หนี้ก็จะลดลงช้าลงตามจำนวนที่ลดการนำส่ง แต่หากเป็นมาตรการชั่วคราว เหมือนช่วงโควิด-19 ผลกระทบก็อาจจะจำกัด
กล่าวโดยสรุปแล้ว หากหนี้กองทุนฟื้นฟูฯลดลงช้า ก็จะทำให้รัฐบาลต้องมีภาระดอกเบี้ยมากขึ้น โดยมีการประเมินว่าหากลดการนำส่งลงครึ่งหนึ่ง จะทำให้เงินต้นลดลงช้าและดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นราว 5,000 ล้านบาท
ที่มา:
มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 6 ส.ค. 2567