หลังจากสหรัฐฯประกาศมาตรการตอบโต้ทางภาษี ขณะนี้มีหลายประเทศเริ่มเจรจาเพื่อแก้ปัญหาทางการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ ทำให้ทิศทางเศรษฐกิจโลก รวมถึงไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง และหากประเมินจากมาตรการที่ประกาศออกมาแล้ว แม้ยังไม่มีผลบังคับใช้ จะเห็นว่าผลกระทบค่อนข้างมาก
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง: โลกกำลังตีกลับ ยุคโลกาภิวัฒน์ หวนสู่ยุคกีดกันการค้า
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่า ผลกระทบจากสงครามการค้ารอบนี้ จะเริ่มเห็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ครึ่งหลังปี 68 เป็นต้น
“โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 4 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะชะลอลงหนักที่สุด จุดต่ำสุด ซึ่งพายุลูกนี้จะใช้เวลานานกว่าจะจบ เพราะมีหลายประเทศที่ติดต่อไปขอเจรจาต่อรองภาษีกับสหรัฐฯ และเชื่อว่าทำได้ไม่ง่าย”
ยกตัวอย่าง ล่าสุดการเจรจาของสหราชอาณาจักรกับสหรัฐฯ จะเห็นว่ารายละเอียดของการเจรจายังไม่ชัดเจน บางเรื่องยังต้องหารือกันอีกมาก ซึ่งปกติการเจราการค้ามักจะใช้เวลากันเป็นปี และความไม่แน่นอนยังมีสูงทำให้ไปถ่วงเรื่องการลงทุนต่าง ๆ จึงมีโอกาสเป็นไปได้น้อยที่การเจรจาจะจบลงเร็วภายใน 90 วันที่สหรัฐฯผ่อนปรนการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากหลายประเทศ
แต่ตัวแปรสำคัญที่บ่งบอกได้ว่าผลกระทบสงครามการค้าจะหนักและลึกแค่ไหน คือ การเจราการค้าของสหรัฐฯกับจีน คาดว่าต้องใช้เวลานานมาก ดังนั้นจึงคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะถดถอยลงไปถึงจุดต่ำสุด (Bottom) ประมาณไตรมาส 4 แต่ความรุนแรงจะไม่เท่ากับวิกฤตอื่นที่ไทยเคยเจอมา เช่น การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และวิกฤตการณ์การเงิน ปี 2540 (วิกฤตต้มยำกุ้ง) เพราะเชื่อว่าสหรัฐฯ จะไม่สามารถอยู่ได้ด้วยการตั้งกำแพงภาษีที่สูงมากกับจีน เนื่องจากภาคการผลิตสหรัฐฯ นำเข้าสินค้าขั้นกลางจากจีนในสัดส่วนที่สูงโดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จึงเชื่อว่าเจรจากันได้ และเศรษฐกิจไทยก็จะถดถอยไม่ลึกเท่าเหมือนวิกฤตที่ผ่านมา

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท.
เศรษฐพุฒิ มองว่าเมื่อเศรษฐกิจไทยถึงจุดต่ำสุดแล้ว การฟื้นตัวจะใช้เวลานาน เพราะภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ในซัพพลายเชนจะต้องใช้เวลานานมากในการปรับตัวให้เข้ากับการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
“ไทยต้องปรับตัว หากไม่ปรับตัวเศรษฐกิจก็จะมีโอกาสสูงที่จะฟื้นตัวกลับมาต่ำกว่าในอดีต”
ไทยจะต้องปรับตัวอย่างไร
อย่างไรก็ตาม เศรษฐพุฒิ มองในแง่ดีว่าเศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสกลับมาเติบโตได้มากกว่าในช่วงที่ผ่านมา พิจารณาจาก 2 ด้าน
- สหรัฐฯ มีสัดส่วนการนำเข้าสินค้ามากที่สุดในโลกก็จริง หากประเทศอื่น ๆ ลดกำแพงภาษีการค้าลง และรวมตัวค้าขายกันเองมากขึ้น ก็เป็นไปได้ว่าการค้าใหม่ที่ไทยเจออาจจะดีกว่าเดิม และจะส่งผลให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจดีขึ้น
- เศรษฐกิจของไทยเน้นการภาคบริการสูงกว่าประเทศอื่น ส่วนนี้อาจได้รับผลกระทบน้อยจากสงครามการค้า และถ้ายกระดับให้มีประสิทธิของภาคบริการให้มากขึ้น ที่ไม่ใช่การท่องเที่ยวในรูปแบบเดิม แต่ต้องเป็นสิ่งที่สร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) โอกาสของเศรษฐกิจไทยก็จะสูงขึ้น
เศรษฐพุฒิ แนะว่าโจทย์ของนโยบายรัฐบาล คิดว่าไม่ใช่เรื่องของการกระตุ้นที่จะให้เรือวิ่งได้เร็วแบบเดิม เพราะเมื่อเจอช็อคก็จะต้องชะลอตัวลงและหนีไม่พ้น ดังนั้น สิ่งที่ควรเน้น คือ 1.ทำยังไงให้ช็อคที่เจอเบาลง และไม่ลงลึกมากขึ้น 2. มาตรการที่ช่วยให้การปรับตัวได้เร็วมากขึ้น และส่งผลในระยะยาว ทำให้เติบโตได้ดีกว่าเดิม
พายุกำลังมา เรือจะแล่นในความเร็วเดิมมันไม่ได้ ยังไงก็ต้องมีการชะลอตัวลง
มาตรการที่ควรใช้ต้องไม่ใช่แบบปูพรม เพราะผลกระทบแต่ละกลุ่มค่อนข้างแตกต่างกันขึ้นกับว่าอยู่ส่วนไหนของภาคอุตสาหกรรม ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้ากว่า 50% เป็นบริษัทต่างชาติ มักจะใช้วิธีย้ายฐานการผลิตเพื่อเลี่ยงผลกระทบ ซึ่งต้องใช้มาตรการช่วยเหลือในรูปแบบให้สิทธิประโยชน์ แต่เมื่อเทียบกับกลุ่มส่งออกอาหารแปรรูป ที่มีผู้ผลิตขนาดเล็ก (SME) กว่า 12,000 ราย มีการจ้างงานเกือบ 300,000 คน เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจไทยและเกษตรกรค่อนข้างสูง มีโอกาสปรับตัว ย้ายฐานผลิตยาก และปรับตัวได้ลำบาก
นอกจากภาคส่งออกแล้ว กลุ่มที่น่าเป็นห่วงพิเศษ คือ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าต่างประเทศเข้าไทยทะลักจำนวนมาก ทำให้แข่งขันในประเทศได้ยาก ซึ่งกระทบหลายกลุ่มอุตสาหกรรมและผู้ผลิตขนาดเล็กจำนวนมาก โดยมาตรการที่ใช้จะบรรเทาผลกระทบนี้ ก็จะเป็นมาตรการเชิงการค้า เช่น ป้องกันการทุ่มตลาด ควบคุมคุณภาพสินค้านำเข้าให้มากขึ้น
ล่าสุดตัวเลขการส่งออกของจีนไปยังสหรัฐฯ เดือน เม.ย. ลดลงกว่า 20% แต่การส่งออกโดยรวมกับเพิ่มขึ้น 8% สะท้อนว่าสินค้าที่ส่งไปสหรัฐฯไม่ได้ก็จะส่งไปที่ประเทศอื่นแทน จึงเป็นเรื่องที่ไทยต้องใส่ใจสินค้าต่างชาติที่ทะลักเข้ามาจำนวนมากว่าจะกระทบเศรษฐกิจหนักมากแค่ไหน
การใช้เครื่องมือนโยบายการเงินและการคลัง ต้องทำให้ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ มาตรการบางอย่างอาจไม่เหมาะสมกับสภาวะที่กำลังเจออยู่ในปัจจุบัน เช่น ถ้ากระตุ้นการบริโภคในตอนนี้ อาจจะไปกระตุ้นการบริโภคสินค้าต่างชาติ หมายความว่าจะไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ แต่จะไปกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศอื่นที่ส่งสินค้าเข้าไทยแทน
ดังนั้นไทยควรทำในสิ่งที่ไม่ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล เช่น ยกเลิกกฎระเบียบที่ทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจสูง เพราะไทยมีกฎระเบียบเหล่านี้เยอะมาก หากทำได้ก็จะช่วยการลงทุนต่าง ๆ ในไทยที่เคยขาดไปเป็นเวลานานกลับมาได้ดีขึ้น
ดอกเบี้ยปัจจุบันเพียงพอ?
ด้านการดูแลนโยบายการเงิน ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เหลือ 1.75% เพื่อให้นโยบายการเงินช่วยรองรับการชะลอตัวเศรษฐกิจได้ แต่ผู้ว่าการ ธปท. ก็ยอมรับว่าพื้นที่การปรับลดดอกเบี้ย (Policy space) มีจำกัด จึงต้องใช้อย่างระมัดระวังในระยะข้างหน้า
ดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันยังมีความเหมาะสม และสามารถรองรับผลกระทบที่ตามที่ประเมินไว้ได้ แต่ถ้าสถานการณ์แย่ลงหนัก (Deteriorate) กว่าที่ประเมินอย่างมีนัยยะ ก็อาจปรับลดอีกได้ แต่ควรรู้ว่าไว้ประสิทธิภาพของดอกเบี้ยที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจจะค่อย ๆ ลดลงตอนที่ดอกเบี้ยยิ่งต่ำลง เพราะการส่งผ่านผลของดอกเบี้ยจะยิ่งน้อยลง จึงต้องใช้พื้นที่ที่เหลืออยู่อย่างระมัดระวัง
ส่วนตลาดการเงินที่ผ่านมามีความผันผวนสูงมากอย่างที่ไม่เคยได้เห็นมานาน ธปท. ก็ยังดูแลอย่างต่อเรื่อง ขณะที่มาตรการทางการเงินในปัจจุบันก็ยังใช้ได้อยู่ ทั้งมาตรการปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้ที่มีปัญหา ให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible lending หรือ RL) และมาตรการคุณสู้เราช่วย
อย่างไรก็ตาม ธปท. ก็พร้อมที่จะออกมาตรการเพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่ออกมาและความรุนแรงของผลกระทบ
ยันเงินไม่ฝืด แต่เงินไม่มี
กรณีกระทรวงพาณิชย์ รายงานเงินเฟ้อทั่วไปของไทย เดือน เม.ย. 68 ติดลบ 22% ถือเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 13 เดือน ผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่า ยังไม่พบสัญญาภาวะเงินฝืดแต่อย่างใด เพราะการลดลงของเงินเฟ้อครั้งนี้มีปัจจัยมาจากราคาพลังงาน หรือเกิดจากฝั่งอุปทานมากกว่าอุปสงค์
ทั้งนี้ ภาวะเงินฝืดต้องมีปัจจัยมาจาก
- ราคาสินค้าลดลงในวงกว้าง
- การคาดการณ์เงินเฟ้อต้องลดลง แต่ปัจจุบันยังไม่เห็นว่าหลุดจากรอบเงินเฟ้อ
- การบริโภคไทยยังไม่ได้หดตัวจนติดลบ แต่มีแนวโน้มชะลอลงตามปกติ เพราะเดิมเคยอยู่ในระดับสูงมาก
ผู้ว่าการ ธปท. ยังอธิบายด้วยว่า เงินเฟ้อตอนนี้ยังไม่น่ากังวล เพราะยังไม่เห็นวงจรที่เป็นแบบเงินเฟ้อลดลง จากการที่คนไม่ใช้จ่าย จึงทำให้ราคาสินค้าลดลง
นอกจากนี้ส่วนตัวคิดว่าประชาชนไม่ได้กังวลเงินเฟ้อ แต่กังวลเรื่องค่าครองชีพมากกว่า สะท้อนจากผลสำรวจสำนักงานสถิติล่าสุดที่สอบถามประชาชนถึงความกังวล โดยอันดันหนึ่งเป็นเรื่องของค่าครองชีพสูง และอยากให้รัฐบาลดูแลในเรื่องของราคาสินค้าต่าง ๆ สาเหตุที่เป็นแบบนั้น ถึงแม้เงินเฟ้อล่าสุดจะออกมาติดลบ
แต่หากดูสินค้าที่คนบริโภคอย่างอาหารสด จะพบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ราคาปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างเยอะมหาศาล ในขณะที่รายได้คนไม่ได้เติบโตเร็วขนาดนั้น จึงทำให้ยังมีแรงกดดันในเรื่องค่าครองชีพอยู่
อ่านเนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้อง