คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 2.00% เป็น 1.75% ต่อปี โดยให้มีผลทันที ทั้งนี้ 2 เสียง เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง: กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบาย คนกู้เงินได้ประโยชน์อะไร?
การประชุมกนง. เมื่อ 30 เม.ย. 68 ระบุว่าสถานการณ์นโยบายการค้าสหรัฐฯ และการตอบโต้ของประเทศเศรษฐกิจหลักจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ การเงิน และการค้าโลกอย่างมีนัย โดยในปัจจุบันยังอยู่ในระยะเริ่มต้นที่ความไม่แน่นอนสูงมาก เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มปรับลดลง สถานการณ์มีแนวโน้มยืดเยื้อและผลกระทบจะทอดยาวไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าการผลิตโลกที่ทำให้ประสิทธิภาพลดลงในระยะยาว
ทั้งนี้ นโยบายการค้าโลกของประเทศเศรษฐกิจหลักในอนาคตยังคาดเดาได้ยาก ส่งผลต่อการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะต่อไป
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง: คาดกนง.ลดดอกเบี้ยครึ่งปีหลัง รับวิกฤตสงครามการค้า
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับลดลงและมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากนโยบายการค้าโลกและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงโดยเฉพาะชาวจีนคาดว่าทั้งปีนี้จะเหลืออยู่ที่ 2 ล้านคน สวนทางกับประเทศอื่นที่เพิ่มมากขึ้นอย่างเกาหลีใต้ สิงคโปร์ และญี่ปุ่น เนื่องจากกังวลความปลอดภัยและรัฐบาลจีนสนับสนุนให้ท่องเที่ยวในประเทศ ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลงต่ำกว่ากรอบเป้าหมายจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นสำคัญ ด้านภาวะการเงินโดยรวมยังตึงตัว
กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในการประชุมครั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและรองรับความเสี่ยงด้านต่ำที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งดูแลภาวะการเงินให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป
ขณะที่กรรมการ 2 ท่านเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อใช้ในจังหวะที่เกิดประสิทธิผลสูงสุดภายใต้ขีดความสามารถของนโยบายการเงิน (policy space) ที่มีจำกัด
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวลดลงและมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากนโยบายการค้าโลก และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ มองไปข้างหน้า นโยบายการค้าจะเริ่มส่งผลกระทบมากขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2568
สักกะภพ พันธ์ยานุกูล เลขานุการ กนง. กล่าวว่า ในอดีตของไทย (ช่วงโควิด-19) เคยปรับลดดอกเบี้ยต่ำสุดเหลือ 0.5% (Poilcy sapce) แต่การปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้เพื่อให้นโยบายการเงินมีความผ่อนคลายมากขึ้นเท่านั้น ให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจและความเสี่ยงผลกระทบจากสงครามการค้า แต่ยังไม่เข้าสู่ภาวะดอกเบี้ยขาลง ส่วนจะปรับอีกหรือไม่นั้นต้องติดตามว่าไทยจะโดนภาษีสหรัฐฯ ที่อัตราเท่าไหร่
โดยเครื่องมืออัตราดอกเบี้ยควรจะต้องใช้เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจ ซึ่งหากครบ 90 วันที่สหรัฐฯ เลื่อนภาษี จะต้องมีการนำข้อมูลพิจารณาใหม่กันอีกครั้ง
สำหรับสถานการณ์สภาพคล่องตอนนี้ยังไม่พบว่ามีปัญหาขาดสภาพคล่อง เพราะในส่วนของธนาคารพาณิชย์ยังมีสภาพคล่องที่สูงมากเป็นประวัติการณ์
อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนยังสูงมาก คณะกรรมการฯ จึงประเมินภาพเศรษฐกิจภายใต้หลายฉากทัศน์ โดยเศรษฐกิจไทยจะลดลงต่ำกว่าประมาณการณ์เดิม 2.8% ตัวอย่างเช่น
1. ฉากทัศน์ที่การเจรจาทางการค้ามีความยืดเยื้อและภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ใกล้เคียงกับอัตราปัจจุบัน (reference scenario) คือ ทุกประเทศรวมไทยโดนภาษีพื้นฐานที่ 10% อาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2568 ขยายตัวประมาณ 2.0% และปี 2569 ขยายตัว 1.8%
2. ฉากทัศน์ที่สงครามการค้ารุนแรงมากและภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ อยู่ในอัตราที่สูง (alternative scenario) โดยทุกประเทศรวมถึงไทยเจรจาลดภาษีได้ครึ่งหนึ่ง และไทยโดนภาษีที่ 28% (มาจากภาษีพื้นฐาน 10% บวกกับ 18% คือครึ่งหนึ่งของ 36%) อาจทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2568 ขยายตัวประมาณ 1.3% และปี 2569 ขยายตัว 1.0%
ทั้งสองฉากทัศน์นี้จะเริ่มส่งผลกระทบตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 68 เป็นต้นไป ซึ่งคณะกรรมการฯ มีควาามมั่นใจถึง 70-80% ว่าสถานการณ์จะอยู่ในกรอบประเมินดังกล่าว และยังไม่เห็นสัญญาณภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิคจึงไม่ได้ใส่รวมในประมาณการณ์ โดยสิ่งที่เกิดจริงจะขึ้นอยู่กับนโยบายและการปรับตัวของประเทศต่างๆ จึงต้องติดตามพัฒนาการการค้าโลกและผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด การแก้ปัญหาและลดผลกระทบจากนโยบายการค้าข้างต้นจำเป็นต้องผสมผสานนโยบายหลายด้านเสริมกัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจ
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลงต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย 1-3% ปัจจัยส่วนใหญ่มาจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลงอย่างมากและมาตรการอุดหนุนราคาพลังงานของภาครัฐ ซึ่งมีส่วนช่วยบรรเทาค่าครองชีพและลดต้นทุนของภาคธุรกิจ โดยกรณีเจรจายืดเยื้อ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดการณ์อยู่ที่ 0.5% ในปี 68 และ 0.8% ในปี 69 และกรณีไทยโดนภาษีสหรัฐฯ สูง คาดการณ์ที่ 0.2% ในปี 68 และ 0.4% ในปี 69
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทรงตัว กรณีเจรจายืดเยื้อคาดการณ์อยู่ที่ 0.9% ในปี 68 และในปี 69 และกรณีไทยโดนภาษีสหรัฐฯ สูง คาดการณ์ที่ 0.7% ในปี 68 และปี 69 และเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย ทั้งนี้ นโยบายกีดกันทางการค้าและการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่การผลิตโลกอาจส่งผลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า
ภาวะการเงินยังตึงตัว สินเชื่อรวมหดตัวเล็กน้อยในเดือน ก.พ. ที่ -0.5% และคุณภาพสินเชื่อยังปรับด้อยลงในเดือน ก.พ. ที่ 3.70% โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อธุรกิจในกลุ่มที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ให้น้ำหนักกรณีนโยบายการค้าโลกอาจสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่อฐานะการเงินของภาคธุรกิจและครัวเรือน จึงต้องติดตามนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและภาคการเงินที่มีความเชื่อมโยงกัน
ความผันผวนในตลาดการเงินโลกปรับสูงขึ้นจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าประเทศเศรษฐกิจหลัก และส่งผลให้ความผันผวนของตลาดการเงินไทยสูงขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ดี การทำงานของกลไกตลาดการเงินไทยโดยรวมยังคงเป็นปกติ คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินโลกและการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ประเมินว่าแนวโน้มเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง จึงจะพิจารณาปรับนโยบายการเงินให้เหมาะสมกับแนวโน้มและความเสี่ยงของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า
คาดลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งปีนี้
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่านโยบายการเงินจะต้องผ่อนคลายเพิ่มเติมอีก เนื่องจาก ปัจจุบันภาวะการเงินของไทยยังคงตึงตัวเทียบกับในอดีต แม้จะมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงหลายครั้งแล้ว โดยนอกจากสถานการณ์ในประเทศที่สินเชื่อหดตัว และคุณภาพสินเชื่อที่ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่องแล้ว ดัชนีค่าเงินบาทยังคงแข็งค่ากว่าในอดีตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ภาวะการเงินที่ยังตึงตัวอยู่ชี้ให้เห็นว่า กนง. อาจต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม เพื่อให้ภาวะการเงินเอื้อต่อสถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มจะขยายตัวชะลอลงอย่างมาก
อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจต้องปรับลดลงไปต่ำกว่าช่วงสงครามการค้าครั้งแรก หรือ Trade War 1.0 (2561-2562) โดยในสงครามการค้าครั้งแรกมีการขึ้นภาษีตอบโต้กันไปมาระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยไทยได้รับผลกระทบทางอ้อมเท่านั้น ขณะนั้นนโยบายการเงินมีลักษณะผ่อนคลาย โดยค่าเฉลี่ยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ที่เพียง 0.3% เท่านั้น ซึ่งแตกต่างกับในปัจจุบันที่สงครามการค้ารุนแรงขึ้นมาก และไทยได้รับผลกระทบทางตรงที่รุนแรง แต่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยในปัจจุบัน (ซึ่งคิดรวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้แล้ว) อยู่ที่ 0.7% การรับมือกับสงครามการค้ารอบนี้ที่รุนแรงขึ้นมาก จึงอาจต้องอาศัยอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำลงกว่าอดีต
นโยบายการเงินอาจต้องเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนเศรษฐกิจมากขึ้นในระยะข้างหน้า หลัง Moody’s ปรับลด Outlook (มุมมอง) ของไทย สะท้อนข้อจำกัดของนโยบายการคลัง โดยเมื่อวันที่ 29 เม.ย. ที่ผ่านมา Moody’s บริษัทจัดอันดับเครดิตเรตติงได้ปรับลดแนวโน้มเรตติงไทยเป็น “Negative” จาก “Stable” แต่ยังคงอันดับเรตติงที่ Baa1 จากเศรษฐกิจและฐานะทางการคลังของไทยที่มีแนวโน้มแย่ลง โดยไทยจะได้รับผลกระทบจากกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งจะซ้ำเติมปัญหาทางเศรษฐกิจของไทยที่มีอยู่เดิม โดยสภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าและมีความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นนี้จะส่งผลต่อเนื่องให้ฐานะการคลังของไทยแย่ลงเพิ่มเติม การปรับ Outlook ในครั้งนี้อาจจำกัดบทบาทของนโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า และทำให้นโยบายการเงินต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
SCB EIC จึงมองว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในปีนี้ สู่ระดับ 1.25% ภายในสิ้นปี 2025 เพื่อรองรับเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอลงตามความไม่แน่นอนที่ปรับสูงขึ้นมาก จากนโยบายการค้าสหรัฐฯ ประกอบกับความตึงตัวของภาวะการเงินที่มีอยู่เดิม ทั้งนี้ประเมินว่าระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปีนี้จะต่ำกว่าช่วงปีที่เกิดสงครามการค้า 1.0 ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งขณะนั้นไทยยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
จับตาสงครามการค้าลาม กระทบระบบการเงิน