ผลกระทบสงครามการค้า และจากการที่สหรัฐอเมริกาใช้มาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) เตรียมขึ้นภาษีสินค้ากับไทย 36% ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประเมินเบื้องต้นว่าการเติบโตเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 68 จะชะลอลงต่ำกว่า 2.5% จากผลกระทบดังกล่าว ซึ่งตัวเลขประมาณการที่ชัดเจนจะเปิดเผยในการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 30 เม.ย. 68
ประเมินทิศทาง กนง.รับมือสงครามการค้า
วิจัยกรุงศรี คาดการณ์ว่า กนง.อาจใช้แนวทาง Wait and See (รอดูความชัดเจน) ในเดือนนี้ เพื่อเตรียมเก็บกระสุนด้านดอกเบี้ยนโยบายไว้ใช้ในช่วงครึ่งหลังของปี 68 เพราะ ธปท. ระบุว่า ในการประชุม กนง. ครั้งที่ผ่านมาในเดือน ก.พ. ที่ได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 2.0% ภายใต้การคาดการณ์ที่ว่าสหรัฐฯ จะขึ้นภาษีกับสินค้าไทยในอัตรา 10% ทำให้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอยู่ที่ 2.5% แต่หากสหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีกับไทยมากกว่า 10% ผลกระทบอาจรุนแรงขึ้น และส่งผลให้ GDP ปีนี้มีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่า 2.5%
ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีประเมิน ผลกระทบมาจากปัจจัยคุกคามคู่ (Twin shocks) ทั้งจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อปลายเดือน มี.ค. และการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ดังนั้น GDP ปีนี้ มีแนวโน้มต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ จึงเพิ่มความเป็นไปได้ที่ กนง.อาจผ่อนคลายนโยบายการเงินในปีนี้
อย่างไรก็ตาม คาดว่า กนง.จะคงดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 30 เม.ย. สะท้อนจากการชี้นำทิศทางนโยบาย (Forward guidance) ล่าสุดของ ธปท. ที่ระบุว่า แม้อัตราภาษีตอบโต้ที่สหรัฐฯเรียกเก็บกับไทยจะสูงกว่าที่คาดไว้ (36%) แต่ปัจจุบันมีการเลื่อนเก็บเป็นเวลา 90 วัน ผลกระทบจึงน่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังและปีหน้า
ในการประเมิน GDP ครั้งล่าสุดของ ธปท. ใช้สมมติฐานว่าอัตราภาษีตอบโต้จะอยู่ที่ 10% ตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นสถานการณ์ปัจจุบันในช่วงระยะเวลาผ่อนผัน 90 วัน
ธปท.ประเมินว่ามีผลกระทบจำกัดเฉพาะในบางภาคเศรษฐกิจ โดยส่วนใหญ่จะกระทบด้านภาคการผลิต (Supply side) ซึ่งธปท. ย้ำเสมอว่าการใช้นโยบายการเงินไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด ควรแก้ไขด้วยการปรับโครงสร้างหรือยกระดับภาคการผลิต
แม้อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย แต่ธปท. มองว่าเป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทาน และจะทยอยปรับเข้าสู่กรอบในระยะปานกลาง จากการสื่อสารของธปท.ดังกล่าวส่งสัญญาณว่า กนง.อาจจับตาและรอดูสถานการณ์ความชัดเจนในระยะนี้ เพื่อเตรียมเก็บกระสุนด้านดอกเบี้ยนโยบายที่มีอยู่อย่างจำกัดไว้ใช้ในช่วงครึ่งปีหลัง หากความเสี่ยงจากสงครามการค้ารุนแรงขึ้นและมีแนวโน้มส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม
สำหรับการเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ รัฐบาลได้เตรียมเสนอแผนลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เบื้องต้นกำหนดแผนงานเจรจาภายใต้ 5 แนวทางหลัก ได้แก่ 1.ความร่วมมือในธุรกิจอาหารแปรรูปไทย-สหรัฐฯ 2.เพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ อาทิ พลังงาน เครื่องบิน และสินค 3.เปิดตลาด ลดภาษีนำเข้า ลดอุปสรรคทางการค้า 4.ตรวจสอบอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้า 5.ส่งเสริมการลงทุนในสหรัฐฯ มากขึ้น
ทั้งนี้ฝ่ายไทยเตรียมเสนอแผนลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ลง 50% ภายใน 5 ปี ผ่าน 5 แนวทางหลักดังกล่าว วิจัยกรุงศรี มองว่า หากการเจรจาดำเนินไปอย่างมีความคืบหน้า จะบรรเทาความเสี่ยงจากมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ที่อาจปรับขึ้นสูงถึง 36% ในระยะข้างหน้า แต่หากไทยไม่สามารถสร้างผลลัพธ์เชิงรูปธรรมได้ ขณะที่ประเทศคู่แข่งสามารถเร่งสร้างความร่วมมือกับสหรัฐฯ ได้ก่อน ย่อมอาจส่งผลให้ไทยเสียเปรียบในการเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วน 18.3% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย

กรอบการเจรจาไทยกับสหรัฐฯ
ไทยแจงเลื่อนเจรจาสหรัฐฯ รอความชัดเจน
ล่าสุด แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ทีมไทยเลื่อนการเจราเรื่องภาษีกับสหรัฐฯ ออกจากกำหนดการเดิมวันที่ 23 เม.ย. ขณะที่พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงสาเหตุว่า เพราะสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงตลอดทุกวัน และมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนมากขึ้น คณะทำงานจึงเห็นควรให้เลื่อนวันเจรจาออกไป เพื่อหารือเพิ่มเติมให้เกิดความชัดเจนและให้กรอบการเจรจามีความครอบคลุมมากที่สุด
แต่ทีมงานระดับปฏิบัติการจะยังคงทำงานกันต่อไป โดยในต่างประเทศทางสถานทูตไทยในสหรัฐฯ ร่วมกับทีมงานที่ส่งไปล่วงหน้า จะคอยผสานงานกับรัฐบาลสหรัฐฯ และส่วนในประเทศจะเตรียมการรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจ ได้แก่ 1.ทบทวนมาตรการทางการค้าของไทยให้สอดคล้องกับสหรัฐฯ 2.เตรียมการช่วยเหลือฟื้นฟูและปฏิรูป โดยหารือกับสภาพัฒน์หาทางออกกรณีเศรษฐกิจไทยไม่ดี และหารือกับ ธปท. เตรียมมาตรการช่วยเหลือทางการเงินในการฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ
ดังนั้นก็อยากจะทราบให้ชัดเจนว่าทางสหรัฐฯ ต้องการอะไรเพิ่มเติมนอกเหนือที่จะเสนอหรือไม่ เพื่อให้ไทยได้เตรียมการให้พร้อมและเหมาะสม
ซึ่งล่าสุดสหรัฐฯ ได้ให้ความสำคัญเพิ่มเติม คือ ไม่ต้องการให้หลายประเทศแทรกแซงค่าเงินของตัวเอง เพื่อไม่ให้สหรัฐฯ เสียเปรียบทางการค้า ดังนั้นไทยจึงต้องมาพิจารณาในเรื่องนี้ แม้ที่ผ่านมาไม่ได้มีการแทรกแซงค่าเงินก็ตาม แต่ก็ต้องมาพิจารณาในนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการถือสกุลเงินต่างประเทศด้วย
ที่มา : วิจัยกรุงศรี, ทำเนียบรัฐบาล
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง