นโยบายภาษีตอบโต้ของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่เรียกเก็บจากไทยเฉลี่ย 36% ไม่ได้เพียงส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทย แต่หากรวมไปถึงภาคเกษตรกรรมอย่างกลุ่มปศุสัตว์ โดยเฉพาะผู้เลี้ยงสุกร และ โคเนื้อ
ที่ผ่านมาทีมเจรจาของไทย นำโดยพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุถึงแผนเจรจามาตรการตอบโต้ทางภาษีกับสหรัฐอเมริกา ในหมวดภาคเกษตรกรรมและการแปรูป ไม่มีการเปิดนำเข้าเนื้อสุกร และ โคเนื้อ แต่จะนำเข้าสินค้าประเภทอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพด กากถั่วเหลืองจากสหรัฐ ซึ่งไทยขาดแคลนอยู่แล้ว
แต่คำยืนยันดังกล่าว ยังไม่อาจสร้างมั่นใจให้กับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และสมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทยได้ เนื่องจากที่ผ่านมาในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในปี 2555 สหรัฐได้พยายามนำเข้าเนื้อสุกร และ โคเนื้อ แต่ติดกฎหมายคุ้มครองสุขอนามัยของผู้บริโภคในประเทศ อาทิ การห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดง ตาม พ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2558 รวมถึงประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ พ.ศ.2559 เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาเชื้อดื้อยาในผู้บริโภคทำให้ยังไม่สามารถนำเข้าได้
หวั่นกระทบ Supply Chain ผู้เลี้ยงสุกร
ผู้เลี้ยงสุกร และโคเนื้อ มีความกังวลว่า ในการเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐในครั้งนี้ อาจจะนำเอาเรื่องการนำเข้าเนื้อสุกร และ โคเนื้อ มากดดันทีมเจรจาไทยจนทำให้ไทยยอมอ่อนข้อเปิดการนำเข้าเนื้อสุกร และโคเนื้อในที่สุด ทำให้ที่ผ่านมา ทั้งสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และสมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย ยืนยันจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการเปิดนำเข้าเนื้อสูกร และโคเนื้อจากสหรัฐอเมริกา
วรรณภา ชินชูศักดิ์ กรรมการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ บอกว่า แม้รัฐบาลจะออกมาบอกว่ามาตการเจรจาไม่มีการเปิดนำเข้าเนื้อสุกร แต่เราก็อยากยืนยันจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการเปิดให้มีการนำเข้าเพราะจะเกิดผลกระทบต่อโครงสร้างราคาสุกรในประเทศ และต้นทุนของการผู้เลี้ยงสุกรไทยสูงกว่าจากสหรัฐ ที่จะส่งผล กระทบต่อSupply Chain หรือ ระบบห่วงโซ่การผลิต ที่ประกอบด้วย ผู้เลี้ยงสุกร โรงงานผลิตอาหารสัตว์
กระทบผู้เลี้ยงสุกรมากแค่ไหน?
- เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรประมาณ 149,754 ราย มีพนักงานในฟาร์มเลี้ยงสุกร ราว 790,000 คน
- สุกรพันธุ์ 1 ล้านตัว อาหารที่กิน 1,000,000 ตัน/ปี
- สุกรขุน 21.13 ล้านตัว อาหารที่กิน 5,302,777 ตัน/ปี
ปริมาณการกิน อาหารของสุกรในประเทศ 6,302,777 ตัน/ปี
- ปลายข้าว 25% = 1,575,694 ตัน
- ข้าวโพด 20% = 1,260,555 ตัน
- มันสำปะหลัง 10% = 630,277 ตัน
ผลกระทบต่อเกษตรกรวัตถุดิบอาหารสัตว์
- ผู้ปลูกข้าวโพดประมาณ 600,000 ครัวเรือน โดยมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดประมาณ 7.375 ล้านไร่ ผลผลิตข้าวโพดรวมประมาณ 4.9 ล้านตัน
- ผู้ปลูกข้าวที่ลงทะเบียนประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือน โดยมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวประมาณ 61.93 ล้านไร่ ผลผลิตข้าวรวมประมาณ 22.2 ล้านตัน
- ผู้ปลูกมันสำปะหลังในประเทศไทยประมาณ 580,000 ครัวเรือน มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 7.9 ล้านไร่ ผลผลิตรวมประมาณ 28–31ล้านตัน
กระทบโรงงานผลิตอาหารสัตว์
ประเทศไทยมีโรงงานผลิตอาหารสัตว์ (รวมโรงงานที่ผลิตอาหารสุกร) อยู่เป็นจำนวนมากกว่า 100 โรงงาน ทั่วประเทศ ใช้พนักงานโดยตรงประมาณหลักหลายสิบคนต่อโรงงาน โดยอาจอยู่ในช่วงประมาณ 100 คนต่อโรงงาน และโรงฆ่าสัตว์ประมาณ 1,000 กว่าแห่ง จำนวนพนักงานรวมในโรงเชือดสุกรทั้งหมดประมาณ 9,800 คน.
นอกจากนี้ยังมีผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค เพราะเนื้อสุกรไทยกับสหรัฐอเมริกามีความแตกต่างกัน โดยเนื้อสุกรไทย มีกฎหมายการใช้สารเร่งเนื้อแดงหรือสารกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์ (β-Agonist) ตามประกาศกรมปศุสัตว์ตามมาตรา 32 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินพ.ศ. 2534 และแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์เลี้ยงและสุขภาพอนามัยของประชาชนผู้บริโภคเนื้อสุกรได้
วรรณภา ยังบอกอีกว่า อยากให้มีการเร่งรัดแก้ปัญหาการปัญหาการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน เนื่องจากปัจจุบันมีความล่าช้า แม้จะมีการขยายผลที่มีเส้นทางเริ่มชัดเจนขึ้น ทั้งรายชื่อใน กลุ่มลูกค้าที่เป็นทั้งห้างค้าส่ง ค้าปลีก และธุรกิจร้านอาหาร รวมทั้งสำนวนคดีพิเศษใน 11 สำนวนจาก 12 สำนวน พบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง และถูกส่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรียบร้อยแล้ว จึงอยากให้มีการเร่งหาข้อเท็จจริงเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้เลี้ยงสุกรในประเทศ
ที่ผ่านมาสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้ยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีการะทรวงการคลัง และ ประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา เพื่อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาการกำหนดภาษีนำเข้าต่างตอบแทน (Reciprocal Tariffs) กับรัฐบาลไทย โดยเสนอให้นำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ส่วนขาด เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี กากถั่วเหลือง และ DDGS จากสหรัฐอเมริกาแทน เพื่อแก้ปัญหาการเกินดุลและขาดดุลการค้าระหว่างไทย – สหรัฐอเมริกาแคบลง และลดแรงกดดันจากสหรัฐอเมริกาที่จะมาสร้างผลกระทบกับเกษตรกรโดยเฉพาะผู้เลี้ยงสุกรภายในประเทศ และยืนยันให้ยกเลิกการนำเข้าเนื้อหมูและเครื่องในจากสหรัฐฯ เพื่อรักษาเสถียรภาพอาชีพเกษตรกร ความมั่นคงทางอาหาร และสุขภาพประชาชนชาวไทยอย่างยั่งยืน
ผู้เลี้ยงโคเนื้อค้านนำเข้าเนื้อ-เครื่องในจากสหรัฐ
เช่นเดียวกับสมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย สิทธิพร บุรณณัฏ อุปนายกสมาคมฯ ระบุว่า ต้องการให้ยกเลิกการนำเข้าเนื้อและเครื่องในโคสหรัฐฯ เพราะซ้ำเติมเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบอยู่แล้ว จากการเปิดการค้าเสรี หรือ FTA กับประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ และการนำเข้าเนื้อจากสหรัฐยังขัดต่อกฎหมายไทย ห้ามการเลี้ยงสัตว์ด้วยสารเร่งเนื้อแดง
สมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย ได้ส่งหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเพื่อคัดค้านการเปิดนำเข้าเนื้อและเครื่องในโคจากสหรัฐฯ เนื่องจากกังวลว่า จะกระทบต่อผู้เลี้ยงโคทั่วประเทศกว่า 1.4 ล้านครัวเรือน ส่งผลให้ราคาภายในประเทศตกต่ำ โดยเรียกร้องให้คณะเจรจาภาษีสหรัฐฯ ยกเลิกการนำเข้าเนื้อหรือเครื่องในโคจากสหรัฐฯ เพื่อปกป้องเกษตรกรในประเทศ
ทีมไทยแลนด์บินเจรจาสหรัฐ 23 เม.ย
สำหรับความคืบหน้ามในการเจรจรากับสหรัฐอเมริกา นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สหรัฐฯ ได้ตอบรับการเจรจากับประเทศไทย โดยกำหนดวันเจรจาในวันที่ 23 เมษายน 2568 โดยเป็นการเจรจาในระดับรัฐมนตรี โดยตัวแทนการเจรจาฝ่ายไทยนำโดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นหัวหน้าทีมไทยแลนด์
ส่วนกรอบการเจรจารัฐบาล ภายใต้ยุทธศาสตร์ “สร้างความสมดุลทางการค้าและเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยได้วางหลักการเจรจา 5 ด้าน ได้แก่
1.การเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมที่ไทยและสหรัฐ ในอุตสาหกรรมเกษตร-อาหาร และเทคโนโลยี โดยเฉพาะการแปรรูปอาหารสัตว์ ไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าเกรดพรีเมียม เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดโลกมากขึ้น หากนำเข้าวัตถุดิบจากสหรัฐ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่มีต้นทุนต่ำและคุณภาพสูงเข้ามา
2.การเปิดตลาด ลดภาษี และลดอุปสรรคทางการค้ากับสหรัฐ ซึ่งไทยพร้อมลดภาษีนำเข้า และเพิ่มโควตาสินค้าเกษตรจากสหรัฐ ซึ่งไทยจำเป็นต้องนำเข้าอยู่แล้ว เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อไม่กระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ
3.เพิ่มการนำเข้าจากสหรัฐ ในสินค้าที่ไทยจำเป็นต้องใช้ซึ่งไทยผลิตได้แต่ไม่เพียงพอ เช่น วัตถุดิบด้านปิโตรเคมี เครื่องบินพาณิชย์ รวมถึงสินค้าอื่นที่ไทยไม่ได้ผลิต อาทิ ชีส ถั่ววอลนัท ผลไม้สดอย่างเชอรี่ แอปเปิ้ล เพื่อลดการเกินดุลด้านการค้ากับสหรัฐ
4.ตรวจสอบเพิ่มความเข้มงวดสินค้าส่งออกไปสหรัฐ ป้องกันการสวมสิทธิไทยส่งออกไปประเทศที่สาม ซึ่งกระทรวงพาณิชย์กำหนด 49 สินค้าเสี่ยงที่ตรวจสอบแหล่งกำเนิดอย่างเข้มข้น
5.การส่งเสริมการลงทุนของไทยในสหรัฐ โดยเฉพาะให้ภาคเอกชนไทยลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปในสหรัฐ โดยใช้วัตถุดิบท้องถิ่น ผลิตสินค้าส่งออกจากฐานการผลิตในอเมริกา
เนื้อหาข่าวที่เกี่ยวข้อง