แนวโน้มดอกเบี้ยโลกและดอกเบี้ยในประเทศ กำลังเข้าสู่หา “ขาลง” หลังจากสงครามการค้าและมาตรการตอบโต้ทางภาษีของสหรัฐเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ทำให้เศรษฐกิจของหลายประเทศเริ่มชะลอตัว และบรรดานักวิเคราะห์เริ่มมองไปที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหม่ หากสงครามการค้ายังดำเนินต่อไป
หั่นดอกเบี้ยรับสงครามการค้า
การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือที่ 1.75% ต่อปี เพราะ กนง. มองว่าเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มเติบโตลดลงจากผลกระทบของนโยบายภาษีสหรัฐฯ ที่ก่อให้เกิดสงครามการค้าครั้งใหม่ ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ปรับลดลงต่ำกว่าที่เคยประเมินโดยเฉพาะชาวจีนที่เคยเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของไทย
กนง.มองว่าการปรับดอกเบี้ยครั้งนี้ เพื่อให้นโยบายการเงินอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ เอื้อให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนสามารถปรับตัวต่อสถานการณ์ความไม่แน่นอนและผันผวนของสงครามการค้าโลก แต่ยังไม่ได้มองว่าเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค และส่งสัญญาณด้วยว่าอัตราดอกเบี้ยยังไม่ใช่ขาลง
ทั้งนี้ กนง.จะติดตามสถานการณ์สงครามการค้า และผลการเจราต่อรองภาษีกับสหรัฐฯ ต่อไป โดยได้ประเมินสถานการณ์ไว้ 2 รูปแบบ คือ กรณีการเจรจายือเยื้อและทุกประเทศรวมถึงไทยโดยภาษีพื้นฐาน 10% คาดเศรษฐกิจไทยจะเติบโตเหลือ 2.0% ในปี 68 และ 1.8% ในปี 69 ส่วนอีกกรณีไทยโดนสหรัฐฯ เก็บภาษีครึ่งหนึ่งจากที่เคยประกาศไว้ คาดเศรษฐกิจจะเติบโต 1.3% ในปี 68 และ 1.0% ในปี 69
อ่าวข่าว : กนง.ลดดอกเบี้ย รับสงครามการค้า คาดกระทบหนักครึ่งปีหลัง

อัตราดอกเบี้นนโยบายล่าสุด ณ วันที่ 30 เม.ย. 68 อยู่ที่ระดับ 1.75% : ที่มา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
นโยบายการเงินต้องผ่อนคลายอีก
มองไปในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีกอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงครึ่งปีหลังของปี 68 ตามแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงครึ่งปีหลัง โดยจุดจับตาอยู่ที่การประชุมรอบเดือนส.ค. หลังจากการชะลอการปรับขึ้นภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ของสหรัฐฯ จะสิ้นสุดในวันที่ 9 ก.ค. ซึ่งกนง. คงต้องประเมินความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย จากอัตราภาษีศุลกากรที่สหรัฐฯ จะประกาศเรียกเก็บกับสินค้าไทยรวมถึงประเทศคู่ค้าและคู่แข่งอื่นๆ ภายใต้การรักษาเสถียรภาพทางการเงิน
อย่างไรก็ตาม กนง. คงพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยในจังหวะที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดภายใต้ขีดความสามารถของนโยบายการเงินที่มีจำกัด
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ระบุว่า การประชุม กนง. ในครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นวันที่ 25 มิ.ย. 2568 ซึ่งท่าทีของ กนง. ในการประชุมล่าสุด บ่งชี้ถึงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจอย่างชัดเจน โดยกรุงศรี โกลบอลมาร์เก็ตส์ ได้ปรับมุมมองและเชื่อว่ามีโอกาสที่ กนง. จะตัดสินใจลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีกก่อนสิ้นปี 68
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่า นโยบายการเงินจะต้องผ่อนคลายเพิ่มเติมอีก เหตุผล คือ ปัจจุบันภาวะการเงินไทยยังคงตึงตัวเทียบกับในอดีต แม้มีการลดดอกเบี้ยลงหลายครั้งแล้ว สะท้อนได้จากสถานการณ์ในประเทศที่สินเชื่อหดตัว และคุณภาพสินเชื่อที่ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่องแล้ว ดัชนีค่าเงินบาทก็ยังคงแข็งค่ากว่าในอดีตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยภาวะการเงินที่ยังตึงตัวอยู่นี้บ่งชี้ให้เห็นว่า กนง. อาจต้องลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม เพื่อให้ภาวะการเงินเอื้อต่อเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มจะขยายตัวชะลอลงอย่างมาก
สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจต้องปรับลดลงไปต่ำกว่าช่วงสงครามการค้ารอบแรก หรือ Trade War 1.0 (ปี 2561-2562) ที่มีการขึ้นภาษีตอบโต้กันระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทำให้ไทยได้รับผลกระทบทางอ้อมเท่านั้น ซึ่งขณะนั้นนโยบายการเงินมีลักษณะผ่อนคลาย ค่าเฉลี่ยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ที่เพียง 0.3% ซึ่งแตกต่างกับปัจจุบันที่สงครามการค้ารุนแรงขึ้นมาก และไทยได้รับผลกระทบทางตรงที่รุนแรง แต่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยในปัจจุบัน (คิดรวมถึงการปรับลดดอกเบี้ยในครั้งนี้แล้ว) อยู่ที่ 0.7% เมื่อการรับมือกับสงครามการค้ารอบนี้ที่รุนแรงขึ้นมาก จึงอาจต้องอาศัยอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำลงกว่าอดีต
นอกจากนี้นโยบายการเงินอาจต้องเข้ามาสนับสนุนเศรษฐกิจมากขึ้นในระยะข้างหน้า หลัง มูดีส์ (Moody’s) บริษัทจัดอันดับเครดิตเรตติง ปรับลดแนวโน้มเรตติง (Outlook) ของไทย เป็น “เชิงลบ” (Negative) จากเดิมที่มีเสถียรภาพ (Stable) แต่ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงอันดับเรตติงที่ Baa1
มูดีส์ ให้เหตุผลจากเศรษฐกิจและฐานะทางการคลังของไทยมีแนวโน้มแย่ลง โดยไทยจะได้รับผลกระทบจากกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซ้ำเติมปัญหาทางเศรษฐกิจของไทยที่มีอยู่เดิม โดยสภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าและมีความเสี่ยงที่สูงขึ้นนี้จะส่งผลต่อเนื่องให้ฐานะการคลังของไทยแย่ลงเพิ่มเติม
ดังนั้นการปรับลดแนวโน้มเรตติงของ มูดีส์ ในครั้งนี้ อาจจำกัดบทบาทของนโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าจากฐานะการคลังไทยที่อาจจะแย่ลง จึงทำให้นโยบายการเงินต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ SCB EIC จึงคาดการณ์ว่า กนง. จะลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ (ครั้งละ 0.25%) สู่ระดับ 1.25% ภายในสิ้นปี 2568 เพื่อรองรับเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอลงตามความไม่แน่นอนที่ปรับสูงขึ้นมาก จากนโยบายการค้าสหรัฐฯ ความตึงตัวของภาวะการเงินที่มีอยู่เดิม
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC), กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน), ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง