สถานการณ์น้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มที่จังหวัดเชียงรายที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า “ภัยพิบัติ” บั่นทอนการเจริญเติบโตของคนเชียงรายอย่างชัดเจน เพราะจากที่กำลังจะมั่งคั่งจากกระแสการท่องเที่ยวหน้าหนาวที่ใกล้เข้ามา แต่กลับต้องดิ่งลงสู่ความยากจนก่อน
และนี่ไม่ใช่ภัยพิบัติเดียวที่คนเชียงรายต้องเจอเท่านั้น ปัญหาหมอกควันฝุ่นพิษ PM 2.5 ไฟไหม้ป่า หรือแผ่นดินไหว ก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นและพบเห็นความสูญเสียในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
เมื่อภัยพิบัติเป็นสิ่งที่บั่นทอน แล้วเรื่องนี้ควรจะจัดการอย่างไร ? ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านดินโคลนถล่ม “รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์” จากศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ทำการศึกษาพื้นที่เชียงรายมากกว่า 20 ปี ให้ข้อเสนอกับ Policy Watch ที่น่าสนใจดังนี้
2 เรื่องใหญ่ที่คนเชียงรายต้องการ
จากการเข้าร่วมเวที “Policy Forum ครั้งที่ 21 : ฟื้นเมืองหลังภัยพิบัติ” และการประชุม “ข้อเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบายฟื้นฟูจังหวัดเชียงรายหลังภัยพิบัติเพื่อสร้างความยั่งยืน” รศ.สุทธิศักดิ์ เห็นว่า คนเชียงรายต้องการ 2 คำ คือ “ร่ำรวย” และ “ปลอดภัย”
10 ปีเชียงราย ตกอยู่ในวังวนภัยพิบัติ
ถ้าย้อนดูข้อมูลในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เชียงรายที่เป็นทั้งเมืองท่องเที่ยว และเขตเศรษฐกิจชายแดน ต้องเผชิญกับวังวนภัยพิบัติใหญ่อยู่ตลอดเวลา ทั้งแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปี 2557 ที่ส่งผลให้อาคารกว่าหมื่นหลังเสียหาย และยังเสี่ยงเกิดแผ่นดินไหวได้อีก หรือปัญหาหมอกควัน ไฟป่า ที่เวียนมาทุกปี ทำค่าฝุ่นพุ่งสูงขั้นวิกฤตกระทบสุขภาพ
ซ้ำร้ายในช่วงฤดูการท่องเที่ยวในหน้าหนาวที่กำลังมาถึง ในตัวเมืองเชียงราย อำเภอแม่สาย และอีกหลายพื้นที่กลับเจอน้ำท่วมหนักอีก แม้แต่ในพื้นที่สูง บนดอย ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ หลายจุดยังเสี่ยงเกิดดินถล่ม
ภัยพิบัติใหญ่ที่เกิดขึ้นกับเชียงราย ไม่เหมือนกับที่เชียงใหม่หรืออุบลราชธานี เพราะต้องเผชิญกับภัยหลากหลายรูปแบบที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการพัฒนาคนที่มากกว่า
อย่างไรก็ตาม “น้ำท่วมเชียงราย” ที่ผ่านมา นักวิชาการหลายคนให้ความเห็นว่าเป็นน้ำท่วมในรอบการเกิด 100 ปี ในอดีตเมืองไม่ได้ใหญ่และที่อยู่อาศัยมีลักษณะต้านทานน้ำได้มากกว่านี้ ปัจจุบันเมืองโตขึ้นและบริบทการต้านทานภัยพิบัติไม่มี นี่จึงเป็นเหตุผลที่คนเชียงรายต้องมองเรื่องนี้เป็นวาระของจังหวัด รีบตื่นตัวและเร่งส่งเสียงความต้องการไปให้ถึงรัฐบาล
3 ข้อเสนอจัดการภัยพิบัติ
การจัดการภัยพิบัติมีอยู่ 3 รูปแบบ ได้แก่ การใช้โครงสร้างทางวิศวกรรม, การไม่ใช้โครงสร้างทางวิศวกรรม เช่น กฎหมาย หรือกระบวนการบริหารจัดการของชุมชน และการปรับตัวให้เข้ากับบริบทภัยพิบัติ
- การใช้โครงสร้างทางวิศวกรรม
โครงสร้างพื้นฐานในการจัดการภัยพิบัติของเชียงราย วันนี้เห็นชัดแล้วว่ามีไม่พอ แต่จะให้คนเชียงรายสรุปออกมาเป็นข้อเสนอเชิงวิศวกรรมว่าจะต้องทำอะไรบ้าง คงไม่ได้เพราะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ แต่จะต้องทำหน้าที่ฝากโจทย์ใหญ่ให้ไปถึงรัฐบาล ว่าจะทำอย่างไรให้มีโครงสร้างทางวิศวกรรมที่สามารถรองรับน้ำท่วมในรอบการเกิด 100 ปีให้ได้ ซึ่ง “รัฐ” จะต้องทำหน้าที่ต่อจากนี้ในการศึกษาทั้งเชิงวิศวกรรม เชิงเทคนิค ผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และสุดท้ายต้องถามชาวเชียงรายว่า ถ้าทำแบบนี้จะโอเคหรือไม่ อาจจะเกิดผลกระทบแบบนี้ แต่สิ่งนี้ช่วยเราได้
โดย กรมโยธาธิการและผังเมือง อาจทำหน้าที่ปรับผังเมือง เพื่อเป็นข้อมูลให้รู้ว่าพื้นที่ไหนควรอยู่ ไม่ควรอยู่ และพื้นที่ไหนมีความหนาแน่นมากในการอยู่น้อยหรือมากขนาดไหน แม้เรื่องนี้จะทำได้แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคนส่วนใหญ่จะอยู่ในบริเวณที่มีภัยพิบัติไปแล้ว นอกจากนี้กลไกการทำเขื่อน ป้องกันตลิ่งและน้ำท่วมที่มีอยู่ในมือ ยังนำมาเป็นข้อเสนอทำคันกั้นน้ำ ทำคลองผันน้ำอ้อมเมือง
กรมเจ้าท่า อาจทำหน้าที่ขุดลอกลำน้ำกก แต่กรมฯ จะต้องคำนึงถึงผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม การทำลายความหลากหลายทางชีวภาพและตลิ่งรอบข้างด้วย เพราะการขุดลอกคือการนำดินออกจากท้องน้ำ
กรมชลประทาน อาจทำคลองผันน้ำอ้อมเมือง ยกตัวอย่างเหมือนการสร้างคลองอู่ตะเภา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หรือคลองลัดโพธิ์ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ
- การไม่ใช้โครงสร้างทางวิศวกรรม
การเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็น 2 ครั้งที่ผ่านมา หลายคนพูดถึง “ระบบการเตือนภัย” ที่ต้องทันท่วงทีและแม่นยำ แต่ในปัจจุบันระบบที่เรามีอาจยังไม่ค่อยพร้อม
โครงสร้างการเตือนภัย ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างเชิงฮาร์ดแวร์ เช่น โทรมาตร, ระบบตรวจวัดน้ำฝน, ระบบตรวจวัดน้ำท่า สิ่งเหล่านี้ต้องมีก่อนภัยมา และโครสร้างเชิงซอฟต์แวร์ คือ “คน” เมื่อมีข้อมูลการเตือนภัยแล้ว จะมีกระบวนการเตือนคนอื่น ๆ อย่างไร จะซ้อมอพยพ เพื่อทำให้ตัวเองปลอดภัยอย่างไร นี่เป็นสิ่งที่ต้องคิดต่อ
ภัยพิบัติไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่น่าห่วงที่ “แม่สาย” จากการสำรวจถ้ำผาจม พบเลเยอร์ของกินโคลนเป็นชั้น ๆ ตามอายุ สะท้อนให้เห็นว่าดินโคลนที่ไหลมาครั้งนี้ ไม่ใช่ปีแรก เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว และจะเกิดขึ้นอีก
แม้เราจะวางโครงสร้างทางวิศวกรรมเอาไว้ป้องกัน แต่ก็ยังมีข้อจำกัด จึงอยากเสนอให้ “มีพื้นที่เศรษฐกิจสำรอง” นอกจากพื้นที่ปัจจุบัน ซึ่งไม่จำเป็นว่าพื้นที่นั้นจะต้องไม่เคยโดนน้ำท่วมมาก่อน แต่สำคัญอยู่ที่ต้องเตรียมพร้อมการจัดการโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับน้ำท่วมได้ โดยอาจใช้โอกาสที่รัฐบาลมีโครงการทำตลิ่งป้องกันน้ำท่วมแม่สาย ซึ่งเวนคืนพื้นที่หลายครัวเรือน นำคนที่กำลังย้ายออก ย้ายไปพื้นที่ใหม่
อีกจุดขายสำคัญของเชียงรายคือ “ดอย” ซึ่งมีพี่น้องจำนวนมากที่ไม่รู้ว่าตัวเองอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง พื้นที่ล่อแหลม หรือบางคนรู้แล้ว บ้านแตกร้าว มีรอยแยก แต่ติดข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ป่า เรื่องความมั่นคงของรัฐบาล ทำให้ไร้ทางเลือก ย้ายออกก็ไม่ได้ ดังนั้นเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องหา “กระบวนการทางกฎหมายเพื่อขยับคนที่อยู่ในพื้นที่ล่อแหลมให้ย้ายไปในพื้นที่ปลอดภัย”
- การปรับตัวให้เข้ากับบริบทภัยพิบัติ
ข้อสุดท้ายคือ “ต้องปรับตัว” เรื่องนี้คนเชียงรายที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงจะช่วยให้ง่ายขึ้นและจะเป็นพลังที่ใหญ่มาก ๆ ซึ่งต้องอาศัย “ประสบการณ์” และ “การยอมรับ” เช่น ยอมรับการการย้ายไปในพื้นที่ใหม่ที่ปลอดภัย อาจต้องแลกมาด้วยพื้นที่อาศัยที่แคบและเล็กกว่าเดิม การต้องซ้อมอพยพบ่อย ๆ ที่ต้องซักซ้อมกันเองโดยไม่ต้องรอพึ่งงบประมาณของรัฐ เพื่อลดความสูญเสียจากภัยพิบัติในทุกมิติ รวมถึงจะต้องคำนึงถึงการ“ซื้อประกันภัยล่วงหน้า” เพื่อกระจายความเสี่ยงไปให้ทางประกันภัยด้วย
ทั้งนี้การดำเนินการจะต้องเชื่อมโยงให้หน่วยงานรัฐ เอกชน และขบวนการชุมชนเข้ามาร่วมกันทำ เพราะชุมชนจะขับเคลื่อนกลไกรัฐด้วยความต้องการที่ชัดและถูกจุด และหากการจัดการภัยพิบัติเป็นวาระร่วมกันของคนเชียงราย ส่งต่อไปให้ท้องถิ่นซึ่งเป็นกลไกหลัก โดยพื้นที่ท้องถิ่นที่แข็งแรงจะช่วยหนุนเสริมพื้นที่ที่มีความพร้อมน้อยกว่าก็จะช่วยกันสร้างกระบวนการโดยรวมให้เกิดเป็นรูปธรรมได้ และเมื่อไรที่เชียงรายสามารถจัดการภัยได้ ความร่ำรวยและความเจริญรุ่งเรืองจะตามมาในท้ายที่สุด