โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ โครงการแลนด์บริดจ์ (Land Bridge) เริ่มกลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง เมื่อการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 6 พ.ค. 68 รับทราบรางานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่ง ระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) สภาผู้แทนราษฎร
ในช่วงที่ผ่าน ความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทยกับภูมิใจไทยในหลายประเด็น จนมีการคาดการณ์กันว่าโครงการที่เสนอโดยแต่ละพรรคอาจจะสะดุดลง อย่างกรณี พรรคภูมิใจไทยคัดค้านเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งทำให้คาดการณ์กันว่า โครงการแลนด์บริดจ์ ที่พรรคภูมิใจไทยผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อนอาจจะชะลอออกไปเช่นกัน
ทั้งนี้ โครงการแลนด์บริดจ์ฯ ครม. มีมติ ตั้งแต่ 24 ก.ย. 67 เห็นชอบแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับญัตติของสภาผู้แทนราษฎร โดยระบุว่า “เมื่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้รับผลการพิจารณาจากหน่วยงานหลักที่ได้รับมอบหมายแล้ว ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีนำญัตติดังกล่าว พร้อมผลการพิจารณาของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ”
“หากไม่มีข้อทักท้วงหรือไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่น ให้ถือเป็นมติคณะรัฐมนตรีตามที่เสนอ”
การประชุมครม. เมื่อ 6 พ.ค.68 กระทรวงคมนาคม จึงเสนอ “ผลการพิจารณาศึกษาญัตติ” และแจ้งให้สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป โดยได้พิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว สรุปได้ดังนี้
1. ด้านการศึกษา เช่น ได้มีการศึกษาความเป็นได้ของปริมาณตู้สินค้าที่จะผ่านโครงการดังกล่าว สำรวจออกแบบ และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการก่อสร้างทางรถไฟ ช่วงชุมพร – ท่าเรือน้ำลึกระนอง ซึ่งมีการรวบรวมข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ เพื่อคาดการณ์ปริมาณสินค้า โดยจัดทำแบบจำลองเพื่อวิเคราะห์ทั้งกรณีไม่มีโครงการและมีโครงการ พบว่า ในปี พ.ศ. 2573 จะมีปริมาณสินค้าส่งผ่านเส้นทางรถไฟทางคู่สายนี้ 1.34 แสน TEU/ปี และเพิ่มเป็น 2.62 ล้าน TEU/ปี ในปี พ.ศ. 2602 (TEU เป็นหน่วยคอนเทนเนอร์ที่มีหน่วยเทียบเท่า 20 ฟุต)
2. ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม และเวนคืนที่ดิน สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรอยู่ระหว่างคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง กรมทางหลวงอยู่ระหว่างดำเนินการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายชุมพร – ระนอง และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2568 เพื่อศึกษารายละเอียดของทางรถไฟ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างท่าเรือฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะได้มีการบูรณาการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของทั้ง 3 หน่วยงานต่อไป
3. ด้านการขับเคลื่อนโครงการ เช่น ได้มีการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดในการก่อสร้างรถไฟทางคู่เส้นทางจังหวัดสุราษฎร์ธานีถึงจังหวัดสงขลาคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย มีมติเห็นชอบในการขออนุมัติโครงการ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567 และการขยายเส้นทางไปถึงด่านปาดังเบซาร์ คณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยมีมติเห็นชอบในการขออนุมัติโครงการ เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2567 ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างเตรียมเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณาเสนอ ครม. ต่อไป
4. ด้านความมั่นคง ได้มีการหารือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องโดยมีการประเมินความเสี่ยง ผลกระทบ และเตรียมความพร้อมในมิติความมั่นคงและการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ประกอบด้วยประเด็นทางกฎหมาย ความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาชญากรรมข้ามชาติ ภูมิรัฐศาสตร์และการเมืองระหว่างประเทศ และการส่งเสริมขีดความสามารถด้านสมุทราภิบาล
5. ด้านกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า การนำพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 มาเป็นต้นแบบในการยกร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. …. เพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ เนื่องจากมีบริบทที่แตกต่างกัน จึงควรนำปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ มาประกอบการพิจารณาด้วย
6. ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อเผยแพร่ข้อมูลของโครงการดังกล่าวให้เกิดการรับรู้และเกิดความเข้าใจที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย
7. ด้านเศรษฐกิจ ได้มีการคาดการณ์ถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจของการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์จะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ และจะเป็นส่วนช่วยให้ GDP ของประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น
8. ด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการเวนคืน และอื่น ๆ ได้ดำเนินการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์สำหรับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ SEA เสร็จแล้วเมื่อปี 2559 และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นว่าหากมีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใด ๆ ในพื้นที่นำเสนอที่เป็นมรดกโลกและพื้นที่กันชน จะต้องจัดทำมาตรการบรรเทาผลกระทบที่ชัดเจน อย่างไรก็ดี หากมีการศึกษาแล้วว่าโครงการมีความคุ้มค่าและเหมาะสมต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งมีแผนที่จะฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กลับคืนมาเหมือนเดิม ขอให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบ กฎหมาย ตลอดจนนโยบายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
ร่างพ.ร.บ. SEC คาดเสนอ ครม. ภายใน พ.ค.
สำหรับโครงการแลนบริดจ์ จะเกิดขึ้นได้ต้องมีกฎหมายรองรับควบคู่ ซึ่งก็คือ ร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) หรือ ร่าง พ.ร.บ. SEC โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม เพิ่งปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบกลางทางกฎหมาย (https://law.go.th/) เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างสรุปผล ซึ่งตามกระบวนการ สนข.จะต้องมีการเสนอเข้าที่ประชุม ครม. เพื่อพิจารณาเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ. SEC จากนั้นจะถูกส่งไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาให้ความเห็น และส่งกลับมาที่ ครม. เพื่อพิจารณาเห็นชอบอีกครั้ง หากไม่มีการปรับปรุงใด ๆ ก็จะถูกเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
คาดว่ากระทรวงคมนาคมคาดการณ์จะสามารถเสนอร่าง พ.ร.บ. SEC ไปยัง ครม. ได้ภายในเดือน พ.ค. นี้ จากนั้นจะบรรจุเข้าวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่จะเริ่มเปิดประชุมวันที่ 3 ก.ค. โดยคาดว่ากระบวนการพิจารณาทั้งหมดจะเสร็จสิ้นตามเป้าหมาย
อ่านเนื้อหาเพิ่มเติม