สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดรับฟังความเห็น ร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้) จากประชาชน ผู้ประกอบกิจการ และหน่วยงานของรัฐ ตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. – 20 เม.ย. 2568
กฎหมายหลายฉบับไม่เอื้อแลนด์บริดจ์
ร่างพระราชบัญญัติฯ ระบุถึงสภาพปัญหาว่า โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) ประกอบด้วยท่าเรือฝั่งอันดามัน ท่าเรือฝั่งอ่าวไทย เส้นทางมอเตอร์เวย์ ทางรถไฟ ซึ่งการพัฒนาเชิงพาณิชย์และการพัฒนาอุตสาหกรรมถือเป็นโครงการที่รัฐมุ่งให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้
แต่ในการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการดังกล่าว กฎหมายหลายฉบับยังเป็นข้อจำกัดในการดำเนินโครงการ หากไม่มีกฎหมายเฉพาะเพื่อขับเคลื่อนนโยบายและผลักดันการพัฒนา ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้อาจล่าช้าไม่ประสบผลสัมฤทธิ์ตามแนวนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งข้อจำกัดด้านกฎหมายที่อาจก่อให้เกิดอุปสรรคในการดำเนินโครงการ เช่น การขาดหน่วยงานที่รับผิดชอบในการขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาพื้นที่ในระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ มาตรการสนับสนุนและการให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนที่ไม่ชัดเจน เป็นต้น
ความจำเป็นของ พ.ร.บ.SEC
สำหรับความจำเป็นในการตรา พ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้นี้ คือ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) นั้น เป็นพื้นที่ที่ประกอบด้วยจังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช รวมถึงพื้นที่อื่นในภาคใต้ที่อาจกำหนดเพิ่มเติมจัดตั้งขึ้น เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางของภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศและภูมิภาคฝั่งอันดามัน รวมทั้งมุ่งเน้นการประกอบกิจการที่เป็นมิตรต่อ สิ่งแวดล้อมรวมทั้ง พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัย การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้จะกำหนดถึงอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ โดยมุ่งเน้นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมแปรรูป พืชเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศและสุขภาพ รวมถึงการมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งและโลจิสติกส์ในภูมิภาค
ในการดำเนินการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้อย่างต่อเนื่อง เป็นระบบ และสอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน จำเป็นจะต้องมีกฎหมายที่เอื้อต่อการพัฒนา แต่ด้วยในปัจจุบัน กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่นั้นยังไม่เอื้อต่อการพัฒนาพื้นที่ตามแนวทางดังกล่าวที่จะกำหนดถึงนโยบายและแนวทางการดำเนินการในพื้นที่เป็นการเฉพาะ
รวมทั้งกฎหมายบางฉบับที่บังคับใช้ยังมีข้อจำกัดในการวางแผนพัฒนาและบริหารพื้นที่แบบองค์รวม การพัฒนาด้านต่าง ๆ จึงเป็นไปอย่างแยกส่วนและกระจัดกระจาย ทำให้เกิดการขาดการบูรณาการ ขาดความต่อเนื่อง ส่งผลให้ไม่สามารถพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ได้อย่างเต็มศักยภาพ
ดังนั้น จึงเห็นสมควรกำหนดให้มี พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เพื่อที่จะได้มีหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ รวมทั้งวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่อย่างชัดเจนแน่นอน กำหนดกิจกรรมอุตสาหกรรมให้เหมาะสมกับสภาพและศักยภาพของพื้นที่ โดยบูรณาการทั้งในส่วนของการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคให้ต่อเนื่องและเชื่อมโยงกัน เพื่อยกระดับการพัฒนาเมืองให้มีความทันสมัยและเชื่อมโยงกัน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ทั้งรวมถึงการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเป็นการเฉพาะ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้
ร่างกฎหมายประกอบด้วย 8 หมวด และบทเฉพาะกาล
1. การกำหนดความหมาย บทนิยาม (มาตรา 3)
2. การกำหนดให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. …. (มาตรา 4)
3. หมวด 1 บททั่วไป (มาตรา 5 – 8)
- กำหนดให้พื้นที่จังหวัด ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพื้นที่อื่นใดที่อยู่ในภาคใต้ที่กำหนดเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาเป็นระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ให้เป็นศูนย์กลางของภาคใต้ในการเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศและประเทศในภูมิภาคฝั่งอันดามัน และกำหนดวัตถุประสงค์ต่างๆ ให้เพื่อให้บรรลุถึงการจัดตั้งระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (มาตรา 5)
- กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ (มาตรา 6)
- กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (มาตรา 7)
- กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้มีอำนาจเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้มีการดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่ง (มาตรา 8)
4. หมวด 2 คณะกรรมการนโยบาย (มาตรา 9 – 12)
- กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นรองประธาน กรรมการประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง 16 กระทรวงหลัก เป็นกรรมการ ผู้แทนหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ผู้แทนภาคเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นกรรมการ เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ รวมทั้งกำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง (มาตรา 9)
- กำหนดหน้าที่และอำนาจคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ในการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ รวมทั้งหน้าที่และอำนาจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (มาตรา 10)
- กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน (มาตรา 11)
5. หมวด 3 สำนักงาน (มาตรา 13 – 27)
- กำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้เป็นหน่วยงานธุรการที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น (มาตรา 13)
- กำหนดหน้าที่และอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (มาตรา 14)
- กำหนดให้มีเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นเลขาธิการ การจ้างและการพ้นจากตำแหน่ง (มาตรา 15 – 18)
- กำหนดหน้าที่และอำนาจเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (มาตรา 19)
6. หมวด 4 การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (มาตรา 28 – 37)
- กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดทำนโยบายและแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ แผนการใช้ประโยชน์ในที่ดินในภาพรวม แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค แผนการดำเนินงาน และแผนการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจรที่สะดวกและรวดเร็ว (มาตรา 28)
- กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดทำรายละเอียดของแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค (มาตรา 29 – 31)
- กำหนดให้คณะรัฐมนตรีสามารถกำหนดให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (มาตรา 32)
- กำหนดเกี่ยวกับการได้มาซึ่งที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ และการใช้ที่ดินสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้มาตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (มาตรา 33 – 35)
- กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้มีอำนาจอนุมัติ อนุญาต ให้สิทธิ หรือสัมปทานในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายสำคัญด้านเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน (มาตรา 36)
- กำหนดเกี่ยวกับการขอให้ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานรัฐมาปฏิบัติงานที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ชั่วคราวหรือโอนย้ายได้ (มาตรา 37)
7. หมวด 5 เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ (มาตรา 38 – 63)
- กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้สามารถกำหนดเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ โดยอย่างน้อยต้องประกอบด้วยเมืองอัจฉริยะ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและดิจิทัล การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และวิถีชุมชน การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ศูนย์กลางอาหารฮาลาล การแปรรูปอาหาร แปรรูปยางพารา และพืชเศรษฐกิจอื่น หุ่นยนต์ ศูนย์กลางทางการเงิน กลุ่มพลังงานสะอาด (Green Energy) นิคมอุตสาหกรรม ศูนย์กลางการขนส่งในภูมิภาค อุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ การแพทย์และสุขภาพครบวงจร โดยคำนึงถึงการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง นวัตกรรม ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในเขตดังกล่าว (มาตรา 38)
- กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้กำหนดให้พื้นที่ใดในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ และหลักเกณฑ์ต่างๆ รวมทั้งสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ (มาตรา 39 – 60)
- กำหนดเกี่ยวกับมาตรการสำหรับกรณีที่ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้กำหนด (มาตรา 61)
8. หมวด 6 กองทุน (มาตรา 62 – 65)
- กำหนดให้จัดตั้งกองทุนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ชุมชน และประชาชนที่อยู่ภายในหรือที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ และกำหนดถึงองค์ประกอบและการจัดการกองทุน (มาตรา 62 – 65)
9 หมวด 7 การกำกับดูแล (มาตรา 66)
- กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่และอำนาจกำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (มาตรา 66)
10. หมวด 8 บทกำหนดโทษ (มาตรา 67)
- กำหนดบทลงโทษในกรณีที่มีการฝ่าฝืนใช้ชื่อ เครื่องหมาย หรือถ้อยคําในประการที่น่าจะทำให้ประชาชน เข้าใจว่าเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษโดยมิได้เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ (มาตรา 67)
11. บทเฉพาะกาล (มาตรา 68 – 71)
- กำหนดให้ในระหว่างที่ยังจัดทำผังเมืองตามมาตรา 39 ไม่แล้วเสร็จ ให้ถือว่าแผนผังที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเป็นผังเมืองรวมตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง (มาตรา 68)
- กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ไปพลางก่อนในวาระเริ่มแรก และดำเนินการจัดให้มีเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (มาตรา 69 – 70)
- กำหนดเกี่ยวกับการโอนโครงการภายใต้การดำเนินโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนใดในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ที่ได้ดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (มาตรา 71)
การใช้ระบบอนุญาต
ร่างกฎหมายฉบับนี้มีการใช้ระบบอนุญาตในมาตรา 36 ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้มีอำนาจในการพิจารณาอนุมัติ อนุญาต ให้สิทธิ หรือให้สัมปทานแก่บุคคลซึ่งดำเนินการอันเป็นประโยชน์โดยตรงต่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ตามกฎหมาย อันได้แก่ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 ม.ค. 2515 (เว้นแต่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่และอำนาจของกระทรวงการคลัง) กฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย กฎหมายว่าด้วยการชลประทานหลวง กฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการพลังงาน กฎหมายว่าด้วยทางหลวงสัมปทาน กฎหมายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ และกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมทั้งมาตรา 42
ซึ่งกำหนดให้เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ มีอำนาจอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต หรือให้ความเห็นชอบ หรือเป็นผู้มีอำนาจในการรับจดทะเบียนหรือรับแจ้งตามกฎหมาย อันได้แก่ กฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องจักร กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง (เฉพาะเพื่อการอนุญาตให้คนต่างด้าวตามมาตรา 54 (1) หรือ (2) อยู่ต่อในราชอาณาจักร) กฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยโรงงาน กฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน ซึ่งเป็นระบบที่จะทำให้ผู้ประกอบการ นักลงทุนที่ลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจะได้รับการอำนวยความสะดวกในเรื่องของการอนุมัติ อนุญาต ความเห็นชอบ รวมถึงการจดทะเบียนตามกฎหมายข้างต้น
นอกจากนี้ มาตรา 59 ยังได้กำหนดว่าเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินการ ให้คณะกรรมการนโยบายมีอำนาจพิจารณาให้สิทธิ สัมปทานโดยพิจารณาความจำเป็น มูลค่าโครงการเพื่อกำหนดให้นิติบุคคลต่างด้าวที่ถือหุ้นมากกว่าร้อยละ 49 สามารถเป็นผู้มีสิทธิเข้าร่วมลงทุนหรือประกอบกิจการได้ โดยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว ให้เลขาธิการผู้เป็นผู้มีอำนาจอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาตหรือให้ความเห็นชอบหรือเป็นผู้มีอำนาจรับจดทะเบียนหรือรับแจ้งตามกฎหมายนั้น
การใช้ระบบคณะกรรมการ
สำหรับการใช้ระบบคณะกรรมการในกฎหมายนี้ เป็นไปเพื่อการสร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพในการกำกับดูแล ประสานงาน และพิจารณากำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ รวมทั้งร่าง
กฎหมายฉบับนี้มีหลักการเป็นการกำหนดนโยบายสำคัญในระดับชาติ และเป็นเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบโดยตรงของนายกรัฐมนตรี จึงจำเป็นต้องกำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรีเป็นรองประธาน รวมถึงกำหนดให้มีรัฐมนตรีและผู้แทนหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ผู้แทนภาคเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นกรรมการ
การกำหนดโทษอาญา
ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดถึงบทบัญญัติที่กำหนดโทษทางอาญาไว้ตามมาตรา 67 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 45 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท เป็นการกำหนดโทษทางอาญาไว้สำหรับผู้ที่ใช้ชื่อ เครื่องหมาย หรือถ้อยคําในประการที่น่าจะทำให้ประชาชน เข้าใจว่าเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษโดยมิได้เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษนั้นจะเป็นพื้นที่ที่มีมาตรการสำหรับการส่งเสริมการลงทุนและการให้สิทธิประโยชน์โดยเฉพาะ หากมีผู้ใช้ชื่อ เครื่องหมาย หรือถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดย่อมอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณชนได้
การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐออกคำสั่งทางปกครอง
ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดถึงการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐในการออกคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 61 ซึ่งกำหนดให้ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด ให้คณะกรรมการนโยบายมีอำนาจสั่งเพิกถอนสิทธิและประโยชน์ที่ได้ให้แก่ผู้ประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริม สิทธิประโยชน์ ทั้งหมดหรือบางส่วน โดยจะกำหนดระยะเวลาไว้ด้วยหรือไม่ก็ได้ หรือหากการที่ผู้ประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริม ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข หากคณะกรรมการนโยบายพิจารณาแล้วเห็นว่าการดังกล่าวนั้นมิได้เกิดจากการจงใจ คณะกรรมการนโยบายจะสั่งให้สำนักงานออกหนังสือเตือนให้ผู้ประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมนั้น ดำเนินการแก้ไข หรือปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขภายในเวลาที่กำหนดไว้ก็ได้ ซึ่งเป็นการกำหนดเพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการละเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขได้
ดูฉบับเต็ม : ร่างพระราชบัญญัติระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. ….
ที่มา : ระบบกลางทางกฎหมาย (www.law.go.th)
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง