ขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยือนต่างประเทศ มักจะเชิญชวนนักลงทุนมาลงทุนในโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือ แลนด์บริดจ์ (Land Bridge) โดยมุ่งไปที่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ แต่ผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอาจมีมากกว่าที่คาดการณ์ไว้
เพราะขณะนี้ประเทศไทยได้เสนอให้พื้นที่บริเวณฝั่งทะเลอันดามันเป็น “พื้นที่มรดกโลก แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน” โดยมีพื้นที่นำเสนอทั้งหมด 724,718 ไร่ และเป็นพื้นที่กันชน 1,092,781 ไร่ รวมทั้งหมด 1,817,500 ไร่ โดยมีพื้นที่ดังนี้
- อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง จ.ระนอง
- อุทยานแห่งชาติแหลมสน จ.ระนอง
- อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา
- อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา
- อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จ.พังงา
- อุทยานแห่งชาติสิรินาถ (บางส่วน) จ.ภูเก็ต
- พื้นที่สงวนชีวมณฑล จ.ระนอง
ความโดดเด่นของแหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน ในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน ดังนี้
หมู่เกาะทะเลลึก (สุรินทร์และสิมิลัน) เปรียบเทียบได้กับเกรตแบริเออร์รีฟ เครือรัฐออสเตรเลีย มีเกณฑ์ในการพิจารณาคุณค่า คือ ความหลากหลายและความสวยงามของแนวปะการังน้ำตื้นและแนวปะการังน้ำลึก เป็นหมู่เกาะที่มีขนาดใหญ่ไม่มาก แต่รวมความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในทะเลสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และเป็นแหล่งดำน้ำที่มีความสวยงามระดับโลก
ป่าชายแลนและกลุ่มเกาะชายฝั่งจังหวัดระนอง เปรียบเทียบได้กับอุทยานแห่งชาติดาเรนและคอยบา สาธารณรัฐปานามา โดยมีเกณฑ์พิจารณาคุณค่าคือ เขตการเปลี่ยนแปลงทางชีวภูมิศาสตร์ โดยเป็นขอบเขตการกระจายพันธุ์ทางบก โดยมีสิ่งชีวิตเขตอินโด-ซุนดาอิก และ พืชและสัตว์ในเขตศูนย์สูตรและเขตมรสุม
ชายหาดและป่าสันทรายชายฝั่ง (หาดท้ายเหมือง) ซึ่งไม่พบในพื้นที่มรดกโลกอื่น ๆ โดยเป็นสันทรายและป่านสันทรายตัวอย่างที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของหาดและป่าสันทรายในสมัยปัจจุบัน (ไฮโลซีน) ที่ยังคงความสมบูรณ์และมีลักษณะดั้งเดิม ที่มีสังคมพืชที่โดดเด่น แตกต่างจากที่อื่นและมีความหลากหลายของกล้วยไม้สูงมาก
นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยหลบภัยและผสมพันธุ์ของสัตว์ทะเล แหล่งวางไขของเตามะเฟือง (Dermorchelys coriacea) ที่เหลืออยู่หาดสุดท้ายบนฝั่งแผ่นดินของมหาสมุทรอินเดีย
ป่าชายเลนจังหวัดระนอง
1. พื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง เป็นพื้นที่ป่าชายเลนที่ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และระบบนิเวศ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน และเพื่อการศึกษาวิจัยและฝึกอบรมต่าง ๆ เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พื้นที่สงวนชีวมณฑลพบพันธุ์ไม้ที่จัดอยู่ในสภาพที่ต้องเฝ้าระวังหรือมีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ตามบัญชีเพื่อการอนุรักษ์ของ IUCN Red List (ข้อมูล ณ เดือนเมษายน 2563) จำนวน 6 ชนิด ได้แก่ พังกา-ถั่วขาว (Bruguierahainesii) หงอนไก่ใบเล็ก (Heritiera fomes) น้ำนอง (Brownlowia tersa) เป้ง(Phoenix paludosa) ลำแพน (Sonneratia ovata) และโปรงขาว (Ceriops decandra) สัตว์ที่พบจำนวนมาก ได้แก่ ลิงแสม กระรอก ตะกวด งูชนิดต่าง ๆ นกกินปลา นกกาน้ำ เหยี่ยวแดง
2. พื้นที่ป่าชายเลนกะเปอร์นอกเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นป่าชายเลนภายใต้การบริหารจัดการของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีการบริหารจัดการในรูปแบบของการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนภายใต้กติกาของชุมชน มีพื้นที่ศึกษาธรรมชาติและวิถีชุมชน โดยมีศูนย์การเรียนรู้วิถีประมงพื้นบ้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเล ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 1 ตำบลนาคา อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง
เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ – บริเวณศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีทรัพยากรป่าชายเลนที่ 3 (ระนอง) เป็นเส้นทางที่มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม ทรัพยากรมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับเข้าไปศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลน และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
เส้นทางล่องเรือ – นั่งเรือชมความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนในพื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง และชมวิถีชีวิตชุมชนประมงโดยใช้เวลาไปกลับประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง ชมป่าโกงกางอายุมากกว่า 200 ปี ชมวิถีชีวิตของชาวท้องถิ่นชุมชนมอแกน และชุมชนบ้านเกาะเหลา และชุมชนบ้านเกาะหาดทรายดำ
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง
พื้นที่นำเสนอมรดกโลกทางธรรมชาติ 27,200 เฮกตาร์ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าชายเลน ป่าดิบชื้น เกาะ หาดทราย ปะการัง และทะเล ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์หลากหลายชนิด เช่น ลิ่นชวา ชะนีมือขาว ค่างดำ นางอายหรือลิงลม เสือปลา หมีขอหรือ บินตุรง ค้างคาวมงกุฎเลียน เป็นต้น
พันธุ์ไม้ที่พบ เช่น แสมขาว แสมทะเล แสมด า พังกาหัวสุม ดอกขาว ตาตุ่มทะเล หลุมพอทะเล ฝาดดอกแดง ฝาดดอก ขาว โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ เป็นต้น
อุทยานแห่งชาติแหลมสน
เนื้อที่ 31,500 เฮกตาร์ พื้นที่ชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 60 กิโลเมตร มีความลึกเข้าไปในแผ่นดินประมาณ 2 กิโลเมตรบางบริเวณมีขอบเขตเพียงถึงแค่แนวระดับน้ำขึ้นสูงสุด โดยพื้นที่มากกว่าร้อยละ 80 จะเป็นพื้นน้ำทะเล
ระบบนิเวศชายฝั่งทะเลหลากหลาย ชะวากทะเล ป่าชายเลน ป่าชายหาด ที่ราบน้ำท่วมถึง แหล่งหญ้าทะเล และแนวปะการัง รวมทั้งพบการวางไข่ของ เต่าหญ้า (Lepidochelys olivacea) และเต่ามะเฟือง (Dermochelys coriacea)
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์
มีพื้นที่ 14,125 เฮกตาร์ เป็นหมู่เกาะกลางทะเล โครงสร้างทางธรณีเป็นหินแกรนิต พบแนวปะการังขนาดใหญ่ก่อตัวต่อเนื่องกันเป็นแนวปะการังริมฝั่ง(Fringing reef) และหลุมปะการัง (Blue hole) อ่าวแม่ยายและอ่าวช่องขาด
นอกจากนี้เป็นแหล่งดำน้ำสวยงามและมีชื่อเสียง เป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล บริเวณเกาะรี และเกาะไข่ (เกาะตอรินลา) และพบค้างค้าวหน้ายักษ์ขนาดเล็ก (Hipposideros sp.) เป็นค้างคาวชนิดใหม่ของโลก
สังคมพืชเป็นป่าดิบชื้น ป่าชายหาด และป่าชายเลน พบนกชนิดสำคัญ เช่น นกเปล้าใหญ่ นกขมิ้นน้อยสีเขียว นกมุ่นรกสีน้ำตาล นกกระแตผีชายหาด นกชาปีไหน นกจับแมลงอกสีส้ม และนกเงือกกรามช้าง เป็นต้น
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน
เนื้อที่ 14,000 เฮกตาร์ เป็นหมู่เกาะกลางทะเลที่มีเขาหินแกรนิตสูงชันหาดทราย โขดหินลักษณะรูปร่างต่าง ๆ พบปะการังหลากหลายและสมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทย
แหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลหายาก เช่น กระเบนราหู (Manta birostris) วาฬหัวทุย (Physeter macrocephalus) วาฬเพชรฆาต (Orcinus
orca) เป็นต้น นอกจากนี้ เป็นแหล่งวางไข่ของเต่าตนุ (Chelonia mydas)
พบพันธุ์ไม้หายาก ได้แก่ งวงช้างทะเล (Argusia argentia (L. f.) Heine) และหมันทะเล (Cordia subcordata Lam.) และพบสัตว์ที่เป็นเอกลักษณ์ของสังคมสัตว์บนเกาะกลางทะเล คือ ค้างคาวแม่ไก่เกาะ (Pteropus hypomelanus) และหนูเกาะ (Rattus andamanensis)
อุทยานแห่งชาติเขาลำปี – หาดท้ายเหมือง
เนื้อที่ 7,200 เฮกตาร์ ประกอบด้วย พื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลหาดท้ายเหมือง และบริเวณเทือกเขาลำปี เป็นแหล่งวางไข่ของเต่ามะเฟือง (Dermochelys coriacea) เต่ากระ (Eretmochelys imbricata) เต่าตนุ (Chelonia mydas) และ เต่าหญ้า (Lepidochelys olivacea) โดยเป็นแหล่งวางไข่ของเต่ามะเฟืองที่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวของชายฝั่ง ทางทิศตะวันออกของมหาสมุทรอินเดีย
ป่าสันทรายชายหาดตามธรรมชาติที่เป็นผืนต่อเนื่องที่สมบูรณ์ที่สุดที่เหลืออยู่ในประเทศไทย และอาจเป็นแหล่งสุดท้ายบนภาคพื้นทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อุทยานแห่งชาติสิรินาถ
เนื้อที่ 7,700 เฮกตาร์ พบป่าสนทะเลธรรมชาติ และหาดทรายเป็นแนวยาวต่อเนื่อง นอกจากนี้มีแนวปะการังริมฝั่ง กว้างประมาณ 1.2 กิโลเมตร ขนาดพื้นที่ 101 เฮกตาร์
ในพื้นที่ยังพบปะการังมากกว่า 52 ชนิด และพบหญ้าทะเล เช่น หญ้าคาทะเล (Enhalus acoroides) หญ้าชะเงาเต่า (Thalassia hempricii) เป็นต้น
สิ่งที่ได้จากการเป็นมรดกโลกอันดามัน
พื้นที่มรดกโลกแหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันคงความสวยงามบรรจุไว้ซึ่งถิ่นที่อยู่อาศัยทางธรรมชาติที่มีความสำคัญและนัยสำคัญในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นฐานทรัพยากรประมง และการท่องเที่ยวในระดับโลกของเมืองและชุมชนชายฝั่งอย่างยั่งยืน
พื้นที่มรดกโลกแหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันจะได้รับการบริหารจัดการให้ยังคงสภาพที่มีความสวยงาม บรรจุไว้ซึ่งถิ่นที่อยู่อาศัยทางธรรมชาติที่มีความสำคัญและนัยสำคัญในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ตามเกณฑ์การนำเสนอมรดกโลก เป็นศูนย์กลางการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต เพื่อรักษาฐานทรัพยากรเพื่อการประมงและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในระดับโลก
หากได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจะทำให้อำเภอเมืองภูเก็ต ตัวเมืองเขาหลัก และอำเภอเมืองระนอง เป็นจุดหมายการท่องเที่ยวชั้นนำของโลกกระจายประโยชน์สู่ฐานเศรษฐกิจระดับชุมชนชายฝั่งทะเลโดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอกะเปอร์สุขสำราญ คุระบุรี ตะกั่วป่า ท้ายเหมือง ตะกั่วทุ่ง และถลาง
คาดการณ์ผลกระทบจากแลนด์บริดจ์
ถมทะเล 7,000 ไร่ จากการสร้างท่าเรือที่มีการถมทะเลประมาณ 7,000 ไร่ รวมถึงเขื่อนกันคลื่น จะส่งผลกระทบต่อการขัดขวางการไหลเวียนน้ำการเดินทางของสัตว์ทะเลที่เข้ามาหากิน และวางไข่ในป่าชายเลน
ในด้านระบบนิเวศ และนิเวศบริการ จะส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศชายฝั่ง และนิเวศบริการ
การฟุ้งกระจายของโลหะหนัก ผลกระทบจากการขุดลอกพื้นทะเลต่อการฟุ้งกระจายของโลหะหนักที่สะสมในชั้นดินตะกอนออกสู่ทะเล
การรั่วไหลของน้ำมัน
โอกาสเกิดการรั่วไหลของน้ำมัน ซึ่งยังคงเกิดขึ้นเป็นประจำในบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง ศรีราชา และมาบตาพุด
เส้นทางขนส่งทางบก ยังไม่มีความชัดเจนถึงเส้นทางที่พาดผ่านพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนองไปยังท่าเรือว่ามีการออกแบบอย่างไร ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่าชายเลนระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร
วิถีชีวิตชุมชน ผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนชายฝั่งที่พึ่งพิงทรัพยากรประมง
ที่มา: ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร รายงานผลการศึกษาเรื่อง “ผลกระทบจากโครงการ Land Bridge ต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง”