โครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง เป็นโครงการที่คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1 ล้านล้านบาท เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างจังหวัดระนองและจังหวัดชุมพร ด้วยการสร้างท่าเรือน้ำลึก 2 แห่ง เชื่อมด้วยเส้นทางถนนและเส้นทางรถไฟ เพื่อให้สินค้าที่ขนส่งมาทางเรือสามารถข้ามฝั่นไปยังทะเลอีกด้านหนึ่งได้
การผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ จำเป็นต้องใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับเขตพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคใต้ พ.ศ. …. (Southern Economic Corridor: SEC) จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ของ 1.สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ พรรคภูมิใจไทย 2.อนุทิน ชาญวีรกูล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ พรรคภูมิใจไทย และ 3.อนุชา บูรพชัยศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ พรรครวมไทยสร้างชาติ
แต่ล่าสุด กระทรวงคมนาคม เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นผู้ดำเนินการยกร่างกฎหมาย โดยขณะนี้ ร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้) อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็น และคาดว่าจะเสร็จภายในเดือนเม.ย.นี้ ก่อนที่จะเสนอต่อรัฐสภา
หลังจากครม.ให้สนข.ดำเนินการร่างกฎหมายดังกล่าว เท่ากับว่าจากนี้ไปร่างกฎหมายระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ SEC เหลือเพียงร่างเดียว แต่กระนั้น หลักการของร่างกฎหมายแทบไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง: ร่างกฎหมายแลนด์บริดจ์ เปิดรับฟังความเห็น 1 เดือน
ผลศึกษาของ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กลุ่ม Beach fot life และเครือข่ายนักฎหมายสิทธิมนุษยชนภาคใต้ ต่อร่าง พ.ร.บ. ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคใต้ มองว่า แลนด์บริดจ์ เป็นโครงการที่ไม่ได้เกิดขึ้นโดยอาศัยกลไกล และอำนาจทางกฎหมายตามปกติ แต่เป็นการผลักดันโครงการโดยมีความจำเป็นต้องออกกฎหมายเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เป็นกลไกไปพร้อมกัน เพื่อให้มีกฎหมายที่กำหนดเขตพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะกลายเป็นเครื่องมือกลไกในการอำนายความสะดวก และสร้างแรงจูงใจในการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ
ขณะที่ พ.ร.บ. ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคใต้ ถือได้ว่าเป็นการตรากฎหมายพิเศษอีกฉบับหนึ่ง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน และผลักดันการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ โดยมุ่งเน้นพื้นที่เป้าหมาย 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช และยังกำหนดให้สามารถขยายพื้นที่ประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ใน 10 จังหวัดภาคใต้ โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายฉบับนี้ นอกจากนี้ยังสามารถประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ภาคใต้อื่น ๆ ได้อีกด้วย
ร่างกฎหมายดังกล่าวยังกำหนดบทบัญญัติให้สิทธิพิเศษแก่ต่างชาติ และกลุ่มนักลงทุน การยกเว้นกฎหมาย การรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจ ปัญหาในการตรวจสอบการใช้อำนาจ และยังรวมไปถึงการให้อำนาจในการจำกัดสิทธิของประชาชนที่อาจขัดต่อหลักการสำคัญที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยรับรองไว้
รวมถึงยังเป็นกฎหมายที่มีลักษณะขัดกับหลักการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอย่างเห็นได้ชัด และอาจเรียกได้ว่าเป็นซูเปอร์ลอว์ (Super Law) ที่สามารถลบล้าง หรือยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายฉบับอื่น ๆ ได้
เมื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคใต้ พ.ศ. …. พบว่า ปัญหาของกฎหมายฉบับนี้ มี 3 ประเด็นใหญ่ คือ
รวบอำนาจเบ็ดเสร็จ-ยกเว้นกฎหมายได้
การรวมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และการสร้างระบบยกเว้นในทางกฎหมาย โดยมีลักษณะการตรากฎหมายที่เป็นการสร้างการรวมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และยกเว้นในทางกฎหมายไว้หลายประกาศ ได้แก่
1. การให้เอกชนร่วมลงมทุนในกิจการของรัฐ ในมาตรา 11 ของร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคใต้ โดยหากเอกชนอยากร่วมลงทุนในกิจการของรัฐในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคใต้ สามารถยกเว้นได้ไม่ต้องใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ซึ่งในความเป็นจริงกฎหมายร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนในปัจจุบันช่วยทำให้การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนเป็นไปได้ง่ายมากขึ้นอยู่แล้ว และเมื่อยกเว้นกฎหมายนี้อีกก็ยิ่งทำให้เกิดความง่ายมากขึ้น และทำให้การตรวจสอบทำได้ยากมากขึ้นด้วย
2. การยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมือง ในมาตรา 31 ของร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคใต้ ถ้าจัดทำแผนผังตามมาตรา 29 แล้วเสร็จ ให้ถือว่าผังเมืองตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองในส่วนที่ใช้บังคับในระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้อยู่ก่อนวันที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแผนผังนั้นเป็นอันยกเลิกไป และให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ดำเนินการจัดทำผังเมืองขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับแผนผังที่จัดทำตามมาตรา 29
แต่ในระหว่างที่ยังจัดทำผังเมืองไม่แล้วเสร็จ ให้ถือว่าผังเมืองที่ ครม. อนุมัติเป็นผังเมืองรวมตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองสำหรับแต่ละจังหวัดที่อยู่ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากผังเมืองรวมจังหวัด หรือผังเมืองรวมที่ออกประกาศใช้บังคับมาก่อนหน้านั้น อาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เข้มข้น เพื่อกำหนดการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ แต่แผนผังตามมาตรา 29 กำหนดให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการนโยบายให้ความรับผิดชอบ ทำให้ประชาชนนั้นแทบไม่มีส่วนร่วมแต่อย่างใด โดยระเบียบเพียงแค่ระบุว่า รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประชาชน และชุมชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาด้วยเท่านั้น
3. การยกเว้นกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา 33 คือ ในกรณีมีความจำเป็นต้องได้ที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์ ให้ใช้วิธีการจัดเช่าซื้อ เช่า เช่าซื้อ แลกเปลี่ยน เวนคืน หรือโดยวิธีการอื่นตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด ซึ่งอาจแตกต่างจากฎหมายที่สำคัญหลายฉบับ เช่น กฎหมายเวนว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ กฎหมายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างสำคัญ
4. การยกเว้นกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามมาตรา 35 คือ หากอยากจะใช้ที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม คณะกรรมการนโยบายโดยความเห็นชอบของ ครม. ให้สำนักงานสามารถเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อการดำเนินการ หรือประกอบกิจการอื่นใด นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม โดยไม่ต้องดำเนินการเพิกถอนเขตปฏิรูปที่ดินสำหรับที่ดินส่วนนั้น
ยังกำหนดให้อำนาจของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เป็นอำนาจของของคณะกรรมการนโยบาย และให้หน้าที่กับอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เป็นหน้าที่และอำนาจของเลขาธิการ หรือผู้ซึ่งเลขาธิการมอบหมาย รวมทั้งสำนักงานจะมอบให้บุคคลอื่นใช้โดยมีค่าตอบแทนได้
ทั้งนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่าประชาชนที่อยู่ในที่ดินดังกล่าวจะทำอย่างไร ซึ่งกฎหมายกำหนดแต่เพียงว่า จัดหาที่ดินอื่น หรือจะจ่ายค่าชดเชย หรือใช้ประโยชน์ตอบแทนอื่น ซึ่งที่ดินเดิมดังกล่าวจัดให้แก่เกษตรกรเพื่อทำอาชีพเกษตรกรรม จึงแสดงให้เห็นว่า กฎหมายฉบับนี้ให้ความสำคัญกับนักลงทุน นักธุรกิจที่ประกอบการอุตสาหกรรม มากกว่าเกษตรกรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม
5. การรวบอำนาจตัดสินใจไว้ที่คณะกรรมการนโยบาย ตามมาตรา 32 ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเขียนไว้กว้างมาก ว่าในกรณีมีความจำเป็นต้องดำเนินการใด เพื่อพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ เพื่อสนับสนุน หรืออำนวยความสะดวกในการพัฒนาให้เกิดการบูรณาการ และวรรคสองระบุไว้ว่า ถ้ามีกฎหมายกำหนดให้ผู้ดำเนินการต้องได้รับการอนุมัติ ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการนโยบาย ซึ่งจะทำให้อำนาจตามกฎหมายเฉพาะทั้งหลายจะมาอยู่ที่คณะกรรมการนโยบายทั้งหมด และคณะกรรมการนโยบายที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คือ องค์ประกอบของคณะรัฐมนตรี จึงการดึงอำนาจตามกฎหมายอื่นมาอยู่ที่คณะกรรมการนโยบายทั้งหมด สะท้อนให้เห็นถึงความเบ็ดเสร็จในการใช้อำนาจทางกฎหมาย
นอกจากนี้ยังมีการให้อำนาจกับคณะกรรมการนโยบายมีอำนาจอนุมัติ อนุญาต และให้ความเห็นชอบตามกฎหมายฉบับอื่นอีกด้วย ซึ่งอยู่ในมาตรา 36 เช่น กฎหมายการเดินเรือ กฎหมายชลประทาน กฎหมายประกอบกิจการพลังงาน เป็นต้น
6. อำนาจของคณะกรรมการนโยบายในการแก้กฎระเบียบใดก็ได้ที่เป็นอุปสรรคต่อการผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยคณะกรรมการนโยบายสามารถแก้ไขรายละเอียดหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ โดยกฎหมายเดิมยังเหมือนเดิม เช่น ถ้ากฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มีหลักเกณฑ์ที่ทำให้การผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นไปอย่างล่าช้า คณะกรรมการนโยบายสามารถแก้ไขหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ และใช้ในพื้นที่ SEC แต่พื้นที่อื่นทั่วประเทศก็ยังใช้กฎหมายเดิม ซึ่งเป็นสภาวะระบบยกเว้นในทางกฎหมายที่เกิดขึ้น และเป็นการอาศัยอำนาจบริหารในการแก้ไขกฎหมายในระดับ พ.ร.บ. ฉบับอื่น
ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังให้อำนาจเลขาธิการ สามารถอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต ให้ความเห็นชอบ รับจดทะเบียน และรับแจ้งตามกฎหมายหลายฉบับได้ คือ กฎหมายว่าด้วยการขุดดินถมดิน กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องจักร กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง กฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยโรงงาน กฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน และกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่งในมาตรา 42 ของ ร่าง พ.ร.บ. และลักษณะเดียวกัน ถ้าเลขาธิการ เห็นว่า กฎหมายฉบับใดมีหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพ เลขาธิการสามารถเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเพื่อแก้ไขได้ ซึ่งสอดรับกันกับข้างต้น
7. การยกเว้นสิทธิในการถือครองที่ดินของคนต่างด้าว ตามมาตรา 48 ของร่าง พ.ร.บ. กำหนดว่า ถ้านิติบุคคลที่เข้ามาอยู่ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษแล้วเป็นคนต่างด้าว มีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดิน และยังมีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ซึ่งเป็นการยกเว้นการจำกัดสิทธิของคนต่างด้าวตามประมวลกฎหมายที่ดิน และกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด
8. การยกเว้นกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ ตามมาตรา 52 ของร่าง พ.ร.บ. กำหนดว่า ในกรณีที่จะนำที่ราชพัสดุมาใช้ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ ซึ่งค่อนข้างสำคัญ หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพ เช่น หากชาวบ้านที่ต้องการที่ดินทำกินโดยอาศัยที่ราชพัสดุนี้ ก็คงไม่ง่ายที่จะได้สิทธิเช่าที่ราชพัสดุ เพื่อมาทำการเกษตร
9. การยกเว้นกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ตามมาตรา 54 ของ ร่าง พ.ร.บ. กำหนดว่า ถ้าคนที่จะเข้ามาทำงานในพื้นที่มีทักษะความสามารถพิเศษ ก็อาจได้รับการยกเว้นตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เช่น อาจไม่จำเป็นต้องขออยู่ในราชอาณาจักรบ่อยครั้ง รวมถึงยกเว้นกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (Work Permit) ตามกฎหมายดังกล่าวในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ
10. การยกเว้นกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรทั้งหมด หรือ แต่บางส่วน ดังนั้นการจะนำเข้าเครื่องจักรทั้งหลาย ก็จะได้รับการยกเว้นภาษี
11 การยกเว้นกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพ เช่น หากอยากเป็นวิศวกร โดยตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร จะเป็นวิศวกรได้ต้องมีสัญชาติไทย ต้องมีใบอนุญาต ซึ่งคณะกรรมการนโยบายสามารถออกประกาศยกเว้นให้ประกอบวิชาชีพในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้ หมายความว่า ไม่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพทางวิศวกรรม ก็สามารถทำงานในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้
การสร้างระบบยกเว้นกฎหมายตามที่กล่าวข้างต้นทั้งหมด ทำให้เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. … นั้น ทำให้เกิดการรวมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และการสร้างระบบยกเว้นในทางกฎหมาย ซึ่งทำให้กฎหมายอื่น ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อน หรือผลักดันระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ จะถูกยกเว้นการใช้บังคับไป ลักษณะเช่นนี้เป็นเสมือน Super law ที่สามารถลบล้าง หรือยกเว้นกฎหมายอื่น และแก้รายละเอียดกฎหมายฉบับอื่นได้ด้วย
ร่าง พ.ร.บ. SEC ขัดหลักรัฐธรรมนูญ
ร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หากพิจารณาในรายมาตราจะพบว่า อาจมีปัญหาทางรัฐธรรมนูญหลายประการ กล่าวคือ รัฐธรรมนูญได้วางอำนาจ และรับรองสิทธิของประชาชนที่หลากหลายไว้ ดังนี้
ประการแรก ร่าง พ.ร.บ. ได้ให้อำนาจฝ่ายบริหารแบบค่อนข้างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทำให้การตรวจสอบถ่วงดุลนั้นทำได้ยากขึ้น เมื่อกฎหมายให้อำนาจฝ่ายบริหารไว้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ย่อมทำให้กระทบต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นหลักการสำคัญทางรัฐธรรมนูญ การตรวจสอบการใช้อำนาจก็จะทำได้ยากขึ้น และเมื่อตรากฎหมายให้เป็นลักษณ์อักษรแล้ว โอกาสที่จะได้ตรวจสอบก็ยิ่งยากขึ้นอีก
ประการที่สอง หากพิจารณาจะพบว่า ในรัฐธรรมนูญจะรับรองคุณค่าหลาย ๆ อย่าง ผ่านสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และผ่านแนวนโยบายแห่งรัฐ ซึ่งในบางกรณีคุณค่าเหล่านี้อาจจะขัดแย้งกันได้ แต่เวลาที่ขัดแย้งกันแล้ว หน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ คือ การทำให้เกิดความสมดุลระหว่างคุณค่าเหล่านั้น เช่น ความผิดฐานทำแท้งบุตรฝ่ายหนึ่งต้องการให้มีการคุ้มเด็กในครรภ์ แต่อีกฝ่ายหนึ่งต้องการให้เคารพสิทธิของบุคคลเป็นแม่ คำถามคือจุดสมดุลเรื่องดังกล่าวจะอยู่ตรงไหน โดยการกำหนดความผิดฐานทำแท้งนั้น ฝ่ายนิติบัญญัติต้องพิจารณาจุดสมดุลที่ควรจะต้องสร้าง เพื่อให้คุณค่าเหล่านั้นอยู่ร่วมกันได้ว่าอยู่จุดไหน สิ่งเหล่านั้นเป็นหลักการพื้นฐานในทางรัฐธรรมนูญ จึงเป็นคำถามสำคัญว่ารัฐธรรมนูญรับรองคุณค่าอะไรที่สำคัญ ๆ เกี่ยวกับ เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ไว้บ้าง ดังนี้
- รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิในทรัพย์สินไว้ในมาตรา 37 ว่า การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ซึ่งที่กล่าวมาก่อนหน้านี้จะเห็นได้ว่า การได้มาซึ่งที่ดินตามร่าง พ.ร.บ. ไม่จำเป็นต้องอาศัยอำนาจของบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ก็ได้ แต่สามารถใช้อำนาจของคณะกรรมการนโยบายต่างร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้
- รัฐธรรมนูญรับรองเสรีภาพในการประกอบการอาชีพไว้ในมาตรา 40 ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ซึ่งนักลงทุนก็มีเสรีภาพในการประกอบอาชีพของเขา ในขณะเดียวกันชาวประมง เกษตรกร ชาวสวน และบุคคลอื่นในพื้นที่ตามร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ในพื้นที่ก็มีเสรีภาพในการประกอบอาชีพเช่นเดียวกัน หรือคนไทยในพื้นที่ที่อยากประกอบอาชีพทั้งหลายก็เป็นประเด็นคุณค่าในรัฐธรรมนูญที่รับรองไว้
- รัฐธรรมนูญรับรองเกี่ยวกับสิทธิชุมชน ซึ่งเกี่ยวกับบุคคล และชุมชน ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรม และจารีตประเพณีอันดีงามทั้งของท้องถิ่น และของชาติ รวมถึง จัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และความหลากหลาย ทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน ตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ แต่ในทางกลับกันโครงการที่เกิดขึ้นภายใต้ร่าง พ.ร.บ.นี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อบุคคล และชุมชน
- รัฐธรรมนูญกำหนดหน้าที่ของรัฐในการอนุรักษ์ฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 57 ว่า รัฐต้องอนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ และจัดให้มีพื้นที่สาธสารณะสำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ใช้สิทธิ และมีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย และอนุรักษ์ คุ้มครอง บำรุงรักษา ฟื้นฟู บริหารจัดการ และใช้หรือจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน โดยต้องให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมดำเนินการและได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวด้วย ตามที่กฎหมายบัญญัติ ขณะที่ร่าง พ.ร.บ. จะเห็นได้ว่า มิติทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ถูกเพิกเฉย ทำให้สามารถตั้งคำถามต่อรัฐว่า รัฐได้ทำหน้าที่ตามมาตร 57 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่
- รัฐธรรมนูญกำหนดหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับการศึกษา และประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวเล้อมและสุขภาพ ตามาตรา 58 ซึ่งจะเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ มีการกำหนดเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชน หรือชุมชน ไว้โดยเฉพาะ
- รัฐธรรมนูญกำหนดแนวนโยบายของรัฐ เกี่ยวกับที่ดิน ทรัพยากรน้ำ และพลังงาน ตามมาตรา 72 ทำนองว่า รัฐต้องพึงดำเนินการวางแผนการใช้ที่ดินของประเทศให้เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่และศักยภาพของที่ดินตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน และจัดให้มีการวางผังเมืองทุกระดับ และบังคับการให้เป็นไปตามผังเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งพัฒนาเมืองให้มีความเจริญโดยสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ แต่ร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ กลับมีการกำหนดให้ยกเว้นการใช้กฎหมายว่าด้วยผังเมือง
- รัฐธรรมนูญกำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐในการช่วยเหลือเกษตรกร ตามมาตรา 73 ทำนองว่า รัฐพึงจัดให้มีมาตรการ หรือกลไกที่ช่วยให้เกษตรกรประกอบเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพสูง มีความปลอดภัย โดยใช้ต้นทุนต่ำ และสามารถแข่งขันในตลาดได้ และพึงช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากไร้ให้มีที่ทำกินโดยการปฏิรูปที่ดิน หรือใช้วิธีอื่นใด แต่ร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ไม่มีคำว่า เกษตรกร และเกษตรกรรมแม้แต่น้อย
- รัฐธรรมนูญกำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐเกี่ยวกับการส่งเสริมให้ประชาชนมีงานทำอย่างเหมาะสมกับศักยภาพ ซึ่งสอดคล้องกับเสรีภาพในการประกองอาชีพ ตามมาตรา 74 แต่ร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ สนับสนุนคนต่างด้าวให้ทำงาน โดยที่จากประสบการณ์ของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทำให้เห็นว่า โอกาสที่คนไทยจะได้ทำงานมากน้อย
- รัฐธรรมนูญกำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐเกี่ยวกับการให้ประชาชนมีโอกาสในการได้รับประโยชน์จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกันอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และยั่งยืนตามมาตรา 75 นั้น ซึ่งความสำคัญคือ เมื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ แล้ว จะเป็นกฎหมายที่เอื้อทุนอย่างชัดเจน โดยปนะชาชนทั่วไปที่ไม่มีทุนจะได้ประโยชน์จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง เป็นธรรม ยั่งยืน หรือไม่
ร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ นี้ จึงเป็นที่สงสัยว่าจะสามารถสร้างสมดุลระหว่างคุณค่าต่าง ๆ ในทางรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ซึ่งเมื่อพิจารณาก็พบว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้เอียงไปในทางด้านเดียว คือ การพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นหลัก และขัดกับหลักความพอสมควร ขัดกับหลักความจำเป็น และหลักความได้สัดส่วน ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ย่อมมีปัญหาในทางรัฐธรรมนูญ เพราะฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถหาจุดสมดุลระหว่างคุณค่าทั้งหลายที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ได้
ศาลรัฐธรรมนูญเป็นกลไกตรวจสอบเดียว
ร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ฉบับนี้มีปัญหาในทางรัฐธรรมนูญ จึงเกิดคำถามว่าจะมีช่องทางในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายนี้หรือไม่
เมื่อพิจารณาจากมาตรา 148 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กำหนดไว้ว่า ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำร่าง พ.ร.บ.ใด ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) สมาชิกวุฒิสภา (สว.) หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีข้อความขัด หรือแย่งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี แล้วให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับความเห็นดังกล่าวส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัย หรือหากนายกรัฐมนตรีเห็นว่าร่างกฎหมายน่าจะมีปัญหาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก็สามารถส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้เช่นกัน
โดยจะเห็นได้ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้หากเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาแล้ว ก็ยังมีช่องทางการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้โดยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องอาศัย สส. ของแต่ละพรรคการเมืองในการเสนอเรื่อง เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา
สรุปโครงการแลนด์บริดจ์ ไม่ได้ถูกผลักดันผ่านกลไกกฎหมายตามปกติ แต่ใช้กฎหมายเขตพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) เป็นเครื่องมือทางกฎหมาย ที่เปิดช่องให้เกิดการให้สิทธิพิเศษแก่กลุ่มทุน ลดขั้นตอนกฎหมาย และกระจายอำนาจการตัดสินใจให้กับหน่วยงานที่มีอำนาจพิเศษ
กฎหมายฉบับนี้ยังให้อำนาจในการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษครอบคลุม 10 จังหวัดภาคใต้ อาจทำให้เกิดการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่อื่น ๆ ตามมา โดยไม่มีการตรวจสอบและควบคุมจากประชาชนในพื้นที่อย่างเพียงพอ ปัญหาหลักคือ การลดอำนาจการมีส่วนรวมของประชาชน และการเพิ่มอำนาจให้กับภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ทำให้ความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับการปกป้องสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนอาจถูกละเลย
ทั้งนี้การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ควรมีกระบวนการตรวจสอบที่โปร่งใส และการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง เพื่อให้มั่นใจว่าโครงการนี้จะไม่สร้างผลกระทบเชิงลบที่แก้ไขไม่ได้ และดำเนินไปอย่างสมดุลกับธรรมชาติและวิถีชีวิตของชุมชน
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง