รัฐบาลมีนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ จุดประสงค์เพื่อผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทยให้เป็นที่รู้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผ่านการสนับสนุนอุตสาหกรรม 11 เป้าหมาย คาดว่าจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโต และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง
แผนการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์นี้ มีนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ หรือ OFOS (One Family One Soft Power) ซึ่งเป็นแผนพัฒนาต้นน้ำของนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ที่รัฐบาลอยากเพิ่มทักษะขั้นสูงให้กับแรงงานไทย เพื่อสร้างงานสร้างงานอาชีพ สามารถนำไปต่อยอดให้กับอาชีพครัวเรือน และรองรับงานใน 11 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์
หาอัตลักษณ์ชนชาติพันธุ์ดันซอฟต์พาวเวอร์
งาน CONNECTING Soft Power resource Forum จัดโดย The Active ภายใต้ ThaiPBS ได้เปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มชนชาติพันธุ์ในภาคเหนือและภาคใต้ของไทย ได้มีโอกาสบอกเล่าเรื่องราวความหลากหลายชุมชน หลายอัตลักษณ์ ผ่านวิถีชีวิต ระบบนิเวศ และฐานทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่แต่ละชุมชน เพื่อร่วมกันคิดร่วมสร้าง (Co-creation) ต่อยอดไปสู่นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายคอยให้คำปรึกษาและคำแนะนำต่าง ๆ
ภายในกิจกรรมมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่าในแต่ชุมชนของตนเองนั้นมีอัตลักษณ์ที่เป็นจุดเด่นในด้านไหนบ้าง ปัญหาที่ชุมชนเผชิญ สิ่งที่นโยบายซอฟพาวเวอร์สามารถตอบโจทย์ความต้องการของคนในชุมชนได้ หน่วยงานหลักที่ต้องคอยสนับสนุน และผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ
กลุ่ม OFOS เป็นกลุ่มที่ต้องคิดค้นหาอัตลักษณ์ของคนในชุมชน เพื่อนำไปต่อยอดให้เข้ากับนโยบาย OFOS ในแผนขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ โดยกลุ่มนี้มองว่า อัตลักษณ์ของชุมชนในแต่ละพื้นที่มีความหลากหลาย ดังนี้
1. มีภูมิปัญหา องค์ความรู้ในชุมชน
2. พหุวัฒนธรรม เช่น วิถีชีวิต วัฒนธรรม ภาษา ทำให้เกิดคงามแตกต่าง ใต้ก็จะมีภาษามาลายู เมืองก็จะมีภาษากลาง อีสานก็จะมีภาษาอีสาน
3. ทักษะเฉพาะตัว ในการประกอบอาชีพ เรื่องของการทำสินค้าโอท็อปของตนเอง อาชีพการค้าขายต่างๆ
4. ครอบครัว มีกิจการดั้งเดิม อย่างชุมชนใน จ.ปัตตานี จะมีอาชีพย่างไก่กอและ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น
5. รักครอบครัวชุมชน ความใกล้ชิด โดยคนในชุมชนจะมีความเป็นพี่น้องกัน จุนเจือ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชน ถือเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน
6. เกือบทุกชุมชนจะมีต้นทุนที่มี คือ วัตดุดิบท้องถิ่น แต่จะทำยังไงให้เพิ่มมูลค่ามากขึ้น และหารายได้ให้กับคนในพื้นที่ได้
สำหรับปัญหาที่ชุมชนพบเจอ คือ
- ไม่รู้อัตลักษณ์ของครอบครัว โดยทักษะที่มีของคนในชุมชน จะทำยังไงให้มีผลลัพธ์ที่ยั่งยืนต่อครอบครัว
- ต้องการพัฒนาทักษะที่สูงขึ้น
- ไม่รู้ช่องทางหารายได้ ซึ่งปกติชาวบ้านมีช่องทางขายแค่เฉพาะในพื้นที่ แต่จะทำยังไงให้มีช่องทางการขายที่มากขึ้น เช่น ช่องทางออนไลน์ หรือ พรีออเดอร์ รวมถึงต้องพัฒนาหีบหาอผลิตภัณฑ์
- ความปลอดภัยในพื้นที่ หรือ ความกลัวในการเข้าถึงพื้นที่ อย่าง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความหลากหลายและสิ่งสวยงามจำนวนมาก แต่จะทำอย่างไรให้คนนอกพื้นที่ไม่กลัวที่จะเข้าไปใน 3 จังหวัดดังกล่าว ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่ของคนในพื้นที่นี้
- ขาดหน่วยงานรัฐ และความต่อเนื่องในการสนับสนุนโครงการ
- ขาดความมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเมือง
- ขาดการเข้าถืงการสื่อสารพื้นที่ห่างไกล การประชาสัมพันธ์เรื่องต่าง ๆ มักไปไม่ถึงชุมชนในพื้นที่ห่างไกล
สิ่งที่นโยบายซอฟต์พาวเวอร์สามารถช่วยคนในชุมชน กลุ่ม OFOS มองว่า จะสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน, พัฒนาทักษะ, สามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจน, การสื่อสารนโยบายทั่วถึง, สำรวจความต้องการของชุมชน เพื่อให้ตอบโจทย์ชุมชน, การกระจายการเข้าถึง เช่น ข้อมูล และการดำเนินการ และสร้างความพร้อมให้กับหน่วยงานรัฐท้องถิ่น
ขณะที่หน่วยงานหลักควรต้องสนับสนุนชุมชน กลุ่ม OFOS มองว่า ควรจะต้องมีหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนหลัก และภาคเอกชนต้องสนับสนุนในเรื่องการหาตลาดให้กับชุมชน ได้แก่ ผู้นำท้องถิ่น, องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.), กองทุนหมู่บ้าน, กรมส่งเสริมการเกษตร, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, กรมประมง, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.), กรมพัฒนาฝีมืองแรงงาน, สภาวัฒนธรรม,หอการค้าไทย, มาตรฐานฮาลาล, กลุ่มเอ็นจีโอ (NGO), การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ, -สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (DE), สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) และสถาบันการศึกษาในพื้นที่
ส่วนผู้ที่จะต้องมีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้ผลิต, ครอบครัวในชุมชน,ผู้บริโภค, ชุมชน, วิสาหกิจชุมชน, หน่วยงานภาครัฐ, เกษตรกร, ชาวประมง แลหน่วยงานที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้กลุ่มชนชาติพันธุ์ เชื่อว่า แต่ละชุมชนมีสินค้าที่เป็นจุดเด่นในพื้นที่อยู่แล้ว เช่น ไก่กอและ ที่ถือเป็นเมนอาหารยอดนิยมท้องถิ่นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ยังคงขาดนวัตกรรม และช่องทางที่จะนำเมนูดังกล่าวขยายออกไปนอกพื้นที่มากขึ้น ชุมชนจึงต้องการจะเพิ่มทักษะในส่วนนี้ เพื่อหาทางขยายตลาดสินค้าออกไปได้มากขึ้น
สร้างสรรค์สิ่งที่ชุมชนมี เพื่อต่อยอดให้หลากหลาย
อาสา ผิวขำ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มองว่า ชนชาติพันธุ์ทุกคนต่างก็มีอัตลักษณ์ของตนเอง ทั้งเสื้อผ้า อาหาร และภาษา แต่ยังไม่มั่นใจในอัตลักษณ์ของตนเอง ซึ่งควรจะต้องนำอัตลักษณ์ที่มีนำออกไม่ใช้ประโยชน์ ด้วยการเพิ่มความสร้างสรรค์ เช่น ภาษาที่ใช้นำมาทำเป็นเพลง เสื้อผ้าในชุมชนนำมาทำเป็นแฟชั่นใหม่ ๆ และอาหารที่มีสร้างเมนูใหม่ ๆ โดยผู้อำนวยการสำนักพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรม ได้ยกตัวอย่างเมนูอาหาร ไก่กอและ ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรจะต่อยอดทำเมนูอาหารอื่น ๆ ให้มีความหลากหลายมากขึ้น
ระบบราชการขาดความต่อเนื่อง
นอกเหนือจากการนำอัตลักษณ์ออกมาต่อยอดแล้ว ยังมีอุปสรรคในด้านการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ พิพิธ โค้วสุวรรณ หนึ่งในคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านการออกแบบ สะท้อนปัญหานี้จากประสบการณ์ส่วนตัวว่า ตนเคยเป็นนักออกแบบที่ช่วยพัฒนาร่วมกับชุมชน และมักจะต้องร่วมงานกับหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งของภาครัฐ แต่สุดท้ายเมื่อเวลาผ่านไป ก็ต้องไปร่วมงานกับหน่วยงานภาครัฐอื่น จึงทำให้โครงการที่สนับสนุนชุมชนมีความไม่ต่อเนื่องเกิดขึ้น
ซึ่ง พิพิธ แนะนำให้ OFOS เป็นหน่วยงานหลักในการผสานความร่วมมือจากหลายหน่วยงานภาครัฐจากความถนัดในแต่ละด้าน จัดทำโครงการส่งเสริมชุมชนให้มีความต่อเนื่อง และมีความชัดเจน รวมถึงมิติในการสนับสนุนหลาย ๆ ด้าน
แนะพัฒนาสินค้าชุมชนป้อนอุตสาหกรรม
การทำซอฟต์พาวเวอร์ อาจเป็นเรื่องยากสำหรับชาวบ้านที่จะเข้าใจและดำเนินการได้ ดวงฤทธิ์ บุญนาค กรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ด้านการออกแบบ จึงแนะนำชุมชนให้ทำ รอว์พาวเวอร์ (Raw Power) หรือพลังอำนาจดิบ คือ วัตถุดิบถือเป็นต้นกำเนิดของซอฟต์พาวเวอร์ เช่น หากจะผลิตผ้าก็ต้องใช้ด้ายเป็นวัตถุดิบ หรืออาหารก็ต้องใช้วัตถุดิบทำอาหาร ดังนั้นการพัฒนา รอว์พาวเวอร์ จึงช่วยผลักดันนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ และชุมชนก็จะสามารถมีส่วนร่วมได้ด้วย ทั้งในด้านแหล่งท่องเที่ยว วัตถุดิบอาหาร วัตถุดิบในการทำผลิตภัณต์ต่าง ๆ
“จากนี้ไปแต่ละชุมชนจะได้รู้หน้าที่ของตนเอง หากจะสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ ก็ต้องพัฒนาวัตถุดิบ เช่น การท่องเที่ยว เทศกาล เช่น เทศกาลบุญบั้งไฟ เป็นเทคโนโลยีพื้นบ้าน ซึ่งเป็นลอว์พาวเวอร์ของซอฟต์พาวเวอร์ จึงอยากจะฝากไว้ว่า ถ้าให้ชุมชนคิดซอฟต์พาวเวอร์อาจจะเครียด ก็เลยให้คิดความหมายของลอว์พาวเวอร์ดู ว่าวัตถุดิบอะไรที่ชุมชนอยากจะผลิต เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมในซอฟต์พาวเวอร์ได้ จริง ๆ ในทุกวัตถุดิบมันมีเทคโนโลยี มีรากวัฒนธรรม มีเรื่องราวของแต่ละชุมชน และอยากให้ตรงนี้เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนที่ฝังเข้าไปในนโยบายของรัฐ”
“1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์” ความหวังไทยหลุดกับดักรายได้ปานกลาง