ความเป็นมานโยบายซอฟต์พาวเวอร์
การขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์เป็นนโยบายเรือธง (Flagship) ของรัฐบาลเพื่อสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ Soft Power ของประเทศเพื่อยกระดับและพัฒนาความรู้ ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยให้สร้างมูลค่าและสร้างรายได้
นโยบายมีเป้าหมาย 2 ประการ คือ การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเพื่อให้ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) และเป้าหมายที่ 2 คือการทำให้ประชาชนหลุดพ้นจากความยากจน
การใช้ Soft Power เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนให้ความสนใจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยถือเป็นเครื่องมือหรือกลไกสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจของประเทศ
ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญกับการผลักดันทุนทางวัฒนธรรม ที่มีศักยภาพให้เป็น Soft Power ของไทย ผ่านนโยบาย 5F ประกอบด้วย Food, Film, Fashion, Fighting และ Festival ซึ่งหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ได้ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบาย 5F ผ่านการจัดทำโครงการและแผนงานภายใต้ภารกิจของแต่ละหน่วยงาน
แนวทางการผลักดันนโยบาย Soft Power ที่ผ่านมาซึ่งดำเนินการโดยหลากหลายหน่วยงานยังไม่เกิดพลังที่สามารถสร้างให้เกิด Soft Power ของประเทศได้อย่างชัดเจน เห็นได้จากผลสำรวจดัชนีชี้วัดระดับของการพัฒนา Soft Power ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งจัดทำ โดย Brand Finance อันดับ Soft Power Index ของไทยในปี 2024 ลดลงมาอยู่อันดับที่ 40 ของโลก จากเดิมซึ่งเคยอยู่อันดับ 35 ในปี 2022
ประเทศไทยมีโอกาสที่จะยกระดับ Soft Power Index ได้เนื่องจากมีทรัพยากรที่หลากหลายและมีทุนทางวัฒนธรรมที่มีศักยภาพจำนวนมาก โดยเฉพาะความโดดเด่นในเรื่องของอาหาร ศิลปวัฒนธรรม มรดกทางประวัติศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงเสน่ห์ความเป็นคนไทยที่สามารถดึงดูดและสร้างให้เกิด Soft Power ของประเทศได้หากมีการบริหารจัดการทรัพยากรหรือต้นทุนของประเทศที่มีอยู่อย่างจริงจัง
กลไกขับเคลื่อนนโยบาย
ในการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ให้ประสบความสำเร็จ จะต้องให้ภาคเอกชนเป็นผู้เล่นหลัก (Playmaker) ส่วนภาครัฐมีบทบาทเป็นผู้สนับสนุน (Facilitator) โดยรัฐบาลได้วางแผน การขับเคลื่อนนโยบายโดยเน้นการสร้างสภาวะแวดล้อม (Ecosystem) ที่เอื้อหรือส่งเสริมและสนับสนุนภาคเอกชนโดยเฉพาะใน 11อุตสาหกรรมเป้าหมาย (ประกอบด้วย เฟสติวัล ท่องเที่ยว อาหาร ศิลปะ ออกแบบ กีฬา ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ ละครและซีรีส์ แฟชั่น และเกม) ให้มีความพร้อมและมีศักยภาพเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
ภาครัฐมีแผนงานในการพัฒนา Ecosystem ด้านต่าง ๆ อาทิ การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย การจัดทำมาตรการและสิทธิประโยชน์ การสื่อสารและประชาสัมพันธ์การจัดทำระบบและฐานข้อมูล การพัฒนาทักษะกำลังคนผ่านนโยบาย (OFOS) รวมถึงการจัดตั้งหน่วยงานหลักเพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์อย่างยั่งยืน
โมเดลในการทำงานร่วมกันของภาครัฐและภาคเอกชน เป็นการดำเนินงานผ่านกลไกการทำงานของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการชุดต่าง ๆ ทั้งในการกำหนดนโยบาย/ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนในระดับอุตสาหกรรม และระดับพื้นที่ ตลอดจนการสร้าง Ecosystem ให้เกิดขึ้น ดังนี้
- การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ผ่านกลไกคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน 11 อุตสาหกรรม (จำนวน 12 คณะ) คณะอนุกรรมการ Soft Power Forum และคณะอนุกรรมการจัดงานเทศกาล Maha Songkran World Water การขับเคลื่อนระดับพื้นที่ ซึ่งได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ประจำจังหวัดซึ่งได้มีการแต่งตั้งนำร่องแล้วในจังหวัดนครราชสีมา
- การสร้าง Ecosystem ซึ่งมีคณะอนุกรรมการฯ จำนวน 6 คณะเพื่อดำเนินงาน 6 ด้าน ได้แก่ ด้านจัดทำแผนพัฒนายุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ ด้านมาตรการและสิทธิประโยชน์การพิจารณากลั่นกรองและกำกับติดตามการดำเนินโครงการ การด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ ด้านการพัฒนาระบบและฐานข้อมูล และด้านการขับเคลื่อนนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ทักษะซอฟต์พาวเวอร์ (One Family One Soft Power: OFOS)
แผนการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ในภาพรวม แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่
- คณะอนุกรรมการจัดทำแผนการพัฒนายุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ
- คณะอนุกรรมการจัดทำมาตรการสิทธิประโยชน์เพื่อการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ
- คณะอนุกรรมการกลั่นกรองและกำกับติดตามการดำเนินโครงการ
- คณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์นโยบายซอฟต์พาวเวอร์
- คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบและฐานข้อมูลเพื่อส่งเสริมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์
- คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ทักษะซอฟต์พาวเวอร์ (OFOS)
ระยะที่ 3 เป็นการส่งต่อ/เปลี่ยนผ่านสู่ THACCA ในระยะกลางและระยะยาว รัฐบาลมีแผนจะจัดตั้ง Thailand Creative Culture Agency (THACCA) เพื่อเป็นหน่วยงานหลักที่มีภารกิจครอบคลุมการขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ของประเทศแบบเบ็ดเสร็จ โดยเบื้องต้นคาดว่า พ.ร.บ. THACCA จะมีผลบังคับใช้ในช่วงปีงบประมาณ 2568 ทั้งนี้ ในระหว่างที่ยังไม่มีการจัดตั้ง THACCA อย่างเป็นทางการ คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้มีมติมอบหมายให้สำนักงาน ป.ย.ป. ทำหน้าที่เป็นสำนักงาน Thailand Creative Culture Agency (THACCA) ชั่วคราว และเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์
1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (One family One Soft power หรือ OFOS)
การขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนายุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ 3 ด้านหลัก โดยครอบคลุมทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ดังนี้
ต้นน้ำ การพัฒนาทักษะสร้างสรรค์ของคนไทย โดยการอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ภายใต้นโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์(One family One Soft power หรือ OFOS) เพื่อ Upskill-Reskill ทักษะสร้างสรรค์ของคนไทย ให้สามารถสร้างงาน/สร้างรายได้/สร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจ
กลางน้ำ การพัฒนาอุตสาหกรรม เป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพในการแข่งขัน ซึ่งปัจจุบันมี 11 อุตสาหกรรมเป้าหมาย
ปลายน้ำ การสร้างตลาดต่างประเทศ เป็นการพัฒนาตลาด การสร้างเครือข่ายตลาดในต่างประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถนำสินค้าและบริการออกสู่ตลาดต่างประเทศและมีบทบาทในเวทีโลก
การพัฒนาทักษะสร้างสรรค์คนไทยภายใต้ OFOS จึงถือเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยถือเป็นการพัฒนา“ต้นน้ำ” ของการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ เพื่อยกระดับและพัฒนาทักษะความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยให้สร้างมูลค่าและสร้างรายได้
ทั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อสร้างงาน/สร้างอาชีพให้กับประชาชน/ภาคเอกชนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จำนวน 20 ล้านตำแหน่ง โดยมีรายได้อย่างน้อย 200,000 บาท (ครอบครัว/ปี) ภายในระยะเวลา 4 ปี ซึ่งประชาชนทั่วไปในแต่ละครอบครัว มีสิทธิที่จะลงทะเบียนเพื่อเข้าอบรมหลักสูตรที่ต้องการเพื่อ Upskill-Reskill โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
โดยจะเน้นการอบรมหลักสูตรที่ตลาดแรงงาน/เอกชนผู้ประกอบการใน 11 อุตสาหกรรมเป้าหมายมีความต้องการในจ้างงาน ซึ่งจะมีทั้งการอบรมในรูปแบบ online และ onsite หรือ Hybrid รวมทั้งการฝึกปฏิบัติ ตามความเหมาะสมของแต่ละหลักสูตร/อาชีพ ซึ่งจะครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยบุคคลที่ผ่านการอบรมหลักสูตรต่าง ๆ จะสามารถเก็บหน่วยกิตได้รับการรับรองคุณวุฒิชาชีพ และ มีโอกาสฝึกงานในบริษัทต่าง ๆ หรือมีแหล่งเงินทุนสนับสนุน/ต่อยอดการประกอบอาชีพได้
เป้าหมายการพัฒนาหลักสูตร OFOS ในปีงบประมาณ 2567 แบ่งตามอุตสาหกรรม ดังนี้
ภาพรวมระบบนิเวศของโครงการ OFOS (OFOS Ecosystem) สามารถแบ่งออกเป็น 6 ขั้นตอน ปรากฏตามแผนภาพดังนี้
- หน่วยงานราชการ: จัดทำหลักสูตร คัดเลือกผู้เข้าอบรม จัดทำระบบลงทะเบียน OFOS
- คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์: กำหนด User Journey ของผู้เรียนในแต่ละสาขา กำหนดหลักสูตรที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างงานสร้างอาชีพ
- สถาบันการศึกษา: รับรองหลักสูตรและออกแบบวุฒิบัตร นำไปสู่การจัดทำ National Soft Power Credit Bank
- สถาบันการเงิน: อำนวยความสะดวกในการได้รับสิทธิประโยชน์ด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านการเงิน สินเชื่อ ดอกเบี้ย เป็นต้น
- ภาคอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ (Key Industry): เป็นส่วนสำคัญในการจับคู่งาน (Job Matching) ของผู้ที่ผ่านการเรียนในหลักสูตร OFOS และโดยร่วมกำหนดทักษะที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการภาคเอกชน ให้เกิดการสร้างรายได้มากขึ้นต่อไป
- ความร่วมมือระหว่างต่างประเทศ: นำไปสู่การศึกษาต่อต่างประเทศ ตลอดจนการทำงานที่ต่างประเทศ และการนำรายได้จากต่างประเทศกลับสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป
สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินงาน ปัจจุบันสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิตัล(สพร.)ได้พัฒนาระบบลงทะเบียน OFOS เรียบร้อยแล้ว โดยมีทั้งการลงทะเบียนด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชั่น และการลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่รัฐโดยใช้กลไกของหน่วยงานระดับท้องถิ่น เพื่อให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม โดยในการจัดการอบรมจะดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐ หรือสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่มีการจัดอบรมหลักสูตรที่ตรงตามความต้องการของตลาดอยู่แล้ว รวมทั้งการพิจารณาจัดทำ/ออกแบบหลักสูตรที่ขาดแคลนเพิ่มเติมตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม
การจัดตั้ง Thailand Creative Culture Agency (THACCA)
สำหรับการขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ในระยะกลางและระยะยาว รัฐบาลมีแผนจะจัดตั้ง Thailand Creative Culture Agency (THACCA) เพื่อเป็นหน่วยงานหลักที่มีภารกิจครอบคลุมการขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ของประเทศแบบเบ็ดเสร็จ
บทบาทของ THACCA จะเน้นการสร้างให้เกิด Ecosystem ในการขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ทั้งระบบ โดยภารกิจครอบคลุมตั้งแต่การเป็นผู้กำหนดนโยบาย (Policy Maker) และเป็นหน่วยงานหลักในการอำนวยความสะดวก (Facilitator) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนภาคเอกชน อาทิ การปลดล็อคกฎหมาย มาตรการสิทธิประโยชน์ การจัดตั้งกองทุนซอฟต์พาวเวอร์
ตลอดจนทำหน้าที่ประสานงานและความร่วมมือ (Collaborator) ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมถึงการสร้างเครือข่ายและแพลตฟอร์มสำหรับเชื่อมคนและทรัพยากร และเชื่อมระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ เพื่อพัฒนางานสร้างสรรค์ระดับชุมชน สู่ระดับชาติและเวทีโลก โดยเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของประเทศเพื่อให้เกิดการขยายตัวของรายได้และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ
การจัดตั้งหน่วยงาน THACCA จะต้องมีการตรากฎหมายระดับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อจัดตั้งหน่วยงาน ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้มีมติแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการจัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์เพื่อเศรษฐกิจและสังคม” ซึ่งปัจจุบันคณะอนุกรรมการดังกล่าวได้ยกร่าง พ.ร.บ. แล้วเสร็จ (ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ พ.ศ. …)โดยมีการรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องในช่วงเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา และจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี และสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป โดยคาดว่ากฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2568
ในระหว่างที่ยังไม่มีการจัดตั้งสำนักงาน THACCA อย่างเป็นทางการ คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้มีมติมอบหมายให้สำนักงาน ป.ย.ป. ทำหน้าที่เป็นสำนักงาน Thailand Creative Culture Agency (THACCA) ชั่วคราว และเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์