สำหรับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต (Digital wallet) ของรัฐบาล คาดเริ่มใช้จ่ายได้ในไตรมาส 4 ปี 2567จะใช้งบประมาณ 500,000 ล้านบาท แบ่งจากงบประมาณปี 67-68 รวม 327,700 ล้านบาท และกู้เงินจากสถาบันการเงินของรัฐ คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อีกจำนวน 172,300 ล้านบาท
ดิจิทัลวอลเล็ตกระทบสภาพคล่องธนาคาร-ตลาดตราสารหนี้ไทย
ซึ่งโครงการนี้ต้องดำเนินตามกฎหมาย พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินตรา พ.ศ.2501 จึงทำให้ ดิจิทัลวอลเล็ต ต้องมีเงินหมุนเวียนในระบบเน็ตเวิร์คของวอลเล็ตก่อนที่จะใช้งานจริง หมายความว่า ภาครัฐอาจต้องจัดสรรเงินทุนให้พร้อมก่อนหน้านั้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ประเด็นที่อาจพิจารณาเพิ่มเกี่ยวกับเรื่องผลกระทบต่อสภาพคล่องในระบบการเงินไทย มีอยู่ 3 เรื่อง คือ
1. สภาพคล่องของสถาบันการเงินแม้จะอยู่ในระดับสูง แต่ส่วนใหญ่ถือครองอยู่ในรูปตราสารหนี้ภาครัฐ และพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้การพึ่งพาสถาบันการเงินในการถือครองตราสารหนี้ภาครัฐที่จะออกใหม่ภายใต้โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ต้องอาศัยการลดการถือครองตราสารหนี้ภาครัฐที่อยู่ในมือ หรือระดมเงินฝากหรือสภาพคล่องใหม่เพิ่มเติม ซึ่งจะผลักดันให้ต้นทุนการออกตราสารหนี้ หรือการเสนอดอกเบี้ยเงินฝาก (อาทิ อัตราดอกเบี้ยสำหรับเงินฝากแคมเปญพิเศษ) ปรับตัวสูงขึ้น กลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นให้กับฝั่งผู้กู้ ทั้งเอกชนและภาครัฐ
ข้อมูล ณ สิ้นเดือน ก.พ. 2567 บ่งชี้ว่าสถาบันการเงิน ที่นำโดยธนาคารพาณิชย์ (ที่มีส่วนแบ่งสภาพคล่องสูงสุดในระบบ) มีสินทรัพย์สภาพคล่องอยู่ที่ประมาณ 5.56 ล้านล้านบาท โดย 37% หรือกว่า 2.07 ล้านล้านบาทอยู่ในรูปพันธบัตรรัฐบาล สะท้อนว่าขีดความสามารถของธนาคารพาณิชย์ในการดูดซับตราสารหนี้ภาครัฐที่จะออกเพิ่มนั้น อยู่ในกรอบที่จำกัด คงจะต้องอาศัยนักลงทุนสถาบันอื่น ๆ ร่วมด้วย
2. ผลกระทบต่อการระดมทุนผ่านหุ้นกู้ของภาคเอกชนที่เป็นผลจากปริมาณอุปทานตราสารหนี้ภาครัฐที่เข้ามาเพิ่มขึ้น ปัจจัยดังกล่าวนอกจากจะทำให้ดัชนีผลตอบแทน (Benchmark Yield) ของพันธบัตรรัฐบาลสูงขึ้น ซึ่งมีผลต่อเนื่องให้ฐานต้นทุนดอกเบี้ยอ้างอิงก่อนบวก Credit Spread (ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นจากพันธบัตรรัฐบาล) ของหุ้นกู้ขยับขึ้นแล้ว ก็ยังอาจมีผลต่อความต้องการลงทุนของนักลงทุนรายย่อยต่อหุ้นกู้เอกชนด้วย โดยเฉพาะในกรณีที่ภาครัฐจัดสรรการระดมทุนบางส่วนผ่านการเสนอขายพันธบัตรให้กับประชาชนรายย่อยโดยตรง อาทิ ในรูปพันธบัตรออมทรัพย์ ท่ามกลางภาวะที่นักลงทุนรายย่อยที่มีความมั่งคั่งสูง ที่เป็นกำลังซื้อหลักในตลาดหุ้นกู้ ยังระมัดระวังการลงทุนในตราสารหนี้บางประเภท ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศที่มีความไม่แน่นอน
ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนที่เหลือของปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จะมีตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวที่ออกใหม่ ทั้งเพื่อชดเชยรุ่นที่ครบกำหนดและออกใหม่เพิ่มเติม อีกไม่น้อยกว่า 6.90 แสนล้านบาท จากที่ออกไปแล้วประมาณ 2.77 แสนล้านบาท (ตามฐานข้อมูลของ ThaiBMA) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องวางแผนรับมือในกรณีที่ต้นทุนการระดมทุนปรับสูงขึ้น
3. จังหวะการระดมทุนของภาครัฐ เผชิญความท้าทายมากขึ้น ตามทิศทางผลตอบแทนตราสารหนี้ที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะในต่างประเทศ ดังจะเห็นได้จาก อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา (US Treasury Yield) ที่ขยับสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือน มี.ค. 2567 ตามแรงผลักดันจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด สัญญาณจากธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด (Fed) ซึ่งมีท่าทีไม่รีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงล่าสุดสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองในตะวันออกกลางที่รุนแรงขึ้น
ประเด็นเหล่านี้ มีส่วนทำให้ต้นทุนการระดมทุนในตลาดต่าง ๆ ของไทยปรับตัวสูงขึ้นเช่นกันในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น BIBOR (อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นสำหรับการปล่อยกู้เงินบาทแบบไม่มีหลักประกันระหว่างสถาบันการเงิน) และ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเภทอายุปานกลางถึงยาว
ขณะที่ทิศทางความผันผวนของอัตราผลตอบแทนในประเทศ อาจยังคงภาพเช่นนี้ต่อไปในอีกหลายเดือนข้างหน้า ซึ่งย่อมจะกดดันต้นทุนการระดมทุนของทั้งภาครัฐและเอกชนไทยหลังจากนี้
จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นทั้ง 3 ข้อ คงทำให้ภาครัฐต้องพิจารณาจังหวะวงเงิน ช่องทาง และเครื่องมือการระดมทุนให้เหมาะสม เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อตลาด ในภาวะที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศยังไม่ปรับลดลง ขณะที่งบดุลของภาคธุรกิจและครัวเรือนไทยหลายส่วนยังไม่มีความแข็งแรงมากพอที่จะรองรับต้นทุนการเงินที่อาจได้รับผลกระทบจากภาวะความตึงตัวของสภาพคล่อง
เงื่อนไขซับซ้อน ร้านค้าอาจเข้าร่วมน้อยกว่าคาด
โครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะส่งผลต่อยอดค้าปลีกมากน้อยเพียงใด ยังคงขึ้นอยู่กับหลายเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดพื้นที่และประเภทร้านค้า นอกเหนือจากประเด็นทางด้านกฎหมาย รวมถึงระบบการใช้งานของแอปพลิเคชั่นที่ยังต้องรอติดตาม โดยการกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อาจส่งผลต่อร้านค้าปลีกและพฤติกรรมการใช้เงินของผู้บริโภคที่แตกต่างกัน คือ
1. กำหนดพื้นที่ในการใช้เงินต้องอยู่ในพื้นที่ตามทะเบียนบ้านเท่านั้น ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้เงินของผู้บริโภคที่ต่างกัน
- ผู้บริโภคที่อยู่นอกภูมิลำเนา มีราว 6 ล้านคน อาจมีช่วงเวลาให้ใช้จ่ายสั้น และต้องวางแผนการเดินทางเพื่อกลับไปใช้จ่าย เช่น วันหยุดเทศกาลปีใหม่ ส่งผลให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้อาจจำเป็นต้องเร่งใช้เงิน และเลือกซื้อสินค้าที่มีมูลค่าต่อครั้งสูง ๆ เช่น กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า มือถือ หรือของใช้ส่วนตัว (เก็บได้นาน ไม่เน่าเสีย) ที่จำเป็นต้องซื้อในปริมาณมาก ๆ จึงทำให้การใช้จ่ายอาจกระจุกตัวอยู่แค่บางร้านค้าและบางสินค้าเท่านั้น
- ผู้บริโภคที่พำนักอาศัยอยู่ในภูมิลำเนา อาจจะไม่จำเป็นต้องรีบใช้จ่ายเหมือนกลุ่มแรก และสามารถซื้อสินค้าที่มีมูลค่าครั้งละไม่มากได้ เช่น ของกิน หรือของใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ซึ่งการใช้เงินอาจกระจายได้ในร้านค้าและสินค้าที่หลากหลายกว่า
2. กำหนดเงื่อนไขประเภทของร้านค้าและการถอนเงินสด อาจจำกัดร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการโดยเฉพาะร้านค้าที่เดิมอยู่นอกระบบภาษี ปัจจุบันร้านค้าที่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) มีทั้งหมด 1.4 ล้านราย โดยเป็นร้านค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเพียง 2.8 แสนราย หรือราว 20% เท่านั้น
การดำเนินโครงการดังกล่าวในรอบแรกระหว่างประชาชนกับร้านค้าหรือร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก จะต้องเป็นร้านที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการในช่วงไตรมาส 3 แต่ร้านค้าจะไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย ซึ่งร้านค้าต้องไปใช้จ่ายกับร้านค้า และร้านค้าที่จะถอนเงินสดได้จะต้องเป็นร้านที่อยู่ในระบบภาษี และเมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่รอบที่ 2 เป็นต้นไป
ร้านค้าที่จะลงทะเบียนเข้าร่วม คงจะต้องชั่งน้ำหนักความคุ้มค่า ทั้งในมิติของยอดขาย จากการคาดเดาพฤติกรรมของผู้บริโภคว่าจะใช้จ่ายอย่างไร และซื้อสินค้าประเภทไหน รวมถึงในมิติของการถอนเงินตามเงื่อนไขที่กำหนด
หากเป็นร้านค้าขนาดเล็กที่ต้องการเงินสดในทันทีและเดิมไม่ได้อยู่ในระบบภาษี อาจจะรู้สึกถึงความไม่คุ้มค่าจนตัดสินใจที่จะไม่เข้าร่วมโครงการ ทำให้ร้านค้าที่จะเข้าร่วมสุดท้ายแล้วอาจมีจำนวนน้อยกว่าที่คาดหวัง ส่งผลให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือการกระจายรายได้ไปยังร้านค้าต่าง ๆ อย่างทั่วถึง ก็จะจำกัดลงตาม
คาดกระตุ้นยอดขายธุรกิจค้าปลีกโตไม่มาก
ศูนย์วิจัยกสิกร คาดการณ์ว่า หากดิจิทัลวอลเล็ตสามารถดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้ อาจส่งผลให้ยอดขายค้าปลีกปี 2567 โต 4% ขยับขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะโต 3% หากไม่มีมาตรการฯ หรือยอดขายค้าปลีกเพิ่มขึ้นไม่มากราว 1%
โดยประเมินจากการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคบนฐานธุรกิจค้าปลีกที่น่าจะเพิ่มไม่ถึง 0.55 บาท หากผู้บริโภคมีรายได้เพิ่ม 1 บาท ภายใต้สมมติฐานธุรกรรมเกิดขึ้น 2 รอบ และราว 2 ใน 3 ตกในไตรมาส 4 ซึ่งนอกจากผลของการกำหนดเงื่อนไขในการใช้ดิจิทัลวอลเล็ตจะมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของยอดขายค้าปลีกแล้ว ยังมีเหตุผลอื่นมาจาก
- ยอดขายค้าปลีกส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน (ไม่รวมยอดขายยานพาหนะ และการรับประทานอาหารที่ร้านอาหาร) ซึ่งผู้บริโภคมีการวางแผนการใช้จ่ายอยู่แล้ว ทำให้การใช้จ่ายกรณีที่มีมาตรการฯ อาจจะไม่ได้เพิ่มขึ้น หรือเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก แต่เป็นเพียงการนำเงิน ดิจิทัลวอลเล็ต ที่ได้จากภาครัฐมาใช้แทนเงินในส่วนของตัวเอง
- หากมาตรการฯ มีความล่าช้า รวมถึงผู้บริโภคบางกลุ่มที่ไม่ได้ติดปัญหาเรื่องการกลับไปใช้เงินที่ภูมิลำเนา ก็อาจมีการทยอยใช้เงินหรือวางแผนใช้เงินในปีหน้า จึงอาจส่งผลต่อยอดขายของค้าปลีกในปี 2568 แทน
ดังนั้นผลของมาตรการฯ อาจไม่ได้หนุนผู้ประกอบการค้าปลีกให้มียอดขายที่ดีขึ้นเท่ากันทุกราย ขึ้นอยู่กับสภาพการแข่งขันของร้านค้าปลีกที่ลงทะเบียนเข้าร่วมในแต่ละพื้นที่ รวมถึงพฤติกรรมการใช้เงินของผู้บริโภค อีกทั้งยังต้องติดตามเงื่อนไขของมาตรการฯ ที่อาจเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดได้อีก
ถ้าดิจิทัลวอลเล็ตสามารถดำเนินการได้ตามแผน น่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนบรรยากาศหรือสร้างยอดขายให้กับธุรกิจค้าปลีกในช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงต้นปีหน้า แต่ผลกระตุ้นจะมากหรือน้อยยังคงขึ้นอยู่กับหลายเงื่อนไขที่ยังต้องรอติดตามความชัดเจน
เช็ก “เงื่อนไข-รายละเอียด” ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท
แบงก์ชาติตั้ง 5 คำถาม “ดิจิทัลวอลเล็ต”ต้องตอบ
ส่องแผนการคลัง 5 ปี หนี้พุ่งหนุนดิจิทัลวอลเล็ต
ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย