ขณะที่โครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท มีความล่าช้าจากความกังวลเรื่องข้อกฎหมายว่ารัฐบาลสามารถทำได้หรือไม่ แต่หลังจากรับฟังความเห็นจากหลายฝ่ายก็เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นว่าโครงการนี้อาจจะมีการผลักดันออกมา แต่เงื่อนไขจากคงเดิมหรือไม่ ต้องติดตามนโยบายที่จะประกาศออกมา
แนวโน้มที่รัฐบาลจะใช้ “งบประมาณแผ่นดิน” มีความเป็นไปได้มากขึ้น จากก่อนหน้านี้จะออกเป็นพระราชบัญญัติกู้เงิน หลังจากที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบผผนการคลังระยะปานกลาง ของปีงบประมาณ 2567 – 2571 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
แผนดังกล่าวมี “การปรับปรุง” ในส่วนของการจัดทำงบประมาณและประมาณการเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ
แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า งบปี 2568 มีการขาดดุลมากกว่าทุกปี 8.6 แสนล้านบาท ท่ามกลางความพยายามผลักดันมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ของรัฐบาล ที่ต้องการนำออกมาใช้ให้ทันภายในปลายปี 2567 และในปี 2569 ก็ยังขาดดุลกว่า 7 แสนล้านบาท
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 2 เม.ย. 2567 มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง ของปีงบประมาณ 2567 – 2571 ฉบับทบทวน เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมถึงเพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดเก็บหรือหารายได้ การจัดทำงบประมาณ และการก่อหนี้ของหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ ต่อไป ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐเสนอ
แผนการคลังระยะปานกลางฯ ประกอบด้วย 3 ส่วน
1.สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ
โดยในปี 2568 คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี (GDP) จะขยายตัวในช่วง 2.8 – 3.8% มีค่ากลาง 3.3% และ GDP Deflator (ตัววัดค่าเฉลี่ยของระดับราคาของสินค้าทุกชนิดที่รวมอยู่ในจีดีพี) อยู่ที่ 1.6%
สำหรับในปี 2569 คาดว่า จีดีพี จะขยายตัวอยู่ในช่วง 2.8 – 3.8% มีค่ากลาง 3.3% และในปี 2570 และ 2571 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.7 – 3.7% มีค่ากลาง 3.2% สำหรับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2569 – 2570 จะอยู่ในช่วง 1.3 – 2.3% และในปี 2571 – 2572 จะอยู่ในช่วง 1.5 – 2.5%
2.สถานะและประมาณการการคลัง
- ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2568 – 2571 เท่ากับ 2,887,000 ล้านบาท 3,040,000 ล้านบาท 3,204,000 ล้านบาท และ 3,394,000 ล้านบาท ตามลำดับ
- ประมาณการงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2568 – 2571 เท่ากับ 3,752,700 ล้านบาท 3,743,000 ล้านบาท 3,897,000 ล้านบาท และ 4,077,000 ล้านบาท ตามลำดับ
- จากประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิและงบประมาณรายจ่ายดังกล่าวในปีงบประมาณ 2568 – 2571 รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณจำนวน 865,700 ล้านบาท 703,000 ล้านบาท 693,000 ล้านบาท และ 683,000 ล้านบาท หรือ 4.42% 3.42% 3.21% และ 3.01% ต่อจีดีพีตามลำดับ
- ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 มีจำนวน 11,131,634.20 ล้านบาท คิดเป็น 62.44% ของจีดีพี และประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี สำหรับปีงบประมาณ 2568 – 2571 เท่ากับ 66.93% 67.53% 67.57% และ 67.05% ตามลำดับ
3.เป้าหมายและนโยบายการคลัง
ภาครัฐให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็ง เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนทางการคลังในอนาคต โดยยังคงยึดหลักแนวคิด “รีไวเวิล” (Revival) ที่มุ่งเน้นสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
โดยคำนึงถึงการรักษาวินัยการเงินการคลัง อย่างเคร่งครัด ให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพทางการคลังผ่านการสร้างความเข้มแข็งด้านการคลังในด้านต่าง ๆ ทั้งในส่วนของการพิจารณาจัดลำดับความสำคัญและความจำเป็น ความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและความครอบคลุมจากทุกแหล่งเงินในการใช้จ่ายภาครัฐ ควบคู่ไปกับการทบทวนและยกเลิกมาตรการลดและยกเว้นภาษีให้มีเพียงเท่าที่จำเป็น การปฏิรูปโครงสร้าง และการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ รวมถึงการบริหารจัดการหนี้สาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดขนาดการขาดดุลการคลังและสร้างกันชนทางการคลัง ในการบริหารจัดการพื้นที่สำหรับการดำเนินนโยบายที่จำเป็น ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไป
เป้าหมายและประโยชน์ที่จะได้รับ
สำหรับเป้าหมายการคลังของแผนการคลังฉบับนี้ รัฐบาลมุ่งเน้นจัดทำงบประมาณรายจ่ายแบบขาดดุลในระยะสั้น เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ และมุ่งเน้นการปรับลดขนาดการขาดดุลให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในระยะปานกลาง
ทั้งนี้ หากในระยะต่อไป ภาวะเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ ภาครัฐสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการคลังทั้งทางด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะได้ เป้าหมายการคลังในระยะยาวจะกำหนดให้รัฐบาลมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยมีประมาณการสถานะการคลังในระยะปานกลางภายใต้สมมติฐานทางเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบัน ดังนี้
การจัดทำแผนการคลังระยะปานกลางฯ จะเป็นแผนแม่บทหลักให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดเก็บหรือหารายได้ การจัดทำงบประมาณ และการก่อหนี้ของหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งภาคการคลังของประเทศในด้าน ต่าง ๆ โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง (Fiscal Consolidation) เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนทางการคลังในอนาคต
รัฐบาลก่อหนี้เพิ่ม 5.6 แสนล้านบาท ดันหนี้สาธารณะแตะ 61.29%
เวิลด์แบงก์มองดิจิทัลวอลเล็ต กระตุ้นจีดีพีระยะสั้นดันหนี้เพิ่ม