ความหวังในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ที่ถือเป็นนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ของรัฐบาลยุคเศรษฐา ทวีสิน เริ่มใกล้เป็นความจริงมากขึ้น เมื่อการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2567 มีมติเห็นชอบปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 400 บาท ของกิจการโรงแรม เพื่อใช้สำหรับนายจ้างและลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการประเภทกิจการโรงแรม ตั้งแต่ระดับ 4 ดาวขึ้นไป และมีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย. 2567 และจะเริ่มนำร่องใน 10 จังหวัด ประกอบด้วย
1. กรุงเทพมหานคร เฉพาะเขตปทุมวัน และเขตวัฒนา
2. จังหวัดกระบี่ เฉพาะเขตองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง
3. จังหวัดชลบุรี เฉพาะเขตเมืองพัทยา
4. จังหวัดเชียงใหม่ เฉพาะเขตเทศบาลนครเชียงใหม่
5. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เฉพาะเขตเทศบาลหัวหิน
6. จังหวัดพังงา เฉพาะเขตเทศบาลตำบลคึกคัก
7. จังหวัดภูเก็ต
8. จังหวัดระยอง เฉพาะเขตตำบลบ้านเพ
9. จังหวัดสงขลา เฉพาะเขตเทศบาลนครหาดใหญ่
10 จังหวัดสุราษฎร์ธานี เฉพาะเขตอำเภอเกาะสมุย
โดยสาเหตุของการปรับขึ้นค่าจ้างในครั้งนี้ เนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งธุรกิจโรงแรมมีการขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง และ 10 จังหวัดดังกล่าว เป็นพื้นที่ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูง
ทั้งนี้คณะกรรมการค่าจ้างฯ พิจารณาบนพื้นฐานของความเสมอภาค และรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพื่อให้นายจ้าง และลูกจ้าง สามารถประกอบธุรกิจและดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข ซึ่งคณะกรรมการค่าจ้างจะติดตามผลกระทบที่เกิดจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรม เพื่อพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำด้วยความรอบคอบต่อไป
การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่ต้องการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทตั้งแต่ปีแรกที่เข้ามาเป็นรัฐบาล จนถึง 600 บาท ภายในปี 2570 โดยเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2567 ได้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมาแล้ว 1 ครั้ง เป็น 330-370 บาท ซึ่งได้ไม่เท่ากันทุกจังหวัด เป็นตามมติคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ที่ประกอบด้วยฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง และภาครัฐ แม้นายกรัฐมนตรีจะขอให้ทบททวนปรับขึ้นเป็น 400 บาท แต่กรรมการไตรภาคีก็ให้เห็นผลว่าเป็นอัตราค่าที่จ้างที่นายจ้างสามารถจ่ายไหว และไม่กระทบการประกอบกิจการ
แต่ต่อมาวันที่ 18 ม.ค. 2567 คณะกรรมการค่าจ้าง ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมวิเคราะห์และปรับปรุงสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เนื่องจากไม่ได้มีการปรับสูตรมานาน 10 ปี ซึ่งจะศึกษาโครงสร้างข้อมูลค่าแรงขั้นต่ำแบบละเอียด เพื่อนำไปใช้ปรับสูตรขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากที่สุด โดยจะลงลึกเป็นรายพื้นที่ทุกจังหวัด ระดับรายอำเภอ เทศบาล หรือรายเขตกรุงเทพมหานคร รวมถึงรายวิชาชีพ
“อาชีวะไทย” แรงงานทักษะฝีมือดี เนื้อหอมในตลาดโลก
ตำแหน่งงานกว่า 88% กระจุกในกทม.-ปริมณฑล
เกษตรกรไทยติดกับดักรายได้ต่ำ ไร้เสน่ห์ดึงดูดแรงงานรุ่นใหม่