ภาพภาพลักษณ์เชิงลบที่ออกมาตลอดในแต่ละปีของนักเรียนอาชีวะ ทั้งความรุนแรง การทะเลาะวิวาท และอาชญากรรม ซึ่งข่าวที่ออกมาก่อให้เกิดทัศนคติเชิงลบแบบเหมารวมกับนักเรียนอาชีวะและแรงงานสายอาชีวะ ทั้ง ๆ ที่ในหลายโอกาส นักเรียนอาชีวะก็ใช้ทักษะและความรู้ทำประโยชน์ให้ชุมชนและสังคมด้วยเช่นกัน แต่มักไม่เป็นข่าว
ประกอบกับการขาดข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับอาชีวศึกษาไทยที่รอบด้าน ส่งผลให้นักเรียนจำนวนมากไม่นิยมเลือกเรียนสายอาชีพ ปัจจุบันไทยจึงเผชิญกับภาวะการขาดแคลนแรงงานทักษะมีฝีมือจากอาชีวศึกษาในหลายอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ
แต่นักเรียนอาชีวะและแรงงานทางด้านอาชีวศึกษาเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญ ถือเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศชาติ และมีศักยภาพในการผลักดันเศรษฐกิจไทยให้หลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง
จากผลการศึกษาวิจัย “การพัฒนาศักยภาพและเอกลักษณ์แรงงานอาชีวศึกษาไทยใน 3 อุตสาหกรรมหลัก: การวิเคราะห์ผ่านแผนที่เส้นทางการก้าวเข้าสู่แรงงานอาชีวศึกษาไทย ภายใต้แนวคิดความปกติใหม่” ตั้งแต่ปลายปี 2563 ถึง พ.ค. 2565 ของ รศ.ดร. จุลนี เทียนไทย ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาและอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับอาชีวศึกษาไทย จุดเด่น-เอกลักษณ์อาชีวะไทยที่เป็นที่ยอมรับในตลาดแรงงาน ซึ่งน่าส่งเสริมยกระดับให้ดียิ่งขึ้น และ ยังมีข้อเสนอต่าง ๆ เพื่อพัฒนาแรงงานสายอาชีพของไทย ทั้งด้านความรู้ ทักษะ (Up-Skill) และการสร้างอาชีพใหม่ เป็นต้น
การวิจัยชิ้นนี้เน้นการศึกษาแบบเจาะลึกเพื่อให้ได้มุมมองจาก คนใน 3 กลุ่ม จำนวนทั้งสิ้น 177 คน ได้แก่ กลุ่มนักเรียนอาชีวศึกษาที่กำลังศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) อายุ 18 ปี ขึ้นไป กลุ่มแรงงานอาชีวศึกษา ที่เรียนจบแล้ว อายุระหว่าง 19-49 ปี และกลุ่มนายจ้างที่รับผู้จบการศึกษาอาชีวะเข้าทำงาน
แรงจูงใจสำคัญให้นักเรียนเลือกสายอาชีวศึกษา
ผลการวิจัยเผยปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกเรียนด้านอาชีวศึกษาของนักเรียน ได้แก่ ปัจจัยภายใน คือ การรู้จักตัวเองว่ามีความชื่นชอบและสนใจการเรียนอาชีวะซึ่งเน้นการลงมือปฏิบัติ และมีเป้าหมายอาชีพในอนาคตชัดเจน
ทั้งนี้ส่วนปัจจัยภายนอก อาทิ คนรอบตัว โดยเฉพาะครอบครัวเป็นแรงบันดาลใจให้เลือกเรียนอาชีวะ การเห็นโอกาสที่จะได้งานทำหลังเรียนจบ สามารถหารายได้พิเศษระหว่างเรียน เหตุผลด้านการเงิน เช่น ค่าใช้จ่ายในการเรียนที่ไม่เป็นภาระครอบครัว การได้รับทุนการศึกษา การได้รับคำแนะนำจากครูแนะแนว และการประชาสัมพันธ์จากสถาบันอาชีวศึกษา รวมถึงภาพลักษณ์และชื่อเสียงของสถาบันอาชีวศึกษาและบริบทพื้นที่ เช่น พื้นที่ที่เด่นในเรื่องการท่องเที่ยว จะมีนักเรียนที่อยากเรียนสาขาการท่องเที่ยว เป็นต้น
สายอาชีวศึกษาเรียนรู้ได้เร็ว-ต่อยอดงานได้
อาชีวศึกษาเป็นทางเลือกที่ไม่ได้ด้อยไปกว่าการเรียนสายสามัญ หรืออาจจะได้เปรียบกว่าเมื่อเดินเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยสายอาชีวศึกษาในประเทศไทยมีการเรียนการสอนกว่า 11 ประเภทวิชา และจำนวนสาขาวิชาที่เปิดสอนกว่า 93 สาขาวิชา ซึ่งสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้หลากหลาย ปัจจุบันมีถึง 102 สาขาวิชา
“อาชีวศึกษาคือการเรียนในสิ่งที่ใช้ได้จริง นักเรียนสายอาชีวศึกษามีทั้ง ความรู้ และ ทักษะ ที่เกี่ยวข้องกับงานโดยตรง ผ่านการเรียนรู้แบบฝึกฝนลงมือทำ จึงเกิดทักษะ ทั้ง Hard Skills และ Technical Skills”
นอกจากนี้ การที่ได้รับโอกาสในการฝึกฝนลงมือปฏิบัติทั้งในโรงเรียนและในสถานประกอบการ นักเรียนอาชีวะจึงได้พัฒนาทักษะและสมรรถนะสำคัญ (Soft Skills) ที่ไม่ใช่ทักษะอาชีพโดยตรงด้วย เช่น ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น การควบคุมอารมณ์ ความเข้มแข็งอดทน การรับมือกับความกดดันในโลกแห่งความเป็นจริง การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า มีความคิดสร้างสรรค์ การมีใจรักในการให้บริการ ซึ่งทักษะเหล่านี้เสริมความพร้อม และความชำนาญ ในการปฏิบัติงาน ซึ่งทำให้นายจ้างและผู้ประกอบการมั่นใจที่จะจ้างงานนักเรียนอาชีวะ เนื่องจากเชื่อมั่นว่านักเรียนกลุ่มนี้จะเรียนรู้ได้เร็วและต่อยอดงานได้ทันที
อย่างไรก็ตาม อาชีวศึกษานั้นไม่ได้เรียนง่ายและไม่ได้ด้อยกว่าสายสามัญ โดยอาชีวศึกษาคือการเรียนในสิ่งที่ใช้ได้จริง และนักเรียนจะได้พัฒนาตัวเองในหลากหลายทักษะ ซึ่งเมื่อเรียนจบก็สามารถเป็นผู้ประกอบการหรือเติบโตในเส้นทางอาชีพของตนเองได้
แรงงานอาชีวะไทยเป็นที่ต้องการในตลาดต่างประเทศ
สำหรับแรงงานอาชีวศึกษาไทยมีเอกลักษณ์อันเป็นที่ยอมรับ และต้องการในตลาดแรงงานทั้งภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่ลักษณะงานต้องใช้ทักษะฝีมือและความชำนาญสูง แรงงานอาชีวศึกษาไทยจะยิ่งมีความโดดเด่นเป็นพิเศษ เช่น อุตสาหกรรมเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ อาชีพด้านการท่องเที่ยว การโรงแรม ศิลปกรรม และอาหาร
แรงงานอาชีวศึกษาไทยมีทักษะฝีมือดี จนบริษัทต่างชาติให้การยอมรับและจ้างไปทำงาน ซึ่งสิ่งที่แรงงานอาชีวะของไทยแตกต่างจากแรงงานอาชีวะจากประเทศอื่น ได้แก่ การมีความคิดในการประยุกต์อย่างสร้างสรรค์ สามารถนำองค์ความรู้ที่มีอยู่เดิมมาประยุกต์หรือดัดแปลงใหม่ให้ตอบโจทย์บริบทของท้องถิ่นมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจอุตสาหกรรมที่เน้นการบริการ เช่น ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว แรงงานอาชีวะไทยจัดได้ว่ามีความโดดเด่นและเป็นที่ต้องการของตลาด
“เรามีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีสัมมาคารวะ ส่งผลให้แรงงานไทยมีคุณลักษณะที่ส่งผลดีต่อการทำงานในสายอาชีพ เช่น การรับมือกับลูกค้าด้วยความสุภาพ นอบน้อม มีสัมมาคารวะกับรุ่นพี่หรือนายจ้าง เรามีความเป็นมิตรที่สร้างความรู้สึกอบอุ่น เป็นผู้ที่กินอยู่ง่าย ไม่คิดเล็กคิดน้อยในหน้าที่การทำงานและเงิน ”
4 ปัญหาใหญ่ เป็นอุปสรรคนักเรียนอาชีวะไทย
- อุปกรณ์การเรียนการสอน อาทิ อุปกรณ์ไม่เพียงพอ ชำรุดหรือตกรุ่นไปแล้ว ไม่มีสื่อการสอนที่หลากหลายและเหมาะสม ไม่มีห้องปฏิบัติการจำลองการทำงานเสมือนจริง หรือมีแต่ไม่ครบถ้วน
- หลักสูตร วิชาสามัญเน้นการท่องจำและสั่งงานมากกว่าวิชาหลักในสายอาชีพ รายวิชามีเนื้อหาไม่ได้รับการปรับปรุงให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง บางรายวิชามีเนื้อหาที่ยากเกินความจำเป็น ฯลฯ
- ครู มีไม่เพียงพอ ไม่มีความเชี่ยวชาญในวิชาที่สอน ขาดทักษะทางเทคโนโลยี
- ตัวนักเรียน เช่น ต้องทำงานพิเศษเพื่อหารายได้ ฯลฯ จนทำให้ขาดการเรียนรู้อย่างสมบูรณ์
ปัญหาการลาออกระหว่างเรียน มีหลายสาเหตุเกิดจากนักเรียนเพิ่งค้นพบในภายหลังว่าสาขาที่เลือกเรียนนั้นไม่ถนัด และไม่ตรงตามบุคลิกภาพ หรือจริตนิสัยของตนเอง เนื่องจากความเข้าใจผิดและการไม่มีข้อมูล หรือความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสาขาที่ตนเลือกมาเรียน ทำให้นักเรียนไม่ทราบถึงความชอบและความถนัดของตนเองอย่างแท้จริง รวมทั้งเกิดจากการตั้งครรภ์ระหว่างเรียน ปัจจัยทางด้านครอบครัวมีฐานะยากจนลำบาก และปัจจัยเกี่ยวกับครูหรือโรงเรียน
เร่งส่งเสริมภาพลักษณ์ “อาชีวศึกษา” สะท้อนบทบาทที่สำคัญ
- สร้างสถาบันอาชีวศึกษาเฉพาะทางของสาขาอาชีพและพัฒนาให้โดดเด่น ได้มาตรฐานนานาชาติและมีชื่อเสียงระดับโลก
- เพิ่มการออกข่าวในด้านดีและความสำเร็จของนักเรียนและแรงงานอาชีวศึกษาให้มากขึ้น เพื่อให้คนในสังคมเห็นความสามารถของนักเรียนอาชีวศึกษาในแขนงต่าง ๆ รวมทั้งการนำผลงานของนักเรียนที่ไปประกวดชนะการแข่งขันในระดับต่าง ๆ มานำเสนอให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ เพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงประชาชน ผ่านสื่อหลากหลายรูปแบบที่ไม่ใช่แค่ข่าวโทรทัศน์ อาจจะเป็นสื่อในรูปแบบละคร ภาพยนตร์ ซีรีส์ต่าง ๆ ที่สอดแทรกบทบาทของอาชีวศึกษาในทางสร้างสรรค์ให้มากขึ้น
- มีระบบการดูแลสนับสนุนกลุ่มนักเรียนที่มีฝีมือหรือเคยชนะการประกวดได้รางวัลให้ได้ทำงานกับองค์การระดับต้น ๆ ของไทย หรือให้ทุนไปดูงานในต่างประเทศเพื่อเปิดโลกทัศน์ให้นำความรู้มา ต่อยอดได้
- สร้างความผูกพันระหว่างอาชีวศึกษากับชุมชน ผ่านการส่งเสริมให้อาชีวศึกษากับชุมชนร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่ของตนเอง