ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติรับทราบประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดไตรภาคี) เรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 68 เป็นต้นไป โดยสาระสำคัญ คือ เป็นการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท
ขึ้นค่าแรง 400 บาทรอบใหม่
ทั้งนี้คณะกรรมการค่าจ้างชุดปัจจุบัน ได้พิจารณาทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2568 เมื่อวันที่ 17 เม.ย.68 โดยมีมติเห็นชอบให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ใน 3 กลุ่ม อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ เช่น (1) แรงงานมีขวัญและกำลังใจในการทำงาน มีรายได้เพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น (2) ผู้ประกอบการสามารถลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจะจูงใจให้มีแรงงานเข้าสู่สถานประกอบกิจการมากขึ้น ดังนี้
1. ให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในท้องที่กรุงเทพมหานคร (ทุกพื้นที่) เพิ่มในอัตราวันละ 28 บาท เป็นอัตราวันละ 400 บาท จากเดิม 372 บาท
2. ให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในประเภทกิจการโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม ทั่วประเทศ เป็นอัตราวันละ 400 บาท เฉพาะ
- โรงแรมประเภท 2 คือ โรงแรมที่มีห้องพัก 50 ห้องขึ้นไป หรือมีห้องพักและห้องอาหารหรือสถานที่ประกอบอาหาร
- โรงแรมประเภท 3 (โรงแรมที่มีห้องพัก ห้องอาหารหรือสถานที่ประกอบอาหาร สถานบริการ หรือห้องประชุมสัมมนา)
- โรงแรมประเภท 4 (โรงแรมที่มีห้องพัก ห้องอาหารหรือสถานที่ประกอบอาหาร สถานบริการ และห้องประชุมสัมมนา)
3. ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในประเภทกิจการสถานบริการ ตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ ทั่วประเทศ เป็นอัตราวันละ 400 บาท โดยสถานบริการ หมายถึง สถานบริการตามพระราชบัญญัติสถานบริการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2546 เช่น สถานที่ที่มีอาหาร สุรา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายหรือให้บริการโดยมีรูปแบบอย่างใดอย่างหนึ่ง (เช่น จัดให้มีการแสดงดนตรีและการแสดงเพื่อการบันเทิงซึ่งปิดทำการหลังเวลา 24.00 น.)
ทั้งนี้ คณะกรรมการค่าจ้าง ได้เห็นชอบให้ประกาศใช้บังคับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 68 เป็นต้นไป
สรุปจังหวัดที่ได้ขึ้นค่าแรงแล้ว
- 400 บาท: กรุงเทพมหานคร, ภูเก็ต, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง, สุราษฎร์ธานี (อ.เกาะสมุย), โรงแรมประเภท 2,3,4 ทั่วประเทศ, สถานบริการทั่วประเทศ
- 380 บาท: อ.เมืองเชียงใหม่, อ.เมืองสงขลา
- 372 บาท: นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร
- 359 บาท: นครราชสีมา
- 358 บาท: สมุทรสงคราม
- 357 บาท: ขอนแก่น, เชียงใหม่ (ยกเว้น อ.เมืองเชียงใหม่), ปราจีนบุรี, พระนครศรีอยุธยา, สระบุรี
- 356 บาท: ลพบุรี
- 355 บาท: นครนายก, สุพรรณบุรี, หนองคาย
- 354 บาท: กระบี่, ตราด
- 352 บาท: กาญจนบุรี, จันทบุรี, เชียงราย, ตาก, นครพนม, บุรีรัมย์, ประจวบคีรีขันธ์, พังงา, พิษณุโลก, มุกดาหาร, สกลนคร, สงขลา (ยกเว้น อ.เมืองหาดใหญ่), สระแก้ว, สุราษฎร์ธานี (ยกเว้น อ.เกาะสมุย), อุบลราชธานี
- 351 บาท: ชุมพร, เพชรบุรี, สุรินทร์
- 350 บาท: นครสวรรค์, ยโสธร, ลำพูน
- 349 บาท: กาฬสินธุ์, นครศรีธรรมราช, บึงกาฬ, เพชรบูรณ์, ร้อยเอ็ด
- 348 บาท: ชัยนาท, ชัยภูมิ, พัทลุง, สิงห์บุรี, อ่างทอง
- 347 บาท: กำแพงเพชร, พิจิตร, มหาสารคาม, แม่ฮ่องสอน, ระนอง, ราชบุรี, ลำปาง, เลย, ศรีสะเกษ, สตูล, สุโขทัย, หนองบัวลำภู, อำนาจเจริญ, อุดรธานี, อุตรดิตถ์, อุทัยธานี
- 345 บาท: ตรัง, น่าน, พะเยา, แพร่
- 337 บาท: นราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา
ย้อนอุปสรรคขึ้นค่าแรง
นโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงไว้ในช่วงเลือกตั้งปี 2566 เพื่อแก้ปัญหา “การรวยกระจุก จนกระจาย” หวังช่วยให้แรงงานมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้ดีขึ้น และเมื่อเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาลก็มีความพยานามผลักดันนโยบายนี้ให้เกิดขึ้นจริงภายใต้นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน แม้นักวิชาการและภาคเอกชนจะไม่ค่อยเห็นด้วยก็ตาม เพราะอาจแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ทำให้เอกชนมีต้นทุนเพิ่มขึ้น และราคาสินค้าก็จะแพงขึ้นตามมา
แม้เส้นทางการปรับขึ้นค่าแรงจะมีเสียงคัดค้านจำนวนมาก จนต้องให้คณะอนุกรรมการค่าจ้างทุกจังหวัดไปสำรวจความเห็นจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ ก่อนจะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดมาให้คณะกรรมการค่าจ้างพิจารณา แต่การปรับขึ้นค่าแรงก็ยังไม่สามารถทำได้ เพราะมีอุปสรรคหลายอย่าง ทั้งคณะกรรมการฯไม่ครบองค์ประชุม เนื่องจากฝ่ายนายจ้างไม่ร่วมประชุม และกรรมการบางรายเกษียณอายุต้องรอแต่งตั้งใหม่
จนกระทั่ง แพทองธาร ชินวัตร เข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ การปรับขึ้นค่าแรงจึงมีความคืบหน้ามากขึ้น สุดท้ายคณะกรรมการค่าจ้างก็ได้ข้อสรุปปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษามีผลวันที่ 1 ม.ค. 68 โดยปรับขึ้น 400 บาทต่อวัน เพียง 4 จังหวัดบวก 1 อำเภอ ส่วนจังหวัดอื่น ๆ ปรับขึ้นเป็น 337-380 บาทต่อวัน
ต่อมา ครม.มีมติให้เฉพาะกิจการโรงแรม ระดับ 4 ดาวขึ้นไป ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ในพื้นที่ 10 จังหวัดนำร่อง ในเขตพื้นที่ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูง ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันด้วยเช่นกัน (ปรับเพิ่มอัตราวันละ 30-55 บาท เฉพาะบางเขตพื้นที่) มีผล 13 เม.ย. 68
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
ค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท “ไม่ทั่วประเทศ” แค่ 4 จังหวัด 1 อำเภอย่าง