ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2567 ได้มีมติเห็นชอบปรับปรุงมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ทั้งรถโดยสารไฟฟ้า (E-Bus) และรถบรรทุกไฟฟ้า (E-Truck) เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมถึงช่วยสร้างฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในประเทศ
มาตรการนี้ จะอนุญาตให้บริษัทเอกชน หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล จากการซื้อรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้งาน โดยไม่กำหนดเพดานราคาขั้นสูง ทั้งนี้หากซื้อรถที่ผลิต หรือประกอบในประเทศไทย สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า ส่วนรถสำเร็จรูปที่นำเข้าจากต่างประเทศ สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า โดยมาตรการนี้จะมีผลจนถึงสิ้นปี 2568
ไทยเข้าสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้า ยอดจำหน่ายทะยาน 700%
บอร์ดอีวี ได้ตั้งเป้าหมายเพื่อช่วยเร่งให้เกิดการปรับเปลี่ยนรถยนต์เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 คัน ช่วยลดการปล่อยมลภาวะในภาคการขนส่ง และให้ไทยเป็นศูนย์กลางอีวีของภูมิภาคในรถยนต์ทุกประเภท
รวมถึง บอร์ดอีวี ได้เห็นชอบให้ปรับปรุงมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 เช่น ขยายขอบเขตของรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิให้ครอบคลุมรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน และเพิ่มคุณสมบัติของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า กรณีที่มีขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 3 กิโลวัตต์-ชั่วโมง (kWh) แต่มีระยะทางวิ่งมากกว่า 75 กิโลเมตรต่อรอบการชาร์จ รวมทั้งมีมาตรฐานความปลอดภัย ให้สามารถเข้าร่วมมาตรการ EV3.5 ได้ เพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการมากขึ้น
มาตรการ EV 3.5 อุดหนุนเงินซื้อรถไฟฟ้า เร่งพลิกโฉมยานยนต์ไทย
ก่อนหน้านี้ บอร์ดอีวี ได้ออกมาตรการ EV3.0 เป็นมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 1 เพื่ออุดหนุนเงินเป็นส่วนลดในการซื้อรถไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ซึ่งได้หมดเวลาเข้าร่วมโครงการเมื่อสิ้นปี 66 และต่อมาได้ออกมาตรการ EV 3.5 เป็นมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2567-2570 ซึ่งให้จะเงินอุดหนุน การลดอัตราอากรขาเข้ารถยนต์สำเร็จรูป และการลดอัตราภาษีสรรพสามิต โดยเงินอุดหนุนจะเป็นไปตามประเภทของรถ และขนาดของแบตเตอรี่ เฉพาะรถยนต์นั่งไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เท่านั้น แต่มาตรการนี้ยังไม่ครอบคลุมถึงรถโดยสารไฟฟ้า และรถบรรทุกไฟฟ้า
รายละเอียดเกณฑ์มาตรการ EV 3.5 (เดิม)
กรณีรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 กิโลวัตต์-ชั่วโมง (kWh) จะได้รับเงินอุดหนุน
- 100,000 บาท/คัน ในปีที่ 1
- 75,000 บาท/คันในปีที่ 2
- 50,000 บาท/คัน ในปีที่ 3-4
สำหรับรถที่มีขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 50 กิโลวัตต์-ชั่วโมง (kWh) จะได้รับเงินอุดหนุน
- 50,000 บาท/คันในปีที่ 1
- 35,000 บาท/คันในปีที่ 2
- 25,000 บาท/คันในปีที่ 3-4
ส่วนรถกระบะไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 กิโลวัตต์-ชั่วโมง (kWh)จะได้รับเงินอุดหนุน 100,000 บาท/คัน ตลอดระยะเวลา 4 ปี เฉพาะส่วนที่ผลิตในประเทศ
ขณะที่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 150,000 บาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 กิโลวัตต์-ชั่วโมง (kWh) จะได้รับเงินอุดหนุน 10,000 บาท/คัน ตลอดระยะเวลา 4 ปี เฉพาะส่วนที่ผลิตในประเทศ
ผลจากมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้ที่ผ่านมาในปี 2566 มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า อยู่ที่ 76,000 คัน เพิ่มขึ้น 6.5 เท่าจากปีก่อน โดยข้อมูล ณ สิ้นปี 2566 บีโอไอได้ให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมอีวี จำนวน 103 โครงการ เงินลงทุนรวม 77,192 ล้านบาท แบ่งเป็น รถยนต์อีวี 18 โครงการ 40,004 ล้านบาท รถจักรยานยนต์อีวี 9 โครงการ 848 ล้านบาท รถบัสอีวีและรถบรรทุกอีวี 3 โครงการ 2,200 ล้านบาท แบตเตอรี่สำหรับรถอีวีและ ESS 39 โครงการ 23,904 ล้านบาท ชิ้นส่วนสำคัญ 20 โครงการ 6,031 ล้านบาท และสถานีอัดประจุไฟฟ้า 14 โครงการ 4,205 ล้านบาท
รัฐให้สิทธิประโยชน์-เงินอุดหนุนผู้ผลิตแบตเตอรี่ ดึงดูดลงทุนในไทย
นอกจากนี้ บอร์ดอีวี ย้งต้องการส่งเสริมการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) เพื่อดึงดูดให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ ซึ่งเป็นการผลิตต้นน้ำที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
โดยให้ผู้ลงทุนจะสามารถขอรับสิทธิประโยชน์ และเงินสนับสนุนจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ภายใต้บีโอไอ (BOI) มีเงื่อนไข คือ
- ต้องเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำที่มีการใช้งานโดยผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า
- ต้องมีแผนการผลิตเซลล์แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า โดยสามารถผลิตเซลล์แบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ด้วยได้
- ต้องผลิตเซลล์แบตเตอรี่ที่มีค่าพลังงานจำเพาะ ไม่น้อยกว่า 150 วัตต์-ชั่วโมงต่อกิโลกรัม (Wh/kg)
- ต้องมีจำนวนรอบการอัดประจุ (Life Cycle) ไม่น้อยกว่า 1,000 รอบ
โดยผู้ผลิตจะต้องยื่นข้อเสนอโครงการลงทุนภายในปี 2570 ส่วนเรื่องการบริหารจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้วในประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานความปลอดภัย และเกิดประโยชน์สุงสุดต่อเศรษฐกิจ า ดังนั้น ที่ประชุมมอบหมายให้คณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ไปศึกษาแนวทางการบริหารจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้วแบบครบวงจร เพื่อกำหนดมาตรการที่เหมาะสมต่อไป