ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำถือเป็นนโยบายที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก ซึ่งรัฐบาลแทบไม่ต้องเจียดเงินงบประมาณออกมาใช้ และยังเป็นนโยบายประชานิยมที่สามารถเรียกคะแนนเสียงได้อีกด้วย โดยพรรคเพื่อไทยได้หาเสียงนโยบายนี้ไว้ในช่วงเลือกตั้งเมื่อกลางปี 66 สัญญาว่าจะปรับขึ้นค่าแรง 400 บาทต่อวันทันที หากได้เข้ามาเป็นรัฐบาล แต่เมื่อพรรคเพื่อไทยจับมือกับอีก 11 พรรคร่วม จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้แล้วกลับไม่สามารถขึ้นค่าแรงได้ทันทีอย่างที่ตั้งใจไว้
รัฐบาลเศรษฐาขึ้นค่าแรงแล้ว 2 ครั้ง
ทำให้ในครั้งแรกคณะกรรมการค่าจ้าง ที่มีนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล เริ่มเจรจาร่วมกันจนมีมติให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตรา 2-16 บาทต่อวัน เริ่มบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 2567 ซึ่งก็ยังไม่ได้ค่าแรงขั้นต่ำที่ระดับ 400 บาท อีกทั้งในแต่ละจังหวัดก็ได้เพิ่มไม่เท่ากัน
หลังจากนั้นมีการปรับสูตรคำนวณขึ้นค่าแรงขั้นต่ำใหม่ เพราะสูตรเดิมใช้มานานราว 10 ปี ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน จนได้ปรับขึ้นค่าแรงครั้งที่สอง รอบนี้ขึ้นถึง 400 บาท เฉพาะธุรกิจโรงแรมใน 10 จังหวัดพื้นที่ท่องเที่ยว กำหนดขนาดธุรกิจตั้งแต่ระดับ 4 ดาวขึ้นไป และมีลูกจ้างขั้นต่ำ 50 คน มีผล 16 เม.ย. 2567
แม้จะได้ค่าแรง 400 บาท ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล แต่ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นมาตรการที่ประสบความสำเร็จมากนัก โดยจากผลวิเคราะห์ของนักเศรษฐศาสตร์พบว่า การขึ้นค่าแรงธุรกิจโรงแรม 10 จังหวัด มีลูกจ้างได้รับประโยชน์ไม่ถึง 20,000 ราย เพราะเดิมค่าแรงขั้นต่ำของกลุ่มธุรกิจโรงแรมมีอัตราที่สูงเกิน 400 บาทอยู่แล้ว
เอกชนค้านหนักค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ
รัฐบาลจึงผลักดันขึ้นค่าแรงทั่วประเทศ ประกาศเป้าหมายจะให้ปรับขึ้นวันที่ 1 ต.ค. 2567 แต่ครั้งนี้อาจไม่ง่าย เพราะมีเสียงจากเอกชนจากหลายองค์กรรุมค้านอย่างหนัก ทั้งคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ต่างไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท เพราะเป็นอัตราที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง จะกระทบต่อเศรษฐกิจ การลงทุน และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
นอกจากนี้สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย นำ 16 สภาองค์การนายจ้าง ยื่นคัดค้านที่กระทรวงแรงงาน ไม่เห็นด้วยกับค่าแรง 400 บาทเท่ากันทั้งประเทศ เพราะเศรษฐกิจยังเปราะบาง และผู้ประกอบอาจรับไม่ไหว หลังปรับขึ้นค่าแรงมาแล้ว 2 ครั้ง จึงมองว่าไม่เหมาะสม
ท่ามกลางเสียงคัดค้านรอบด้าน แต่รัฐบาลยังคงเดินหน้าผลักดันต่อ โดยวันที่ 14 พ.ค. 67 หลังเสร็จประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ชิงประกาศไทม์ไลน์ปรับขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ คาดเริ่มบังคับใช้ ต.ค. 67 ก่อนจะมีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง
ในช่วงเย็นวันเดียวกันผลประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง กลับมีมติให้อนุกรรมการค่าจ้างไปสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมทุกจังหวัดภายใน 2 เดือน และไม่ยืนยันว่าจะปรับขึ้นในวันที่ 1 ต.ค. 67 ซึ่งสวนทางกับไทม์ไลน์ของรัฐบาลอย่างชัดเจน สะท้อนว่ายังคงมีความขัดแย้งกับกลุ่มนายจ้าง และต้องการซื้อเวลาเพิ่ม
ยุค ‘ยิ่งลักษณ์’ ขึ้นค่าแรง 300 บาทได้ทันที
เมื่อตอนสมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ภายใต้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สามารถปรับขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศได้ทันที มาพร้อมกับมีผลศึกษาวิเคราะห์ด้วยว่าการขึ้นค่าแรงจะไม่เป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจ ไม่กระทบผู้ประกอบการหรือการลงทุนเอกชน และทำให้แรงงานมีรายได้เพิ่ม มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีกำลังซื้อ
ซึ่งแตกต่างอย่างสุดขั้วกับรัฐบาลเพื่อไทยภายใต้ยุคเศรษฐา ที่ไม่สามารถปรับขึ้นค่าแรงได้อย่างใจนึกคิด ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป และคำพูดของผู้นำประเทศก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ท่ามกลางเสียงคัดค้านกดดันรอบด้านจากภาคเอกชนที่ทยอยเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย
การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศในครั้งนี้ จึงมีความไม่แน่นนอนสูงมาก ว่าจะออกมาในรูปแบบไหน และจะทำได้เมื่อไหร่ ตราบใดที่รัฐบาลยังมีปัญหาในด้านเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งจะต้องได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชน ที่ถือเป็นการสร้างรากฐานให้กับอำนาจที่มั่นคงของรัฐบาล
นับถอยหลังขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ ใน ก.ย.-ต.ค.