การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 28 มี.ค. 68 มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. …. และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในการสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนต์ของไทย และเป็นหนึ่งในนโยบายซอฟท์พาวเวอร์
ร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. …. เป็นการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยภาพยนตร์ โดยได้กำหนดให้ยกเลิกพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 (ได้มีการแยกกฎหมายภาพยนตร์และวีดิทัศน์หรือเกมแยกออกจากกันเนื่องจากมีลักษณะที่แตกต่างกัน เพื่อความคล่องตัวในการปฏิบัติตามและการส่งเสริมอุตสาหกรรมแต่ละประเภท) เพื่อปรับปรุงกลไกการกำกับดูแลการประกอบกิจการเกี่ยวกับภาพยนตร์ให้มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับสภาวการณ์และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป และเพิ่มกลไกการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศ
ทั้งนี้ จะมีมาตรการคุ้มครองดูแลผู้บริโภคสื่อภาพยนตร์ให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสมกับวุฒิภาวะของตน และมิให้มีการเผยแพร่สื่อที่เป็นบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงและเกียรติของประเทศ หรือมีกระทบหรือก่อความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรของประเทศ อีกทั้ง เพื่อเป็นมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ให้สามารถเติบโตและแข่งขันกับนานาประเทศได้
สาระสำคัญร่างพระราชบัญญัติภาพยนต์
1 กำหนดให้มีการจัดทำนโยบายในการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศ ทั้งด้านการเงินและด้านอื่นต่อคณะรัฐมนตรี (กำหนดขึ้นใหม่)
2 กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์แห่งชาติ (เดิมคือ คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ) โดยได้ปรับปรุงสัดส่วนในคณะกรรมการให้มีผู้แทนครอบคลุมทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิ และให้มีผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมภาพยนตร์แห่งประเทศไทยเข้าร่วมเป็นกรรมการ ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำและขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศไทย
3 จัดตั้งสภาอุตสาหกรรมภาพยนตร์แห่งประเทศไทย (กำหนดขึ้นใหม่) ซึ่งการรวมกันของกลุ่มผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์
4 กำหนดให้ภาพยนตร์ที่นำออกฉายหรือจำหน่าย จะต้องได้รับการจัดระดับความเหมาะสมของเนื้อหาภาพยนตร์โดยผู้รับรองตนเอง โดยได้นำระบบรับรองตนเองมาใช้ซึ่งเป็นระบบการจัดเรทติงโดยภาคเอกชนสามารถรับรองตนเองตามหลักเกณฑ์ที่รัฐกำหนดร่วมกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคมได้ (เดิมใช้ระบบการตรวจโดยรัฐก่อนอนุญาต ซึ่งสร้างภาระให้แก่รัฐและเอกชนเกินสมควรและอาจส่งกระทบในทางลบต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ จึงสมควรที่รัฐจะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์และให้เอกชนตรวจด้วยตนเอง) และกำหนดบทยกเว้นให้กับภาพยนตร์ไม่ต้องได้รับการจัดระดับความเหมาะสมของเนื้อหา เช่น ภาพยนตร์ที่หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจองค์การมหาชน หรือสถานศึกษาผลิตขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาเพื่อการเรียนการสอน หรือเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรม ประเพณีและค่านิยมอันดีงามในสังคมไทย
5 ปรับลดระดับการกำกับดูแลการประกอบกิจการจำหน่ายภาพยนตร์หรือโรงภาพยนตร์จากเดิมที่ใช้ระบบอนุญาตเป็นระบบการจดแจ้ง โดยต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ประกอบกิจการต่อนายทะเบียน และในการประกอบกิจการจะต้องไปเป็นตามมาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวง และมีหน้าที่คัดกรองผู้รับชมหรือรับบริการให้เหมาะสมกับช่วงวัยตามระดับความเหมาะสมของเนื้อหาภาพยนตร์
6 กำหนดมาตรการในการควบคุมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร และกำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ ทำหน้าที่ในการพิจารณาคำขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร ซึ่งจะพิจารณาว่าเค้าโครง เรื่องย่อ บทภาพยนตร์ บทสนทนา และลักษณะหรือรูปแบบของฉากที่จะถ่ายทำ หรือจะสร้าง หรือตกแต่ง รวมทั้งสถานที่ที่ใช้ในการถ่ายทำ เนื้อหาไม่มีลักษณะบ่อนทำลายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง สิ่งแวดล้อมและเกียรติภูมิของประเทศไทย จึงจะอนุญาตให้ดำเนินการถ่ายทำหรือสร้างภาพยนตร์ได้ (คงเดิม)
7 กำหนดให้นำมาตรการโทษปรับเป็นพินัยมาใช้ (กำหนดขึ้นใหม่) ยกเว้นความผิดเกี่ยวกับการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักรที่ยังคงโทษอาญาไว้ (กรณีสร้างภาพยนตร์โดยไม่ได้รับอนุญาต และกรณีดำเนินการสร้างภาพยนตร์ไม่เป็นไปตามบทภาพยนตร์และเค้าโครงตลอดจนเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ต่างประเทศ)
8 กำหนดค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการภาพยนตร์รายปี ปีละ 2,000 บาท (สำหรับกิจการโรงภาพยนตร์ หรือจำหน่ายภาพยนตร์) เนื่องจากได้มีการปรับปรุงกลไกการกำกับดูแลจากรูปแบบใบอนุญาตและเปลี่ยนมาใช้การแจ้งการประกอบกิจการแทนโดยตัดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และใบแทนใบอนุญาตออก จึงได้ปรับเปลี่ยนจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตมาเป็นค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการรายปีและจะมีการออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมภายหลัง โดยเป็นอัตราที่ไม่เกินตามที่กำหนดไว้ในท้ายพระราชบัญญัติฉบับนี้
ที่ผ่านมา กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ และได้จัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 แล้ว และได้จัดทำแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว รวม 25 ฉบับ จัดทำรายละเอียดข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐต้องเสนอพร้อมกับการขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ด้วยแล้ว
โอกาสเติบโตของหนังไทย
ภาพยนต์ไทยมีส่วนแบ่งตลาดในประเทศเพิ่มขึ้น โดยในปี 2567 ภาพยนตร์ไทยมีสัดส่วนรายได้ในตลาด 54% แซงหน้าภาพยนตร์ฮอลลีวูด ที่มีส่วนแบ่งตลาด 38% นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยมีรายได้รวม 2,438 ล้านบาท จากภาพยนตร์ 54 เรื่อง และมี 8 เรื่องที่ทำรายได้เกิน 100 ล้านบาท เช่น ธี่หยด 2 ทำรายได้ 815 ล้านบาท และ หลานม่า ทำรายได้ 339 ล้านบาท
ในปี 2568 คาดว่าจะมีภาพยนตร์ไทยเข้าฉายถึง 70 เรื่อง โดยหลายใหญ่วางแผนผลิตภาพยนตร์หลากหลายแนว รวมถึงภาคต่อของหนังฮิต เช่น ธี่หยด 3 นาคี 3 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายและการสร้างสรรค์ของเนื้อหา
แต่อุตสาหกรรมภาพยนต์ของไทย ยังเผชิญกับคู่แข่งจากหนังฮอลลีวูด ซึ่งนับว่าเป็นความท้าทายของภาพยนต์ไทย ทำให้ต้องเร่งปรับตัวรับกับการแข่งขันตลอดเวลา โดยเฉพาะผู้ชมในยุคใหม่มีความคาดหวังสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากความคุ้นเคยเนื้อหาที่มีคุณภาพผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิง
การสนับสนุนตามยุทธศาสตร์ Soft Power
มาตรการสนับสนุนของภาครัฐ ที่เริ่มออกมาให้เห็น จากการบรรจุให้ภาพยนต์ไทยเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล นั่นคือ Soft Power
นอกจากการผลักดัน เรื่องร่างพรบ.ภาพยนต์ ฉบับใหม่แล้ว สำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (THACCA) และกระทรวงวัฒนธรรมจัดสรรงบประมาณ 220 ล้านบาท ในปี 2568 โดยผู้ผลิตต้องยื่นโครงการระหว่าง 6 ม.ค. – 7 ก.พ. 68 แบ่งเป็น
- ผลิตภาพยนตร์/ซีรีส์/สารคดี/แอนิเมชันไทย 200 ล้านบาท
- พัฒนา IP ใหม่ (Development Funding) 10 ล้านบาท
- ทุนหนังสั้นเจาะตลาดโลก 10 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการถ่ายทำต่างชาติเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดย Cash Rebate สูงสุด 30% สำหรับกองถ่ายต่างชาติที่ลงทุนในไทย จากเดิม 20%) โดยแบ่งเป็นขั้นบันได
- ลงทุน 50 ล้านบาทขึ้นไป คืน 15%
- เกิน 100 ล้านบาท คืน 20%
- เกิน 150 ล้านบาท คืน 25%
- โบนัสเพิ่มหากถ่ายทำในเมืองรองหรือจ้างทีมงานไทย
ทั้งนี้ ในปี 2567 มีกองถ่ายต่างชาติเข้ามาถ่ายทำรวม 400-500 เรื่อง สร้างรายได้ 6.6 พันล้านบาท แต่มาตรการนี้ถูวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่มีมาตรการสำหรับผู้ผลิตไทย และไม่ตอบโจทต์ผู้ผลิตไทย
บทบาทของสตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม
ปัจจุบัน บทบาทของสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มต่ออุตสาหกรรมภาพยนต์ทั่วโลกมากขึ้น และมีหลายปพลตฟอร์ม ซึ่งที่รู้จักกันดี คือ Netflix Disney+ Prime Video รวมถึงแลพตฟอร์มจากจีนและเกาหลี ที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น
การเกิดขึ้นของแพลตฟอร์เหล่านี้ นับว่าเป็นโอกาสของหนังไทยที่จะสามารถเข้าถึงผู้ชมได้ทั่วโลก และช่วยหนุนรายได้จากค่าลิขสิทธิ์มากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ การขึ้นไปอยู่ในแพลตฟอร์ม ทำให้ผู้ผลิตมีการสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างอิสระ เมื่อเปรียบเทียบกับการผลิตหนังแบบเดิม และป้อนช่องทางเดิม ๆ ซึ่งทำให้ผู้ผลิตมีช่องทางการในการทดลองเนื้อหาและการเล่าเรื่องใหม่ ๆ ได้ นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้มีการระดมทุนจากต่างชาติที่ให้ความสนใจผู้ผลิตชาวไทย อย่างเช่น Netflix ตั้งกองทุน 100 ล้านดอลลาร์เพื่อผลิตคอนเทนต์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงในไทยด้วย
แต่ความท้าทายที่ตามมาจากแพลตฟอร์มเหล่านี้ คือ การแข่งขันในระดับโลก โดยผู้ชมในไทยมีโอกาสดูคอนเทนต์ต่างชาติมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อหนังไทยเอง ทั้งส่วนแบ่งตลาดและรายได้
ข้อจำกัดของผู้ผลิตหนังไทย
รัฐบาลเริ่มผลักดันภาพยนต์ไทยไทย ตามยุทธศาสตร์ Soft Power โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งออกวัฒนธรรม และช่วยหนุนเศรษฐกิจภาคอื่น ๆ ตามมา โดยเฉพาะการท่องเที่ยว โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการผลิตคอนเทนต์ดิจิทัลของอาเซียนในปี 2573
ความท้าทายในการผลิต ผู้ผลิตภาพยนต์ไทยมักจะเผชิญกับปัญหาข้อจำกัดงบประมาณ โดยหนังไทยส่วนใหญ่มีงบประมาณ 10-50 ล้านบาท เทียบกับหนังฮอลลีวูดที่ใช้งบเฉลี่ย 1,000 ล้านบาท ซึ่งทุนการผลิตยังเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตของไทยเสียเปรียบในการสร้างภาพยนต์ที่มีคุณภาพสูงเพื่อแข่งขันในตลาด
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีจากโลกยุคดิจิทัลอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้นวัตกรรมและเทคนิคใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต แต่เนื่องจากยังไม่มีการพัฒนาบุคลากรอย่างเป็นระบบ ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะด้าน CGI, Sound Design และ Color Grading รวมถึงการสร้าง Virtual Production Studio การใช้ AI ในกระบวนการผลิต และการใช้ AI มาสร้างสตอรี่บอร์ดอัตโนมัติ เป็นต้น ซึ่งการใช้นวัตกรรมยังช่วยลดต้นทุนและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาพยนต์ไทย ซึ่งมีแนวโน้มจะมีการใช้นวัตกรรมมาช่วยในการผลิตมากขึ้น คาดว่าในปี 2568 คาดว่าหนังไทย 30% จะผลิตด้วยเทคโนโลยี Virtual Production
การผลิตหนังไทยกำลังก้าวสู่ยุคที่เทคโนโลยีและเนื้อหาสร้างสรรค์เดินหน้าไปด้วยกัน ทว่าจำต้องแก้ปัญหาด้านการลงทุนและพัฒนาทักษะแรงงานให้ทัดเทียมสากลเพื่อความยั่งยืนในระยะยาว
จากยุทธศาสตร์ Soft Power เริ่มเห็นมาตรการสนับสนุนที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นกับอุตสาหกรรมภาพยนต์ แต่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นหลังจากรัฐบาลประกาศนโยบาย ซึ่งอีกไม่นาน จะมีกฎหมายภาพยนต์ฉบับใหม่บังคับใช้ แต่ยังมีมาตรการอีกหลายด้านที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาหนังไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
ซีรีย์วายไทยดังไกลทั่วโลก แต่ขาดการสนับสนุนที่ตรงจุด