ชาวนาไทยเสี่ยงเผชิญรายได้เติบโตลดลงในปี 68 จากปริมาณการส่งออกข้าวไทยไปขายต่างประเทศเริ่มน้อยลง แม้ความต้องการข้าวในตลาดโลกจะเพิ่มสูง เพราะประเทศส่งออกข้าวเบอร์ต้นของโลกทั้งอินเดียและเวียดนาม เร่งขยายตลาดส่งออกข้าว เมื่อปริมาณข้าวในตลาดโลกมีมากขึ้น ก็ทำราคาข้าวในตลาดโลกและในประเทศปรับลดลง
สาเหตุไทยส่งออกข้าวได้น้อย
รายงานจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า กระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (USDA Foreign Agricultural Service) ประมาณการคาดว่าปริมาณการส่งออกข้าวสารของไทยมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลง แม้ว่าความต้องการบริโภคข้าวสารในตลาดโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้น
สัดส่วนของปริมาณการส่งออกข้าวสารปรับตัวลดลงจาก 16.31% ของปริมาณการส่งออกข้าวสารโลกในปีการผลิต 2566/67 เหลือเพียงสัดส่วน 13.11% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ประเทศอินเดียซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก ได้มีการประกาศยกเลิกราคาขั้นต่ำในการส่งออก (MEP) และยกเลิกภาษีการส่งออก 10.0% สำหรับข้าวขาวนอกกลุ่มบาสมาติ ประกอบด้วย ข้าวนึ่ง ข้าวกล้อง และข้าวเปลือก ตั้งแต่ปลายเดือน ต.ค.67 เป็นต้นมา
นอกจากนี้ ประเทศเวียดนามซึ่งถือเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับสามของโลก รองจากอินเดียและไทย ยังคงเร่งขยายตลาดส่งออกข้าวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการทำข้อตกลงการค้าระยะยาวกับประเทศผู้นำเข้าหลัก อาทิ The EU -Vietnam Free Trade Agreement (EVFTA) เป็นต้น
จากปัจจัยดังกล่าวทั้งหมด ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกเจ้าปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องทั้งในตลาดโลกและตลาดภายในประเทศ โดยข้อมูลเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve Economic Data) ราคาข้าวสาร ณ เดือนเม.ย.68 อยู่ที่ 402.68 ดอลลาร์ต่อตัน ลดลง 29.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นา ณ เดือนมี.ค.68 ภายในประเทศ อยู่ที่ 8,176.29 บาทต่อตัน ลดลง 27.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งคาดว่าแนวโน้มดังกล่าวจะเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของรายได้เกษตรผู้ปลูกข้าวเปลือกในระยะต่อไป
น้ำดีหนุนผลผลิตข้าวไทยสูงปีนี้
สถานการณ์การผลิตข้าวของไทยในปี 67 ที่ผ่านมา เผชิญปัจจัยท้าทายหลายด้าน ทั้งจากสภาพอากาศที่แปรปรวน โดยเข้าสู่ภาวะเอลนีโญ (El Niño) ในช่วงครึ่งแรกของปีส่งผลให้ปริมาณฝนลดลงและเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้ผลผลิตข้าวในบางพื้นที่เสียหายจากการขาดแคลนน้ำ และเข้าสู่ภาวะลานีญา (La Niña) ในช่วงครึ่งหลังของปี ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนสะสมและปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำปรับตัวเพิ่มขึ้น
สะท้อนจากข้อมูลจากคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศทั้งสิ้น 35 แห่ง ณ สิ้นปี 67 พบว่ามีปริมาตรน้ำรวม 35,743 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 7.8% ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลง 6.1% ในปีที่ผ่านมา และสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 62 – 66) 26.7% ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนสให้ผลผลิตข้าวปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันต้นทุนการเพาะปลูกข้าวของไทยยังอยู่ในระดับสูงจากราคาปุ๋ยยาฆ่าแมลง ต้นทุนพลังงาน และค่าจ้างแรงงาน
ปี 67 ประเทศไทยมีเนื้อที่เพาะปลูกข้าวในปี จำนวน 72.223 ล้านไร่ ลดลง 1.7% แต่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 62 – 66) ซึ่งส่งผลให้มีปริมาณผลผลิตข้าวจำนวน 33.49 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลง 0.4% และเมื่อผ่านกระบวนการแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร (การสีข้าว) จะทำให้มีผลผลิตข้าวจำนวน 21.77 ล้านตันข้าวสาร ต่ำกว่าจำนวน 21.86 ล้านตันข้าวสาร ในปีที่ผ่านมา
โดยความต้องการบริโภคข้าวในประเทศมีจำนวน 14.35 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น 5.5% เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 ในปีที่ผ่านมา ขณะที่ปริมาณส่งออกข้าวต่างประเทศจำนวน 8.6 ล้านตันข้าวสาร ลดลง 1.9% เทียบกับการเพิ่มขึ้น 13.7% ในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มีสต็อกข้าวในช่วงท้ายปีจำนวน 2.349 ล้านตันข้าวสาร ลดลง 32.7% ต่อเนื่องจากการลดลง 15.4% ในปีที่ผ่านมา และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 62 – 66) 41.5%
สำหรับแนวโน้มในปี 68 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ว่า จะมีเนื้อที่เพาะปลูกข้าวจำนวน 74.03 ล้านไร่ เพิ่มขึ้น 2.5% ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลง 1.7% ในปีที่ผ่านมา และสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 62 – 66) 1.4% ซึ่งส่งผลให้มีปริมาณผลผลิตข้าวจำนวน 34.87 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้น 4.1% ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลง 0.4% ในปีที่ผ่านมา และสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 62 – 66) 5.2% และมีผลผลิตข้าวจำนวน 22.67 ล้านตันข้าวสาร สูงกว่าจำนวน 21.77 ล้านตันข้าวสาร ในปีที่ผ่านมา และสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 62 – 66) จำนวน 20.71 ล้านตันข้าวสาร
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าความต้องการบริโภคข้าวในประเทศมีจำนวน 15.21 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น 6.0% เร่งขึ้นจากการเพิ่มขึ้น 5.5% ในปีที่ผ่านมา และสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 62 – 66) 22.83%
ส่วนปริมาณส่งออกข้าวต่างประเทศคาดว่ามีจำนวน 7.25 ล้านตันข้าวสารลดลง 15.7% เทียบกับการลดลง 6.1% ในปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 62 – 66) 0.5% และจะส่งผลให้มีสต็อกข้าวในช่วงท้ายปีจำนวน 2.65 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น 12.8% เทียบกับการลดลง 32.7% ในปีที่ผ่านมา แต่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562 – 2566) 34.0%
ที่มา : รายงาน ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสหนึ่งปี 2568 และแนวโน้มปี 2568 ของ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
อ่านเนื้อหาอื่นเพิ่มเติม