การเจราความตกลงการค้าเสรีไทย – สหภาพยุโรป (Free Trade Agreement: FTA) รอบที่สามรหว่างวันที่ 17 – 21 มิ.ย.ที่ผ่านมาได้เสร็จสิ้นแล้ว โดยก่อนหน้านี้สภาที่ปรึกษาตลาด (MAC) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตั้งขึ้นภายใต้กรอบข้อบังคับว่าด้วยนโยบายด้านการประมงร่วม (Common Fisheries Policy Regulation) ของสหภาพยุโรป ส่งหนังสือแสดงข้อห่วงกังวลต่อคณะกรรมาธิการยุโรป กรณีความพยายามในการแก้ไขกฎหมายประมงไทยจะส่งผลกระทบต่อการเจรา FTA
ด้านคณะกรรมาธิการยุโรปยืนยันว่า คณะกรรมาธิการทราบถึงความพยายามแก้ไขกฎหมายการประมงซึ่งมีแนวโน้มน่าห่วงกังวล ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่สุ่มเสี่ยงต่อการประมงผิดกฎหมาย หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะไม่สามารถเข้ามายังตลาดของสหภาพยุโรปได้เป็นอันขาด
ย้อนรอย FTA ไทย-อียู กว่าทศวรรษแห่งการรอคอย
ความพยายามพูดคุยเพื่อจัดทำ FTA เกิดขึ้นครั้งแรกในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2556 แต่ต้องระงับไปในปี พ.ศ.2557 ภายหลังการรัฐประหาร แม้ว่าจะได้รับความเห็นชอบจากสภายุโรปในปี พ.ศ. 2562 ให้สหภาพยุโรปดำเนินการเพื่อขยายการมีส่วนร่วมกับประเทศไทยรวมทั้งการกลับมาเจรจา FTA แต่กว่ากระบวนการจะสามารถเริ่มอย่างเป็นทางการได้อีกครั้งก็ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 สหภาพยุโรปและไทยได้ประกาศเริ่มการเจรจา FTA อีกครั้ง
การค้าสินค้าระหว่างสหภาพยุโรปและไทยมีมูลค่ามากกว่า 1.6 ล้านล้านบาทในปี 2565 ในขณะที่การค้าบริการมีมูลค่ากว่า 3 แสนล้านในปี 2563 โดยสหภาพยุโรปเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 4 ของไทย และไทยอยู่อันดับที่ 4 คู่ค้าที่สำคัญที่สุดของสหภาพยุโรปในภูมิภาคอาเซียนและอันดับที่ 25 ของโลก ซึ่งสหภาพยุโรปเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศไทย คิดเป็นประมาณ 10% ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมดในประเทศ โดยเป็นจุดหมายปลายทางใหญ่อันดับ 2 ของการลงทุนจากต่างประเทศของไทย
ปลาทูน่ากระป๋องสินค้าไทยยอดฮิตสู่ห้างยุโรป
โดยเฉลี่ยต่อปีระหว่างปี พ.ศ. 2563 ถึง พ.ศ. 2566 สหภาพยุโรปนำเข้าผลิตภัณฑ์ประมงทะเลและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำราวปีละ 39,644 ตันจากประเทศไทย คิดเป็นมูลค่า 8.5 พันล้านบาท หรือ 0.77% ของการนำเข้าเพิ่มเติมของสหภาพยุโรปในเชิงปริมาณ และ 0.83% ในเชิงมูลค่า ขณะที่สหภาพยุโรปส่งออกอาหารทะเล 18,153 ตันไปยังประเทศไทย มูลค่า 1.4 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 1.07% ของการนำเข้าเพิ่มเติมของสหภาพยุโรปในเชิงปริมาณ และ 0.69% ในเชิงมูลค่า จากข้อมูลล่าสุดในช่วงเดือน ม.ค.-ต.ค. 2566 สหภาพยุโรปนำเข้าผลิตภัณฑ์ประมงทะเลและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจากประเทศไทยรวม 25,165 ตัน มูลค่า 6.2 พันล้านบาท คิดเป็นปริมาณลดลง 28.18% และมูลค่าลดลง 26.68% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)
สินค้าหลักที่นำเข้ามายังสหภาพยุโรปจากประเทศไทย คือ ปลาแปรรูปและถนอมอาหาร ในช่วงเดือน ม.ค.-ต.ค. พ.ศ. 2566 สหภาพยุโรปนำเข้ารวม 16,290 ตัน มูลค่า 2.8 พันล้านบาท คิดเป็นปริมาณลดลง 29.6% และมูลค่าลดลง 30.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์หลักที่สหภาพยุโรปนำเข้าในช่วงเวลาดังกล่าว ได้แก่ ปลาทูน่ากระป๋องและถนอมอาหาร ปริมาณ 8,476 ตัน มูลค่า 1.5 พันล้านบาท คิดเป็น 33.7% ของปริมาณผลิตภัณฑ์ประมงทะเลและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั้งหมดจากประเทศไทย และ 52% ของปริมาณรวมของการนำเข้าปลาและอาหารทะเลกระป๋องทั้งหมดของสหภาพยุโรป ในช่วงเวลาเดียวกันสหภาพยุโรปนำเข้าเนื้อปลาทูน่าแลชิ้นจำนวน 286 ตัน
ก้าวถอยหลังประมงไทย
การผ่อนปรนนโยบายด้านการบริหารจัดการการประมงของประเทศไทยในสมัยรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ผ่านความพยายามแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จะย้อนรอยความก้าวหน้าที่สำคัญซึ่งบรรลุผลสำเร็จด้วยเวลาและทรัพยากรจำนวนมากที่อุทิศในกรุงบรัสเซลส์และกรุงเทพฯ ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา การย้อนกลับของการปฏิรูปทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความยั่งยืนและชื่อเสียงของอุตสาหกรรมไทย มีความเสี่ยงสำหรับการกำกับดูแลมหาสมุทรระหว่างประเทศและความพยายามระดับโลกในการเพิ่มความโปร่งใสและความรับผิดชอบในภาคส่วนนี้ นอกจากนี้การย้อนกลับยังแสดงถึงความเสี่ยงสำหรับความพยายามในการปกป้อง อนุรักษ์ และปรับปรุงทุนทางธรรมชาติของโลก
ทั้งนี้การแก้ไขกฎหมายประมงอาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและเศรษฐกิจของชุมชนประมงท้องถิ่น ทำให้พวกเขาเผชิญกับความยากลำบากในการปรับตัวต่อกฎหมายใหม่ องค์กรภาคประชาสังคมเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้มีการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการแก้ไขกฎหมาย เพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินงาน และคุ้มครองสิทธิแรงงานอย่างเข้มงวด รวมถึงมีมาตรการที่ชัดเจนในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การแก้ไขกฎหมายประมงเป็นไปอย่างสมดุลและยั่งยืน
มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) ได้เรียกร้องให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. …ทบทวน 6 ประเด็นสำคัญในร่างกฎหมายเพื่อเป็นหลักประกันการรักษาระบบการจัดการประมงที่ถูกกฎหมาย ยั่งยืน และเป็นธรรมสำหรับประเทศไทย ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวครอบคลุมประเด็นสำคัญด้านการประมง ความโปร่งใส รวมถึงประเด็นด้านแรงงาน ประกอบด้วย
- คงบทบัญญัติว่าด้วยการห้ามขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเล (มาตรา 85/1, 87) โดยการขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเลนั้นเป็นการกระทำที่ทำมาสู่การเพิ่มความเสี่ยงของการประมงผิดกฎหมายและการละเมิดสิทธิแรงงานในทะเล
- คงบทบัญญัติว่าด้วยการห้ามเปลี่ยนย้ายลูกเรือกลางทะเลโดยไม่จำเป็น (มาตรา 83/1) การยกเลิกการเปลี่ยนย้ายลูกเรือกลางทะเลอำนวยให้เกิดการค้ามนุษย์และการแสวงประโยชน์จากแรงงาน ควบคู่ไปกับการใช้แรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนหากไม่ได้รับการติดตามและตรวจสอบอย่างเคร่งครัด
- คงบทบัญญัติว่าด้วยการควบคุมเครื่องมือประมงทำลายล้าง (มาตรา 67) เครื่องมือประมงทำลายล้าง โดยเฉพาะอวนลาก ซึ่งควรได้รับการควบคุมที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อจำกัดการทำการประมงทำลายล้าง
- คงบทบัญญัติว่าด้วยการข้อกำหนดบัญชีรายชื่อลูกเรือและการคุ้มครองแรงงานสำหรับชาวประมง (มาตรา 82) โดยพบว่าการแก้ไขแนวปฏิบัตินี้จะอำนวยความสะดวกในการค้ามนุษย์และการแสวงประโยชน์จากแรงงาน ควบคู่ไปกับการใช้แรงงานที่ไม่ได้จดทะเบียน
- คงบทบัญญัติว่าด้วยการข้อกำหนดการรายงานข้อมูลตามเวลาจริง (real time) สำหรับระบบติดตามเรือ (VMS) (มาตรา 81) การสูญเสียความสามารถในการรายงานระบบติดตามเรือตามเวลาจริงจะทำให้การติดตามตรวจสอบ การควบคุม และการเฝ้าระวังการทำประมงหย่อนประสิทธิภาพ ทั้งยังลดทอนศักยภาพในการติดตามหรือการบังคับใช้กฎระเบียบเพื่อต่อสู้กับการทำประมงผิดกฎหมายและการละเมิดแรงงานที่เกี่ยวข้อง
- ยึดหลักการเกณฑ์การลงโทษและค่าปรับตามสัดส่วนสำหรับการประมงผิดกฎหมายตามขนาดเรือและความรุนแรงของความผิด (กว่า 50 มาตราภายใต้บทกำหนดโทษ): เกณฑ์การลงโทษและค่าปรับต้องได้สัดส่วนต่อการกระทำความผิดและขนาดเรือโดยอิงตามหลักการลงโทษเชิงป้องกัน
ห่วงร่างกฎหมายประมงถ่วงเจรจา FTA
การเจรจา FTA รอบสองเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ม.ค. พ.ศ. 2567 ที่กรุงเทพมหานคร ต่อเนื่องจากรอบแรกของการเจรจาเมื่อ ก.ย. พ.ศ. 2566 ทีมเจรจานำโดย คริสตอฟ คีแนร์ (Christophe Kiener) อธิบดีฝ่ายการค้าของ คณะกรรมาธิการยุโรป และนางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิ์กุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยคณะผู้เจรจาเริ่มรวบรวมข้อความตามร่างข้อเสนอที่จัดทำโดยฝ่ายสหภาพยุโรปในหลายบท รวมถึงการค้า การเยียวยาทางการค้า บริการและการลงทุน อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า วิสาหกิจของรัฐ และขนาดกลางและขนาดย่อม รัฐวิสาหกิจ โดยมีรายละเอียดที่ก้าวหน้ากว่าประเทศไทย เช่น การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พลังงาน และวัตถุดิบหรือระบบอาหารที่ยั่งยืนโดยเฉพาะห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเล การเจรจารอบสองนี้เน้นไปที่การปรึกษาหารือ เพิ่มเติม และชี้แจง เพื่อปูทางสู่ขั้นเจรจาสารบัญญัติ (text-based) ในการเจรจา FTA รอบสามระหว่างวันที่ 17 – 21 มิ.ย. พ.ศ. 2567
ภายหลังการเจราร่าง FTA รอบสอง สภาที่ปรึกษาตลาดแห่งสภาพยุโรปได้ยื่นหนังสือแสดงข้อห่วงกังวลต่อคณะกรรมาธิการยุโรปกรณีความยายามในการแก้ไขกฎหมายประมงไทยจะส่งผลกระทบต่อการเจรา FTA
- การยกเลิกการควบคุมการขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเล
- การยกเลิกการควบคุมการเปลี่ยนย้ายลูกเรือกลางทะเล
- การยินยอมให้มีการใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีบนเรือประมง
- การทำให้มาตรการเชิงลงโทษที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันการทำประมง IUU อ่อนแอลง
เพ่งเล็งทูน่าไทยทุ่มตลาดยุโรป
สมาคมผู้ประกอบการแปรรูปปลาแห่งยุโรป (European Association of Fish Processors) และสหพันธ์องค์กรผู้นำเข้าและส่งออกปลาระดับชาติแห่งยุโรป (European Federation of National Organizations of Importers and Exporters of Fish) ได้ส่งหนังสือแสดงข้อห่วงกังวลไปยังคณะกรรมาธิการยุโรป ระบุว่า ไทยครองตำแหน่งที่โดดเด่นในอุตสาหกรรมปลาทูน่าทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่าด้วยกำลังการผลิตมากกว่า 470,000 ตัน คิดเป็นมากกว่า 22% ของปริมาณทั้งหมดของโลก และครองส่วนแบ่งการส่งออกที่ใหญ่ที่สุดมากกว่า 29% ผลกระทบของไทยต่อตลาดโลกค่อนข้างสำคัญ
อย่างไรก็ดีทั้งสององค์กรเห็นว่าตำแหน่งที่โดดเด่นในอุตสาหกรรมปลาทูน่าของประเทศดังกล่าวนั้นเกิดจากความได้เปรียบในการแข่งขัน ซึ่งมาจากความแตกต่างอย่างมากทางต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งในมาตรฐานทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการต่อสู้กับการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมและในด้านมาตรฐานแรงงาน สิ่งนี้เองทำให้ไทยมีความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างมาก
การเปิดเสรีตลาดปลาทูน่าในสหภาพยุโรปผ่าน FTA สำหรับสินค้าไทยซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเจรจา ณ ขณะนี้จะส่งผลกระทบต่อความสมดุลทางการแข่งขัน ซึ่งส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมปลาทูน่าในสหภาพยุโรป โดยเฉพาะในสเปนทั้งในด้านเศรษฐกิจและการจ้างงาน หากอียูเห็นชอบให้เกิดการลดอัตราภาษีศุลกากรผ่าน FTA จะทำให้สินค้าปลาทูน่าจากประเทศไทยสามารถเข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรปโดยไม่ต้องเสียอัตราภาษีศุลกากรหรือจ่ายอัตราที่ต่ำลง เช่น การลดอัตราภาษีศุลกากรจะช่วยลดต้นทุนในการนำเข้าสินค้า ซึ่งทำให้ราคาสินค้าไทยมีราคาต่ำกว่าเมื่อเทียบกับอาหารทะเลที่ผลิตโดยผู้ประกอบการยุโรปเอง ดังนั้นการเปิดตลาดเสรีให้กับผลิตภัณฑ์ทูน่าจากแม้จะช่วยเพิ่มความหลากหลายในการเลือกซื้อสินค้าในตลาดยุโรป แต่นั้นก็อาจนำมาซึ่งผลกระทบในทางตรงกันข้าม ซึ่งนั้นก็คือความเป็นไปได้ของการขยายตัวหรือปัจจัยเร้าให้เกิดการทำการประมงแบบไม่ยั่งยืนและไม่เคารพสิทธิแรงงานในต้นทางของห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเล
อียูแจง FTA และ IUU ต้องไปด้วยกัน
ด้านคณะกรรมาธิการยุโรป ได้ตอบหนังสือสภาที่ปรึกษาตลาดว่า หลักสำคัญของ FTA คือ การยึดหลักผลประโยชน์ร่วมในระดับทวิภาคีในฐานะพันธมิตรทางเศรษฐกิจ สำหรับประเด็นประมงคณะกรรมาธิการยุโรปรับทราบถึงข้อห่วงกังวลและไม่ได้นิ่งนอนใจในประเด็นนี้ เพราะคณะกรรมาธิการยุโรปก็มีความกังวลเช่นเดียวกัน และขอให้สภาที่ปรึกษาตลาดมั่นใจได้ว่าคณะกรรมาธิการยุโรปจะยึดหลักไม่ยอมโดยเด็ดขาดที่จะให้สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการประมงผิดกฎหมายเข้าสู่ตลาดของสหภาพยุโรป
ทั้งนี้ได้ติดตามพัฒนาการในกลไกนิติบัญญัติของประเทศไทยอย่างใกล้ชิด เพราะโดยหลักการไม่สามารถแยกอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งออกจากการเจรจา FTA ได้ ดังนั้นทิศทางในการแก้ไขกฎหมายประมงของไทยหากเป็นไปในทิศทางที่ถดถอยย่อมส่งผลกระทบต่อการการเจรจา FTA อย่างแน่นอน และข้อห่วงกังวลดังกล่าวได้ถูกสื่อสารไปยังรัฐบาลไทยและคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เนื่องจากประเด็นประมงเป็นเรื่องที่มีความทับซ้อนในหลายมิติทั้งในแง่ของสิ่งแวดล้อม แรงงาน และการค้า คณะกรรมาธิการยุโรปยืนยันว่าจะผสานกลไกที่เกี่ยวของทั้งจากกระทรวงกิจการทางทะเลและการประมง กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงแรงงาน เพื่อให้แน่ใจว่าประเทศคู่ค้าอย่างประเทศไทยจะให้การเคารพหลักการสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรฐานแรงงานสากลที่ประเทศไทยยังมิได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาขั้นพื้นฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติอีก 2 ฉบับ คือ อนุสัญญาฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และ อนุสัญญาฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง
สำหรับการแก้ไขกฎหมายประมงในประเทศไทยเป็นประเด็นที่มีความสำคัญและซับซ้อน เนื่องจากมีผลกระทบต่อหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สิทธิแรงงาน และสิ่งแวดล้อม โดยข้อกังวลหลัก ๆ คือ การกระทบต่อเศรษฐกิจ หากกฎหมายใหม่ทำให้ไทยถูกกีดกันการค้าจากสหภาพยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการเจรา FTA จะส่งผลเสียต่อการส่งออกและเศรษฐกิจโดยรวม ไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมประมงเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศ ซึ่งการขาดมาตรฐานที่สอดคล้องกับสากล อาจทำให้เกิดข้อจำกัดในการเข้าถึงตลาดต่างประเทศ ส่งผลให้สูญเสียรายได้จากการส่งออก อีกทั้งกฎหมายใหม่อาจไม่คุ้มครองสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมประมงอย่างเพียงพอ ปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานและการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เข้มงวดอาจนำไปสู่การกดขี่แรงงานและการทำงานในสภาพที่ไม่เป็นธรรม
นอกจากนี้ การแก้กฎหมายอาจนำไปสู่การทำลายระบบนิเวศทางทะเลมากขึ้น หากไม่มีกลไกในการควบคุมและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ การทำประมงที่ไม่ยั่งยืนอาจส่งผลให้ทรัพยากรทางทะเลลดลงและส่งผลกระทบต่อความสมดุลของระบบนิเวศ สุดท้าย การแก้ไขกฎหมายอาจไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ การไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดและมาตรฐานการประมงที่ยั่งยืนอาจทำให้ไทยสูญเสียความน่าเชื่อถือในตลาดโลกและเกิดผลเสียต่อความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศคู่ค้า
รัฐบาลผวาใบเหลืองประมง ฟื้นคณะทำงานเจรจาอียู