การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 7 พ.ค. 2567 มีมติอนุมัติให้ความเห็นชอบแต่งตั้งคณะทำงานฝ่ายไทยของคณะทำงานร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและคณะกรรมาธิการยุโรปในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ
คณะทำงานร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและคณะกรรมาธิการยุโรปฯดังกล่าว เป็นความร่วมมือในระดับทวิภาคีระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรป แม้จะไม่มีการลงนามในเอกสารบันทึกความเข้าใจ แต่เป็นนโยบายในระดับประเทศ และเกิดจากความเห็นชอบร่วมกันของทั้งสองฝ่ายของรัฐบาลไทยและคณะกรรมาธิการยุโรป ตั้งแต่ปี 2562 โดยมีการประชุมร่วมกันมาอย่างต่อเพื่อแก้ปัญหา
เหตุผลการตั้งคณะทำงานฯ ระบุว่า “เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการประมง IUU ร่วมกับสหภาพยุโรปอันจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยในการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศและการค้าสินค้าประมงในตลาดโลก จึงมีความจำเป็นต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อเห็นชอบให้จัดตั้งคณะทำงานฝ่ายไทยฯ ทดแทนชุดเดิมที่สิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 13 ก.ย. 2566 เพื่อเป็นกลไกในการทำความร่วมมือระดับปฏิบัติการกับสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศในการต่อต้านการประมง IUU ผ่านมาตรการทางการค้าของสหภาพยุโรปในการป้องกันการนำเข้าสินค้าประมง IUU เข้าสู่ตลาด
สาระสำคัญ
1. การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรปในการต่อต้านการทำประมง IUU ผ่านการจัดตั้งคณะทำงานฝ่ายไทยของคณะทำงานร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและคณะกรรมาธิการยุโรปในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม โดยมีข้อกำหนดคณะทำงานร่วมฯ ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบไว้เดิมเป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงาน โดยจะไม่มีการลงนามในเอกสารสัญญาหรือบันทึกความเข้าใจในความร่วมมือดังกล่าว
2. การจัดตั้งคณะทำงานฝ่ายไทยของคณะทำงานร่วมฯ ที่กรมประมงเสนอจะเป็นคณะทำงานด้านเทคนิคในระดับกรม โดยมีอธิบดีกรมประมงเป็นประธานเนื่องด้วยสอดคล้องกับประเด็นการต่อต้านป้องกันยับยั้งการทำประมง IUU ที่เป็นการกิจหลักของกรมประมง และมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะทำงานได้แก่ กรมเจ้าท่า กองทัพเรือ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมศุลกากร กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด กรมยุโรป กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และมีผู้อำนวยการกองประมงต่างประเทศ กรมประมงเป็นคณะทำงานและเลขานุการ
ทั้งนี้ คณะทำงานฝ่ายไทยของคณะทำงานร่วมฯ มีอำนาจหน้าที่หลัก คือ การกำหนดนโยบาย ประเด็น ท่าที และเจรจาหารือความร่วมมือกับคณะทำงานฝ่ายคณะกรรมาธิการยุโรป ในการต่อต้านการทำประมง IUU ภายใต้กรอบกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายประมง การควบคุม ติดตาม และเฝ้าระวังการทำการประมง (MCS) การตรวจสอบย้อนกลับ และ/หรือประเด็นที่คณะทำงานทั้งสองฝ่ายจะตกลงหารือร่วมกัน
การกำหนดองค์ประกอบผู้แทนคณะทำงานฝ่ายไทยของคณะทำงานร่วมฯ ในการเจรจากับคณะทำงานของคณะกรรมาธิการยุโรปในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ในแต่ละครั้งของการเจรจา ตามความเหมาะสมและสอดคล้องกับประเด็นการเจรจา การกำกับดูแล ให้ความเห็นชอบ ประสานงาน และดำเนินการใด ๆ เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของคณะทำงานร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและคณะกรรมาธิการยุโรปฯ เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม: ส่งจดหมายเปิดผนึก เตือนรัฐบาลเสี่ยงใบเหลือง IUU
ที่มาของคณะทำงานฯไทย-อียู
แต่เดิมจะมีกลไกที่เรียกว่า “คณะทำงานฝ่ายไทยของคณะทำงานร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและคณะกรรมาธิการยุโรปในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม” ซึ่งมีการหารือกันอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยราวปีละหนึ่งครั้งหรือมากกว่า แต่กลับเข้าสู่ภาวะชะงักงัน มิได้มีการจัดวงหารือดังกล่าวมาราว 17 เดือน
คณะทำงานร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและคณะกรรมาธิการยุโรปในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) เริ่มจัดตั้งขึ้นตามข้อเสนอของพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 5 ก.พ. 2562 โดยจัดประชุมหารือทุกปีเกี่ยวกับข้อริเริ่มระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาคในการต่อต้านการทำประมง IUU การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมด้านการทำประมง IUU และสถานการณ์ที่น่ากังวลในประเทศที่สาม รวมทั้งประสานงานในโครงการพัฒนาต่าง ๆ ตามที่ประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายเสนอ
การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรปในการต่อต้านการทำประมง IUU ผ่านการจัดตั้งคณะทำงานฝ่ายไทยของคณะทำงานร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและคณะกรรมาธิการยุโรปในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ถูกรื้อฟื้นขึ้นอีกครั้งตามมติ ครม. 7 พ.ค. 2567 ภายหลังโฆษกของคณะกรรมาธิการยุโรปเตือนสินค้าอาหารทะเลของไทยอาจถูกนำออกจากชั้นขายของในซูเปอร์มาร์เก็ตของประเทศตะวันตก หากยังเดินหน้าร่างกฎหมายลดการปกป้องแรงงานเรือประมง
ใบเหลืองที่ไทยเคยได้รับครั้งแรกเมื่อปี 2558 หรือมาตรการคว่ำบาตรอื่น ๆ อาจถูกนำมาใช้กับไทยได้ ซึ่งนับเป็นการโต้ตอบต่อท่าทีของรัฐบาลไทยที่อ้างมาตลอดว่าการแก้ไขกฎหมายประมงจะไม่กระทบกับการค้า หรือถ้าจะกระทบก็เพียงแค่ 6% ของการส่งออกอาหารทะเลทั้งหมด แต่ณะนี้ประเทศกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรป ซึ่งประมงเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของร่าง FTA
รัฐบาลแก้กฎหมาย “ทวงคืนจ้าวสมุทร”
พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล โดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ประกาศนโยบายฟื้นฟูอุตสาหกรรมประมง โดยมีการแก้กฎหมายและออกกฏระเบียบด้านประมงใหม่หลายฉบับ
รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเริ่มเข้ามาบริหารประเทศนับตั้งแต่ 22 ส.ค. 2566 โดยประกาศนโยบาย “ทวงคืนจ้าวสมุทร” ฟื้นฟูอุตสาหกรรมประมง โดยจะยกเลิกพระราชกำหนดจากรัฐบาลก่อน โดยคืนโอกาสเรือประมงพาณิชย์ไทยที่หายไปกว่า 52 % และฟื้นศักยภาพทางทะเลไทยที่สูญเสียไปด้วยการขยายเวลาการทำประมงสำหรับเรือประมงเชิงพาณิชย์
เมื่อ 22 ก.พ. 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเอกฉันท์ 416 เสียง ให้รับหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ พร้อมร่างกฎหมายในทำนองเดียวกันอีก 7 ฉบับที่สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เสนอ เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนของผู้ประกอบอาชีพประมง
แต่ร่างดังกล่าวถูกวิพากวิจารณ์จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งจากชาวประมงพื้นบ้าน องค์กรสิทธิแรงงาน และภาคประชาสังคมด้านอนุรักษ์ทะเล จนนำมาสู่การออกแถลงข่าวเตือนรัฐบาลไทย
ล่าสุด โฆษกคณะกรรมาธิการยุโรปตามรายงานของเทเลกราฟว่า สินค้าอาหารทะเลของไทยอาจถูกนำออกจากชั้นขายของในซูเปอร์มาร์เก็ตของประเทศตะวันตก หากยังเดินหน้าร่างกฎหมายลดการปกป้องแรงงานเรือประมง โดยใบเหลืองที่ไทยเคยได้รับครั้งแรกเมื่อปี 2558 หรือมาตรการคว่ำบาตรอื่น ๆ อาจถูกนำมาใช้กับไทยได้
จับตาเจรจาคณะทำงานก่อนประชุมไทย-อียู
ด้านนายดอมินิก ทอมสัน ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation) หรือ EJF แสดงทัศนะต่อการรื้อฟื้นคณะทำงานร่วม ไทย – EU ว่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นพัฒนาการเชิงบวกดังกล่าวของไทยในการกลับเข้าสู่กลไกหารือกับประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งย่อมนำมาสู่ความร่วมมือที่ชัดเจนในการบริหารจัดการการประมงที่ยั่งยืน ถูกกฎหมาย และเป็นธรรม
“การรื้อฟื้นคณะทำงานร่วมนับเป็นหมุดหมายเบื้องต้นหมุดหมายแรกที่สำคัญ ซึ่งหวังใจเป็นอย่างยิ่งว่าจะนำมาสู่การเปลี่ยนผ่านทางนโยบายอย่างมีนัยะสำคัญกลับไปสู่คำมั่นสัญญาที่ประเทศให้ไว้กับประชาคมโลก และรั้งตำแหน่งผู้นำระดับโลกในการบริหารการประมงดั่งที่ทั่วโลกเคยชื่นชมไทย”
ทั้งนี้ คณะทำงานร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและคณะกรรมาธิการยุโรปในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมดังกล่าวจะเริ่มต้นการหารือโดยเร็วที่สุดทันที ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นราวต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2567 ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสไทย-สหภาพยุโรป (Thai-EU Senior Officials’ Meeting (SOM)) ครั้งที่ 17 ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ โดยมีวาระสำคัญเรื่องกรอบความตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (Thailand-EU Comprehensive Partnership and Cooperation Agreement: Thai-EU PCA)
ประเด็นประมงและมาตรฐานการค้าอาหารทะเลระหว่างประเทศเป็นหนึ่งในวาระหารือ เป็นที่น่าสังเกตว่าการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสดังกล่าวจะเกิดขึ้นเพื่อไม่กี่อาทิตย์ก่อนที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 จะต้องสรุปแล้วนำส่งร่างสมบูรณ์เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาในวาระที่ 3
อ่านเพิ่มเติม: ประมงไทยยังเสี่ยงละเมิดสิทธิมนุษยชน