แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ แถลงรายงานระดับประเทศว่าด้วยหลักปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนประจำปี 2566 (2023 Country Reports on Human Rights Practices: Thailand) ระบุว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในสภาพสิทธิมนุษยชนในไทย
สำหรับบทสรุปรายงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองแรงงานในอุตสาหกรรมประมงไทย รายงานดังกล่าวระบุว่ารายงานการสำรวจแรงงานประมงในประเทศไทยโดยสหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศพบว่าการตรวจสอบเรือโดยการสัมภาษณ์คัดกรองไม่สามารถค้นพบการละเมิดสิทธิแรงงานประมงได้จริงซึ่งขัดแย้งกับการละเมิดสิทธิแรงงานประมงที่สามารถพบได้อย่างแพร่หลาย และลูกเรือข้ามชาติส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกสัมภาษณ์เป็นการส่วนตัวจึงไม่สามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ลูกเรือร้องเรียนเมื่อพบการกระทำความผิด
รายงานยังระบุว่าลูกเรือประมงเผชิญกับการละเมิดกฎหมายและข้อบังคับในหลายมิติ ทั้งด้านค่าจ้าง ชั่วโมงการทำงาน และความปลอดภัยในการทำงานอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานขึ้น ระยะเวลาการพักผ่อนไม่เพียงพอ และการออกทำการประมงในทะเลอย่างผิดกฎหมาย (IUU)
กฎหมายกำหนดให้มีโทษปรับและจำคุกกรณีละเมิดไม่จ่ายค่าแรงขั้นต่ำ แต่ภาครัฐไม่สามารถบังคับใช้มาตรการดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ องค์กรพัฒนาเอกชนยังรายงานด้วยว่าการบังคับใช้กฎหมายค่าแรงค่าจ้างที่ไม่มีประสิทธิภาพส่งผลให้เกิดการจ่ายค่าจ้างไม่ถูกต้องหรือล่าช้าอย่างกว้างขวาง รวมทั้งเกิดการหักค่าจ้างและค่าธรรมเนียมการจัดหาแรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมาย
อ่านเพิ่มเติม ส่งจดหมายเปิดผนึก เตือนรัฐบาลเสี่ยงใบเหลือง IUU
กฎระเบียบด้านการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติมีกำหนดเพดานค่าธรรมเนียมการจัดหางานสูงสุด แต่การบังคับใช้กฎอย่างมีประสิทธิผลถูกขัดขวางเนื่องจากไม่มีหลักฐานเอกสารเกี่ยวกับการรับสมัครงานจากผู้ดำเนินการการที่ไม่มีใบอนุญาต ซึ่งไม่ครอบคุมถึงค่าธรรมเนียมเอกสารและค่าใช้จ่ายในการย้ายถิ่นฐาน
กฎหมายคุ้มครองแรงงานในงานประมงกำหนดให้คนงานในภาคประมงสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ด้านการดูแลสุขภาพและประกันสังคม เรือบางลำจัดให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่เพียงพอสำหรับคนงาน
อย่างไรก็ดีข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 กฎระเบียบการดำเนินการที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการทำงานและข้อจำกัดอายุขั้นต่ำกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาแก้ไข
กฎระเบียบของรัฐบาลกำหนดให้เจ้าของเรือต้องซื้อประกันสุขภาพให้แรงงานประมงข้ามชาติและต้องส่งเงินเข้ากองทุนเงินทดแทนเพื่อให้แรงงานประมงข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องมีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยจากอุบัติเหตุในการทำงาน
แต่ในทางปฏิบัติจริงยังคงพบข้อท้าทายเพราะแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมหรือมาตรการคุ้มครองแรงงานเนื่องจากนายจ้างไม่ได้ขึ้นทะเบียนหรือไม่ได้ชำระเงินเข้าระบบประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน ซึ่งภาครัฐยังคงไม่ได้มีมาตรการในการตรวจสอบสิทธิอย่างไม่ประสิทธิภาพ
อ้างอิง: รายงานระดับประเทศว่าด้วยหลักปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนประจำปี 2566: ประเทศไทย