ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 เม.ย. มีมติเห็นชอบปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำของ ครม. เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2550 เรื่อง การแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยปรับปรุงให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ตรงตามเจตนารมณ์ของมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว โดยไม่กระทบต่อฐานะทางการเงินของ ธ.ก.ส. และมีความยืดหยุ่นในการปฏิบัติงาน รวมถึงป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นกับ ธ.ก.ส.
กรณีเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2550 ครม.มีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ซึ่ง ธ.ก.ส. ก็ได้ปฏิบัติตามมติ ครม.ดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบันและได้วางกรอบแนวปฏิบัติ เพื่อให้ส่วนงานในพื้นที่ดำเนินการ เรื่อง การงดการดำเนินคดีบังคับคดีและการขายทอดตลาด ตาม ครม.ในการชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดี การบังคับคดี และการขายทอดตลาดทรัพย์สินของเกษตรกร โดยมีผลใช้บังคับมาเป็นระยะเวลากว่า 17 ปี
ทั้งนี้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) และหน่วยงานอื่นที่ได้รับมอบหมายได้ใช้ประโยชน์จากมติ ครม.ดังกล่าวมาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว แต่ยังไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรได้อย่างเป็นรูปธรรม และในทางตรงกันข้าม กลับก่อให้เกิดผลกระทบตามมาอีกหลายประการ
กระทรวงการคลัง จึงมีความจำเป็นต้องขอเสนอการทบทวนมติคณะรัฐมนตรี โดยปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำของมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ ธ.ก.ส. สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและยังคงไว้ซึ่งเจตนารมณ์ของมติ ครม.ดังกล่าวที่ต้องการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร โดยมีรายละเอียดการขอทบทวนปรับปรุงในครั้งนี้ ดังนี้
ให้ ธ.ก.ส. สหกรณ์การเกษตร หน่วยงานภายใต้ ธ.ก.ส. รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีของเกษตรกร ดำเนินการได้แก่
- เรื่องที่ยังมิได้มีการฟ้องร้อง ให้ชะลอการฟ้องร้องไว้ก่อน เว้นแต่กรณีหนี้นั้นจะขาดอายุความฟ้องร้อง หรือไม่สามารถแก้ไขเพื่อมิให้หนี้ขาดอายุความโดยวิธีอื่นใดได้
- เรื่องที่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีและคดีถึงที่สุดแล้วให้ชะลอการบังคับคดีไว้ก่อน เว้นแต่กรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลได้และไม่สามารถเจรจาแก้ไขหนี้ร่วมกันกับสถาบันการเงินได้ ให้ดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาต่อไป
- คดีที่มีการบังคับคดีไว้แล้วและจะต้องมีการขายทอดตลาดทรัพย์สินของเกษตรกร ให้ชะลอการขายทอดตลาดไว้ก่อน เฉพาะกรณีที่ยังไม่พ้นระยะเวลาบังคับคดีเท่านั้น โดยเมื่อมีการชะลอการขายทอดตลาดแล้วจะต้องมีอายุบังคับคดีคงเหลือไม่น้อยกว่า 3 ปี
นอกจากนี้ ให้ ธ.ก.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีของเกษตรกรดังกล่าวข้างต้น สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการปฏิบัติในการดำเนินการตามข้อ 1 – 3 ข้างต้นได้ โดยพิจารณาถึงสภาพปัญหาของลูกหนี้เกษตรกรแต่ละรายเป็นสำคัญ
ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ให้กับประชาชน 50 ล้านคน โดยจะเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ไตรมาส 3 และเริ่มใช้จ่ายได้ในไตรมาส 4 ปี 67
เม็ดเงินที่ใช้ในโครงการนี้ทั้งหมดราว 500,000 ล้านบาท ซึ่งแหล่งเงินมาจากงบประมาณปี 67 จำนวน 175,000 ล้านบาท และ ปี 68 จำนวน 152,700 ล้านบาท ส่วนสุดท้ายมาจาก ธ.ก.ส. จำนวน 175,000 ล้านบาท
เช็ก “เงื่อนไข-รายละเอียด” ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท
แบงก์ชาติตั้ง 5 คำถาม “ดิจิทัลวอลเล็ต”ต้องตอบ
หลายฝ่ายกำลังตั้งข้อสังเกตว่า การนำเงินของ ธ.ก.ส.ออกมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต สามารถทำได้หรือไม่ โดยเฉพาะสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ธ.ก.ส. ที่ออกมาประกาศคัดค้านในเรื่องนี้ เพราะมองว่าวัตถุประสงค์การใช้เงินของธนาคาร ต้องเชื่อมโยงกับบริบทส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม และไม่เปิดช่องให้ใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกทั้งยังขัดกฎหมายวินัยการเงินการคลัง มาตรา 28
สำหรับงบฐานะทางการเงินของ ธ.ก.ส. สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2566 มีรายได้จากการดำเนินงาน 25,057 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,975 ล้านบาท
ขณะที่ทรัพย์สินรวมอยู่ที่ 2.2 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้มีเงินสด 20,724 ล้านบาท เงินลงทุน 113,071 ล้านบาท และลูกหนี้รอการชดเชยจากรัฐบาลตามธุรกรรมนโยบายรัฐบาล 619,173 ล้านบาท ส่วนหนี้สินรวมอยู่ที่ 2 ล้านล้านบาท
อ้างอิง : ทำเนียบรัฐบาล, www.baac.or.th