สหรัฐอเมริกาเตรียมขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าหลายประเทศ เป็นผลมาจากนโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่เคยประกาศไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง
ย้อนกลับไป 20 ม.ค. 68 ทรัมป์ สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47 และวันที่ 21 ม.ค. ประกาศขึ้นภาษีนำเข้ากับเม็กซิโกและแคนาดาที่ 25% รวมถึงขึ้นภาษีจีนเพิ่มอีก 10% ให้มีผลบังคับใช้ 4 ก.พ.
ต่อมาวันที่ 3 ก.พ. มีการระงับการขึ้นภาษีนำเข้าตากเม็กซิโกและแคนาดาออกไป 30 วัน และ วันที่ 4 ก.พ. เริ่มบังคับใช้ภาษีนำเข้ากับจีน, วันที่ 10 ก.พ. ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมที่ 25% เริ่มบังคับใช้ 12 มี.ค., วันที่ 13 ก.พ. ประกาศใช้ภาษีแบบตอบโต้ (Reciprocal tariff), วันที่ 18 ก.พ. ประกาศขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ และยาที่ 25% ให้เริ่มบังคับใช้ 2 เม.ย., วันที่ 27 ก.พ. ประกาศขึ้นภาษีนำเข้ากับสหภาพยุโรปที่ 25% ให้เริ่มบังคับใช้ 2 เม.ย.
จากนั้นวันที่ 28 ก.พ. ประกาศเดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้ากับเม็กซิโกและแคนาดา และเพิ่มภาษีนำเข้ากับจีนอีก 10% ให้เริ่มบังคับใช้ 4 มี.ค., วันที่ 6 มี.ค. ประกาศเลื่อนการปรับขึ้นภาษีจากเม็กซิโกและแคนาดาในสินค้าบางรายการที่อยู่ภายใต้ USMCA (อาทิ รถยนต์) จนถึง 2 เม.ย., วันที่ 24 มี.ค. ประกาศขึ้นภาษี 25% กับประเทศที่นำเข้าน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติจากเวเนซุเอลา บังคับใช้ 2 เม.ย. และคาดว่าสหรัฐฯจะเปิดเผยแผนที่จะประกาศใช้ภาษีแบบตอบโต้กับประเทศคู่ค้าทั่วโลกในวันที่ 2 เม.ย. (มีผล 3 เม.ย. ตามเวลาประเทศไทย )
ทรัมป์ ได้ให้เหตุผลว่า การปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าในหลายประเทศ จะทำให้สินค้าดังกล่าวมีราคาแพงขึ้น ซึ่งจะช่วยปกป้องผู้ผลิตสหรัฐฯจากการแข่งขันในตลาด และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานในประเทศ
สำหรับภาษีสินค้านำเข้า เรียกว่าภาษีศุลกากรที่รัฐบาลจะเรียกเก็บจากผู้ที่นำเข้าสินค้าต่างประเทศ มาสู่ตลาดในประเทศ โดยทั่วไปภาษีศุลกากรจะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จากมูลค่าของสินค้า ซึ่งผู้ผลิตสามารถส่งผลต้นทุนดังกล่าวไปยังผู้บริโภคได้ กล่าวคือ สินค้านำเข้าที่ถูกเก็บภาษีจากเจ้าของประเทศก็จะถูกคำนวณไปในราคาสินค้าด้วย และสินค้าดังกล่าวก็จะมีราคาแพงขึ้น ซึ่งผู้บริโภคอาจไม่เลือกซื้อสินค้านั้นได้ หากมีสินค้าราคาถูกกว่าที่มีลักษณะคล้ายกัน
ตามปกติภาษีศุลกากร มักถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ ซึ่งมีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
หลายสำนักวิจัยคาดว่าไทยจะติดอยู่ในรายชื่อประเทศที่จะถูกขึ้นภาษีสินค้าด้วย เพราะเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯมากที่สุด หรือหมายความว่าการส่งออกสินค้าของไทยไปยังสหรัฐฯ มีมูลค่าที่สูงกว่าการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯมาไทย และถือเป็นสัดส่วนที่มากเมื่อเทียบกับหลายประเทศ อีกทั้งไทยยังมีการเก็บภาษีสูงกว่าฝั่งสหรัฐฯ ดังนั้นหากไทยถูกสหรัฐฯขึ้นภาษีก็อาจสร้างผลกระทบให้กับภาคส่งออกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทรัมป์ขึ้นภาษีกระทบเศรษฐกิจไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า กรณีหากไทยถูกสหรัฐฯปรับขึ้นภาษีในอัตราเต็มพิกัดที่ 25% จะกระทบเศรษฐกิจไทย (GDP) ประมาณ 0.6% และอาจทำให้ทั้งปี 2568 เติบโตได้ไม่ถึง 2.4% ตามที่ประมาณการณ์ไว้ โดยที่ภาคส่งออกจะเติบโตลดลงเหลือ 2.0% ต่ำกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ 2.5% โดยสินค้าที่เข้าข่ายยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ได้แก่ เหล็ก อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และอุปกรณ์การแพทย์
ปัจจุบันสินค้าไทยที่ไปส่งออกไปยังสหรัฐฯ มากสุดได้แก่ 1.อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนคิดเป็น 32% 2.เครื่องใช้ไฟฟ้าคิดเป็น 24.7% 3.ยางและผลิตภัณฑ์จากยางคิดเป็น 4.3% 4.ยานยนต์และชิ้นส่วนคิดเป็น 4.3% 5.เครื่องประดับคิดเป็น 3.6% 6.พลาสติกและผลิตภัณฑิจากพลาสติกคิดเป็น 2.6% 7.ผลิตภัณฑ์เหล็กหรือเหล็กกล้าคิดเป็น 2.1% 8.เครื่องมือวัดความแม่นยำ คิดเป็น 1.8% 9.เฟอร์นิเจอร์คิดเป็น 1.8% 10.เนื้อสัตว์และสัตว์น้ำ คิดเป็น 1.7%
วิจัยกรุงศรี มองแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าว่า จะยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนและความเสี่ยงจากมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งกระทบต่อการเติบโตของภาคส่งออกที่เป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปี
ล่าสุดสหรัฐฯประกาศจะเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์เพิ่มขึ้น 25% แม้ไทยอาจได้รับผลกระทบทางตรงในวงจำกัด เนื่องจากการส่งออกรถยนต์ของไทยไปสหรัฐฯ มีสัดส่วนเพียง 1.6% ของการส่งออกรถยนต์ทั้งหมดของไทย แต่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยลดลงจากกรณีฐานฯ -0.05%
นอกจากนี้ หากสหรัฐฯ เดินหน้าบังคับใช้มาตรการภาษีตอบโต้อย่างจริงจังกับประเทศที่มีดุลการค้าเกินดุลกับตนเอง ไทยนับเป็นประเทศหนึ่งที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญกับมาตรการภาษีดังกล่าว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกและภาคการผลิตของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้
อีกทั้งอัตราภาษีเฉลี่ยของไทยสูงกว่าสหรัฐฯ ประมาณ 5-6% และเมื่อรวมกับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งอยู่ที่ 7% อาจส่งผลให้สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีตอบโต้สินค้าจากไทยสูงถึง 13% อาจกลายเป็นอัตราภาษีที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน
สินค้าจีนทะลักไทยหนัก
การขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ นอกจากจะส่งผลกระทบทางตรงกับไทยแล้ว ยังส่งผลกระทบในทางอ้อมอีกด้วย โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) วิเคราะห์ว่าไทยจะได้รับผลกระทบท้างอ้อมจากจีน ดังนี้
1.สินค้าขั้นต้นและขั้นกลางจากไทยจะมีความต้องการนำเข้าน้อยลง เพราะสหรัฐฯกีดกันการค้าจีน อาจทำให้จีนผลิตสินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐฯลดลง จนทำให้สินค้าขั้นต้นและขั้นกลางจากไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตสินค้าจีนมีความต้องการน้อยลงไปด้วย
2.สงครามการค้าทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตชะลอตัว โดยจีนถือเป็นประเทศคู่ค้าอันดับสองของไทย คิดเป็นสัดส่วน 11.7% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด หรือประมาณ 35,243.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากเศรษฐกิจจีนซบเซาก็จะกระทบการนำเข้าสินค้าจากไทยด้วย โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มผักผลไม้ เครื่องดื่ม อาหาร ที่ส่งออกไปจีนจำนวนมาก
3.ปัญหาสินค้าจีนล้นตลาด เมื่อจีนส่งสินค้าไปสหรัฐฯไม่ได้ อาจทำให้สินค้าจีนผลิตออกมาเกินกว่าความต้องการ และต้องหาที่ระบายสินค้าไปยังประเทศอื่นแทน ซึ่งก็คือตลาดอาเซียนที่จะตกเป็นเป้าหมายสำคัญ เพราะมีพรมแดนติดกับจีนที่มีความสะดวกในการขนส่งสินค้า หากสินค้าจีนล้นทะลักเข้าไทยและตลาดคู่ค้าในภูมิภาค อาจทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยลดน้อยลง ซ้ำเติมผลกระทบทั้งภาคการผลิตและส่งออก เพราะไม่สามารถสู้สินค้าจีนที่มีต้นทุนถูกกว่าได้
ที่มา: IEC ธนาคารไทยพาณิชย์
ข้อเสนอแนะ
การจะลดผลกระทบจากนโยบายภาษีของทรัมป์นั้น SCB EIC มีข้อเสนอแนะว่า ไทยควรจะต้องมีการเจรจาเชิงรุก เร่งปรับตัวภายในประเทศ รวมถึงการลดภาษีนำเข้าที่เก็บจากสหรัฐฯ ยกเลิกการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers: NTBs) บางมาตรการ และส่งสัญญาณความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เช่น นำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น เพื่อลดเกินดุลการค้า หรือลงทุนเพิ่มในสหรัฐฯ
ทั้งนี้ไทยอาจได้ประโยชน์ในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่ระเบียบการค้าโลกใหม่นี้ได้ หากสามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตและการส่งออกของไทยได้
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, วิจัยกรุงศรี, ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง