นับตั้งแต่ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 47 ก็ได้ประกาศผ่านโซเชียลออกมาว่าเตรียมจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าทันทีหลังรับตำแหน่งวันแรก ได้แก่ สินค้าจากประเทศจีนเพิ่มกว่า 60% เม็กซิโกและแคนาดา 25% ซึ่งทั้ง 3 ประเทศนี้เป็นผู้ค้าอันดับต้น ๆ ของสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้ปัญหาผู้อพยพและการค้ายาเสพติด นอกจากนี้สินค้านำเข้าจากประเทศอื่น ๆ ก็โดนด้วยเช่นกัน จะเก็บในอัตรา 10-20%
นโยบายขึ้นภาษีสินค้านำเข้า (Tariff) ของทรัมป์ ทำให้หลายประเทศกังวลว่าจะเกิดสงครามการค้ารอบใหม่ ซึ่งจะมีการกีดกันการค้าระหว่างประเทศ เหมือนในตอนปี 2561 สมัยที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีสงครามการค้าระหว่างสองมหาอำนาจสหรัฐฯและจีน
แต่การขึ้นภาษีสินค้ารอบใหม่ของทรัมป์ ในครั้งนี้อาจจะมีความเกี่ยวข้องกับประเทศไทยด้วย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะเติบโตเพียง 2.4% ลดลงจากคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 2.6% โดยจะได้รับแรงกดดันหลักจากนโยบายทรัมป์ 2.0 ที่จะทำให้เกิดการกีดกันการค้าที่รุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการค้า การผลิต และการลงทุนชะลง
ไม่เพียงแต่ SCB EIC เท่านั้น สำนักวิจัยหลายแห่งก็มีมุมมองไปในทิศทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจไทยอาจได้รับผลกระทบจากนโยบายขึ้นภาษีของทรัมป์ตั้งครึ่งปีหลัง 2568
รวมไปถึงคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 67 มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% ต่อปี เพราะมองว่าในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยมีความไม่แน่นอนสูงมากขึ้น และยังไม่สามารถประเมินได้ เนื่องจากทิศทางนโยบายการค้าของเศรษฐกิจประเทศหลัก ที่เสี่ยงจะเกิดการกีดกันทางการค้าขึ้น จึงต้องรอดูความชัดเจน หากส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจนเกิดปัญหาขึ้น ก็พร้อมปรับเปลี่ยนโยบายการเงินให้เหมาะสม
เปิดโต๊ะเจรจาทางหนีภาษีทรัมป์
ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหาภาค SCB EIC เชื่อว่า การที่ทรัมป์ตั้งเงื่อนไขขึ้นภาษีสินค้านำเข้ากับหลายประเทศคู่ค้า เพื่อต้องการให้มีการเจรจาเกิดขึ้น ดังนั้นการรับมือสำหรับรัฐบาลไทย คือ ต้องไปเจรจากับสหรัฐฯ โดยต้องมีข้อเสนอไปแลกเปลี่ยนให้เกิดความพอใจ เช่น อาจจะยื่นข้อเสนอด้วยการซื้อสินค้าจากสหรัฐฯมากขึ้น เป็นต้น ซึ่งก็ถือเป็นการดำเนินนโยบายด้านการค้า
ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ควรต้องเตรียมความพร้อมด้วยว่าจะมีกลุ่มธุรกิจไหนที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากนโยบายขึ้นภาษีของทรัมป์บ้าง
ส่วนด้านการลงทุนก็ใช้กลไกจากโครงการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในไทยอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ไทยมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ และเพิ่มทักษะให้กับแรงงานจนมีรายได้สูงขึ้น รวมถึงยังสามารถส่งออกสินค้าที่ตลาดโลกต้องการได้มากขึ้น ซึ่งการดึงดูดนักลงทุนนั้นจะต้องทำอย่างเข้มข้นมากขึ้น เพราะเชื่อว่าหลายประเทศก็จะทำแบบนี้เช่นเดียวกันในช่วงที่ทั่วโลกปั่นป่วน ดังนั้นรัฐบาลก็ต้องมีส่วนช่วยด้วยว่าจะทำอย่างไรให้นักลงทุนสนใจอยากเข้ามาลงทุนในประเทศไทยท่ามกลางตัวเลือกมากมายจากประเทศอื่น ๆ
ประเทศอื่นรับมืออย่างไร
หลังทรัมป์ประกาศจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้า หลายประเทศก็มีการเตรียมนโยบายรับมือ เพื่อช่วยลดผลกระทบจากนโยบายของทรัมป์ เริ่มจากจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2568 โดยใช้นโยบายการคลังเชิงรุกที่เน้นกระตุ้นการบริโภคให้มากขึ้น ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และปรับนโยบายการเงินจากระมัดระวังเป็นเปิดกว้าง รวมถึงจำกัดโควตาการออกพันธบัตรรัฐบาลและท้องถิ่นมากขึ้น และตั้งเป้าลดขาดดุลทางการคลังเพิ่มขึ้น
ยุโรปเตรียมแผนที่จะรับมือทรัมป์ โดยจะเริ่มเจรจากับทรัมป์ทันที อาจจะเสนอซื้อเชื้อเพลิง หรืออาวุธ แทนการโดนขึ้นภาษี และยุโรปจะขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯ เพื่อเป็นการตอบโต้ รวมถึงจะขึ้นภาษีสินค้าจากจีน ป้องกันการทะลักเข้าไปในยุโรปมากเกินไป และมีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ
ญี่ปุ่นจะเน้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น ขึ้นค่าจ้าง ขยายเวลาช่วยค่าพลังงาน แจกเงินครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ขึ้นเกณฑ์ขั้นต่ำที่ต้องเสียภาษีเงินได้ เป็นต้น รวมถึงเพิ่มการลงทุนภาคเอกชนให้มากขึ้น
กระทบไทยทางตรง-ทางอ้อม
นโยบายขึ้นภาษีในยุคทรัมป์ 2.0 SCB EIC ประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยผลกระทบทางตรง คือ ภาคการส่งออก เพราะสหรัฐฯเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย
รายงานของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม (ITIF) องค์กรไม่แสวงผลกำไรในสหรัฐฯ ที่เปิดเผยดัชนี Trump Risk Index เป็นการจัดอันดับความเสี่ยงของประเทศพันธมิตรสหรัฐฯที่อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายขึ้นภาษีของทรัมป์ ปรากฏว่าไทยอยู่อันดับที่ 2 รองจากเม็กซิโก เนื่องจากไทยเข้าเกณฑ์ประเทศที่มีการค้าไม่เป็นธรรมกับสหรัฐฯหลายเรื่อง เช่น เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯมากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, ได้เปรียบต้นทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่ปี 2562 มากกว่า 5% และเป็นประเทศที่มีอุปสรรคทางการค้ามากกว่า 6 หน้าของรายงานการประเมินทางการค้าระหว่างประเทศ
นอกจากนี้สินค้าของไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯกว่า 70% มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นเป้าหมายลดขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ และสนับสนุนให้พึ่งพาสินค้าในประเทศทดแทนการนำเข้า เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรและคอมพิวเตอร์ เป็สต้น
ส่วนผลกระทบทางอ้อม คือ การที่สินค้าจีนโดนสหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้า จะทำให้สินค้าจีนที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯไม่ได้ ไหลทะลักออกไปสู่ตลาดประเทศอื่น ๆ มากขึ้นรวมถึงไทย ซึ่งจะกดดันและซ้ำเติมความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการผลิตไทยทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาไทยมีการนำเข้าสินค้าจีนจำนวนมากอยู่แล้วนับตั้งแต่ปี 2563
ขณะเดียวกันสินค้าขั้นกลางที่ผลิตในไทยและส่งออกไปจีนเพื่อผลิตขั้นปลายนั้นก็จะชะลอตัวลง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่จีนจะส่งออกไปยังสหรัฐฯ แต่ได้ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษี เช่น กลุ่มคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน แผงวงจรรวม (IC) แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) และไม้ยางพารา
หากจีนย้ายฐานการผลิตมาที่ไทย ก็อาจจะโดนมาตรการกีดกันทางการค้าต่าง ๆ จากสหรัฐฯด้วย เช่น การถูกตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้า การเพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบจากผู้ผลิตในประเทศ และการพิจารณาสัญชาติของบริษัท
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- ระวัง! ควันหลง สงครามการค้าสหรัฐ-จีน
- ไทยกระทบแค่ไหน? สหรัฐฯขึ้นภาษีป่วนการค้าโลก
- นโยบายทรัมป์เริ่มออกฤทธิ์ปี’68 กระทบหนักปี’69