โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา ประกาศเตรียมใช้นโยบายปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศอื่น ๆ ที่สหรัฐฯขาดดุลการค้า โดยเฉพาะจีนมากสุดถึง 60% และล่าสุดประกาศว่าหลังเข้ารับตำแหน่งจะเริ่มขึ้นภาษีทันทีจากสินค้าของเม็กซิโกและแคนาดา 25% เพื่อตอบโต้ปัญหาการลักลอบค้ายาเสพติดและการลักลอบข้ามชายแดนผิดกฎหมาย และปรับขึ้นภาษีสินค้าจีนเพิ่มเติมอีก 10% จากอัตราปัจจุบัน
จากประเด็นดังกล่าวทำให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดสงครามการค้ารอบใหม่อีกครั้ง และจะส่งผลกระทบต่อการค้าทั่วโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก นอกเหนือจากภาคการท่องเที่ยว
บุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า นโยบายการกำแพงภาษีของ ทรัมป์ แม้จะต้องรอความชัดเจนจริง ๆ ในต้นปีหน้า แต่ก็ทำให้เกิดความกังวลว่าจะทำให้เศรษฐกิจโลกและการค้าระหว่างประเทศกลับมาซบเซาเหมือนในปี ค.ศ.1930 ซึ่งตอนนั้นสหรัฐฯปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเฉลี่ย 20% ทำให้หลายประเทศทั่วโลกต้องปรับขึ้นตาม จนการค้าระหว่างประเทศหยุดชะงัก ตามมาด้วยเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก
ทั้งนี้ คาดว่าผลกระทบจากนโยบายขึ้นภาษีของ ทรัมป์ จะไม่รุนแรงเท่าปี ค.ศ.1930 เพราะคงไม่มีประเทศไหนกล้าปรับขึ้นภาษีตาม หลังก่อนหน้านี้จีนเคยขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯเพื่อตอบโต้มาแล้ว แต่ไม่ได้ผล ทั้งนี้มองว่าทรัมป์อาจไม่สามารถดำเนินนโยบายได้ทั้งหมดตามที่หาเสียงไว้
บุรินทร์ แนะนำว่า รัฐบาลควรจะทำให้เศรษฐกิจไทยมีความแข็งแรงมากขึ้น เพิ่มรายได้ประชาชน เสาะหาตลาดทำการค้าใหม่ ๆ และลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ
สงครามการค้ากระทบเศรษฐกิจไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการขึ้นภาษีเต็มรูปแบบของ ทรัมป์ จะกระทบเศรษฐกิจไทย 0.6% ซึ่งคิดรวมในประมาณการเศรษฐกิจไทย (GDP) แค่บางส่วนเท่านั้น โดยในปี 2568 คาด GDP ไทย จะเติบโตเหลือ 2.4% ลดลงจากปีก่อนหน้าที่คาดไว้ 2.6% ขณะที่ผลกระทบสงครามการค้าจะเริ่มเห็นผลช่วงหลังไตรมาส 2 ปี 2568 หรืออาจจะเริ่มเร็วกว่านั้น หากทรัมป์เร่งดำเนินนโยบายไวขึ้น
สงครามการค้ารอบใหม่จะส่งผลกระทบทางตรงในภาคส่งออกของไทย ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ไทยเป็น 1 ใน 15 ประเทศเป้าหมายที่จะถูกสหรัฐฯขึ้นภาษีสินค้านำเข้า ซึ่งสหรัฐฯมีหลักเกณฑ์ 4 ข้อ และไทยเข้าหลักเกณฑ์เกือบทั้งหมด ดังนี้
1.ประเทศที่สหรัฐฯขาดดุลการค้าจำนวนมาก
2.ค่าเงินดอลลาร์อ่อนประมาณ 5% เมื่อเทียบกับสกุลเงินประเทศนั้น ๆ
3.มาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี ๆ ที่กระทบกับสินค้าค้าสหรัฐฯมูลค่าเกิน 10,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
4.ภาษี MFN ในแต่ละสินค้า ถ้าสูงกว่าของสหรัฐฯ โดย MFN คือ การเรียกเก็บภาษีกับสินค้านำเข้าจากประเทศสมาชิกอื่น ๆ เท่าเทียมกันทุกประเทศ และปฏิบัติต่อสินค้านำเข้าเท่าเทียมกับสินค้าภายในประเทศ
สินค้าที่ได้รับผลกระทบหนักจากการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ จะเป็นสินค้าที่หาทดแทนได้จากประเทศอื่น ๆ นอกเหนือจาก 15 ประเทศเป้าหมายของทรัมป์ ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โซลาร์เซลล์ และยางล้อรถยนต์ เป็นต้น
ขณะที่ผลกระทบทางอ้อม หากจีนถูกสหรัฐฯขึ้นภาษีสินค้านำเข้าสูงถึง 60% จะทำให้ไทยเจอความยากลำบากในการแข่งขันทางการค้าในประเทศ เนื่องสินค้าจีนจะทะลักเข้ามาจำนวนมากหลังถูกกีดกันจากสหรัฐฯ ทั้งสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอุปโภคบริโภค รถยนต์ เหล็ก เป็นต้น
และยังเผชิญการแข่งขันกับสินค้าจีนในตลาดอื่น ๆ อีกด้วย จำพวกสินค้าคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ แอร์ อุปกรณ์โทรทัศน์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ยานยนต์
ขณะเดียวกันสินค้าจีนจะทำให้ภาคการผลิตของไทยหดตัวลง ซึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนัก เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ เสื้อผ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้า
อุตสาหกรรมไทยปี 68 แย่ลง
ธุรกิจที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสงครามการค้ารอบใหม่มาก คือ ธุรกิจ SMEs ไปจนถึงธุรกิจขนาดกลาง ซึ่งจะแข่งขันลำบากมากขึ้น เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2568 กิจการการผลิตของธุรกิจ SMEs อาจจะลดลงอีกเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน โดยธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงในด้านการแข่งขัน คือ อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ เคมีภัณฑ์ โลหะ เหล็ก สินค้าแฟชั่น และสินค้าอุปโภคบริโภค
ยังไม่นับรวมกรณีไทยหากถูกเจรจาต่อรองให้เปิดตลาดนำเข้าสินค้าบางรายการที่ไม่เคยเปิดมาก่อน เช่น ระบบโควตา โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตรของไทย เพื่อปกป้องสินค้าภายในประเทศ หากไทยถูกบังคับให้ต้องเปิดตลาดนำเข้าเพิ่มเติม ก็อาจกระทบสินค้าเกษตรมากขึ้น ซึ่งสินค้าเกษตรที่สหรัฐฯส่งออกไปทั่วโลก ได้แก่ ถั่วเหลือง ข้าวสาลี ข้าวสาร และเนื้อหมู
นอกจากนี้หากเศรษฐกิจจีนชะลอลงแรงจากสงครามการค้า จะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อไทยในธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งกสิกรไทยประเมินว่าปี 2568 นักท่องเที่ยวจีนจะมาไทยประมาณเกือบ 8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ประมาณ 7 ล้านคน แต่ก็ยังไม่เท่ากับช่วงก่อนโควิด-19 ที่ 11 ล้านคน
ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมไทยจะได้รับผลกระทบจากนโยบายภาครัฐ เช่น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ซึ่งทำให้ต้นทุนธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่พึ่งพาแรงงานจำนวนมาก
กรณีที่ พิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีแนวคิดที่จะปฏิรูประบบภาษี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา นักวิเคราะห์ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จะทำให้ภาคธุรกิจในระบบฐานภาษีต้องคำนวณฐานภาษีใหม่ อาจกระทบการดำเนินธุรกิจ และผู้ประกอบการที่ไม่ได้อยู่ในระบบภาษีราว 2 ล้านราย ก็ได้รับผลกระทบจากการปรับฐานภาษีด้วยเช่นกัน
ส่วนการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตรา 15% อาจกระทบกลุ่มผู้มีรายได้ระดับปานกลางจนถึงระดับล่าง เนื่องจากค่าครองชีพสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ธุรกิจค้าปลีกเปราะบางมากขึ้น รวมถึงสินค้าคงทนอย่างรถยนต์และบ้าน
อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลพยายามจะเร่งสร้างเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ (New Growth Engine) แต่จะมีแค่บางธุรกิจที่ได้รับประโยชน์ เช่น การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ดาต้าเซ็นเตอร์ (Data Center) อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ไฟฟฟ้า เป็นต้น แต่โดยรวมแล้วธุรกิจระดับกลางจนถึงล่างจะได้รับผลกระทบมากกว่า และมีจำนวนที่เยอะมาก
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- ระวัง! ควันหลง สงครามการค้าสหรัฐ-จีน
- นโยบายทรัมป์เริ่มออกฤทธิ์ปี’68 กระทบหนักปี’69
- เทียบ”Trump Effect” จาก “อเมริกาเฟิสต์” ถึง “ยุคทองของอเมริกา”