สำนักงานประกันสังคมเตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็น ปรับปรุงกฎหมายขยายความคุ้มครองผู้ประกันตนมาตรา 33 ครอบคลุมกลุ่มอาชีพที่มีนายจ้าง 3 กลุ่ม คือ ลูกจ้างของกิจการที่มีการทำงานเป็นฤดูกาล ลูกจ้างที่ทำงานในบ้านเรือนส่วนบุคคลและลูกจ้างในกิจการการค้าแผงลอย
สำหรับลูกจ้างของกิจการที่มีการทำงานเป็นฤดูกาล ประกอบไปด้วยลูกจ้างเพาะปลูก ประมง ป่าไม้และเลี้ยงสัตว์ ส่วนลูกจ้างที่ทำงานในบ้านเรือนส่วนบุคล ประกอบด้วย ลูกจ้างทำงานบ้าน คนขับรถ คนสวน
การขยายความคุ้มครองจะทำให้ลูกจ้างทุกกิจการได้รับความคุ้มครองหลักประกันสังคมเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและได้รับความเป็นธรรมทางสังคม
3 กลุ่มอาชีพที่สำนักงานประกันสังคมเตรียมขยายความคุ้มครองตามมาตรา 33
การขยายความคุ้มครองตามมาตรา 33 จะทำให้ผู้ประกันตนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เข้าถึงสิทธิประกันสังคมครบ 7 กรณี ทำให้ลูกจ้างมีหลักประกันในการดำรงชีวิต และได้รับการรักษาหากเจ็บป่วย รวมถึงสิทธิได้รับเงินชดเชย กรณีต่าง ๆ เช่น เงินค่าคลอดบุตร เงินสงเคราะห์บุตร เงินบำเหน็จบำนาญชราภาพ เงินว่างงาน เงินทดแทนทุพพลภาพ และเงินกรณีเสียชีวิต
สำหรับนายจ้าง จะทำให้มีภาระในการดูแลลดลง ซึ่งนายจ้างจะหมดกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิด เมื่อมีเหตุต่าง ๆ กับลูกจ้าง เพราะระบบประกันสังคมเป็นผู้รับความเสี่ยงแทนนายจ้าง เช่น เงินชดเชยจากการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย
ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้บริษัทหรือองค์กรเอกชน ต้องมีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป มีหน้าที่ต้องขึ้นทะเบียนเป็นนายจ้างและจัดให้ลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33
เงื่อนไขการขึ้นทะเบียนนายจ้าง
- ลูกจ้าง 1 คนขึ้นไป หากบริษัทหรือองค์กรเอกชนมีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างประจำหรือชั่วคราว นายจ้างมีหน้าที่ต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายใน 30 วัน นับจากวันที่จ้างลูกจ้างคนแรก
- ไม่จำกัดประเภทกิจการ ไม่ว่าบริษัทจะประกอบธุรกิจประเภทใด เช่น การผลิต การค้า บริการ ฯลฯ ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายประกันสังคม
- ลูกจ้างทุกสัญชาติ ลูกจ้างที่ทำงานในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือชาวต่างชาติ ก็ต้องเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคม
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง: