ฝุ่นละอองขนาดเล็กเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญของคุณภาพอากาศ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้เกิดโรคอันตรายจำนวนมาก อีกทัั้งยังทำให้ผู้ป่วยเดิมมีอาการย่ำแย่หนักกว่าเดิม ในปี 2562 องค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการว่าการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 6.7 ล้านราย อาจเกี่ยวข้องกับ PM 2.5 ในบรรยากาศทั่วไป
สำหรับประเทศไทย คณะรัฐมนตรีมีมติให้ปัญหาฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 สั่งการให้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ปี 2562 – 2567 กระทรวงสาธารณสุขได้เฝ้าระวัง 13 โรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ โดยเป็นโรคในกลุ่มทางเดินหายใจ หัวใจ หลอดเลือดสมอง และอื่น ๆ ไปพร้อมกับการออกมาตรการป้องกันและแก้ไขทั้งตลอดปีและเพิ่มความเข้มข้นในช่วงวิกฤตของหน่วยงานต่าง ๆ โดยให้ความสำคัญกับแหล่งกำเนิดฝุ่นเพื่อแก้ปัญหาที่ต้นตอ
ในภาพใหญ่ระดับประเทศพบว่าแหล่งกำเนิดหลักของฝุ่นละอองมาจาก การคมนาคมและขนส่ง การเผาในที่โล่ง ภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้าง และ หมอกควันข้ามแดน
แต่หากพิจารณาเฉพาะเจาะจงมายังฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯ จากผลการศึกษาพบว่าเกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์เป็นส่วนใหญ่ และเป็นปัจจัยที่สามารถกำกับดูแลได้ อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เป็นเมืองใหญ่มีประชากร 5.45 ล้านคน ทำให้มาตรการแก้ปัญหามีความหลากหลายและเกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่าง ๆ มากกว่าพื้นที่อื่น
ฝุ่นรายปี กรุงเทพฯ เกินค่ามาตรฐาน
ภาพรวมปริมาณฝุ่น PM2.5 ทั่วประเทศ ปี 2563 – 2566 โดยใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง แต่ค่าเฉลี่ยรายปี 2567 กลับมาเพิ่มสูงขึ้น
ขณะที่ฝุ่นกรุงเทพฯ มีค่าเฉลี่ยรายปี ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยประเทศ แม้ว่าจะมีการล็อกดาวน์และลดกิจกรรมลงเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 แต่ฝุ่นในปี 2563 ก็ไม่ได้ลดลงมากนัก และแย่ขึ้นในปี 2566 โดยเพิ่มขึ้น 13% จากปีก่อนหน้าเนื่องจากแหล่งกำเนิดฝุ่นที่เพิ่มขึ้น
ค่ามาตรฐาน PM2.5 เกณฑ์ใหม่ที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนดให้ใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566 คือ
- ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงจากเดิมไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. เป็น ไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม.
- ค่าเฉลี่ย 1 ปีจากเดิมไม่เกิน 25 มคก./ลบ.ม. เป็น 15 มคก./ลบ.ม.
เพื่อให้ค่ามาตรฐานเป็นสากลมากขึ้น ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยฝุ่นทั้งระดับประเทศและกรุงเทพฯ ต่างเกินค่ามาตรฐานทั้ง 4 ปี อีกทั้งยังพบว่าค่าเฉลี่ยสูงสุดรายปีของกรุงเทพฯ สูงกว่าเกณฑ์ 2 – 3 เท่า ส่วนค่าเฉลี่ยต่ำสุดรายปี เริ่มสูงขึ้นจนแตะเส้นค่ามาตรฐานในปีล่าสุด
ผู้ป่วยโรคจากมลพิษอากาศเพิ่มต่อเนื่อง
13 โรคจากมลพิษทางอากาศที่กระทรวงสาธารณสุขเฝ้าระวังในระบบบริการสาธารณสุข ได้แก่
- Chronic Obstructive Pulmonary disease โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
- Asthma โรคหอบหืด
- Pneumonia โรคปอดอักเสบ (ปอดบวม)
- Influenza โรคไข้หวัดใหญ่
- Acute pharyngitis โรคคออักเสบ
- Chronic rhinitis โรคจมูกอักเสบเรื้อรัง
- Bronchitis โรคหลอดลมอักเสบ
- Acute ischemic heart disease โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
- Cerebrovascular disease (stroke) โรคหลอดเลือดสมอง
- กลุ่มโรคตาอักเสบ
- กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ
- กลุ่มโรคอื่นๆ
- Long-term effect (มะเร็งปอด)
ในภาพรวมทั้งประเทศผู้ป่วยกลุ่มโรคเหล่านี้เพิ่มขึ้นทุกปี ล่าสุดปี 2567 มีการเข้ารับการรักษาสูงถึง 12 ล้านราย หรือเพิ่มขึ้น 1.7 เท่าใน 5 ปี
สำหรับกรุงเทพฯ มีผู้ป่วยจากโรคจากมลพิษทางอากาศไม่ต่ำกว่า 2 แสนรายเข้ารับการรักษาในแต่ละปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปี 2567 มียอดผู้ป่วย 337,076 ราย มากกว่า ปี 2563 ซึ่งมียอดผู้ป่วย 296,856 ราย โดยกรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่มีผู้ป่วยมากที่สุดของประเทศ ทั้งที่ขณะนั้นมีปัจจัยมาจากการระบาดของโควิด-19 ด้วย
โดยการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของปริมาณฝุ่น PM2.5 กล่าวคือ เมื่อค่าฝุ่นสูงขึ้นในระยะหนึ่งจะมีผู้ป่วยโรคจากมลพิษทางอากาศเข้ารับการรักษาสูงขึ้นตามมา
ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงปลายปีโดยเฉพาะเดือนธันวาคม มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาน้อยลงอย่างมากในทุกกลุ่มโรค แม้ปริมาณฝุ่นจะไม่ได้น้อยลงด้วยก็ตาม รวมถึงปี 2567 ที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษามากขึ้นต่อเนื่องถึงเดือนสิงหาคม
ฝุ่น PM2.5 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อ 4 กลุ่มเสี่ยง ทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัว จากข้อมูลพบว่ายิ่งมีอายุมากยิ่งป่วยมาก เป็นกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปมากที่สุด อีกกลุ่มเสี่ยงคือเด็กอายุ 5-9 ปี ซึ่งอยู่ในวัยอนุบาลถึงประถมศึกษาตอนต้น
กระทรวงสาธารณสุขยังเปิดเผยด้วยว่าเพศหญิงมีความเสี่ยงที่จะมีอาการมากกว่าเพศชาย 1.13 เท่า และผู้มีโรคประจำตัวมีความเสี่ยงที่จะมีอาการ 1.76 เท่า ที่สำคัญผู้ที่ไม่ป้องกันตัวเองจากฝุ่นมีความเสี่ยงที่จะมีอาการ 2.02 เท่า ซึ่งมีรายงานว่าปี 2567 ประชาชนมีพฤติกรรมการป้องกันตนเองจากฝุ่นลดลง
‘สโตรก’ โรคอันตราย ติดอันดับป่วยมากที่สุด
โรคหลอดเลือดสมอง หรือ ‘สโตรก’ เป็นโรคที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุดรองจากมะเร็งและมีอัตราเสียชีวิตมากขึ้นเรื่อย ๆ มีการศึกษาในต่างประเทศพบว่าฝุ่น PM2.5 มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคและอัตราการเสียชีวิตมากกว่า PM10 เพราะอนุภาคยิ่งมีขนาดเล็กยิ่งสามารถเข้าสู่กระแสเลือดได้มากขึ้น โดย PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุก 10 มค.ก./ลบ.ม. จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง 3.49 – 35%
ปี 2563 – 2567 กรุงเทพฯ มีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเข้ารับการรักษาสะสม 335,015 ราย เฉลี่ยปีละ 67,003 ราย เป็นอันดับ 2 รองจากกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบที่มีรักษาสะสม 360,720 ราย เฉลี่ยปีละ 72,144 ราย ซึ่งในปีที่ผ่านมาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในกรุงเทพฯ มีอัตราเสียชีวิตถึง 11.25% สูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศที่อยู่ที่ 7.41%
PM2.5 กระตุ้นปอดอุดกั้นเรื้อรังกำเริบเฉียบพลัน
ใน 5 ปี คนกรุงเทพฯ เข้ารับการรักษาโรคปอดอุดก้นเรื้อรังเฉลี่ยปีละ 17,900 ราย สะสม 89,501 ราย โดยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เกิดจากความผิดปกติในการตอบสนองของปอดต่อสารหรือก๊าซที่มากระตุ้นก่อให้เกิดการอุดกั้นของหลอดลมในลักษณะเรื้อรังที่มีการฟื้นกลับไม่เมต็ที่และเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ สามารถเกิดอาการกำเริบเฉียบพลันหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ภาวะปอดอักเสบติดเชื้อ ภาวะหายใจหรือหัวใจล้มเหลวและการเสียชีวิตในที่สุด
มีงานศึกษาในประเทศไทยพบว่าฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุก 10 มค.ก./ลบ.ม จากค่าเฉลี่ยรายวันทําให้ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเกิดอาการกําเริบเฉียบพลันเพิ่มขึ้น 7.2 – 8.9% และสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น 1.6%
อีกทั้งยังมีการศึกษาความสัมพันธ์ของฝุ่น PM2.5 ต่อผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในโรงพยาบาลเกาะคา จ.ลำปาง ซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ประสบปัญหาฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน พบว่าฝุ่น PM 2.5 ที่มากกว่า 50 มค.ก./ลบ.ม. เพิ่มอาการกำเริบขึ้น 1.5 เท่า และหากมีประวัติการสูบบุหรี่จะเพิ่มเป็น 1.6 เท่า
มาตรการเชิงพื้นที่ลดฝุ่น กทม.
ที่ผ่านมากระทรวงสาธารสุขมีมาตรการในการดูแลสุขภาพประชาชนในสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เช่น การเปิดคลินิกมลพิษในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และสังกัดกรุงเทพมหานคร การจัดทำห้องปลอดฝุ่นในสถานบริการสาธารณสุข หรือการออกหน่วยบริการเคลื่อนที่
แต่นอกจากมาตรการทางสาธารณสุขที่ดูแลรักษาความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นแล้ว ปี 2562 คณะรัฐมนตรีประกาศให้การแก้ไขปัญหาฝุ่นเป็นวาระแห่งชาติ กำหนดแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” เป็นแนวทางปฏิบัติ ด้วย 3 มาตรการคือ
- การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่
- การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด)
- การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ
รวมทั้งใช้ระบบบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จ (single command) เป็นกลไกจัดการปัญหา โดยมีตัวชี้วัดด้วยการลดจำนวนวันที่ค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน ลดจำนวนจุดความร้อน และลดการเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจที่เกี่ยวข้องกับลพิษทางอากาศ
64.3% ของมาตรการมุ่งจัดการแหล่งกำเนิด
จากการรวบรวมมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 เชิงพื้นที่ในปี 2563-2567 รวม 56 มาตรการ พบว่า กทม. มุ่งเน้นการจัดการกับแหล่งกำเนิดมากที่สุดคิดเป็น 64.3% รองลงมาคือด้านสุขภาพ 26.8% และการบริหารจัดการ 8.9%
อย่างไรก็ตาม การจัดการกับแหล่งกำเนิดในปัจจุบันส่วนใหญ่มีลักษณะ “ขอความความร่วมมือ” ทั้งจากประชาชนและจากเอกชนหรือผู้ประกอบการให้มีส่วนช่วยลดฝุ่น เช่น ดับเครื่องขณะจอด ลดกำลังการผลิตในโรงงาน การลดค่าน้ำมันเครื่องและอะไหล่ยนต์ การลดค่ารถไฟฟ้า การลดหรือตรึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm
ส่วนด้านสุขภาพเน้นการบรรเทาด้วยการจัดการสภาพแวดล้อม เช่น การฉีดพ่นน้ำล้างฝุ่น การทำห้องปลอดฝุ่นในโรงเรียนและโรงพยาบาล
เมื่อแบ่งประเภทในแต่ละด้านที่จัดการ พบว่าในกลุ่ม “ยานพาหนะ” มีมาตรการที่เกี่ยวข้องมากที่สุด เช่น การจำกัดรถบรรทุก การตรวจจับควันดำ การลดใช้รถยนต์ การส่งเสริมรถพลังงานไฟฟ้า รองลงมาคือการเผา เช่น การจุดธูปเทียนเผากระดาษในวัดและศาลเจ้า การใช้เตาเผาศพอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการเพื่อไม่ให้เกิดมลภาวะมากที่สุด
ส่วนการดำเนินชีวิตมีสัดส่วนเท่ากับการเผา เช่น Work From Home งดกิจกรรมกลางแจ้ง งดการเรียนการสอน หรือแจกหน้ากากอนามัย
มาตรการเน้นการใช้ในลักษณะแบบขอความร่วมมือคิดเป็น 35.7% การเพิ่มประสิทธิภาพ 16.1% การบังคับ บรรเทา และกวดขัน อย่างละ 12.5% และการส่งเสริม 10.7% เกือบทุกลักษณะมาตรการมุ่งใช้กับแหล่งกำเนิด
เหตุที่มาตรการจัดการแหล่งกำเนิดส่วนใหญ่มีลักษณะขอความร่วมมือ เนื่องจากบางกรณีเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานที่ดำเนินมาตรการรวมถึงประเด็นการละเมิดได้ แต่ในหลายมาตรการจะถูกยกระดับความเข้มข้นเมื่อสถานการณ์ปริมาณฝุ่นสูงขึ้นซึ่งอาจมีบทลงโทษได้ และจากการขอความร่วมมือก็อาจกลายเป็นมาตรการบังคับได้แต่ยังน้อยอยู่
มาตรการด้านการบริหารจัดการที่มีสัดส่วนน้อยที่สุดนั้น มีมาตรการที่น่าสนใจคือการศึกษาต้นตอฝุ่นจากการวิเคราะห์องค์ประกอบซึ่งเป็นมาตรการที่มีในปี 2567 และไม่ปรากฎในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งการเข้าใจที่มาของฝุ่น PM2.5 จะช่วยให้ออกแบบนโยบายหรือออกมาตราการที่ตรงจุดเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นทั้งในเชิงระยะเวลาและเชิงพื้นที่
ด้านกรมควบคุมโรคยังพยากรณ์โรคด้วยว่าหากมีนโยบายป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นที่ชัดเจน ได้รับความร่วมมือ ผลกระทบจากปรากฎการณ์ธรรมชาติน้อยลง จนค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ลดลง 20% จะทำให้จำนวนผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังลดลงปีละ 7% โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันลดลงปีละ 4%
อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ป่วยในกรุงเทพฯ ปี 2567 จะมากถึง 339,143 ราย แต่อยู่ในอันดับ 4 โดยอันดับ 1 คือ นครศรีธรรมราช ป่วย 682,076 ราย นครราชสีมา 603,840 ราย เชียงใหม่ 359,672 ราย
ตอกย้ำว่ายังมีอีกหลายจังหวัดที่มีปัจจัยซับซ้อนน่าเป็นห่วง ทั้งแหล่งกำเนิดที่ควบคุมได้ยากอย่างจุดความร้อนจำนวนมากที่ก่อให้เกิดไฟป่าลุกลาม หรือปัญหาหมอกควันข้ามแดนที่ยังแก้ไม่ได้ การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ยิ่งต้องเข้มข้น มีแผนชัดเจนและตรงจุด เพื่อพร้อมรับฝุ่นที่วันนี้เป็นภัยพิบัติ