ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในบรรยากาศที่กระทบต่อสุขภาพ ไม่ได้มีเพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งรัฐบาลของประเทศเหล่านั้นต่างคิดค้นมาตรการขึ้นมา เพื่อพยายามแก้ไขปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในอากาศลดลง โดยธนาคารโลก (World Bank) ก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมดำเนินการดังกล่าวด้วย โดยมีหลายประเทศประสบความสำเร็จ หรือ อย่างน้อยทำให้ปัญหาลดลง
โมเดล GAIN ช่วยลด PM 2.5 ในเขตสามเหลี่ยม “จิงจินจี่” ของจีน
เริ่มจาก จีน ที่ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีมลพิษมากที่สุดในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ แต่จีนก็ยังได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำด้านการจัดการคุณภาพอากาศ ซึ่งถือเป็นตัวอย่างความสำเร็จและบทเรียนให้แก่ประเทศอื่น ๆ ทั้งนี้ธนาคารโลก ได้เข้าไปทำงานร่วมกับรัฐบาลจีนในการจัดการคุณภาพอากาศตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
โดยการดำเนินการในขั้นตอนแรก จะมุ่งเน้นไปที่การประเมินปัจจัยเชิงสถาบันและศึกษาลักษณะของปัญหาด้านมลพิษทางอากาศ และในขั้นตอนที่สอง ธนาคารโลกได้นำความรู้ใหม่ในเรื่องการทำโมเดลวิเคราะห์ต้นทุนและประโยชน์มาใช้ ซึ่งประยุกษ์ให้เข้ากับบริบทของจีน จนได้เกิดโมเดลชื่อ GAIN เป็นโมเดลที่ IIASA พัฒนาขึ้น และได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ช่วยในการแสวงหากลยุทธ์ควบคุมการปล่อยมลพิษที่ให้ประสิทธิผลคุ้มต้นทุน โดบแก้ปัญหาคุณภาพอากาศในท้องถิ่นกับก๊าซเรือนกระจกได้พร้อมกัน เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดในทุกขนาดความท้าทาย
ทั้งนี้ โมเดล GAIN ได้ถูกนำมาใช้กับเขตสามเหลี่ยม “จิงจินจี่” (เกิดจากการรวมกันของปักกิ่ง เทียนจิง และมณฑลเหอเป่ย) เนื่องจากเป็นพื้นที่ฝุ่นที่มีมลพิษสูงสุดของจีน ซึ่งการใช้โมเดลนี้ช่วยยกระดับแผนปฏิบัติการคุณภาพอากาศที่มีอยู่แล้วในเขตจิงจินจี่ จากนั้นจึงนำแผนส่วนหนึ่งมาดำเนินการในมณฑลเหอเป่ยผ่าน Program of Result (PforR) และเสริมด้วยเงินกู้ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากธนาคารโลก
ขณะที่โครงการ PforR ที่เชื่อมโยงกับการปล่อยเงินกู้นั้น ได้รับการพิสูจน์ว่าได้ผลจริง ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายในโครงการที่มีความซับซ้อนเชื่อมโยงกันหลายภาคส่วน สำหรับโครงการการจัดการคุณภาพอากาศนี้ ธนาคารโลกจะปล่อยเงินกู้ตามความก้าวหน้าของมณฑลเหอเป่ยในการลดการปล่อยมลพิษในภาคส่วนสำคัญ ๆ ได้แก่
- การคมนาคม เปลี่ยนรถเมล์สาธารณะที่ก่อมลพิษเป็นรถที่ปล่อยมลพิษต่ำแทน
- ครัวเรือน เปลี่ยนเตาถ่านหินในครัวเรือนที่เป็นภัยต่อสุขภาพให้เป็นเตาแก๊ส หรือเตาไฟฟ้าที่ใช้ประกอบอาหารได้สะอาดขึ้น
- ภาคการเกษตร การใช้ปุ๋ยที่ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไนโตรเจนในไร่นา
- ภาพอุตสาหกรรม ใช้ระบบการตรวจวัดสารมลพิษและบังคับใช้อย่างต่อเนื่อง (Continuous emissions monitoring and enforcement system for Air Pollutants) ซึ่งได้ผลดีในการทำให้ภาคอุตสาหกรรมดดำเนินกิจการตามมาตรฐานการปล่อยมลพิษ และคล้อยตามกฎเกณฑ์กำกับดูแล
สำหรับโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างสูง เพราะสามารถบรรลุผลเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยสามารถลดดความเข้มข้นเฉลี่ยต่อปีของฝุ่น PM 2.5 ในปี 2556 จากค่าเฉลี่ยที่ 77 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เหลือค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 43 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในปี 2560 หรือ ลดลง 44% ซึ่งช่วยป้องกันการเสียชีวิตก่อนวันอันควรได้ 370,000 ราย และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่ากับคาร์บอนได้ออกไซด์ 4-6 ล้านตัน
บทเรียนที่ได้จากโครงการนี้ คือ การวิเคราะห์ความคุ้มค่าของประสิทธิผลเทียบต้นทุน ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่เมืองหรือเขตพื้นที่และประเทศต้องนำไปพิจารณา หากต้องเลือกมาตรการที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายคุณภาพอากาศได้ด้วยต้นทุนต่ำสุด
เดิมแผนงานด้านคุณภาพอากาศที่จีนใช้นั้นมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ซึ่งแนวทางที่ใช้ต้นทุนสูงจะไม่ยั่งยืนในระยะยาว ดังนั้นการหามาตรการที่ให้ประสิทธิผลคุ้มกับต้นทุนจึงจำเป็นอย่างมาก และจากประสบการณ์นี้ของจีนจึงได้ถูกนำไปปรับใช้ในเขตพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศ รวมถึงในประเทศอื่นที่ร่วมโครงการความช่วยเหลือทางเทคนิคของธนาคารโลก
“วิเคราะห์ความคุ้มค่าของประสิทธิผลเทียบต้นทุน” ช่วยยกระดับแผนแก้ฝุ่น
ด้านเมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม ก็ประสบกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยธนาคารโลกได้ให้ความช่วยเหลือเมืองฮานอย เพื่อหาแหล่งกำเนิดของฝุ่น PM 2.5 ภายในเมือง รวมถึงพัฒนาโมเดลคุณภาพอากาศให้เขตพื้นที่ฮานอย โดยได้ใช้โมเดลวิเคราะห์ความคุ้มค่าของประสิทธิผลเทียบต้นทุนในการกำหนดข้อเสนอแนะในการสร้างอากาศสะอาด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในเมือง
การดำเนินโมเดลดังกล่าวจะช่วยระบุลักษณะของสถานการณ์คุณภาพอากาศในฮานอย และประมาณการผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ในอากาศที่มีต่อสุขภาพ โดยการใช้โมเดลวิเคราะห์ความคุ้มค่าของประสิทธิผลเทียบต้นทุนช่วยให้คณะทำงานสามารถกำหนดข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อการจัดการคุณภาพอากาศที่ดีขึ้นได้ และข้อเสนอดังกล่าวได้ถูกนำมาอภิปรายในฐานะจุดเริ่มต้นของแผนแม่บทคุณภาพอากาศเฉพาะเมืองฮานอย
ข้อค้นพบที่สำคัญหลังใช้โมเดลวิเคราะห์ความคุ้มค่าของประสิทธิผลเทียบต้นทุน คือ
- นโยบายคุณภาพอากาศที่เมืองฮานอยร่างไว้ และกำลังใช้อยู่นั้น ช่วยลดการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 ของประชาชนได้ แต่เมื่อประเมินแล้วกลับพบว่ายังไม่สามารถยกระดับคุณภาพอากาศจนผ่านเกณฑ์ระดับชาติได้
- เรื่องที่ขัดกับความคิดเดิม คือ มีสัดส่วนฝุ่น PM 2.5 ในบรรยากาศเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ที่มีแหล่งกำเนิดจากในเมืองฮานอย แต่ส่วนที่เหลือมาจากพื้นที่อื่น ๆทั้ง ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดง และจังหวัดอื่นในเวียดนาม รวมถึงยังมีที่มาจากประเทศอื่น ทั้งจากการขนส่งระหว่างประเทศ และจากแหล่งกำเนินตามธรรมชาติ ดังนั้นจากปัญหาดังกล่าง เมืองฮานอยจะต้องทำงานใกล้ชิดกับจังหวัดข้างเคียงและประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแก้ปัญหาฝั่น PM 2.5
อัมสเตอร์ดัม อุดหนุนเงิน-ส่งเสริมใช้รถไฟฟ้าจูงใจปชช.ลด PM 2.5
การแก้ปัญหาฝุ่นเมืองอัมสเตอร์ดัม เมืองหลวงของประเทศเนเธอร์แลนด์ ด้วยการใช้ “แผนปฏิบัติการฟ้าใส” ในปี 2562 โดยจะมุ่งเน้นไปที่แหล่งกำเนิดมลพิษที่เทศบาลนครสามารถเข้าควบคุมได้ เช่น การจราจร ยานพาหนะโดยสาร และยาพาหนะเพื่อสันทนาการ การเผาฟืน และรถขุด รถตัก รถขน เป็นต้น
โดยแผนดังกล่าวยังมีมาตรการจูงใจประชาชนช่วยให้ลดฝุ่น ด้วยการให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ขับรถเพื่อการพาณิชย์เป็นประจำ (แท็กซี่), โครงการเปลี่ยนรถเก่าเป็นรถใหม่, ที่จอดรถที่กันไว้ให้รถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น ซึ่งมีการคิดค่าที่จอดรถต่างกัน และยังส่งเสริมด้วยการเพิ่มเครือข่ายจุดชาร์จไฟสาธารณะ จาก 3,000 จุด เป็น 16,000 จุด ในปี 2568 และจะเพิ่มให้ถึง 23,000 จุดในปี 2573
สำหรับกฎเกณฑ์กำกับดูแลนั้น มีการกำหนดเขตส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่มีข้อห้ามสำหรับรถยนต์และรถตู้เครื่องยนต์ดีเซล, กำหนดพื้นที่ปลอดการปล่อยมลพิษสำหรับรถเมล์โดยสารสาธารณะ, ปี 2568 กำหนดพื้นที่ปลอดการปล่อนมลพิษในเขตใจกลางเมืองสำหรับแท็กซี่ รถเมล์ รถตู้ขนส่ง และรถโดยสาร (ยกเว้นรถยนต์นั่งโดยสารและรถจักรยานยนต์), ปี 2573 กำหนดพื้นที่ปลอดการปล่อยมลพิษเต็มรูปแบบทั่วทั้งอัมสเตอร์ดัม สำหรับการคมนาคมทั้งหมดและรถขุด รถตัก รถขน, กรอบนโยบายสำหรับการเผาฟืนในที่พักอาศัย แลมีการรณรงค์สื่อสารอย่างต่อเนื่อง
“ลอนดอน” ขีดเส้นเขตปล่อยมลพิษขั้นต่ำสุด ลดฝุ่นเกือบ 50%
สหราชอาณาจักร ได้ออกมาตรการจัดการมลพิษในกรุงลอนดอนชั้นใน ด้วยการกำหนดเขตพื้นที่การปล่อยมลพิษต่ำขั้นสุด ได้แก่
- กำหนดขึ้นครั้งแรกในเขตเซ็นทรัลลอนดอน
- คิดค่าธรรมเนียมกับยานพาหนะทุกคันที่ไม่ผ่านมาตรฐานการปล่อยมลพิษ
- ลดมลพิษจากไนโตรเจนไดออกไซต์ ในเซ็นทรัลลอนดอนได้เกือบ 50%
- ช่วยลดมลพิษในลอนดอนได้เร็วกว่าส่วนอื่นของสหราชอาณาจักรถึง 5 เท่า
- เขตพื้นที่นี้จะถูกขยายจนครอบคลุมทั่วมหานครลอนดอน
- โครงการเงินอุดหนุนเปลี่ยนรถ เพื่อสนับสนุนให้คนเปลี่ยนยานพาหนะเก่าที่ปล่อยมลพิษเป็นคันใหม่
นอกจากนี้บริเวณข้างถนนยังมีป้ายกำกับที่คอยเตือนคนขับรถว่ากำลังเข้าสู่เขตการปล่อยมลพิษต่ำและโซน Congestion Charging
แก้ฝุ่น PM 2.5 ให้ได้ผล ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วม
ความท้าทายแก้ฝุ่นควัน เมื่อรัฐออกมาตรการแต่ไร้แผน
อ้างอิง: World Bank Group, แนวทางการพัฒนา: นโยบายเชิงลึกเพื่ออนาคตของประเทศไทย, 2566