ร่องรอยความรุนแรงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ทั้งเหตุการณ์กราดยิง การฆ่าตัวตาย การก่อความวุ่นวายในที่สาธารณะ ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในสารตั้งต้นของหลายเหตุการณ์คืออาการหรือโรคทางจิตใจ ที่ส่งผลต่อการควบคุมความคิด อารมณ์ รวมถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด สถิติจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ปี 2566 คาดว่ามีผู้ป่วยจิตเวชสูงถึง 4 ล้านคน รวมกับกลุ่มผู้ป่วยจากยาเสพติดจาก 2.5 ล้านคนในปี 2565 คิดเป็น 6.44% ของประชากรไทยทั้งหมด โดยมีเพียง 38.75% ที่เข้าถึงการรักษา และยังมีผู้ป่วยอีก 61.25% ที่ไม่ได้รับการรักษา
จากการสำรวจบุคลากรที่ทำงานด้านสุขภาพจิตในระบบบริการของรัฐทุกสังกัดทั่วประเทศโดยกรมสุขภาพจิต เมื่อเดือนธันวาคม 2565 พบว่าประเทศไทยมีจำนวนจิตแพทย์ทั่วไป 409 คน จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น 112 คน พยาบาลจิตเวช 3,630 คน พยาบาลจิตเวชเด็ก 681 คน นักจิตวิทยาคลินิกและนักจิตวิทยา 1,170 คน คิดเป็นอัตราส่วนจิตแพทย์ทั่วไป 0.7 คนต่อประชากรแสนคน สัดส่วน จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น 0.81 คนต่อประชากรแสนคน
ขณะที่มาตรฐาน WHO กำหนดให้มีจิตแพทย์ 10 คนต่อประชากร 100,000 คน เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนจิตแพทย์ใน 6 ประเทศภูมิภาคอาเซียน พบว่าประเทศสิงค์โปร์มีสัดส่วนจิตแพทย์ต่อประชากรมากที่สุดคือ 4.19 คนต่อแสนประชากร
เปรียบเทียบสัดส่วนจิตแพทย์ใน 6 ประเทศ
หากพิจารณาจากศักยภาพในการผลิตจิตแพทย์ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุว่ามีสถาบันที่สามารถเปิดให้การฝึกอบรมสาขาจิตเวชศาสตร์จำนวน 10 สถาบัน มีศักยภาพสามารถเปิดรับผู้สมัครทั้งในแผน ก และ แผน ข ปีละ ระดับละ 48 ตำแหน่งในปีการฝึกอบรม 2563 และมีความพยายามในการปรับเพิ่มตำแหน่งที่เปิดรับได้เป็น 50 ตำแหน่งในปีการฝึกอบรม 2565
ต่อมามีการเปิดสถาบันฝึกอบรมใหม่อีก 1 สถาบันในปีการฝึกอบรม 2566 และเพิ่มตำแหน่งที่เปิดรับของสถาบันที่ยังรับแพทย์ประจำบ้านไม่เต็มตามศักยภาพ ที่มีเพื่อรองรับความต้องการของผู้สมัครที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการจิตแพทย์ที่เพิ่มขึ้นของประเทศ ทำให้มีตำแหน่งที่เปิดรับเพิ่มขึ้นเป็น 57 ตำแหน่ง
ราชวิทยาลัยจิตแพทย์ฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการเพิ่มศักยภาพการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาจิตเวชศาสตร์ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการจิตแพทย์ของประเทศ และความต้องการสมัครเข้ารับการฝึกอบรมของแพทย์ผู้สนใจสาขาจิตเวชศาสตร์ จึงได้ร่วมมือกับ อฝส.จิตเวชศาสตร์ สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กรมสุขภาพจิต และสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อวางแผนในการเพิ่มศักยภาพการฝึกอบรม
โดยการส่งเสริมให้มีการสถาบันที่มีศักยภาพเปิดเป็นสถาบันฝึกอบรมใหม่ พร้อมทั้งปรับศักยภาพของสถาบันฝึกอบรมเดิมที่มีแผนงานการฝึกอบรมอยู่แล้วให้สามารถเปิดรับตำแหน่งในการฝึกอบรมเพิ่มขึ้นโดยคำนึงถึงศักยภาพ ทรัพยากร และความพร้อมของสถาบัน
คาดว่าราชวิทยาลัยจิตแพทย์ฯ จะสามารถเพิ่มตำแหน่งการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านจิตเวชศาสตร์จากเดิม ที่ฝึกอบรมตามศักยภาพได้ปีละ 58 คนซึ่งจะทำให้สามารถผลิตจิตแพทย์ใหม่เข้าไปในระบบบริการได้ประมาณ 290 คน เพิ่มขึ้นเป็น 355 คนระหว่างปีการฝึกอบรม 2567 – 2571
แผนผลิตบุคลากรด้านสุขภาพจิต
เมื่อพิจารณาถึงอุปสรรคในการปรับเพิ่มศักยภาพการฝึกอบรม พบว่าจำนวนอาจารย์ที่ให้การฝึกอบรมมีจำนวนจำกัด การใช้สัดส่วนอาจารย์ 2 คนต่อการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน 1 คนทำให้หลายสถาบันฝึกอบรมไม่สามารถปรับเพิ่มศักยภาพตนเองได้
ดังนั้นการปรับสัดส่วนอาจารย์ผู้ให้การฝึกอบรมเป็นจำนวนอาจารย์ 1 คนต่อการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน 1 คนโดยต้องมีจำนวนอาจารย์เริ่มต้นอย่างน้อย 2 คน จะเป็นวิธีการหนึ่งที่จะปรับเพิ่มศักยภาพได้มากขึ้น
ราชวิทยาลัยจิตแพทย์ฯ จึงทำโครงการที่ขออนุมัติจากแพทยสภาให้มีการปรับสัดส่วนของอาจารย์ผู้ให้การฝึกอบรมใน มคว. 1 สาขาจิตเวชศาสตร์ จากเดิม 2 : 1 ในแผนงานการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน สาขาจิตเวชศาสตร์ เป็นจำนวนอาจารย์ต่อแพทย์ประจำบ้านเป็น N – 1 และให้มีจำนวนอาจารย์ ปริมาณงานบริการและศักยภาพในการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาจิตเวชศาสตร์
นอกจากนี้ยังมีแผนผลิตสหวิชาชีพเฉพาะทางด้านสุขภาพจิตและจิตเวชในระยะเวลา 5 ปี จากปี 2566-2570ประกอบด้วย พยาบาลเฉพาะทางจิตเวช PG 4 เดือน จำนวน 1,500 คน หรือ 300 คนต่อปี นักจิตวิทยาเฉพาะทาง 400 คนหรือ 80 คนต่อปีนักสังคมสงเคราะห์เฉพาะทางจิตเวช 400 คนหรือ 80 คนต่อปีนักกิจกรรมบำบัดเฉพาะทางจิตเวช 250 คนหรือ 50 คนต่อปีและเภสัชกรเฉพาะทางจิตเวช 150 คนหรือ 30 คนต่อปี
แผนการผลิตสหวิชาชีพเฉพาะทางด้านสุขภาพจิตและจิตเวช
เส้นทางการเป็นจิตแพทย์เริ่มจากเรียนจบคณะแพทย์ศาสตร์ 6 ปี เป็นแพทย์เพิ่มพูนทักษะอีก 1 ปี หลังจากนั้นจึงมาเรียนต่อเฉพาะทางจิตแพทย์ เป็นแพทย์ประจำบ้านต่ออีก 3 ปีจึงเป็นจิตแพทย์เต็มตัว โดยผู้ที่เลือกเรียนต่อเฉพาะทางจิตแพทย์จะต้องมีความสนใจและอยากจะเข้าใจเรื่องราวชีวิตของผู้อื่น มีความเห็นใจ และไม่รู้สึกเบื่อหน่ายหรือรำคาญที่จะต้องรับฟังความทุกข์ของผู้อื่น มีความสนใจในเรื่องของจิตใจ ครอบครัว และสังคม
ในหลักสูตรการเรียนการสอนตลอดระยะเวลา 3 ปี จะเน้นการบูรณาการทางทฤษฎีและปฏิบัติโดยแพทย์ประจำบ้านจะได้รับมอบหมายให้ดูแลผู้ป่วยภายใต้การกำกับดูแลจากอาจารย์ การปฏิบัติงานจะครอบคลุมทั้ง ผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยในผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉิน ผู้ป่วยรับปรึกษาจากสาขาอื่น นิติจิตเวช จิตเวชชุมชน จิตเวชสารเสพติดและจิตเวชผู้สูงอายุ เพื่อให้แพทย์ประจำบ้านมีความชำนาญในการวินิจฉัยและการดูแลรักษา รวมไปถึงการฟื้นฟูผู้ป่วยให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามศักยภาพของผู้ป่วย
กระบวนการเรียนการสอนจะเน้นการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์เชื่อมโยง และตั้งคำถาม ผ่านกิจกรรมวิชาการต่างๆ รวมถึงฝึกฝนทักษะการทำงานเป็นที่มร่วมกับสหวิชาชีพ ทักษะการสื่อสารและการแก้ปัญหา รวมไปถึงพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำ
หลักสูตรจะมีการประเมินแพทย์ผู้เข้าอบรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านความรู้ ทักษะทางคลินิกการทำงานร่วมกับสหวิชาชีพและความเป็นมืออาชีพ ผ่านการสอบข้อเขียน การสอบสัมภาษณ์ผู้ป่วยและแบบประเมินการปฏิบัติงาน สำหรับการสอบเพื่อวุฒิบัตร แพทย์ประจำบ้านจะต้องส่งงานวิจัยที่สมบูรณ์ 1 ฉบับ และรายงานการทำจิตบำบัดผู้ป่วยจำนวน 2 ราย
จะเห็นได้ว่าการผลิตจิตแพทย์ในแต่ละสถาบันฝึกอบรม ต้องมีจำนวนอาจารย์ที่เพียงพอทุ่มเท และอาจารย์มีความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย มีระบบสนับสนุนรวมถึงระบบบริหารจัดการที่เอื้ออำนวยต่อการจัดการฝึกอบรม แม้ว่าในอดีตสาขาจิตเวชเป็นสาขาที่มีแพทย์สนใจมาเรียนต่อน้อย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 ผู้สนใจมาสมัครเรียนเพิ่มมากขึ้น
เส้นทางสู่การเป็นจิตแพทย์
นพ.ศรุตพันธุ์ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา และกรรมการสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าจิตแพทย์คือ แพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลรักษาผู้ที่มีอาการผิดปกติทางจิต หรือ ต้องการความช่วเหลือทางจิตใจ ซึ่งผู้ที่เข้ามารับการรักษานั้นมีความหลากหลาย บางคนอาจจะมีอาการทางจิตที่ผิดปกติชัดเจน เช่น อาการหูแว่ว หวาดระแวง หรือมีอาการวิตกกังวล ซึมเศร้าท้อแท้ จนรบกวนต่อการใช้ชีวิต ในขณะที่บางคน อาจมีอาการผิดปกติที่ไม่ชัดเจนเช่นมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปเล็กน้อย ยังไม่รบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือบางคนอาจมีความผิดปกติทางจิตที่เกิดจากความ ผิดปกติของสมอง/โรคทางร่างกาย/เกิดจากยาที่รักษาโรคทางกาย
ปัจจุบันการวินิจฉัยโรคทางจิตเวช ทำได้โดยถามประวัติจากญาติหรือคนใกล้ชิดและจากตัว ผู้ป่วย ร่วมกับการตรวจสภาพจิต การตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆจะช่วยแยกโรคที่มีสาเหตุจากโรคทางกาย/สมอง สำหรับกระบวนการรักษา ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ๆ คือ การรักษาด้วยยา ซึ่งมีหลากหลายชนิด และยังมีการพัฒนาองค์ความรู้ในส่วนนี้อย่างต่อเนื่อง และการรักษาทางจิตสังคม เช่นการทำจิตบำบัด ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่สำคัญที่สุดชนิดหนึ่งของจิตแพทย์ คือ กระบวนการพูดคุยเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยทำความเข้าใจถึงที่มาของปัญหาที่แท้จริงและเข้าใจตัวตน ซึ่งจะช่วยนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน
สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เป็นหนึ่งในโรงเรียนจิตแพทย์ ที่ให้การฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาจิตเวชศาสตร์ รุ่นแรก หลักสูตร 6 เดือน พ.ศ.2498 หลังจากนั้นมีการปรับเป็น 9 เดือน , 1 ปี , และปรับเป็นหลักสูตร 3 ปี เมื่อ พ.ศ.2515 ซึ่งจบไปแล้ว 46 รุ่น จำนวน 185 คน ปัจจุบันให้การฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านชั้นปีละ 10 คนและจะปรับเพิ่มขึ้นให้ได้ 20 คนต่อชั้นปี หลักสูตรของสถาบันฯได้รับการรับรองจากราชวิทยาลัยจิตแพทย์และแพทยสภา โดยการเรียนการสอนเน้นการบูรณาการทางทฤษฎีและปฏิบัติ โดยมีอาจารย์การกำกับดูแลแพทย์ประจำบ้านอย่างใกล้ชิดและเป็นกันเอง ทรัพยากรในการเรียนรู้มีจำนวนมากและมีความหลากหลาย ซึ่งจะส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อนำไปใช้ในการทำงานจริง เรามีอาจารย์จิตแพทย์ที่เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำจิตบำบัด ซึ่งเป็นการรักษาที่สำคัญวิธีหนึ่งของ จิตแพทย์ นอกจากนี้อาจารย์อาวุโสที่เกษียณไปแล้วยังมาช่วยสอนด้วยอีกด้วย