สาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพจิต ฉบับนี้คือการตั้ง “กองทุนสุขภาพจิตแห่งชาติ” เพื่อหางบประมาณมาสนับสนุนงานด้านสุขภาพจิตในทุกมิติ รวมทั้งการปรับนิยามให้ครอบคลุมผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติด ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น ระหว่างวันที่ 24 ก.ค. – 8 ส.ค. 2567
ประเทศไทยมี พ.ร.บ.สุขภาพจิต ฉบับแรก พ.ศ. 2551 มีมาตราที่เกี่ยวข้องสำหรับคนที่ไปทำความเดือดร้อนต่อสังคม โดยให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา 24 ระบุให้ตำรวจหรือฝ่ายปกครอง นำตัวบุคคลนั้น เข้าสู่การบำบัดในสถานพยาบาลได้เลย โดยไม่รอช้า เพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัย และประเมินเบื้องต้น
ต่อมาปี 2562 กรมสุขภาพจิตมีโอกาสที่จะปรับปรุง พ.ร.บ.สุขภาพจิต แต่ก็ยังมีจุดอ่อนเรื่อง “กองทุนสุขภาพจิตฯ” ซึ่งยังไม่เคยทำได้สำเร็จ
นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยกับ Policy Watch ว่าย้อนกลับไปปี 2551 ตนก็อยู่ในเหตุการณ์ ซึ่งอีกสองวันสภาฯ จะครบวาระ การผลักดัน พ.ร.บ.สุขภาพจิตในครั้งนั้นจึงไม่ขอเป็นกฎหมายการเงิน เพื่อให้กฎหมายใหญ่ผ่านได้ เมื่อมาถึงปี 2562 ก็ไม่เคยได้แก้ไข จนกระทั่งปีนี้ในฉบับล่าสุด จึงมีการเพิ่มเติมเรื่องกองทุนไปด้วย รวมทั้งปรับนิยาม “อาการผิดปกติทางจิต” ให้รวมไปถึงอาการผิดปกติที่เกิดจากสุรา ยาเสพติด และสารอื่นที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทด้วย ซึ่ง พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2562 ยังไม่ครอบคลุมเรื่องยาเสพติด
กองทุนสุขภาพจิตแห่งชาติ ทำอะไรบ้าง
หลังประมวลกฎหมายยาเสพติดบังคับใช้มา 2 ปี มีเงินที่ได้จากการยึดทรัพย์เข้ามาที่ ป.ป.ส. เกือบหมื่นล้านบาทแล้ว “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข บอกว่าเงินพวกนี้ควรเข้ามาดูแลผู้ป่วยจิตเวช จะได้ไม่พึ่งพางบประมาณแผ่นดินมากจนเกินไป
ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. … ได้ระบุแหล่งที่มาของกองทุนสุขภาพจิตแห่งชาติไว้ดังนี้
(1) เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้ และเงินอุดหนุนจากรัฐบาล
(2) เงินและทรัพย์สินที่มีผู้บริจาค มอบหรืออุทิศให้
(3) เงินและทรัพย์สินที่ได้จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือหน่วยงาน องค์การที่บริหารจัดการกองทุนอื่นใด
(4) เงินและทรัพย์สินที่ได้จากภาคเอกชนทั้งภายในและภายนอกประเทศ
(5) เงินและทรัพย์สินที่ได้จากรัฐบาลต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศ
(6) เงินและทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุนหรือที่กองทุนได้รับตามกฎหมาย
(7) เงินค่าปรับที่ได้จากการเปรียบเทียบตามมาตรา 53/2
(8) เงินรายได้จากการออกสลากหรือการจัดกิจกรรม
(9) ค่าตอบแทน ค่าบริการ รายได้จากการดำเนินกิจการ หรือการหาประโยชน์จากเงินและทรัพย์สินของกองทุน
(10) ดอกผล ผลประโยชน์ หรือรายได้อื่นที่เกิดจากเงินและทรัพย์สินของกองทุน
ส่วนเงินจากกองทุนสุขภาพจิตแห่งชาติจะเอาทำอะไรบ้าง ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. …. กำหนดไว้กว้าง ๆ ดังนี้
(1) ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ทั้งระดับบุคคล ครอบครัวและชุมชน ภาคประชาสังคม ภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้เกิดความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตและร่วมเป็นเครือข่ายในการดำเนินงานสุขภาพจิต
(2) ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการศึกษา วิจัย ทดสอบ ทดลอง ฝึกอบรม ประชุม หรือสัมมนาที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานสุขภาพจิต
(3) ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษา แนะนำ ฝึกอบรม ประชุม หรือสัมมนาเกี่ยวกับการดำเนินงานสุขภาพจิต
(4) ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีระบบการดูแลผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและปัญหาพัฒนาการที่ไม่สามารถกลับคืนสู่สุขภาวะหรือกลับคืนสู่สังคม เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและเพื่อความปลอดภัยต่อสังคม
(5) ส่งเสริมและสนับสนุนการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือมีส่วนช่วยเหลือหรือสนับสนุนการดำเนินงานสุขภาพจิต ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
(6) สร้างมาตรการคุ้มครองและช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต และผู้ปฏิบัติงานทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและอาสาสมัครในการปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานสุขภาพจิต
(7) กิจการอื่นที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
อย่างไรก็ตาม นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต อธิบายลงไปในรายละเอียดว่า เงินในกองทุนฯ มีกรมบัญชีกลางดูแล ที่สำคัญคือต้องไม่ซ้ำซ้อน กับกองทุนฯ อื่น เช่น ถ้ามีกองทุนบัตรทองทำอยู่แล้ว กองทุนนี้ต้องไม่ซ้ำซ้อน
ขณะเดียวกัน นพ.พงศ์เกษม ก็ได้ยกตัวอย่างการใช้เงินจากกองทุน เช่น กรณีผู้ป่วยจิตเวชที่รักษาไม่หาย กลับเข้าบ้านไม่ได้ คนในชุมชนหวาดกลัว แต่รักษาที่โรงพยาบาลจบแล้ว เขาต้องกลับบ้าน หรือกรณีคนที่ถูกจองจำในราชทัณฑ์พ้นโทษถึงเวลาต้องออกมาใช้ชีวิต แต่พ่อแม่ยังลำบาก เดือดร้อนในการดูแล ชุมชนหวาดกลัว เราจะหาจุดสักจุดไหมที่จะทำแผนคล้าย ๆ นิคมดูแลคนกลุ่มที่สมองไม่ดีจริง ๆ อย่างน้อยเอาเงินจากกองทุนนี้มาช่วยดูแล ก็จะเกิดประโยชน์กับ ประชาชน
เมื่อถามว่า “มินิธัญญารักษ์” หรือ “ชุมชน CBTx” ที่ดำเนินการอยู่จะสามารถใช้เงินจากกองทุนฯ ได้หรือไม่ นพ.พงศ์เกษมบอกว่า มินิธัญญารักษ์ ดำเนินงานโดยโรงพยาบาลชุมชน สังกัด สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีความพร้อมให้การดูแลทางการแพทย์ แต่พอพ้นไปเป็นชุมชน CBTx ซึ่งมองดูเป็นทางการแพทย์ ก็ควรจะเปลี่ยนชื่อเป็นชุมชนฟื้นฟู ผู้ป่วยไม่ว่ากลุ่มไหน ออกมาจากโรงพยาบาลต้องเลิกระยะยาว
ถามต่อว่า เรื่องการซื้อยาเพื่อผู้ป่วยจิตเวช ใช้เงินจากกองทุนได้หรือไม่ นพ.พงศ์เกษมบอกว่า ต้องดูความซ้ำซ้อน ตีความกฎหมาย เพราะ สปสช.จัดซื้อเป็นสิทธิพื้นฐานอยู่แล้ว ในกรณีที่ไม่ใช้ยาบัญชีหลัก แต่เป็นเป็นทางเลือกเพื่อช่วยคนที่ว่าใช้ยาพื้นฐานไม่ได้ ยากินก็ไม่ได้ ยาฉีดก็ไม่ได้ ต้องเป็นยาที่ผลข้างเคียงน้อย เป็นยาฉีดเดือนละครั้ง แต่ค่าใช้จ่ายสูง ครั้งละ 5,000 บาท อันนี้ต้องตีความว่าซ้ำซ้อนหรือเปล่า เพื่อไม่ให้ผิดกฎหมาย
ใช้ พ.ร.บ.สุขภาพจิต จัดการเฟคนิวส์ ?
นอกจากการตั้งกองทุนสุขภาพจิตฯแล้ว ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ… ไม่ใช่ว่ารักษาฟื้นฟูอย่างเดียว แต่อธิบดีกรมสุขภาพจิตบอกว่าจะต้องปกป้องสังคมจากเฟคนิวส์ ข่าวต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบกระเทือนจิตใจที่ทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกหวั่นไหว จะเป็นโรคจิต โรคเพี้ยนไปด้วย
ที่ผ่านมายังไม่สามารถควบคุมได้โดยตรง ถ้ากฎหมายให้ดูแลได้ สามารถควบคุมข่าวที่ออกมาเพี้ยน ๆ ได้ ก็จะทำให้คนที่จิตใจไม่ค่อยดีลดลงไปโดยปริยาย ซึ่งปัจจุบันนี้กรมสุขภาพจิตได้มีการทำงานบูรณาการร่วมกับ กสทช. อยู่แล้ว แต่ถ้ามีกฎหมายนี้จะบังคับควบคุมได้ มีบทลงโทษได้
“เนื่องจากว่าเป็นกฎมายที่ลิดรอนสิทธิ์ คำว่า กฎหมาย คือลิดรอนสิทธิอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ดี ทำให้สังคมปลอดภัย คนก็เชียร์อยู่แล้วว่าต้องทำ มีกติกาและกฎเกณฑ์เพื่อสร้างความเป็นระเบียบต่อสังคม เพราะเมื่อก่อนกรมสุขภาพจิต มีเรื่อง เราก็ตาม ตามไปเรื่อย ๆ เราก็ตามไม่ทัน ต้องทำงานเชิงรุก” อธิบดีกรมสุขภาพจิตใจ
อีกประเด็นคือการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย ว่าใครที่สามารถช่วยได้ เพราะอาจมีผู้ร้องขอความเหลือช่วยจำนวนมาก แต่กำลังคนไม่พอ ภาคประชาสังคมก็จะได้ออกช่วยเหลือประชาชนอย่างถูกกฎหมาย เพราะโดยปกติเวลาเกิดเหตุพบผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มสีแดง ตำรวจหรือฝ่ายปกครอง ก็จะสามารถนำส่งโรงพยาบาลได้ แต่ต้องได้รับการร้องขอ ซึ่งกฎหมายใหม่ก็อาจต้องให้สิทธิพนักงานเจ้าหน้าที่และมอบอำนาจหน้าที่ให้มากขึ้น โดยมีไกด์ไลน์ว่าต้องทำอะไรหรือสามารถเข้าไปดูแลความปลอดภัยประชาชนได้ในส่วนไหนได้บ้าง
สำรวจความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้นในร่างพระราชบัญญัติสุขภาพจิตฉบับใหม่ มีอะไรบ้าง
- นิยาม “ความผิดปกติทางจิต”
มีการขยายและชี้แจงนิยามของ “ความผิดปกติทางจิต” คืออาการผิดปกติของจิตใจที่แสดงออกทางพฤติกรรม, อารมณ์, ความคิด, ความจำ, สติปัญญา และประสาทการรับรู้ รวมไปถึง อาการผิดปกติที่เกิดจากการใช้สุรา, ยาเสพติด หรือสารอื่นที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทด้วย
- เจ้าหน้าที่ที่สามารถนำส่งผู้ป่วยจิตเวช
นอกจากตำรวจ ฝ่ายปกครอง แพทย์และพยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา นักกิจกรรมบำบัด นักวิชาการสาธารณสุขในสังกัดหน่วยงานรัฐ ยังรวมไปถึง รวมถึงองค์กรภาคประชาสังคมด้วย การขยายบทบาทนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
- การจัดตั้งกองทุนสุขภาพจิต
มีการเสนอการจัดตั้งกองทุนสุขภาพจิต ซึ่งจะสนับสนุนการพัฒนาบริการสุขภาพจิตและการวิจัยที่เกี่ยวข้อง โดยในพระราชบัญญัติฉบับก่อนหน้านี้ไม่มีการจัดตั้งกองทุนนี้
- การควบคุมเนื้อหาและข้อมูลข่าวสารที่คุกคามสุขภาพจิต
ในร่างกฎหมายให้อำนาจอธิบดีกรมสุขภาพจิตในการดำเนินการตรวจสอบและจัดการกับเนื้อหาที่ ‘คุกคามสุขภาพจิต’ ในมาตรา 20/4 ระบุว่า ในกรณีที่อธิบดีเห็นว่าการเผยแพร่ข้อมูลใด ๆ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 20/3 ให้อธิบดีมีอำนาจออกคำสั่งให้ 1 แก้ไขข้อความหรือวิธีการในการเผยแพร่ข้อมูล 2 ห้ามการใช้ข้อความบางอย่างที่ปรากฏในการเผยแพร่ข้อมูล 3 ระงับการเผยแพร่ข้อมูลหรือห้ามใช้วิธีการนั้นในการเผยแพร่ข้อมูล 4 ให้เผยแพร่ข้อมูลเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดของผู้อื่นที่อาจเกิดขึ้น ( มาตรา 20/3 ระบุว่า การเผยแพร่ข้อมูลใดๆ ทางสื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่ออื่นใดต้องไม่เป็นปัจจัยที่คุกคามสุขภาพจิต การเผยแพร่ข้อมูลตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด)
โดยหลังครบกำหนดรับฟังความคิดเห็น 15 วัน (24 ก.ค. – 8 ส.ค.2567) จะส่งร่างกฎหมายนี้ เข้าสู่การพิจารณา ต่อคณะกรรมการสุขภาพจิต ต่อไป