ในขณะที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเร่งเดินหน้าสร้างระบบการใช้กัญชาอย่างปลอดภัย ผ่านการอบรมบุคลากรวิชาชีพทั่วประเทศเพื่อให้สามารถ “สั่งใช้ช่อดอกกัญชา” ได้ภายใต้กรอบกฎหมายที่กำหนด
ความเคลื่อนไหวของ เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ยังคง มีบทบาทในการเจรจาและเสนอแนวทางให้รัฐแก้ไขประกาศกระกรวงฯ ที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ใช้กัญชาในชุมชน
เปิดอบรม 6 กลุ่มวิชาชีพ + หมอพื้นบ้านทั่วประเทศ
กรมการแพทย์แผนไทยฯ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการแก่บุคลากร 6 กลุ่มวิชาชีพ เมื่อ 16 ก.ค. 68 ได้แก่ แพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ แพทย์แผนจีน เภสัชกร ทันตแพทย์ และ หมอพื้นบ้าน โดยมีผู้สมัครเข้าร่วมอบรมถึง 4,796 คน แบ่งเป็นเข้าร่วมแบบออนไซต์ 343 คน และออนไลน์ผ่าน Cisco Webex กว่า 4,000 คน
นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ ให้ข้อมูลว่า การอบรมครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อ “สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องทั้งด้านคลินิก กฎหมาย และภูมิปัญญาท้องถิ่น” เพื่อให้บุคลากรสามารถสั่งจ่ายช่อดอกกัญชาได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และสอดคล้องกับระเบียบข้อบังคับ
“กัญชาในระบบการแพทย์ ต้องอยู่ในมือผู้มีความรู้ และใช้ด้วยความรับผิดชอบ” นพ.เทวัญ กล่าว
การอบรมครั้งนี้ไม่เพียงเพื่อให้แพทย์สามารถสั่งใช้กัญชาได้อย่างถูกต้องเท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นการใช้กัญชาอย่างมีจริยธรรม ปลอดภัย และตอบโจทย์สุขภาพใน 5 กลุ่มอาการ ได้แก่
- อาการนอนไม่หลับ
- อาการปวดเรื้อรัง หรือจากมะเร็ง
- ไมเกรน
- พาร์กินสัน
- อาการเบื่ออาหาร หรือภาวะเบื่ออาหารจากโรคเรื้อรัง
เนื้อหาการอบรมครอบคลุมทั้งแนวทางการวินิจฉัยโรค การพิจารณาความเหมาะสมในการใช้กัญชา การประเมินผล และการติดตามภายหลังการรักษา ทั้งหมดนี้เพื่อให้การใช้กัญชาในระบบสุขภาพ มีมาตรฐานเดียวกัน และอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ที่มีความรู้จริง
“เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย” เดินหน้าเสนอแนวทาง
ควบคู่กับการอบรมของรัฐ ทาง เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ได้เข้าหารือกับ นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีฯ นายประสิทธิชัย หนูนวล เลขาธิการเครือข่ายฯ เข้าเจรจาโดยมีข้อเสนอสำคัญ 3 ประการ ที่สะท้อนความกังวลของภาคประชาชนต่อการประกาศควบคุม “ช่อดอกกัญชา”
1.การคุ้มครองกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน
เครือข่ายเรียกร้องให้รัฐกำหนดให้ชัดว่า กลุ่มใดคือผู้ที่ควรได้รับการคุ้มครองในการใช้กัญชา เช่น เด็ก เยาวชน หรือหญิงตั้งครรภ์ เพื่อเปิดทางให้บุคคลทั่วไปที่อยู่นอกเหนือกลุ่มเหล่านี้ สามารถใช้กัญชาได้โดยไม่ต้องพึ่งใบสั่งแพทย์ พร้อมเสนอเพิ่มมาตรการใหม่ คือ ห้ามสูบกัญชาในพื้นที่สาธารณะ เพื่อคุ้มครองสุขภาพส่วนรวมโดยไม่กระทบสิทธิส่วนบุคคล
2.ยกเลิกใบรับรอง GACP สำหรับเกษตรกร
เครือข่ายเสนอให้ยกเลิกข้อกำหนดที่ให้เกษตรกรต้องมีใบรับรอง GACP (Good Agricultural and Collection Practices) เพื่อขายดอกกัญชา เนื่องจากมองว่าไม่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยต่อผู้บริโภคโดยตรง แต่เสนอทางเลือกที่ เน้นการตรวจหาสารปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ปลายทางก่อนเข้าสู่ระบบจำหน่าย แทน และหากจะใช้มาตรฐานสูงเช่น GACP ควรใช้เฉพาะกับการผลิตเพื่อส่งออก
3.ขอให้ชะลอการบังคับใช้ประกาศกระทรวงฯ
เครือข่ายระบุว่าการบังคับใช้ประกาศฉบับนี้ก่อให้เกิด “ผลกระทบอย่างกว้างขวาง” ทั้งต่อผู้ผลิต ผู้ใช้ และผู้ค้าชุมชน และมีการเรียกรับผลประโยชน์จากเจ้าหน้าที่บางกลุ่ม จึงขอให้รองอธิบดีนำเสนอให้รัฐมนตรีสาธารณสุข พิจารณาชะลอคำสั่งนี้โดยด่วน
ผลจากการหารือเบื้องต้นเป็นไปในทิศทางเชิงบวก โดยข้อเสนอข้อที่ 1 และ 2 ทางกระทรวงตกลงว่าจะ ใช้เวลาภายใน 7 วันในการพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมหรือทางเลือกอื่น พร้อมนัดประชุมหารือรอบใหม่ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2568 เวลา 13.00 น. ส่วนข้อเสนอที่ 3 เรื่องการชะลอประกาศ รองอธิบดีฯ รับปากว่าจะ นำเสนอเรื่องต่อรัฐมนตรีโดยเร็วที่สุด
เครือข่ายยังยืนยันเจตนารมณ์เดิมว่า “ประกาศกระทรวงฯ ฉบับปัจจุบันต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน” เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบลุกลามต่อเศรษฐกิจและสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยตั้งเป้าให้ภายใน เดือนสิงหาคม 2568 ทุกอย่างต้องมีความชัดเจน
รัฐเดินหน้าควบคุม ขณะที่เครือข่ายกัญชาเรียกร้องเข้าถึง
สถานการณ์การใช้กัญชาในระบบสุขภาพไทยกำลังเดินอยู่บนเส้นทางที่ต้องสมดุลระหว่าง “มาตรฐาน” และ “ความยืดหยุ่น” ฝั่งหนึ่งคือความพยายามของรัฐในการสร้างระบบแพทย์ผู้สั่งใช้กัญชาอย่างปลอดภัย
แต่อีกฝั่งคือเสียงเรียกร้องของผู้ใช้กัญชาและชุมชนที่ต้องการพื้นที่ทางกฎหมายในการใช้สมุนไพรนี้เพื่อสุขภาวะอย่างค่อนข้างเสรี
หากสามารถสร้างระบบที่มีทั้ง “หลักประกันด้านความปลอดภัย” และ “การคุ้มครองสิทธิผู้ใช้” ไปพร้อมกันได้ คงเรียกว่า จบสวย และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของกัญชาไทย จากพืชการเมือง กลับมาเป็น “พืชเพื่อการแพทย์และชีวิตของผู้คน” ซึ่งต่างประเทศก็กำลังจับตากฎหมายและนโยบายกัญชาในไทย ว่าจะเอาอย่างไรต่อไป
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง