เนื่องในวัน IDAHOBIT (The International Day Against Homophobia, Transphobia and Biphobia) หรือที่เรียกว่า “วันสากลยุติความรังเกียจคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ” วันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี
ในปี 2568 ได้กำหนดธีมประจำปีคือ “The Power of Communities” หรือ “พลังแห่งชุมชน” สะท้อนความหลากหลายภายในชุมชน LGBTQIA+ และเน้นย้ำถึงความแข็งแกร่ง ความยืดหยุ่นและความสามัคคีของชุมชน LGBTQIA+ ในการสนับสนุนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและกลุ่มประชาสังคม
ในงานแถลงข่าวชื่อ “เดินหน้าต่อไปข้างหน้า ด้วยพลังของชุมชน”เนื่องในวันยุติความเกลียดชังต่อคนข้ามเพศและคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (IDAHOTBiT 2025) จัดขึ้นในวันพุธที่ 15 พ.ค. 2568 ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ ได้ชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าประเทศไทยจะมี “สมรสเท่าเทียม”แล้วใน พ.ศ. 2568 ซึ่งเป็นอีกความก้าวหน้าของการยอมรับความหลากหลายทางเพศ แต่ความเกลียดชังและความรุนแรงต่อ LGBTQIA+ ยังคงดำรงอยู่
เห็นได้จากเหตุการณ์ล่าสุดในเดือนเม.ย. 2568 ที่เกิดกรณีหญิงข้ามเพศถูกฆาตกรรมอย่างทารุณที่พัทยา อีกทั้ง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า มีผู้หญิง เด็ก และหญิงข้ามเพศถูกกระทำความรุนแรงมากกว่า 30,000 คนต่อปี โดยเฉพาะหญิงข้ามเพศมีความเสี่ยงถูกกระทำความรุนแรงสูงกว่าประชากรอื่นถึง 3 เท่า
หลังสมรสเท่าเทียม ยังมีอีกมากต้องขับเคลื่อน
แม้จะคนข้ามเพศมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกกระทำความรุนแรงมากกกว่าประชากรกลุ่มอื่นถึง 3 เท่า แต่ในไทยยังไม่ได้รับการปกป้องอย่างเต็มที่จากโครงสร้างของรัฐ ยังขาดกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ และขาดกฎหมายคุ้มครองเฉพาะจากอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง อีกทั้งยังขาดการบันทึกจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความรุนแรงต่อคนข้ามเพศอย่างเป็นระบบ และหลายกรณีไม่ได้รับการสืบสวนอย่างจริงจัง
ขณะเดียวกันคนข้ามเพศยังคงถูกเลือกปฏิบัติในสถานที่ทำงาน ปัญหาในการเข้าถึงบริการสุขภาพ และไม่สามารถใช้คำนำหน้าชื่อตามอัตลักษณ์ทางเพศในเอกสารราชการได้
ณชเล บุญญาภิสมภาร ผู้รับผิดชอบ โครงการข้ามเพศมีสุข กล่าวว่าการเคลื่อนไหวสิทธิของคนข้ามเพศมีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานแล้วก้าวหน้าตามลำดับ
- พ.ศ. 2549 หญิงข้ามเพศยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนแก้ไขถ้อยคำในเอกสารบันทึกผลการตรวจเลือกทหารกองเกิน (สด.43) ที่ระบุคำว่า “โรคจิตถาวร” “โรคจิตวิปริต” “โรควิกลจริตรุนแรง” ให้เปลี่ยนเป็น “เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด” แทน ซึ่งการต่อสู้ในเรื่องนี้ใช้เวลายาวนานจนสำเร็จในพ.ศ. 2555
- พ.ศ. 2566 ภาคประชาสังคมร่วมกันยื่น ร่างพ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพฯ ต่อสภา เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิในการเลือกคำนำหน้านามและคำระบุเพศสภาพในเอกสารราชการต่างๆ เช่น บัตรประชาชน ได้ด้วยตนเอง
- ก.พ. 2568 สปสช. ได้จัดสรรงบประมาณ 145.63 ล้านบาท เพื่อให้บริการฮอร์โมนแก่คนข้ามเพศ ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคม
องค์กรเคลื่อนไหวเผชิญปัญหาแหล่งทุน
อย่างไรก็ตาม องค์กรเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนข้ามเพศยังคงอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มั่นคงและยั่งยื่นในการทำงาน
อาทิตยา อาษาประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนกลไกนโยบายสุขภาวะคนข้ามเพศระดับชาติ กล่าวถึงภาคประชาสังคมว่า องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านนี้ เสมือนด่านหน้าในการผลักดันในการขับเคลื่อนสิทธิของคนในชุมชนคนข้ามเพศ ซึ่งมีอยู่ 23 องค์กรทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ถึง 14 องค์กร ทำประเด็นบริการสุขภาวะทางเพศและสิทธิสำหรับผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี (HIV) เป็นหลัก
สำหรับความยั่งยืนขององค์กรนั้นยังคงอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง จากรายงานการวิเคราะห์ข้อมูลการทำงานเพื่อสุขภาวะของคนข้ามเพศในประเทศไทย โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนกลไกนโยบายสุขภาวะคนข้ามเพศ (ระดับชาติ) พบว่าองค์กรทั้ง 23 องค์กรมีเพียง 10 องค์กรเท่านั้น ที่เป็นองค์กรที่จดทะเบียนแล้วอย่างเป็นทางการ และคนทำงานจำนวนมากเป็นอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ประจำโครงการเท่านั้น ไม่ใช่หน้าที่ประจำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความยั่งยื่นในการทำงาน
อาทิตยา กล่าวอีกว่า งบประมาณถือเป็นกระดูกสันหลังของการองค์กรในทำงาน ซึ่งองค์กรเหล่านี้มีสัดส่วนประมาณ 29.5% ได้รับงบประมาณส่วนใหญ่จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) องค์กรที่รับงบประมาณจากจากมูลนิธิระหว่างประเทศหรือกองทุนระหว่างประเทศ 26.1% และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 24.7%
แต่ มีถึง 15 องค์กรที่ไม่มีเงินสำรองในกรณีแหล่งทุนไม่ให้การสนับสนุน และจากสถานการณ์ปัจจุบันพบว่า มี 7 องค์กรที่ไม่ได้รับเงินสนับสนุนในพ.ศ. 2566 และมี 4 องค์กร ที่ไม่มีงบประมาณสมับสนุนใน พ.ศ. 2567
แนะต้องหารายได้ด้วยตัวเอง
ขณะเดียวกัน วิทิต มันตาภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเในรื่องสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงสถานการณ์นี้ว่า เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจอย่างยิ่งที่องค์กรภาคประชาสังคมต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์ทางการเงินเพราะนโยบายของสหรัฐฯ
“แต่อยากขอเตือนว่า การที่องค์กรประชาสังคมรับงบประมาณจากแหล่งเดียว และเป็นแหล่งทุนจากต่างชาติ ถือเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง เพราะไม่สามารถรับประกันความมั่นคงและยั่งยืนได้”
วิทิต แนะว่าองค์กรเหล่านี้จำเป็นต้องแสวงหารายได้จากการประกอบธุรกิจด้วยตนเอง ขอยกตัวอย่างสมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทยและมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ ที่เป็นตัวอย่างของประชาสังคมที่อยู่ได้ด้วยตนเองโดยไม่รับงบประมาณจากแหล่งทุนต่างชาติ เพราะทำธุรกิจเองแล้วนำเงินมาสนับสนุนการทำงานเพื่อสังคม
สำรวจอคติต่อ LGBTQIA+ หลังสมรสเท่าเทียม
แม้สังคมจะยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น แต่ก็เป็นการยอมรับในเฉพาะบางเรื่อง ถือว่าเป็นความก้าวหน้าทางสังคมที่มีสะดุดบ้าง และถอยหลังบ้างในบางประเด็น
รณภูมิ สามัคคีคารมย์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและหัวหน้าศูนย์วิชาการเพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ กล่าวถึงอคติต่อ LGBTQIA+ ว่า แม้ประเทศไทยจะได้รับการยกย่องว่าเป็นสรวงสวรรค์ของความหลากหลายทางเพศ แต่จากโครงการศึกษาและรวบรวมประเด็นทัศนคติเชิงลบของคนไทยเกี่ยวกับสิทธิของคนข้ามเพศ โดย สสส. พบว่า ทัศนคติเชิงลบยังคงเข้มข้นในโลกออนไลน์ตามแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Facebook, TikTok, YouTube และ X ใน 5 ประเด็นใหญ่ๆ ได้แก่
- สมรสเท่าเทียม ซึ่งเป็นประเด็นที่พบทัศนคติเชิงลบมากที่สุดในโลกออนไลน์ หลายคนมองว่า “ไม่เหมาะสม” และ “ผิดกาลเทศะ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีตำรวจใส่เครื่องแบบไปจดทะเบียนสมรสกับคู่รักเพศเดียวกัน
- การสร้างวัฒนธรรม DEI (Diversity-ความหลากหลาย, Equity-ความเท่าเทียม, Inclusion-ความรู้สึกมีส่วนร่วม) มาใช้ในองค์กรและการกำหนดสัดส่วนโควต้าความหลากหลายทางเพศ สังคมยังคงเข้าใจผิดว่าเป็นการให้สิทธิพิเศษมากเกินไป
- การเปลี่ยนคำนำหน้าตามเพศสภาพและการรับบริการฮอร์โมนข้ามเพศฟรีจากภาครัฐ ซึ่งสังคมแสดงความกังวลว่าจะนำไปสู่ความสับสนวุ่นวาย การหลอกลวง อาชญากรรม และสิ้นเหลืองงบประมาณแผ่นดิน
- การให้คนข้ามเพศแข่งขันกีฬาร่วมกับคนที่เพศสภาพตรงกับเพศกำเนิด สังคมยังมองว่าคนข้ามเพศได้เปรียบทางร่างกาย แม้ว่าแท้จริงแล้วการรับฮอร์โมนส่งผลต่อกล้ามเนื้อและร่างกายให้แข็งแรงน้อยกว่าก็ตาม
- การขัดต่อหลักศาสนา จากการศึกษาพบว่า การอ้างศาสนาที่เป็นเรื่องจิตวิญญาณนั้น นำไปสู่การเชื่อมโยงกับอคติอื่นๆ เสมอ จากการสำรวจพบว่า ทุกอคติต่อความหลากหลายทางเพศ มักมีการนำศาสนามาสนับสนุน
การเคลื่อนไหวของ LGBTQIA+ ไทย ในยุคโดนัลด์ ทรัมป์
นับตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อชุมชน LGBTQIA+ อย่างร้ายแรง ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบ เพราะประธานาธิบดีทรัมป์ ตัดงบช่วยเหลือต่างประเทศเกือบทั้งหมด ซึ่งหลายองค์กรทางด้านสุขภาพที่รับเงินช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ต้องขาดงบประมาณในการทำงานจากนโยบายนี้
นอกจากนี้ คำสั่งพิเศษที่มีชื่อว่า “ปกป้องสตรีจากสุดโต่งแห่งอุดมการณ์เรื่องเพศ และฟื้นฟูความจริงทางชีววิทยาในรัฐบาลกลาง” ระบุให้หน่วยงานรัฐบาลทั้งหมดยอมรับบุคคลเพียง 2 เพศตามหลักชีววิทยา คือ ชายและหญิงเท่านั้น และยกเลิกการยอมรับอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลายในเอกสารรัฐการของสหรัฐฯ
รณภูมิ กล่าวถึงคำสั่งพิเศษนี้ว่า ส่งผลต่อวิธีคิดของคนทั่วโลกที่มีต่อ LGBTQIA+ และหนุนเสริมให้อคติแข็งแรงมากขึ้น ซึ่งเป็นภารกิจเร่งด่วนที่นักขับเคลื่อนเพื่อความหลากหลายทางเพศต้องมียุทธศาสตร์และเทคนิคในการสื่อสาร เพื่อสร้างความเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่มีอคติรุนแรง
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
จับตาโดมิโน “อนุรักษ์นิยมทางเพศ”
กม.สมรสเท่าเทียมผ่านแล้ว แต่เด็กยังถูกเลือกปฏิบัติ
พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ปลดล็อกที่อยู่อาศัย LGBTQIAN+