นับตั้งแต่โครงการ “Hack ประกันสังคม” ของทีมงานพรรคประชาชน และคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ ที่ได้มีการเปิดข้อมูลสำคัญของสำนักงานประกันสังคม ซึ่งพบว่ามีการนำงบประมาณไปใช้ในหลายเรื่องที่ดูน่าสงสัย และราคาแพงกว่าปกติ เช่น การจัดทำปฏิทินประกันสังคมรวม 8 ปี วงเงิน 450 ล้านบาท การทำแอปพลิเคชันวงเงินกว่า 800 ล้านบาท การให้สิทธิผู้บริหารระดับสูงนั่งเครื่องบินระดับเฟิร์สต์คลาส การจัดทำโครงการไปดูงานต่างประเทศทุกปี เป็นต้น
เวทีดังกล่าวยังตั้งข้อสงสัยในการบริหารงาน ทั้งรายจ่ายของกองทุนฯที่สูงกว่ารายรับ สิทธิรักษาประกันสังคมน้อยกว่าสิทธิบัตรทอง การคำนวณเงินบำนาญที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ประกันตน การบริหารจัดการของประกันสังคมที่ดูไม่โปร่งใส โดยเฉพาะคณะกรรมการการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม ที่มาจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งไม่มีตัวแทนจากฝั่งผู้ประกันตนและนายจ้าง แต่มีอำนาจกำหนดสิทธิค่ารักษาผู้ประกันตน และยังไม่เคยเปิดเผยข้อมูลการประชุมให้คนภายนอกได้รับทราบ รวมถึงการนำเงินประกันสังคมไปลงทุนซื้อตึกเก่าทำอาคารให้เช่าในราคาสูงถึง 7,000 ล้านบาท
แล้วสำนักงานประกันสังคมมีการทำอะไรไปแล้วบ้าง หลังถูกเปิดเผยข้อมูลครั้งใหญ่
17 ก.พ. 2568 มารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ชี้แจงเกี่ยวกับกระบวนการ และขั้นตอนในการจัดทำงบประมาณประจำปีผ่านเพจเฟซบุ๊กประกันสังคม ว่า
- การจัดทำคำของบประมาณประจำปีจะต้องสอดคล้องกับแผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการประกันสังคม (ฉบับที่ใช้ปัจจุบันคือ แผนปฏิบัติราชการปี 2566-2570) และต้องเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการประกันสังคม ว่าด้วยการงบประมาณ การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงินกองทุน ที่ได้รับการจัดสรรเป็นค่าใช้จ่าย เพื่อบริหารงานของสำนักงานประกัน พ.ศ.2549 และหลักเกณฑ์การจัดทำคำของบประมาณประจำปี
- วงเงินงบประมาณค่าใช้จ่ายในการบริหารงานที่ได้รับการจัดสรรในแต่ละปี เป็นไปตาม ม.24 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 คือ ไม่เกิน 10% ของเงินสมทบประจำปี ซึ่งที่ผ่านมา สปส.ได้รับการจัดสรรค่าใช้จ่ายในการบริหารงานปีละไม่เกิน 3%
- ในการจัดสรรเงินงบประมาณผ่านการกลั่นกรอง หลายขั้นตอน โดยคณะทำงานกลั่นกรองรายละเอียดการเสนอขอจัดสรรงบประมาณเป็นผู้พิจารณากลั่นกรองงบประมาณในชั้นต้น ก่อน โดยหากเป็นงบประมาณด้านไอที ต้องเสนอคณะอนุกรรมการพิจารณาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานประกันสังคม และคณะกรรมการบริหารและจัดหาระบบคอมพิวเตอร์ กระทรวงแรงงาน แล้วจึงเสนอเรื่องไปยังคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงบประมาณ พิจารณาอีกครั้งก่อนเสนอคณะกรรมการประกันสังคมอนุมัติ เพื่อออกประกาศคณะกรรมการประกันสังคม เรื่องการจัดสรรเงินกองทุนประกันสังคมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของสำนักงานประกันสังคมประจำปี พ.ศ….
- อัตราค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการจัดทำคำของบประมาณ อ้างอิงจากอัตราของกระทรวงการคลัง และระเบียบของกระทรวงการคลังที่เกี่ยวข้อง และในส่วนของการจัดทำคำของบประมาณด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ จะต้อง ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการ IT และคณะกรรมการ CIO ของกระทรวงแรงงานด้วย
- การจัดซื้อจัดจ้าง ดำเนินการตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
19 ก.พ. 2568 พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุว่า ไม่เคยยกเลิกการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม พร้อมเปิดเผยงบใช้จ่าย ดูงานประกันสังคมอย่างโปร่งใส ยืนยันต้องจัดทำปฏิทินให้ผู้ประกันตนรับรู้สิทธิประโยชน์ทั่วถึง
21 ก.พ. 2568 พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุว่า เตรียมเพิ่มค่าทำฟันจาก 900 บาท เป็น 1,200 บาท พร้อมยอมรับสิทธิรักษาพยาบาลในช่องปากสามารถเบิกเกินได้ เพราะวงเงิน 900 บาท คือเป็นสิทธิเฉพาะป้องกันช่องปากเท่านั้น
22 ก.พ. 2568 พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุว่า ผลการดำเนินงานของกองทุนประกันสังคมในปี 2567 อยู่ที่ 5.34% ตามเป้าหมาย และคาดว่าปี 2568 จะเกิน 5%
25 ก.พ. 2568 คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) เลื่อนพิจารณาสูตรคำนวณบำนาญแบบใหม่ ม.33 และ ม.39 ไปต้น มี.ค. ระบุสาเหตุยังไม่สามารถสื่อสารให้เข้าใจสูตรโดยรวมได้
4 มี.ค. 2568 มารศรี ใจรังสี เลขาธิการ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ระบุว่า รายงานการประชุมทั้ง อนุกรรมการ และคณะกรรมการ ต่าง ๆ สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะผ่านเว็บไซต์ได้ แต่ขอเวลารวบรวมข้อมูล คาดเสร็จภายในสัปดาห์หน้า
11 มี.ค. 2568 อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เซ็นคำสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการใช้เงินของสำนักงานประกันสังคม หลังพรรคประชาชนตั้งข้อสงสัยถึงการใช้เงินทุ่มซื้อตึกเก่าราคาสูง 7,000 ล้านบาท
11 มี.ค. 2568 บอร์ดประกันสังคม มีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ ปรับสูตรบำนาญชราภาพ ตามสูตร CARE หรือ เฉลี่ยตลอดอายุการทำงาน ซึ่งจะทำให้ผู้ประกันตน ม.33 และ ม.39 ได้บำนาญเพิ่มขึ้น คาดเริ่ม 1 ม.ค. 69 พร้อมเพดานเงินเดือนใหม่
12 มี.ค. 2568 อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เซ็นคำสั่งตั้งปลัดกระทรวงมหาดไทย ตรวจสอบการใช้งบสำนักงานประกันสังคม โดยเฉพาะการซื้อตึกเก่าย่านพระราม 9 ในราคากว่า 7,000 ล้านบาท
17 มี.ค. 2568 มารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า การขยายอายุเกษียณถึง 65 ปี เป็นเพียงข้อเสนอเชิงวิชาการ และยังอยู่ในขั้นตอนศึกษา รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน
25 มี.ค. 2568 บอร์ดประกันสังคมเห็นชอบเพิ่มการเข้าถึงการรักษาของผู้ประกันตน ในระบบประกันสังคม โดยรักษาผู้ประกันตนประเภทผู้ป่วยใน กับ 2 กลุ่มโรคสำคัญ ได้แก่ หัตถการโรคหลอดเลือดสมอง และหัตถการโรคหัวใจและหลอดเลือด
จะเห็นได้ว่าพลังของข้อมูลที่ถูกเปิดเผยจากโครงการ Hack ประกันสังคม ในครั้งนั้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของกองทุนประกันสังคม ซึ่งเกิดขึ้นไม่ค่อยบ่อยนักที่หน่วยงานราชการจะรีบออกมาเคลื่อนไหว และดำเนินการตามข้อเรียกร้องของสังคม
สาเหตุส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่า กองทุนประกันสังคม อยู่ได้ด้วยเงินของผู้ประกันตนกว่า 24 ล้านคน ทั้ง ม.33 ม.39 และ ม.40 ที่จ่ายสมทบเข้ากองทุนฯทุกเดือน ซึ่ง ณ สิ้นปี 2567 กองทุนฯ มีทรัพย์สินรวม 2,657,245 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินสมทบ 1,666,556 ล้านบาท และผลตอบแทนสะสมจากการลงทุน 990,689 ล้านบาท
นอกจากนี้ กองทุนประกันสังคมยังมีความเสี่ยงจากการที่ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย คือ มีผู้สูงอายุมากขึ้น แต่เด็กเกิดใหม่ลดลง ซึ่งอาจจะส่งผลให้มีผู้ประกันตนรายใหม่ลดลงตามไปด้วยในอนาคต และก็จะมีผู้รับเงินบำนาญตอนเกษียณมากขึ้น โดยจากข้อมูลสำนักงานประกันสังคม พบว่านับตั้งแต่ปี 2562 มีผู้ประกันตนรับเงินบำนาญอยู่ที่ 231,733 ราย แต่ล่าสุดปี 2567 (ม.ค.-ก.ย.) มีผู้ประกันตนรับเงินบำนาญสูงถึง 757,696 ราย
กองทุนประกันสังคม เช่นเดียวกับกองทุนประเภทอื่น ๆ หรือ สถาบันการเงิน จะดำรงอยู่ได้ด้วย “ความเชื่อมั่น”ของสมาชิก หรือผู้ฝากเงิน นับเป็นหัวใจสำคัญต่อการดำรงอยู่ของกองทุนหรือสถาบันการเงิน
ดังนั้น หากกองทุนประกันสังคมไม่มีความโปร่งใส และขาดความน่าเชื่อถือ ผู้ประกันตนก็จะทยอยลาออกและไม่ส่งเงินสมทบอีกต่อไป ซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อฐานะทางการเงินกองทุนที่มีภาระจะต้องนำเงินมาหาผลประโยชน์ตอบแทนและใช้จ่ายในเรื่องสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน ที่นับวันจะเพิ่มขึ้น
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
เพิ่มผลตอบแทน บำเหน็จชราภาพ ม.33-ม.39-ม.40 มีผล 13 มี.ค.