ThaiPBS Logo

อยากสุขภาพดี แต่ไม่มี “ที่” ทำอย่างไรเมื่อเมืองไม่เอื้อ?

20 มี.ค. 256819:32 น.
อยากสุขภาพดี แต่ไม่มี “ที่” ทำอย่างไรเมื่อเมืองไม่เอื้อ?
  • พื้นที่สุขภาวะ หรือ “Healthy Space” คือการออกแบบพื้นที่สาธารณะ หรือพื้นที่ในชุมชน ให้กลายเป็นสถานที่ให้ผู้คนออกมาใช้สอยและทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่เขียว ไม่จำเป็นต้องสร้างใหม่ และไม่จำกัดว่าต้องเป็นพื้นที่ออกกำลังกาย แต่เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมได้อย่างครบถ้วนทุกมิติ เพื่อลดความเนือยนิ่ง ความเครียด และปัญหาสุขภาพจิต
  • เป้าหมายของพัฒนา พื้นที่ คือ การสร้างเมืองที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงพื้นที่ทำกิจกรรมใกล้บ้านได้อย่างสะดวกสบาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย เล่นกีฬา หรือพักผ่อนหย่อนใจได้อย่างเพียงพอ ในอีก 20 ปีข้างหน้า
  • แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น ประเทศไทยต้องมี คำกลาง หรือแนวคิดที่ชัดเจน และเป็นที่ยอมรับร่วมกันเกี่ยวกับการพัฒนา พื้นที่สุขภาวะ เพื่อให้ทุกหน่วยงานทำงานไปในทิศทางเดียวกัน และสร้างพื้นที่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง
  • การลงทุนใน “พื้นที่สุขภาวะ” ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า ทั้งในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม จากการประเมินผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจริงของประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบสร้างผลประโยชน์ได้ถึง 41,862.01 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าเงินที่ลงทุนไปถึง 6 เท่า
ใจพร้อม กายพร้อม แต่ “เมือง” ไม่พร้อม ! ปัญหาการขาดพื้นที่ให้เคลื่อนไหวกำลังบั่นทอนความเป็นอยู่ของเรา ทั้งจากโรค NCDs หรือภาวะซึมเศร้า ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น การออกแบบ “ที่” ให้สามารถทำกิจกรรมได้หลายอย่าง คือคำตอบที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงการมีสุขภาพดีอย่างเท่าเทียม

เคยสงสัยไหมว่า สุขภาพ ที่แตกต่างกันของเราถูกกำหนดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไร และถูกกำหนดด้วยอะไร ? เรื่องนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ พันธุกรรมหรือ การดูแลตัวเองเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวพันกับ เมือง ที่เราอาศัยอยู่โดยตรง

ลองนึกภาพตัวเองเดินได้วันละหลายกิโลฯ บนทางเท้าเรียบ กับการซ้อนท้ายพี่วินมอเตอร์ไซค์ฝ่ารถติดไปทำงาน สองสถานการณ์นี้ส่งผลต่อ  สุขภาพ ของเราแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เมือง จึงไม่ใช่แค่สถานที่ แต่เป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนด สุขภาพ ของเรา

Policy Watch ชวนทุกคนมาหาคำตอบผ่าน การศึกษาและแผนผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ (Healthy Space The Next Step)” ที่จะเปิดเผยเรื่องราว “การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ” ที่ทุกคนสามารถร่วมออกแบบ เปลี่ยนแปลงชีวิตได้ตามที่ต้องการ

 

คนไทยมีกิจกรรมทางกายและใจไม่เพียงพอ 

 พฤติกรรมเนือยนิ่ง เป็นสาเหตุหลักของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่ทำให้คนทั่วโลกเสียชีวิตมากถึง 74% หรือคิดเป็น 41 ล้านคนต่อปี และยังเป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของประเทศไทย ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 มีคนไทยเสียชีวิตจากโรคนี้มากถึง 84% มากกว่านั้นยังทำให้เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และมีสภาวะทางอารมณ์ สังคมลดลง

ในยุคที่เทคโนโลยีและวิถีชีวิตแบบเมือง ยิ่งทำให้เราเคลื่อนไหวทางกายและทางใจน้อยลง หากไม่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง องค์การอนามัยโลกเตือนว่า ผลกระทบที่ตามมาอาจรุนแรงและกว้างขวาง ทั้งต่อระบบสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม

“การออกแบบพื้นที่เมือง” ให้เอื้อต่อการเคลื่อนไหว จึงเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงการมีสุขภาพดีได้อย่างเท่าเทียม โดยมีผลการศึกษาจากสหรัฐพบว่า การลงทุนในนโยบายเหล่านี้ ทุก 1 ดอลลาร์สหรัฐ จะให้ผลตอบแทน 2.8 ดอลลาร์สหรัฐ

ปัญหาคือสัดส่วน พื้นที่สีเขียวสาธารณะ ของคนไทย มีเพียง 2.49 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ว่าควรมีสัดส่วนอย่างน้อย 9 ตารางเมตรต่อคน การพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่มีอยู่ 32,469 แห่ง ให้ทุกคนเข้าถึงการกิจกรรมได้ใกล้บ้าน จึงอาจเป็นคำตอบ

 

“พื้นที่สุขภาวะ” ทดแทนพื้นที่สีเขียวที่ขาดหาย

พื้นที่สุขภาวะ หรือ “Healthy Space” คือการออกแบบพื้นที่สาธารณะ หรือพื้นที่ในชุมชน ให้กลายเป็นสถานที่ให้ผู้คนออกมาใช้สอยและทำกิจกรรมร่วมกันได้อย่างครบถ้วนทุกมิติ ไม่ว่าจะออกกำลังกาย เล่นกีฬา เล่นดนตรี หรือฮีลใจ เพื่อสร้างสุขภาพที่ดี ลดความเนือยนิ่ง ความเครียด และปัญหาสุขภาพจิต

โดย “พื้นที่” ที่สามารถนำมาพัฒนาได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่สีเขียวอย่างเดียว และไม่จำเป็นต้องสร้างใหม่ มีอยู่ด้วยกัน 10 รูปแบบ ได้แก่ พื้นที่ทางธรรมชาติ, สวนสาธารณะ, พื้นที่พาณิชยกรรม, พื้นที่เล่นกีฬา, ศาสนสถาน, ทางสัญจร, พื้นที่การเรียนรู้, สถานศึกษา, ลานว่าง และขนส่งสาธารณะ

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โครงการนำร่อง “Healthy Space Project” ได้นำเอานักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมือง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคประชาสังคม อย่าง We Park หรือ ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย เป็นต้น เข้ามาทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาพื้นที่สาธารณะ ให้กลายเป็นพื้นที่สุขภาวะ

ยกตัวอย่างเช่น โครงการ City Lab Silom แต่งแต้มเติมสี เปลี่ยนทางสัญจรให้กลายเป็นหมารุกยักษ์ เกมกระดาน, โครงการ City Lab Saraburi เปลี่ยนลานจอดรถให้กลายเป็นสถานที่นันทนาการ, โครงการ City Lab Chiang Rai เปลี่ยนลานรำวงเดิม ให้สามารถทำกิจกรรมได้ 3 รูปแบบ ทั้งพื้นที่กิจกรรมนอกห้องเรียน พื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมทางกาย และพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ

แม้นี่จะเป็นตัวอย่างการออกแบบที่น่าสนใจ แต่กลับไม่ได้รับการต่อยอดจากภาคส่วนอื่น ๆ พื้นที่ที่ได้รับการพัฒนาจึงจำกัดอยู่แค่การริเริ่มของภาคีเครือข่ายเท่านั้น

 

4 อุปสรรคที่ยังทำให้การสร้าง “เมืองสุขภาวะ” ไทยสะดุด

พื้นที่สุขภาวะ อาจทำได้ง่าย ใช้งบประมาณน้อย เพราะไม่จำเป็นต้องสร้างใหม่ และมีได้ทุกจังหวัด แต่อุปสรรคที่ทำให้ขับเคลื่อนเรื่องนี้ ยังไปไม่สุด คือ

  • ข้อจำกัดด้านความรู้ความเชี่ยวชาญ หน่วยงานราชการอาจไม่ถนัดการออกแบบพื้นที่
  • ขาดพื้นที่ในการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ พื้นที่ของรัฐมีระเบียบราชการในการใช้พื้นที่ที่ยุ่งยาก ขณะที่พื้นที่เอกชนยังขาดแรงจูงใจในการสร้างพื้นที่สุขภาวะ
  • ขาดการบูรณาการทำงานร่วมกัน มีหน่วยงานที่ทำงานด้านพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ แต่ยังแยกกันทำงานอยู่ อาจต้องมีหน่วยงานกลางเข้ามากำกับดูแลให้เกิดบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนพื้นที่สุขภาวะร่วมกัน โดยเฉพาะกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด
  • ขาดงบประมาณในการดำเนินงาน ไม่มีงบประมาณดำเนินงาน หากไม่ได้บรรจุลงในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานส่วนกลางในการออกแบบ

ที่สำคัญคือ คำกลางของ พื้นที่สุขภาวะ ยังไม่ชัดเจน จึงทำให้การผลักดันเรื่องนี้ยังไปไม่ถึงฝัน โดยดูได้จากนโยบายส่งเสริมสุขภาวะ ที่แม้จะพูดถึง “สุขภาวะ” แต่กลับเน้นไปที่ “กิจกรรม” ออกกำลังกาย การกีฬา และนันทนาการ ซึ่งยังขาดการพูดถึง “การพัฒนาพื้นที่” ที่ส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีได้อย่างครบถ้วนในทุกมิติ

  • แผนยุทธศาสตร์ชาติ (2560 – 2579) ในยุทธศาสตร์ที่ 3 กล่าวถึงคนไทยในอนาคตจะต้องมีความพร้อมทั้งกาย ใจ สติปัญญา มีพัฒนาการที่ดีรอบด้านและมีสุขภาวะ โดยใช้กิจกรรมออกกำลังกาย กีฬา และนันทนาการเป็นเครื่องมือ
  • แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1-8 กล่าวถึงสุขภาพ ฉบับที่ 9-12 กล่าวถึงสุขภาพและการพัฒนาสภาพแวดล้อม และฉบับที่ 13 (ล่าสุด) กล่าวถึงสุขภาพ การพัฒนาสภาพแวดล้อม และการเสริมความเข้มแข็งในการบริการ จัดการพื้นที่และเมือง ซึ่งยังขาดตัวชี้วัดในการส่งเสริมพื้นที่สุขภาวะ
  • แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (2561 – 2580) กล่าวถึงการเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี โดยใช้ชุมชนเป็นฐานในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดี
  • แผนแม่บทการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย (2561 – 2573) กล่าวถึงการสนับสนุนการพัฒนาเมือง หรือชุมชนส่งเสริมกิจกรรมทางกาย

อีกทั้งข้อจำกัดของการบริหารราชการและการกระจายอำนาจในไทย เมื่อเป็นเรื่องสุขภาพ ประเด็นด้านสุขภาวะนี้ จึงไปอยู่ในแผนของ “กระทรวงสาธารณสุข” เป็นหลัก แต่ สธ. ไม่มีอำนาจจัดการนอกพื้นที่โรงพยาบาล จึงทำได้เพียงให้ความรู้

 

จาก “สมุดปกขาว” สู่การผลักดันในระดับนโยบาย

เป้าหมายของพัฒนา “พื้นที่” คือ การสร้างเมืองที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงพื้นที่ทำกิจกรรมใกล้บ้านได้อย่างสะดวกสบาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย เล่นกีฬา หรือพักผ่อนหย่อนใจได้อย่างเพียงพอ ในอีก 20 ปีข้างหน้า

แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น ประเทศไทยต้องมี “คำกลาง” หรือแนวคิดที่ชัดเจน และเป็นที่ยอมรับร่วมกันเกี่ยวกับการพัฒนา “พื้นที่สุขภาวะ” เพื่อให้ทุกหน่วยงานทำงานไปในทิศทางเดียวกัน และสร้างพื้นที่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง

“สมุดปกขาว” เป็นหนึ่งใน 3 ยุทธศาสตร์สำคัญในการการขับเคลื่อน ที่เป็นเหมือน “แผนที่นำทาง” ที่รวบรวมข้อมูลเหล่านี้ ทั้งปัญหา และอุปสรรคที่พบ รวมถึงความต้องการของทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่การออกแบบ “คำกลาง” และการวางแผนการทำงานในทุกระดับร่วมกัน ไปจนถึงการผลักดันนโยบายเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม

โดยสมุดปกขาวจะถูกผลักดันไปใน 2 ทิศทาง ได้แก่

  • ผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกลไกสำคัญในการถ่ายทอดนโยบายการพัฒนาเชิงพื้นที่ ไปยังแผนปฏิบัติราชการของกระทรวงต่าง ๆ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นกรอบกว้าง ให้แต่ละหน่วยงานเขียนแผนแม่บท รวมถึงแผนการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับหน่วยงานตัวเอง
  • ผ่านองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น การกระจายอำนาจ ทำให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการตัวเอง เพียงแต่การของบประมาณสนับสนุนเพิ่มจากส่วนกลาง อาจติดอยู่ที่ “คำกลาง” ที่ยังไม่รวมถึงการพัฒนาสภาพแวดล้อมของพื้นที่ แนวทางนี้จึงต้องร่วมกันระดมความคิดกันต่อไป ว่าจะทำอย่างไรให้ อปท.สามารถปรับปรุงพื้นที่ต่าง ๆ ได้ โดยไม่ติดระเบียบราชการ และมีเงินทุน

ปัจจุบัน “สมุดปกขาว” ยังอยู่ระหว่างการส่งต่อไปยังสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อบรรจุ “คำกลาง” ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 14 และเตรียมพร้อมส่งให้แต่ละหน่วยงานนำไปเขียนแม่บทฯ หรือแผนปฏิบัติงานราชการ ในเดือนเมษายน 2568

ทั้งนี้การผลักดัน “พื้นที่สุขภาวะ” ไม่จำเป็นต้องรอรัฐเพียงอย่างเดียว ยังสามารถทำได้ก่อน เพียงแต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ที่จะต้องมาระดมความคิดและหาทางออกร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนไปได้อย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม

 

ลงทุน “พื้นที่สุขภาวะ” ให้ผลตอบแทนได้มากกว่าที่คิด

การลงทุนใน “พื้นที่สุขภาวะ” ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของสุขภาพ แต่ยังเป็นเรื่องของ “ผลตอบแทน” ที่คุ้มค่ามหาศาล ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

จากการประเมินผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจริงของประเทศในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า “พื้นที่สุขภาวะ” ทั่วประเทศ สร้างผลประโยชน์ได้ถึง 41,862.01 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าเงินที่ลงทุนไปถึง 17.6 เท่า โดยแบ่งออกเป็น

  • เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 9,131.76 ล้านบาท จากการใช้จ่ายในการก่อสร้างและพัฒนาพื้นที่ เช่น ค่าจ้างแรงงานในการก่อสร้าง มูลค่าอสังหาริมทรัพย์โดยรอบที่สูงขึ้น ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้จ่ายของกิจการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่
  • ประหยัดค่ารักษาพยาบาล 3,995.15 ล้านบาท จากการที่ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น
  • เพิ่มเวลาว่างให้ประชาชน 28,735.11 ล้านบาท จากการเดินทางที่ลดลง ทำให้มีเวลาไปใช้พื้นที่สุขภาวะมากขึ้น

การพัฒนา “พื้นที่” ไม่ใช่แค่เรื่องของหน่วยงานราชการ แต่เป็นเรื่องของพวกเราทุกคน ที่จะต้องร่วมกันสร้างเมืองที่มี “พื้นที่สุขภาวะ” ที่ตอบโจทย์

มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา ในวันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคมนี้ กับกิจกรรม Policy Forum ขยับท้องถิ่น ขยายเมืองสุขภาวะ ที่จะเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มาเติมเต็มความรู้ แลกเปลี่ยนความเห็น และร่วมกันออกแบบข้อเสนอเพื่อผลักดันนโยบายการพัฒนา “พื้นที่สุขภาวะ” อย่างเป็นรูปธรรม

นโยบายที่เกี่ยวข้อง

ระบบหลักประกันสุขภาพ

รัฐบาลประกาศนโยบาย 30 บาทพลัส เป็นนโยบายที่ยกระดับมาจากบัตรทอง 30 บาท ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อเนื่องของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ดำเนินการมาครบรอบ 20 ปีเมื่อปี 2566

  • 1
  • 2
  • 3
  • 4
  • 5

ผู้เขียน: