แม้หนทางในการแก้รัฐธรรมนูญยังอีกยาวไกล แต่ยังไม่ถึงขั้นสิ้นหวัง ในวันที่ 13 – 14 กุมภาพันธ์ 2568 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ ได้แก่ ฉบับพรรคเพื่อไทย (เสนอโดยวิสุทธิ์ ไชยณรุณ และคณะ) และ ฉบับพรรคประชาชน (เสนอโดยพริษฐ์ วัชรสินธุ และคณะ) จะเข้าสู่รัฐสภาซึ่งมีทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และสมาชิกวุฒิสภา (สว.)
โดยทั้ง 2 ร่างมีสาระสำคัญหลักที่ตรงกันคือ การแก้ไขมาตรา 256 (หลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ) และการเพิ่มหมวด 15/1 (การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่) เพื่อปลดล็อกการจัดทำรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้น และเปิดทางให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จากการเลือกตั้งเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งหากผ่านไปได้จะถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกที่ประเทศไทยมี สสร. จากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
“แก้ไขยาก – ประชาชนไม่มีส่วนร่วม” สองเหตุผลทำไมต้องแก้ไข รธน.
ทั้ง 2 พรรคการเมือง ระบุเหตุผลในการแก้มาตรา 256 ในทิศทางเดียวกันว่า มาตรา 256 เดิมในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 นี้ มีหลักเกณฑ์ที่เข้มงวด เช่น ในฉบับของพรรคเพื่อไทย ระบุว่าในการพิจารณา วาระ 1 ขั้นรับหลักการ ต้องอาศัยเสียง สว. เห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือในวาระที่ 3 ขั้นสุดท้าย ก็ต้องอาศัยเสียงเห็นชอบจาก สส.จากพรรคที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประธานสภาฯ หรือรองประธานสภาฯ เห็นชอบไม่น้อยกว่า 20% และต้องอาศัยเสียง สว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ด้วยเงื่อนไขที่เข้มงวดดังกล่าวดังกล่าวทำให้รัฐธรรมนูญปัจจุบันยากที่จะแก้ไข ไม่สอดคล้องกับลักษณะของรัฐธรรมนูญที่ควรเปลี่ยนแปลงได้ง่ายตามทันสถานการณ์ประเทศ-โลก
นอกจากนี้ ทั้งสองฉบับ ระบุถึงเหตุผลในการเพิ่มหมวด 15/1 เพื่อจัดให้มี สสร. จากการเลือกตั้ง เปิดทางจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับที่ประชาชนมีส่วนร่วม เนื่องจากฉบับปัจจุบันมีที่มาที่ไปจากคณะรัฐประหาร บทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยและความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
เทียบแก้ ม.256: เปิดทางแก้ รธน. ง่ายขึ้น
รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 256 ระบุถึงหลักเกณฑ์และวิธีการแก้รัฐธรรมนูญ โดยสามารถแบ่งวิธีที่รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญออกเป็น 3 ขั้น ได้แก่
- ขั้น 1 เสนอแก้ไข
- ขั้น 2 พิจารณา 3 วาระ ได้แก่
- วาระ 1 ขั้นรับหลักการ
- วาระ 2 ขั้นพิจารณา
- วาระ 3 ขั้นสุดท้าย
- ขั้น 3 ก่อนประกาศใช้
โดยในภาพรวม ทั้งฉบับพรรคเพื่อไทยและฉบับพรรคประชาชนมีการแก้ไขเพื่อลดเงื่อนไขต่าง ๆ ลง เพื่อให้แก้รัฐธรรมนูญได้ง่ายมากขึ้น โดยเฉพาะเงื่อนไข สว. โดยในหลายจุดมีการระบุว่าต้องอาศัยเสียง สว. เพื่อให้ผ่านด่านไปได้
ขั้น 1 เสนอแก้ไข : ลดเงื่อนไข สส. – รัฐสภา เสนอง่ายขึ้น
ในการเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ระบุว่าต้องมาจาก
- คณะรัฐมนตรี หรือ
- ประชาชนไม่น้อยกว่า 50,000 คน หรือ
- สส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวน สส. (100 คน) หรือ
- สส. + สว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนทั้งสองสภา (140 คน)
โดยในฉบับแก้ไขทั้งของสองฉบับเสนอลดจำนวนขั้นต่ำในการเสนอญัตติ เพื่อให้อาศัยเสียงในการเสนอลดลง เพื่อให้เสนอญัตติได้ง่ายมากขึ้น โดยปรับลดจาก 1 ใน 5 เป็น 1 ใน 10 หรือลดลงครึ่งหนึ่ง ได้แก่
- สส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวน สส. (50 คน) หรือ
- สส. + สว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนทั้งสองสภา (70 คน)
โดยยังคงเงื่อนไข ครม. และประชาชน 50,000 คน เหมือนเดิม
ขั้น 2 พิจารณา 3 วาระ : เปลี่ยนเงื่อนไขเสียง สว.
ในขั้นตอนนี้แบ่งออกเป็น 3 วาระ
วาระ 1 ขั้นรับหลักการ
ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย จากเดิมที่ต้องอาศัยเสียงของ
- สส. + สว. ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งสองสภา (350 คน) และ
- สว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน สว. (67 คน)
ภาพรวมทั้งสองฉบับพยายามตัดหรือเปลี่ยนเงื่อนไขของ สว. โดยในของฉบับพรรคเพื่อไทยเป็นการตัดออกเลย เหลือเพียงเงื่อนไขเดียว คือ
- สส. + สว. ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งสองสภา (350 คน) เท่านั้น
แต่ฉบับของพรรคประชาชน ใช้วิธีการเปลี่ยนจากเงื่อนไข สว. เป็นเงื่อนไข สส. คือ
- สส. + สว. ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งสองสภา (350 คน) และ
- สส. ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวน สว. (334 คน)
วาระ 2 ขั้นพิจารณา
ทั้งสองฉบับไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขแต่อย่างใด ยังคงเงื่อนไขเดิมคือ
- สส. + สว. เสียงข้างมากรับหลักการ (350 คน)
- กรณีประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องให้ผู้แทนประชาชนเสนอความเห็นด้วย
- รอ 15 วัน ค่อยพิจารณาวาระ 3
วาระ 3 ขั้นสุดท้าย
ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย มีการกำหนดเงื่อนไขไว้อย่างเข้มงวดและยากต่อการแก้ไข ได้แก่
- สส. + สว. มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งสองสภา (351 คน) และ
- สว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 (67 คน) และ
- สส. จากพรรคที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งใน ครม. ประธานสภาฯ หรือรองประธานสภาฯ ไม่น้อยกว่า 20%
ฉบับพรรคเพื่อไทยเสนอให้เหลือเงื่อนไขเดียวคือ
- สส. + สว. มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งสองสภา (351 คน)
ส่วนฉบับพรรคประชาชน ตัดเงื่อนไขพรรคฝ่ายค้านออก และเปลี่ยนจากเงื่อนไข สว. เป็นเงื่อนไข สส. (เช่นเดียวกับวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ) คือ
- สส. + สว. มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งสองสภา (351 คน)
- สส. ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวน สว. (334 คน)
ขั้น 3 ก่อนประกาศใช้ : ลดประเด็นทำประชามติ
รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ระบุหากแก้ไขในประเด็นดังต่อไปนี้ ก่อนจะขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย จะต้องทำประชามติก่อน ถ้าเห็นชอบจึงจะดำเนินการทูลเกล้าฯ ถวาย ได้ ประกอบด้วย
- หมวด 1 บททั่วไป
- หมวด 2 พระมหากษัตริย์
- หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
- เรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดํารงตําแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ
- เรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออํานาจของศาลหรือองค์กรอิสระ
- เรื่องที่ทําให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออํานาจได้
โดยฉบับพรรคเพื่อไทย ได้ตัดบางประเด็นออก เหลือเพียง 3 ประเด็นเท่านั้นที่ต้องทำประชามติก่อน ได้แก่
- หมวด 1 บททั่วไป
- หมวด 2 พระมหากษัตริย์
- หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
ในขณะที่ฉบับพรรคประชาชน เหลือเพียงประเด็นเดียวเท่านั้นที่ต้องทำประชามติ
- หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
จะเห็นได้ว่า ฉบับพรรคเพื่อไทยยังมองว่าการแก้ไขหมวด 1 และ 2 ยังต้องทำประชามติอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับหมวด 15/1 ในมาตรา 256/9 วรรค 4 เสนอ โดยพรรคเพื่อไทย ที่ไม่ต้องการให้มีการแก้ไขหมวด 1 และ 2 โดยระบุว่า “การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 และหมวด 2 ของราชอาณาจักรไทยจะกระทำมิได้” ซึ่งหากกระทำจะถือว่า “ร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไป” ตามวรรค 5 ในมาตราเดียวกัน
ขั้น 3 ก่อนประกาศใช้ : เพิ่มจำนวนคนส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ก่อนนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย สส. สว. หรือสมาชิกรัฐสภา (สส. + สว.) จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของแต่ละสภา แล้วแต่กรณี หรือคิดเป็น
- สส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 (50 คน) หรือ
- สว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 (20 คน) หรือ
- สส. + สว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 (70 คน)
ทั้ง 3 กลุ่มนี้ อาจเสนอความเห็นต่อประธานสภาที่ตนเป็นสมาชิกหรือประธานรัฐสภา ว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขัดต่อมาตรา 255 (เปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง หรือรูปแบบรัฐ) หรือต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ โดยประธานสภาดังกล่าวจะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความให้เสร็จภายใน 30 วัน
ทั้งฉบับของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนเพิ่มเงื่อนไขจำนวนขั้นต่ำ ใช้จำนวนคนเสนอความเห็นมากขึ้น จากไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 เป็นไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 (เพิ่มขึ้น 2 เท่า) เป็น
- สส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 (100 คน) หรือ
- สว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 (40 คน) หรือ
- สส. + สว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 (140 คน)
ขั้น 3 ก่อนประกาศใช้ : ตัด “วันรอก่อนทูลเกล้าฯ ถวาย”
รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 256 (7) ระบุหลังสภาลงคะแนนเสียงในวาระที่ 3 ขั้นสุดท้าย ให้รอ 15 วันก่อนนำร่างแก้ไขขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ในขณะที่ฉบับพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนตัดจำนวนวันออก ทำให้ไม่ต้องรอ 15 วัน
เทียบเพิ่มหมวด 15/1 : เปิดทาง สสร. จากเลือกตั้ง 100%
กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ อาจแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอนใหญ่ ได้แก่
- เลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนนูญ (สสร.) และรับรองผลการเลือกตั้ง
- ประชุมครั้งแรก รวมถึงตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
- กระบวนการรัฐสภา
- ออกเสียงประชามติ และประกาศผล
ทั้ง 2 พรรคเสนอแก้ไขหมวด 15/1 เพื่อเปิดทางจัดทำ รธน. ฉบับใหม่ อย่างไรก็ตาม เงื่อนไข ไทม์ไลน์ และขั้นตอนการจัดทำมีความแตกต่างกันทั้งในส่วนของรายละเอียด และระยะเวลาที่ใช้
เลือกตั้ง สสร. 200 คน ภายใน 60 วัน : พท. แบ่งตามจังหวัดล้วน – ปชน. แบ่งจังหวัดและบัญชีรายชื่อ
ภายหลังจากที่ข้อเสมอแก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มเติมหมวด 15/1 ประกาศใช้ จะถือว่า “มีเหตุแห่งการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่” จะต้องเลือกตั้ง สสร. ภายใน 60 วัน โดยทั้งสองฉบับกำหนดจำนวน สสร. ไว้ที่ 200 คนเท่ากัน และมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดเหมือนกัน โดยแตกต่างกันที่รูปแบบการเลือกตั้ง โดยของฉบับพรรคประชาชน มีการเพิ่มการสมัครในรูปแบบบัญชีรายชื่่อ (ลักษณะคล้ายการเลือกตั้ง สส. บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค)
- ฉบับพรรคเพื่อไทย : มาจากการเลือกตั้งโดยตามจังหวัดทั้ง 200 คน โดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง
- ฉบับพรรคประชาชน : จำนวน 200 คน แบ่งเป็น
- มาจากการเลือกตั้งตามจังหวัด 100 คน โดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง สมัครเป็นรายบุคคล
- มาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน โดยใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง สมัครเป็นทีม ทีมละ 20 – 100 คน เรียงลำดับผู้สมัครในแต่ละทีม
ความแตกต่างอีกจุดหนึ่งคือภาระหน้าที่ของ สสร. ที่ต้องรับผิดชอบ ของฉบับพรรคเพื่อไทยจะมีแค่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่เท่านั้น ในขณะที่ของพรรคประชาชนมีการจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมด้วย
- ฉบับพรรคเพื่อไทย : จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ภายใน 180 วันนับตั้งแต่ประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรก
- ฉบับพรรคประชาชน : มีอำนาจและหน้าที่
- จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ภายใน 360 วันนับตั้งแต่ประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรก
- จัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่ถูกกำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
หลังจากการเลือกตั้งเสร็จเรียบร้อย ทั้งสองฉบับระบุว่า กกต. จะต้องรับรองผลภายใน 15 วัน หลังเลือกตั้ง (โดยฉบับพรรคประชาชนกำหนดเพิ่มเติมว่าต้องประกาศรายชื่อในราชกิจจานุเบกษา ภายใน 5 วันหลัง กกต. รับรองผล)
ประชุม : ตั้ง กมธ. ยกร่างฯ – พท. ระบุห้ามแก้หมวด 1 และ 2
ภายหลัง กกต. ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย จะเข้าสู่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เริ่มต้นจากการเปิดประชุมนัดแรก ซึ่งพรรคประชาชนกำหนดวันให้เริ่มประชุมเร็วกว่าของฉบับพรรคเพื่อไทยครึ่งเดือน (15 วัน) ดังนี้
- ฉบับพรรคเพื่อไทย : ประชุมครั้งแรกภายใน 30 วัน หลังประกาศผล
- ฉบับพรรคประชาชน : ประชุมครั้งแรกภายใน 15 วัน หลังประกาศผล
นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างในเรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
- ฉบับพรรคเพื่อไทย : ตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างฯ 47 คน โดยมาจาก
- สสร. 24 คน และ
- ผู้เชี่ยวชาญคนนอก 23 คน (ผ่านการเสนอชื่อโดย สส. จำนวน 12 คน, สว. จำนวน 5 คน และ ครม. จำนวน 6 คน)
- ฉบับพรรคประชาชน : ตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างฯ อย่างน้อย 45 คน โดยมาจาก
- สสร. อย่างน้อย 2 ใน 3 และ
- ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์คนนอก ไม่เกิน 1 ใน 3
จะเห็นว่าของฉบับพรรคเพื่อไทยมีสัดส่วนจาก สสร. จากการเลือกตั้ง 50% นอกจากนี้ยังล็อกให้ สส. สว. และ ครม. สามารถเสนอชื่อผู้เชี่ยวชาญเข้ามานั่งในคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้ ในขณะที่ฉบับพรรคประชาชนมีสัดส่วน สสร. เป็นคณะกรรมาธิการยกร่างฯ มากกว่าที่ 66.67% และไม่ได้ล็อกว่าผู้เชี่ยวชาญต้องมีที่มาที่ไปจากไหนเหมือนฉบับพรรคเพื่อไทย
ทั้งสองฉบับมีการกำหนดข้อห้ามไว้อย่างชัดเจน โดยของฉบับพรรคเพื่อไทยไม่ให้แก้หมวด 1 และ 2 ส่วนของฉบับพรรคประชาชนไม่ได้ล็อกหมวดอะไรไว้ ระบุเพียงไม่ให้เปลี่ยนแปลงการปกครองหรือรูปแบบของรัฐ
- ฉบับพรรคเพื่อไทย : แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ไม่ได้ หากรัฐสภาวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญมีการแก้ไขให้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไป
- ฉบับพรรคประชาชน : เปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ ไม่ได้
ระยะเวลาในการร่างให้แล้วเสร็จ ห่างกันถึง 6 เดือน (180 วัน)
- ฉบับพรรคเพื่อไทย : ร่างเสร็จภายใน 180 วัน หลังประชุมวันแรก
- ฉบับพรรคประชาชน : ร่างเสร็จภายใน 360 วัน หลังประชุมวันแรก
เมื่อร่างเสร็จแล้วจะมีการนำเสนอต่อรัฐสภาต่อไป
กระบวนการรัฐสภา : พท. รัฐสภาลงมติได้ – ปชน. แสดงความเห็นได้อย่างเดียว
กระบวนการในรัฐสภาเป็นอีกจุดต่างหนึ่งที่สำคัญ โดยฉบับพรรคเพื่อไทยมีการให้รัฐสภาลงมติเห็นชอบ ซึ่งอาจก่อให้เกิดกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญตกไปได้ ในขณะที่ฉบับพรรคประชาชนไม่มีการลงมติ มีเพียงการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น
- ฉบับพรรคเพื่อไทย : รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบภายใน 30 วัน ตั้งแต่วันที่ได้รับร่าง
- หากมีความเห็นให้แก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ให้ความเห็นชอบ ให้ส่งร่างกลับไปยังสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมหรือลงมติยืนยันด้วยเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของ สสร. (134 คน) ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ได้ร่างคืน จากนั้นส่งคืนให้ประธานรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภาให้ความเห็นและส่งให้ กกต.
- หากสภาร่างรัฐธรรมนูญไม่ลงมติยืนยันด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ภายใน 30 วัน จะถือว่าร่างรัฐธรรมนูญตกไป และให้ร่างใหม่ให้เสร็จภายใน 90 วัน
- ฉบับพรรคประชาชน : รัฐสภาอภิปรายแสดงความคิดเห็น ไม่มีการลงมติ ภายใน 30 วัน ตั้งแต่วันที่ได้รับร่าง
ทั้งสองฉบับระบุเมื่อกระบวนการรัฐสภาเสร็จสิ้นเรียบร้อย ให้ประธานรัฐสภาส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ กตต. เพื่อจัดกำหนดวันออกเสียงประชามติ
- ฉบับพรรคเพื่อไทย : ส่งให้ กกต. โดยไม่ชักช้า (ไม่ได้กำหนดว่าต้องส่งให้ กกต. ภายในกี่วัน)
- ฉบับพรรคประชาชน : ส่งให้ กกต. ภายใน 7 วัน
ออกเสียงประชามติ : ภายใน 90 – 120 วัน – มีเสรีภาพแสดงความเห็น
ทั้งสองฉบับระบุให้ กกต. กำหนดวันออกเสียงประชามติไม่เร็วกว่า 90 วัน แต่ไม่ช้ากว่า 120 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญจากรัฐสภา
นอกจากนี้ ทั้งฉบับพรรคเพื่อไทยและฉบับพรรคประชาชน ระบุให้มีการเผยแพร่เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญผ่านช่องทางต่าง ๆ และประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม แตกต่างจากตอนออกเสียงประชามติในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่มีการปิดกั้นและดำเนินคดีผู้ที่ออกมารณรงค์ให้ Vote NO โดยระบุดังนี้
- ฉบับพรรคเพื่อไทย : “…โดยให้ผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญได้แสดงความคิดเห็นโดยเสรีภาพภายใต้กรอบกฎหมาย”
- ฉบับพรรคประชาชน : “…โดยคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนทุกคน รวมทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญอย่างเสมอภาค”
รวมระยะเวลา : พท. 1 ปี 3 เดือน – ปชน. 1 ปี 9 เดือน
กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของพรรคประชาชนจะเสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมดช้ากว่าของพรรคเพื่อไทย ประมาณ 6 เดือน
- ฉบับพรรคเพื่อไทย :
- เลือกตั้ง สสร. ภายใน 60 วัน หลังมีเหตุแห่งการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่
- กกต. รับรองผล ภายใน 15 วัน หลังเลือกตั้ง
- ประชุมครั้งแรก ภายใน 30 วัน หลังประกาศผล
- ร่างเสร็จ ภายใน 180 วัน หลังประชุมครั้งแรก ส่งให้รัฐสภา
- รัฐสภาลงมติ ภายใน 30 วัน หลังจากได้รับ ส่งให้ กกต.
- กกต. กำหนดวันออกเสียงประชามติ ภายใน 90 – 120 วัน
- กตต. ประกาศผลประชามติ ภายใน 15 วัน หลังออกเสียง
- รวม 450 วัน (ประมาณ 1 ปี 3 เดือน) กรณีร่างฯ ไม่ได้ตกไประหว่างทาง
- ฉบับพรรคประชาชน :
- เลือกตั้ง สสร. ภายใน 60 วัน หลังมีเหตุแห่งการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่
- กกต. รับรองผล ภายใน 15 วัน หลังเลือกตั้ง
- ประชุมครั้งแรก ภายใน 15 วัน หลังประกาศผล
- ร่างเสร็จ ภายใน 360 วัน หลังประชุมครั้งแรก ส่งให้รัฐสภา
- รัฐสภาแสดงความเห็น ภายใน 30 วัน หลังจากได้รับ
- รัฐสภาส่งให้ กกต. ภายใน 7 วัน หลังแสดงความเห็น
- กกต. กำหนดวันออกเสียงประชามติ ภายใน 90 – 120 วัน
- กตต. ประกาศผลประชามติ ภายใน 15 วัน หลังออกเสียง
- รวม 622 วัน (ประมาณ 1 ปี 9 เดือน)
จับตากฎหมายที่เกี่ยวข้อง : พ.ร.บ.ประชามติฯ แขวนไว้ 180 พ้นกลาง มิ.ย. 68
นอกเหนือจากร่างแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ และเพิ่มเติมหมวด 15/1 นี้ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ผ่านและใช้บังคับ จะมีการตรา พ.ร.ก. ให้มีการรับสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิก สสร. ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ และจะถือว่าเป็น “เหตุแห่งการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่” ซึ่งจะต้องมีการเลือกตั้ง สสร. ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ
นอกเหนือจากร่างแก้ไขนี้แล้ว ก่อนหน้านี้ในวันที่ 18 ธ.ค. 2567 สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่เห็นชอบ กับร่าง พ.ร.บ. ประชามติฯ ที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว เนื่องจากได้ข้อสรุปเรื่องเสียงข้างมาก 2 ชั้น (Double Majority) ซึ่งต้องมีผู้มาใช้สิทธิ์เกินครึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีผู้โหวตเห็นชอบเกินครึ่งของผู้ใช้สิทธิ ทำให้ สส. ยับยั้งร่าง พ.ร.บ. ประชามติฯ ไว้ 180 วัน เพื่อรอประกาศใช้ได้ ซึ่งจะพ้นกำหนดในวันที่ 17 มิ.ย. 2568