ท่ามกลางความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจและวิกฤตประชากร เป็นไปได้ไหม หากการออกแบบนโยบายสาธารณะจะหวนกลับมาคิดถึงมิติทางสุขภาพจิตใจและจิตวิญญาณของประชาชนด้วย ?
Policy Watch ชวนหาคำตอบไปกับ ผศ. อรอร ภู่เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักอนาคตศาสตร์ในคณะทำงานของ Asia Pacific Futures Network ถึงความความสำคัญ และความเป็นไปได้ ว่านโยบายที่มีจิตวิญญาณสำคัญอย่างไร ? เพราะนี่อาจเป็นทางออกที่จะพาสังคมไทยหลุดพ้นจากวิกฤตที่กำลังเผชิญอยู่ก็เป็นไปได้
อนาคตศาสตร์ (Foresight) – จะสร้างนโยบายที่ดีต้องมีภาพอนาคต
ก่อนจะพูดเรื่องการออกแบบนโยบาย ชวนไปทำความรู้จักกับแนวคิดการออกแบบนโยบายที่เรียกว่า “อนาคตศาสตร์” เสียก่อน
นี่อาจเป็นคำใหม่ แต่มีความหมายเป็นไปตามตัวอักษร นั่นคือศาสตร์ของการทำนายอนาคตแบบมีหลักการ จะไม่ใช่การเดาแบบไร้ทิศทาง แต่เป็นไปตามกรอบแนวคิด เหตุผล และจินตนาการจากผู้คนหลายแขนง เพื่อมองหาความเป็นไปได้หลากหลายแบบ และการมองเห็นความเป็นไปได้เหล่านี้จะนำมาสู่การกำหนดทิศทางของระบบเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่วิถีชีวิตของผู้คน และนำมาสู่การออกแบบนโยบายที่ตอบโจทย์ด้วย
ผศ.อรอร ยังขยายความเพิ่มให้เราฟังว่า อนาคตศาสตร์ (foresight) คือ ระเบียบวิธีวิจัยรูปแบบหนึ่ง ซึ่งตอนนี้แพร่หลายไปแล้วทั่วโลก ซึ่งแตกต่างจาก การพยากรณ์ (forecast)
“forecast คือ การใช้ข้อมูลระดับ data มาวิเคราะห์ ซึ่งจะพยากรณ์ได้ในระยะสั้น เช่น ฝนจะตกในสัปดาห์หน้าไหม หรือเทรนด์ตลาดหุ้นใน 3 วันนี้จะเป็นอย่าง“ไร เหล่านี้เป็นสิ่งที่นักสถิติ หรือนักเศรษศาสตร์ทำอยู่แล้ว แต่ foresight แตกต่างไปกว่านั้น
“foresight จะไม่ได้พูดกันถึงเรื่องแค่สัปดาห์หน้าเท่านั้น แต่มันไกลไปกว่านั้นมาก เพราะเรากำลังพูดถึงเรื่องในอีก 3 ปี อีก 50 ปี หรือในอีก 200 ปีข้างหน้า หากเรารู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไร
“นี่คือการนำสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันผสานสิ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีตมาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในอนาคต หรือที่เรียกว่า ‘ฉากทัศน์’ ซึ่งเป็นไปได้ในหลายรูปแบบ และมันทำให้เรารู้ว่าจะวางแผนนโยบายและยุทธศาสตร์อย่างไรต่อไป”
โดยการทำ foresight สามารถแบ่งยุทธศาสตร์ได้ 2 แบบ ได้แก่ Strategic foresight และ Transformative foresight
Strategic foresight – มองภาพฝันแล้วทำให้เป็นจริง
Strategic Foresight หรือ การคาดการณ์อนาคตเชิงยุทธศาสตร์ เป็นการคาดการณ์อนาคตแบบตรง ๆ มีการวางแผนรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งดีที่สุดและเลวร้ายที่สุด จนนำไปสู่การวางยุทธศาสตร์เพื่อรองรับอนาคต โดยใช้วิธีกวาดสัญญาณจนครบ เมื่ออกแบบได้แล้วก็จะนำไปสู่การวางแผนเพื่อผลักดันหรือเร่งให้เกิดบางอย่าง ซึ่งอาจจะใช้เวลา 4-5 ปี หรือในบางเรื่องอาจกินเวลานาน 10-20 ก็เป็นได้
Transformative foresight – ทลายโครงสร้างและความคิดที่ฝังลึกในสังคม
Transformative foresight จะเป็นการคาดการณ์ระดับลึกไปกว่า คือ การวิเคราะห์อนาคตเพื่อเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ระดับโครงสร้างทางสังคมไปจนถึงเชิงความคิด กล่าวคือ เป็นการพยายามทะลายโครงสร้างขนาดใหญ่ของสังคม และเปลี่ยนแปลงแนวคิด ค่านิยม และความเชื่อระดับลึกของคนในสังคม
ตัวอย่างหนึ่งของรากความคิดเชิงลึกที่ฝังอยู่ในบ้านเมืองเรานั้นคือ ระบบชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) หรือ ปิตาธิปไตย สิ่งนี้ไม่ใช่เพียงการเชิดชูเพศชายให้มีอำนาจเหนือกว่าเท่านั้น แต่มันคือการให้ความสำคัญกับ ความเป็นชาย (masculinity) มากกว่า ความเป็นหญิง (feminine)
“รากลึกของสังคมไทยคือระบบชายเป็นใหญ่ ในบ้านเราเลยมี masculine energy สูง เช่น ยกย่องเชิดชูความเด็ดขาด เด็ดเดี่ยว หรือการทำงานที่เน้นผลลัพธ์มากกว่ากระบวนการ และอาจไปถึงการอนุญาตให้ใช้ความรุนแรงได้
ในขณะที่ feminine energy ที่เป็นพลังของความอ่อนโยน ผ่อนคลาย สงบ เห็นอกเห็นใจ และความเข้าใจ กลับได้รับการยอมรับน้อยกว่า นี่คือลำดับชั้นของความไม่เท่าเทียมในสังคม มันย่อมดีกว่านี้ ถ้ามีพลังงานทั้ง 2 สมดุลกันแบบหยินหยาง”
หากยกตัวอย่างขยายความให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น กรณีของการประกาศใช้ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่ผ่านมาก็สามารถมองได้จากทั้ง 2 ระดับตามที่กล่าวมาข้างต้น
หากมองด้วยแนวคิดแบบ Strategic foresight อย่างตรงไปตรงมา สิ่งนี้จะช่วยในการวางแผนธุรกิจอย่าง wedding industry ที่ควรเตรียมตัวไปในทิศทางแบบ same sex marriage แต่หากคิดในเชิง Transformative foresight มันคือระดับที่ลึกกว่านั้น
“หากคิดในเชิง Transformative foresight พ.ร.บ. ฉบับนี้ทำหน้าที่เปลี่ยนความคิด ความเชื่อของมนุษย์อย่างสิ้นเชิง กลายเป็นความเชื่อใหม่ว่า ชีวิตคู่ไม่จำเป็นต้องเป็น ชาย-หญิง เท่านั้น และยังเป็นการพลิกแนวคิดในการสร้างครอบครัวที่หยั่งรากลึกมานานอย่างสิ้นเชิง และเมื่อนิยามของครอบครัวเปลี่ยนไป มันคือ trigger effect ที่จะส่งแรงกระเพื่อมทำให้สังคมเปลี่ยนไปหมดได้” ผศ.อรอร อธิบาย
หา foresight ด้วย Causal Layered Analysis – การกวาดสัญญาณ
ก่อนจะออกแบบนโยบายสักอย่างนั้น ต้องเริ่มจากการมองหาปัญหาและการจะมองปัญหาใน “เชิงลึก” ได้นั้น ต้องลงลึกไปถึงระดับโครงสร้าง ระดับความคิด จิตสำนึก หนึ่งในวิธีที่ใช้คือ “โมเดลภูเขาน้ำแข็ง” (Causal Layered Analysis)
โมเดลภูเขาน้ำแข็ง (Causal Layered Analysis, CLA)
ที่มา : สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โมเดลนี้ถูกใช้ในการวิเคราะห์ลำดับขั้นของปัญหา ด้านบนยอดสุดของภูเขาคือข้อมูล (data) ชุดความจริง (facts) หรือสิ่งที่เราจับต้อง มองเห็นได้ (observables) ถัดลงไปอีกชั้น คือ โครงสร้าง (structure) ระบบ (system) ที่อาจเป็นกฎหมายหรือระบบ ระเบียบ ข้อบังคับบางอย่างที่มีส่วนให้เกิดสิ่งที่แสดงอยู่บนยอดสุด
แต่ที่ลึกลงไปอีก คือ ‘โลกทัศน์’ (worldviews) ที่เรามองโลก และชั้นใต้สุดที่อยู่ใต้ผืนน้ำ คือ สิ่งที่ซ่อนลึกที่สุดอย่าง ความกลัว (fear) ความเชื่อของจิตไร้สำนึก (unconscious beliefs) เรื่องเล่า (narratives) คำพังเพยอุปมา (metaphors) ตำนานปรัมปราที่เล่ามา (myths) ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมจับต้องได้ยากมากที่สุด
โมเดลภูเขาน้ำแข็ง ถูกนำมาใช้วิเคราะห์ปัญหาที่เห็นอยู่ปัจจุบัน ผ่านการขุดคุ้ยอดีดเพื่อเปลี่ยนแปลงจากระดับลึกสุดให้ได้ และนำไปสู่อนาคตที่เราคาดหวังไว้
นอกจากนี้ยังใช้วิธีกวาดสัญญาณ (signal) โดยมีวิธีจัดประเภทของสัญญาณด้วยการวิเคราะห์ตามสภาพแวดล้อมเพื่อประเมินความเสี่ยง หรือ “STEEPV” 6 ประการ ได้แก่ S-Social, T- Technology, E- Environment, E- Economy, P – Politics และ V – Value
“อย่างมิติเรื่องสิ่งแวดล้อม บางสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้เป็นสัญญาณที่เห็นได้ชัดเจนมาก (strong signals) เช่น วิกฤตโลกร้อน ฮีทเวฟ หรือแม้กระทั่งน้ำท่วมประเทศไทย แต่เรื่องพวกนี้กลับถูกละเลย หรือที่เรียกว่า ‘black elephant’ หรือช้างดำทะมึนที่เราทำเป็นมองไม่เห็น ซึ่งอาจจะเตรียมรับมือไม่ทันการแล้ว” ผศ.อรอรเล่า
Spirituality in policy – นโยบายที่ดี ต้องมีมิติระดับจิตวิญญาณ ?
เรื่องนโยบายกับจิตวิญญาณใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด และเกี่ยวข้องกับการออกแบบนโยบายต่าง ๆ โดยตรง และยังเป็นเทรนด์ที่ถูกกล่าวถึงกันทั่วโลก แม้กระทั่งในงานการประชุมเครือข่ายนักอนาคตศาสตร์แห่งเอเชียแปซิฟิก หรือ Asia-Pacific Futures Network (APFN) 2024 ที่ผ่านมาก็มีงานวิชาการหลายชิ้นที่นำเสนอระเบียบวิธีวิจัยด้านนี้จากนานาประเทศ
หากเรามองดูตัวนโยบายจากรัฐไทย เกือบทั้งหมดพยายามตอบสนองสภาพเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ทางกายภาพผ่านคำว่าการพัฒนา และการมุ่งพัฒนาด้านสุขภาพจิตและเลยไปถึงเรื่องจิตวิญญาณยังดูห่างไกลไปมาก
ผศ.อรอร เห็นว่า ปัจจุบันที่ปัญหาสุขภาพจิตเป็นปัญหาใหญ่ การออกแบบนโยบายควรคำนึงถึงสิ่งนี้ให้มากขึ้น เช่น การพัฒนาที่อยู่อาศัย
“เขตที่อยู่อาศัยแต่ละแห่ง นอกจากความเหมาะสมทางโครงสร้างแล้ว ยังต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมโดยรอบที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตด้วย คือ ต้องไม่เป็นที่อึกทึกเสียงดัง หรือยอมให้อุตสาหกรรมหรือรถไฟมาอยู่ติดบ้านคน สิ่งเหล่านี้มันกระทบการพักผ่อน และทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมา”
แต่นอกเหนือจากเรื่องมิติทางสุขภาพจิตแล้ว ยังมีเรื่องที่สำคัญมากอย่าง มิติทางจิตวิญญาณด้วย
“เหนือไปกว่าเรื่อง Mental Health คือ Spiritual Health หรือ ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ต่อสรรพสิ่ง การมีจุดมุ่งหมายในชีวิต (Purpose Of Life) และความหมายของชีวิต (Meaning of Life) รวมถึงการนิยามความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับจักรวาลหรือธรรมชาติ”
ผศ.อรอร เห็นว่า โลกเราทุกวันนี้กำลังทำให้มนุษย์วิ่งข้างหน้าอย่างไม่สิ้นสุด ทำให้ขาดเชื่อมโยงกับตัวตนของตัวเองออกไปไกลทุกที การกลับมาเข้าใจ รับรู้ความรู้สึก ความต้องการของตนเอง รวมถึงเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับสรรพสิ่งเป็นสิ่งสำคัญมากที่ต้องกลับมาตระหนักรู้
“ที่ผ่านมา เราใช้ชีวิตกันโดยขาดการเชื่อมโยงกับสรรพสิ่ง มิติทางจิตวิญญาณ (Spirituality) จะเข้ามาเน้นย้ำถึงความเชื่อมโยงของทุกสิ่ง หรือเป็นสิ่งที่เรียกว่า “interconnectedness” ซึ่งมีหลายระดับ หนึ่งในนั้นคือ ระดับปัจเจกหรือตัวเราเอง”
และการทำงานระดับปัจเจก โดยเฉพาะกับ “ผู้ออกแบบนโยบาย” นี้เอง ที่จะช่วยให้ประเทศมีนโยบายที่มีตอบโจทย์ความเป็นมนุษย์ได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่สร้างแต่นโยบายที่แข็งกระด้างและเต็มไปด้วยตัวเลขแห่งการพัฒนาทางภายนอกแต่เพียงอย่างเดียว
เราเคยไปทำเวิร์คชอปที่องค์กรแห่งหนึ่ง เราเริ่มจากกิจกรรมง่าย ๆ อย่างการให้ผู้เข้าร่วมวาดรูปตัวเอง เพื่อให้เขาทำงานกับภายในตัวเอง ค้นหาว่าเขาเป็นใคร ต้องการอะไร และกังวลเรื่องอะไรอยู่ จากนั้นให้ลองใช้โมเดลภูเขาน้ำแข็ง (ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น) เพื่อวิเคราะห์เรื่องตัวเอง
“มีกรณีของผู้หญิงคนหนี่ง เขามีปัญหาว่าไม่เคยทำงานเสร็จทันเวลา ทำให้เกิดความเครียด และเมื่อไล่จากยอดภูเขาน้ำแข็งลงมาจนลึกสุด เขาพบว่าแท้จริงแล้วตัวเองเป็นคนเน้นความ perfect ต้องทำงานให้ดีเยี่ยมทุกอย่าง และเมื่อขุดลึกลงไปอีก เราเจอว่า เขาเป็นหลานคนแรกของตระกูล มีความคาดหวังว่าต้องดีที่สุด เก่งที่สุด สมบูรณ์แบบที่สุด และผิดพลาดไม่ได้เลย”
สิ่งนี้ช่วยให้คนทำงานเข้าใจตัวเอง ร่วมถึงเพื่อนร่วมงานที่เข้าใจเขามากขึ้นแทนที่จะก่นด่า เมื่อเปิดใจกัน ก็ทำงานร่วมกันได้ง่าย เกิดบทสนทนาก็ลื่นไหล นำมาสู่การทำงานที่ราบรื่นในองค์กร และนำไปสู่การออกแบบนโยบายขององค์กรที่เหมาะสมสำหรับทุกคนด้วย
ทั้งหมดที่เล่า แสดงให้เห็นว่า ก่อนจะมาคิดเรื่องใหญ่ระดับนโยบาย ควรทำงานตั้งแต่ระดับปัจเจกก่อน ผศ.อรอร ยกตัวอย่างการใช้กระบวนการนี้กับ สส.ของพรรคการเมือง ผู้ที่มีหน้าที่ออกแบบนโยบายประเทศในอนาคตด้วย
“เราเริ่มจากการกลับไปทำงานกับตัว สส.แต่ละคนก่อน ในเวิร์กช็อปเราพบว่าพวกเขาทั้งเครียดและเหนื่อย หลายคนเพิ่งเรียนจบ บางคนเป็นแม่ของลูก บางคนต้องดูแลแม่ที่ป่วย พวกเขาเป็นแค่คนธรรมดา ๆ คนหนึ่ง แต่เมื่อมาเป็นนักการเมือง ต้องมีความรู้ ต้องลงพื้นที่ งานบวช งานแต่งก็ต้องไป สังคมมีความคาดหวังเกิดขึ้นกับเขาเต็มไปหมด
“เมื่อชวนพวกเขาสำรวจตัวเองลงลึกไปอีก มันเริ่มเกิดการแชร์สุข-ทุกข์ เห็นใจ เข้าใจ และเห็นความเป็นมนุษย์ร่วมกัน บทสนทนาที่มีความหมายเหล่านี้ ทำให้พรรคการเมืองเริ่มคิดถึง ‘รัฐสวัสดิการที่ดี’ และตอบโจทย์ประชาชนได้จริง ๆ”
จากกระบวนการในครั้งนี้ ทำให้ สส.ในฐานะผู้ออกนโยบายได้เอาความรู้สึก ความต้องการ และสิ่งที่เคยเป็นปัญหาระดับปัจเจกมากางดูร่วมกันด้วยความเห็นอกเห็นใจ และแจ่มชัดว่าสิ่งใดกันแน่ที่ประชาชนไทยกำลังต้องการ ทั้งหมดนี้คือหัวใจและตรรกะของ “Spirituality in Policy”
และหากขยายความเพิ่มเติมอีกนิด Spirituality in Policy ยังแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ
Public Policy for Spirituality หรือ นโยบายที่เอื้อให้ประชาชนมีความสุขในทางจิตวิญญาณ เช่น การสนับสนุนให้มีศูนย์โยคะ นั่งสมาธิ การมีพื้นที่เงียบสงบในที่สาธารณะ อย่างห้องสมุด หรือกระทั่งการบังคับให้มี mandatory quiet time หรือช่วงเวลาเงียบ เพื่อเอื้อให้ผู้คนมี Spiritual Health ที่ดี
และ Public Policy with Spirituality คือ นโยบายที่ออกมาทั้งหมด ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นมนุษย์ ซึ่งสุดท้ายอาจหมายถึง การมีความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจกัน และมีพลังของ feminine energy เพิ่มขึ้น และไม่ปล่อยให้โลกของเรายังคงเป็นโลกแห่ง muscularity energy ที่ขาดสมดุลอีกต่อไป
ท้ายที่สุด คงยากจะปฏิเสธว่า การนำมิติทางจิตวิญญาณผสานกับการออกแบบนโยบายสามารถยกกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรได้ในอีกรูปแบบหนึ่งได้ และอาจกำลังเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วน และนโยบายที่จับต้องได้แบบนี้เอง ที่จะส่งเสริมความเป็นมนุษย์ให้กับคนในประเทศอย่างเท่าเทียม